"แซส" คว้าอันดับหนึ่ง จาก 100 บริษัทที่น่าทำงานที่สุดในสหรัฐ


801 ผู้ชม


"แซส" คว้าอันดับหนึ่ง จาก 100 บริษัทที่น่าทำงานที่สุดในสหรัฐ





องค์กรไหนที่ได้ขึ้นชั้นว่าน่าอยู่ น่าทำงานด้วยมากที่สุด ถือเป็นความภาคภูมิใจของซีอีโอ ยิ่งได้รับการโหวตติดต่อกันหลายปียิ่งตอกย้ำให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่องค์กรต่าง ๆ ต้องจับตา
บริษัทแซส ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในตลาด การวิเคราะห์ธุรกิจ (business analytics) ซึ่งรูปแบบการทำงานน่าจะสร้างความเครียดให้กับบุคลากรไม่ใช่น้อย แต่ล่าสุดก็ติดอยู่ใน 100 บริษัทที่น่าทำงานที่สุดที่นิตยสารฟอร์จูนจัดขึ้น ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 7 ที่บริษัทแซสมีรายชื่อติดอันดับอยู่ใน 10 อันดับแรก และนับเป็นครั้งที่ 5 ที่ติดอันดับสูงสุด 5 อันดับแรกด้วย โดยบริษัทแซสได้รับการจัดอันดับดีเยี่ยมในด้านการให้บริการสุขภาพ การดูแลบุตรของพนักงาน และการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
ซึ่งนิตยสารฟอร์จูนให้ข้อมูลว่า "ในการจัดอันดับปีนี้ ข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุด คือ การจ้างงานและวิธีที่บริษัทต่าง ๆ ได้ดำเนินการช่วยเหลือพนักงานของตนในภาวะเศรษฐกิจถดถอย"
แฮงก์ กิลแมน รักษาการบรรณาธิการบริหารนิตยสารฟอร์จูน กล่าวว่า "บริษัททั้ง 100 แห่งที่ติดอันดับในครั้งนี้ยังคงจ้างงานพนักงานอยู่ และส่วนใหญ่ยังได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าในปีหน้าจะเปิดรับตำแหน่งงานใหม่ด้วย โดยคาดว่าจะมีจำนวนประมาณกว่า 96,000 ตำแหน่ง"
จิม กูดไนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) บริษัทแซส ให้ข้อมูลว่า ในปี 2553 จะยังคงยึดตามคำมั่นเดิมที่ได้ให้ไว้เมื่อปีที่แล้ว นั่นคือ บริษัทแซสจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่บริษัทจำนวนมากทั่วโลกได้ปรับลดพนักงานและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนในปี 2552 แต่บริษัทแซสกลับดำเนินการตรงกันข้าม และเราได้ให้การตอบแทนพนักงานที่จงรักภักดีต่อองค์กรและมีส่วนต่อความสำเร็จโดยรวมของธุรกิจของเราด้วย การรักษาพนักงานไว้แม้ในช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้มีตำแหน่งที่ดีเยี่ยมที่จะตอบรับการฟื้นตัวของตลาดได้ตามที่คาดไว้
"ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากนี้ บริษัทแซสยังคงยึดมั่นต่อคำสัญญาที่บริษัทมีต่อพนักงาน ตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่ได้นำพาให้เราก้าวผ่านปัญหาต่าง ๆ และสามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานได้" จีนส์ แมนน์ รองประธานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัทแซสกล่าวและบอกต่อว่า "ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบริษัทแซสได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเชื่อพื้นฐานของบริษัทที่ว่า พนักงานที่มีความสุขและมีสุขภาพดีจะนำไปสู่ผลิตผลที่ เต็มเปี่ยม"
ทั้งนี้ บริษัทแซสได้รับการยอมรับมาเป็นเวลายาวนานในฐานะนักนวัตกรรมด้านการสนับสนุนการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของพนักงาน โดยพนักงานที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทแซสในเมืองแครี่ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ล้วนพอใจกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในสถานที่ทำงาน ที่บริษัทจัดสรรให้ ได้แก่ การให้บริการด้านสุขภาพฟรี สถานดูแลบุตรที่บริษัทให้เงินสนับสนุน ตลอดจนพื้นที่สันทนาการและศูนย์ออกกำลังกายขนาด 66,000 ตารางฟุต ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนั้น ยังมีโปรแกรมต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้พนักงานมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยเหตุนี้ พนักงานของบริษัทแซสจึงให้ความภักดีต่อบริษัทเป็นพิเศษ จะเห็นได้ว่าอัตราการลาออกต่อปีของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 4% เท่านั้น ขณะที่อัตราทั่วไปของอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 22% อัตราการ ลาออกในระดับต่ำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า การรักษาองค์ความรู้ให้อยู่กับองค์กร รวมถึงต้นทุนการสรรหาและการฝึกอบรมในระดับต่ำ
ที่ผ่านมาบริษัทแซสได้ผลิตซอฟต์แวร์ที่ช่วยบริษัททั่วโลกในทุกอุตสาหกรรม สามารถเปลี่ยนข้อมูลที่มีอยู่ของตนให้เป็นมุมมองแบบคาดการณ์ได้เกี่ยวกับประสิทธิภาพองค์กร ลูกค้า ความเสี่ยงของตลาด และอื่น ๆ โดยบริษัทแซสช่วยให้บริษัทสามารถแก้ปัญหาซับซ้อนทางธุรกิจ บรรลุวัตถุประสงค์หลักและจัดการสินทรัพย์ข้อมูลของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับการเลือกบริษัท 100 อันดับที่น่าทำงานที่สุดในครั้งนี้นั้น นิตยสารฟอร์จูนได้ร่วมมือกับสถาบันจัดอันดับสถานที่ทำงาน (Great Place to Work Institute) ด้วยการ สำรวจพนักงานในองค์กรของสหรัฐอเมริกาอย่างละเอียด โดย 2 ใน 3 ของคะแนนที่ได้นั้นมาจากผลการสำรวจดัชนีความน่า เชื่อถือของสถาบัน ซึ่งจะส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มของ พนักงานแต่ละบริษัท การสำรวจดังกล่าวได้สอบถามเกี่ยวกับทัศนคติของพวกเขาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการบริหารจัดการ ความพึงพอใจในงาน และความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อบริษัท สำหรับคะแนนส่วนที่ 3 ได้มาจากการตอบกลับขององค์กรที่สถาบันจัดอันดับสถานที่ทำงานได้ตรวจสอบทางด้านวัฒนธรรมองค์กร ได้แก่ คำถามโดยละเอียดเกี่ยวกับโครงการให้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ รวมถึงชุดคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับการ ว่าจ้าง การสื่อสาร และอื่น ๆ
หน้า 30


วันที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4181  ประชาชาติธุรกิจ


อัพเดทล่าสุด