เปิดผลสำรวจ CEO ทั่วโลก "บุคลากร" ปัจจัยหลักองค์กรข้ามพ้นวิกฤต


901 ผู้ชม


เปิดผลสำรวจ CEO ทั่วโลก "บุคลากร" ปัจจัยหลักองค์กรข้ามพ้นวิกฤต




 เปิดผลสำรวจ CEO ทั่วโลก "บุคลากร" ปัจจัยหลักองค์กรข้ามพ้นวิกฤต

ต้องยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่ผ่านมา เป็นบทเรียนนอกตำราที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับซีอีโอทั่วโลก เพราะไม่เพียงแต่ทำให้ผู้บริหารหันกลับมาเช็กสุขภาพขององค์กรว่าแข็งแรงระดับไหน แต่ทุกคนต้องมองไปข้างหน้าว่าจะเตรียมการอย่างไรเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
จากผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับประธานกรรมการบริหารทั่วโลกครั้งที่ 13 เกี่ยวกับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประจำปี 2009 ชี้ชัดว่า ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศในแถบเอเชียมีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลกในอนาคตอันใกล้ หลังจากข้ามผ่านวิกฤตไปได้แล้ว คือเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ที่สำคัญไม่แพ้เรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่เป็นประเด็นร้อนของทั่วโลกในเวลานี้
"ประสัณห์ เชื้อพานิช" ประธาน กรรมการบริหาร ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภูมิทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มประเทศที่การเติบโตยังคงมีอยู่คือประเทศในแถบกลุ่มตลาดเกิดใหม่และเอเชีย หรือที่เรียกว่า "emerging nations" กลายเป็น กลุ่มประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้นกลยุทธ์ที่ผู้บริหารควรพิจารณาเพื่อนำมาเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน คือ กลยุทธ์ทางด้านบุคลากร การจัดการทรัพยากร และความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน
จากผลการสำรวจในครั้งนี้พบว่า การพัฒนาศักยภาพผู้นำและการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ ถือว่าเป็นประเด็นหลักที่ ซีอีโอในแถบเอเชียให้ความสำคัญ เห็นได้จาก 75% ของซีอีโอในเอเชียระบุเช่นนั้น
แม้ว่า 84% ของผู้บริหารทั่วโลกมองว่า วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้พวกเขามีความรอบคอบในการใช้จ่าย และคิดค้นมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายหรือใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องรัดเข็มขัด กลับพบว่าผู้บริหารกว่า 50% ทั่วโลก กลับคิดที่จะเพิ่มปริมาณการจ้างงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่มีซีอีโอเพียง 16% ที่คิดจะลดจำนวนบุคลากรลง
"การรักษาพนักงานเก่ง ๆ ให้อยู่กับองค์กรเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากบุคลากรที่เก่ง ๆ ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าในทุก ๆ สภาพเศรษฐกิจแม้กระทั่งในภาวะเศรษฐกิจผกผัน บุคลากรถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้องค์กรสามารถข้ามพ้นวิกฤตได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า เราต้องสร้างความสมดุลระหว่างการลดค่าใช้จ่ายกับการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการลงทุนเพื่อรักษาบุคลากรที่เก่งให้อยู่กับองค์กรได้ นั่นจึงจะทำให้องค์กรสามารถกลับมามีความเจริญเติบโตทางด้านรายได้อีกครั้งหนึ่ง
ด้วยภูมิทัศน์ของเอเชียที่กำลังจะมีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจโลก ฉะนั้นการมีบุคลากรที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการขององค์กรถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้บริหารจะต้องเร่งดำเนินการ"
"ประสัณห์" อธิบายพร้อมให้ข้อมูลต่อว่า จากการสำรวจพบว่าผู้บริหารในภูมิภาคเอเชียมองว่าการลงทุนเกี่ยวกับบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญ โดยการลงทุนด้านบุคลากรนั้นจะต้องเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพของบุคลากร ไม่ใช่การลงทุนผ่านค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์พนักงานเป็นหลักเท่านั้น
โดยเกือบครึ่งหนึ่งของซีอีโอ หรือ 47% ของซีอีโอในแถบเอเชียบอกว่า พวกเขาจะปรับเปลี่ยนโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรและเตรียมความพร้อมให้ บุคลากรเมื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้น
นอกจากนั้นวิกฤตการณ์ที่ผ่านมายังได้ทำให้ซีอีโอได้ตระหนักถึงการสร้างความผูกพันกับพนักงานมากยิ่งขึ้น โดย 43% ของซีอีโอในเอเชียจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงาน รวมทั้งการเพิ่มโปรแกรมการสร้างสายใยในองค์กรให้มากขึ้น มีเพียงซีอีโอ 16% ที่ไม่คิดจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใด ๆ ที่เกี่ยวกับการตอบแทนพนักงาน
หากจะถามต่อว่านอกจากเรื่องของศักยภาพของบุคลากรแล้ว ซีอีโอทั่วโลกเตรียมการอย่างไรเพื่อรับมือกับความ อยู่รอดขององค์กรในอนาคต
คำตอบที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ "ประสัณห์" บอกว่า กลยุทธ์หลัก ๆ ที่ ผู้บริหารส่วนใหญ่นำมาพิจารณาเพื่อนำมาเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน นอกจากกลยุทธ์ทางด้านบุคลากรแล้วยังมีเรื่องการจัดการทรัพยากร และความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน
และเพื่อสะท้อนให้เห็นแนวทางในการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ผู้บริหารส่วนใหญ่ 78% ยังคงใช้วิธีการหาแหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดภายในเพื่อรองรับ การเจริญเติบโต
ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริหารมองว่า หลังจากเกิดวิกฤตทั้งภาครัฐและสถาบันการเงิน ต่างก็มีมาตรฐานคุมเข้มในการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การบริหารจัดการจากภายใน บริหารต้นทุนการผลิตให้ดี ทำอย่างไรให้มีเงินสดเพียงพอในการบริหารจัดการองค์กร
วันนี้ซีอีโอจึงเน้นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไปตัดต้นทุน หรือไปเลย์ออฟคน แต่อาจจะมองมากขึ้นว่าจะลงทุนอะไรที่จะทำให้ประสิทธิภาพการบริหารงานดีขึ้น อาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องจักร เนื่องจากว่าเครื่องจักรที่มีอยู่ไม่ดีแล้ว หรือเทคโนโลยีไม่ทันสมัยแล้ว ก็อาจจะต้องลงทุนเพิ่มช่วยลดต้นทุนในอนาคต
ภาษาทางการลงทุนเรียกว่าใช้จ่ายในสิ่งที่เกิดการเจริญเติบโตของธุรกิจ เช่น ไปลงทุนซื้อบ้านจะดีกว่าลงทุนซื้อรถยนต์ เพราะซื้อรถยนต์มีแต่เสื่อมค่า เสื่อมราคาลง ทั้งนี้ภาคธุรกิจก็ต้องคิดเช่นเดียวกัน
สำหรับเรื่องของบุคลากร ซีอีโอจะเน้นการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ทุกองค์กรจะคิดมากขึ้นว่าจะทำอย่างไรให้มีคนคุณภาพอยู่กับองค์กร
เมื่อถามว่าจะมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรในองค์กรหรือไม่ ปรากฏว่าที่บอกว่าจะมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรจะมีอยู่เพียง 3 ประเทศเท่านั้น นั่นก็คือ จีน อินเดีย และบราซิล ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจที่ว่าผู้บริหารส่วนใหญ่ถึง 82% ที่หวังว่าจะขยายฐานการลงทุนสู่ทวีปเอเชียในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งการย้ายฐานการลงทุนจากยุโรปตะวันตกมาสู่ทวีปเอเชีย โดยประเทศในแถบละตินอเมริกาจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับความนิยมในอันดับถัดไปถึง 75%
ในส่วนของคำถามถัดมาในเรื่องกลยุทธ์ในการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กรว่าจะมีแนวทางอย่างไร จากผลสำรวจพบว่าองค์กรส่วนใหญ่จะพยายามทุกวิถีทางที่ทำให้คนขององค์กรมีความรู้ความสามารถที่ดีขึ้น เหมาะสมกับธุรกิจ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้การปรับตัวขององค์กรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก คือจะทำอย่างไรให้คนในองค์กรเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของเขา เพราะถ้าทุกคนเข้าใจในบทบาทของตัวเอง ไม่ว่าธุรกิจจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร เขาก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองได้ง่าย
และสิ่งที่มีการพูดถึงกันมากอีกเรื่องหนึ่งในยุคนี้ คือการมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในองค์กร และจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของพนักงานในการทำงานในทุก ๆ เรื่อง
"ในช่วงก่อนวิกฤตองค์กรต่าง ๆ อาจจะไม่ได้คิดอย่างนี้ แต่ปัจจุบันนี้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ ทุกองค์กรต้องเปิดช่องทางให้พนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการ ทำงานในทุกอย่าง เพราะท้ายที่สุดเมื่อเกิดอะไรขึ้นกับองค์กร ไม่ใช่ซีอีโอหรือผู้บริหารระดับสูงเท่านั้นที่ถูกกระทบ แต่คนที่จะถูกเลย์ออฟคือพนักงาน ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่วิกฤต พนักงานจะมีความกังวลถึงความมั่นคงในการทำงาน แต่หากเขาได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับองค์กรในทุก ๆ เรื่อง พนักงานก็จะรับรู้สถานการณ์และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พนักงานจะรู้ว่าทำอย่างไรเขาจะได้อยู่กับองค์กรตลอดไป นั่นหมายว่าองค์กรก็จะได้คนคุณภาพเข้ามาร่วมงาน"
"ประสัณห์" บอกว่า ถ้าซีอีโอต้องการให้พนักงานอยู่กับองค์กรก็ต้องชัดเจนว่า เขาอยู่กับองค์กรแล้วเขาทำอะไร งานของเขาคืออะไร แล้วองค์กรจะพัฒนาเขาอย่างไร
มาถึงคำถามสำคัญที่ว่าจะทำอย่างไรองค์กรจึงจะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซีอีโอตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าจะต้องลงทุนในเรื่องของการลดภาวะโลกร้อน เพราะในอนาคตสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น
และจากบทเรียนในการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ต่อจากนี้ไปการวางแผนระยะยาวเพื่ออนาคตจะกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกองค์กร ซึ่งแต่ก่อนการวางแผนระยะยาวองค์กรอาจจะไม่ต้องคิดอะไรมาก ดูข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ก็คาดการณ์อนาคตธุรกิจได้แล้ว แต่ปัจจุบันการวางแผนระยะยาวจะต้องคิดล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดสิ่ง ต่าง ๆ ขึ้นได้ เพราะสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้นแผนระยะยาวจึงต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงทีในระยะเวลาอันสั้น
อีกเรื่องหนึ่งที่องค์กรทั่วโลกให้ความสนใจคือเรื่องของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเดิมทุกองค์กรก็จะทำเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ลงในรายละเอียดมากนัก แต่นับจากนี้ไป การทำเรื่องบริหารความเสี่ยงจะต้องลงลึกไปในรายละเอียดของหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์กร จะมองเฉพาะภาพรวมขององค์กรเท่านั้นไม่ได้ พนักงานทุกส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ความเสี่ยงขององค์กร ไม่ปล่อยให้คนในหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งทำเรื่องนี้ตามลำพัง เพราะหากดำเนินธุรกิจแบบไม่ระมัดระวังเช่นอดีตที่ผ่านมา อนาคตองค์กรอาจไม่สดใสเช่น วันนี้
หน้า 29

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4183  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด