กรณีศึกษา ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร
องค์กรจะพัฒนาต่อไปได้ต้องอาศัยบุคลากรเป็นแรงผลักดัน ยิ่งองค์กรที่มีบุคลากรเข้มแข็งและมีศักยภาพสูงเท่าใด องค์กรจะยิ่งก้าวหน้าพัฒนาสู่ศักยภาพสูงสุดมากเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการสานต่อโครงการ "สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร (Productivity Facilitator - PFAC)" อันจะเป็นรากฐานการพัฒนาตนเองที่แท้จริงของภาคเอกชน จึงได้คัดเลือกองค์กรเข้าร่วมโครงการจาก 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมยางแปรรูปอื่น ๆ จำนวน 20 องค์กร จาก 90 องค์กรที่สมัครเข้าร่วมทั้งหมด
หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์สำเร็จรูปสำหรับสัตว์บกและสัตว์น้ำ
ซึ่งมี "วิเชียร มหาวิจิตร์" เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ที่สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เขาเล่าเบื้องหลังให้ฟังว่า...เมื่อปี"40 เราเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งบริษัทของเราอยู่ในตลาดหุ้นด้วย บริษัทเกิดการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนทุกวิถีทาง ตั้งแต่นั้นมานโยบายของผู้บริหารมีการเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตของเราด้วย
"ที่สำคัญหลังปี"40 มีการคัดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง มีเงินไม่เพียงพอ"
"จึงเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ พนักงานที่ออกจากบริษัทมีความรู้ติดตัวไป หลังจากนั้น พนักงานจึงต้องมีการพัฒนา และผู้บริหารระดับกลางต้องส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้เพื่อที่ว่าเมื่อพวกเขาออกไปจะได้มีความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพได้"
"เนื่องจากว่าธุรกิจลีพัฒนาฯเป็นธุรกิจ ที่เน้นขายอาหารสัตว์เพียงอย่างเดียวไม่ใช่ธุรกิจที่ครบวงจรเปรียบเหมือนพืชเชิงเดียว คุณภาพจึงเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ขายสินค้าได้ ดังนั้นเทคนิคการผลิตจึงต้องนำหน้าคู่แข่งขันและต้องพัฒนาบุคลากรให้เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของบริษัทที่ต้องปฏิบัติ"
"ปัจจุบันโลกของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ความหลากหลายของลูกค้าก็มีมากขึ้น ฉะนั้นถ้าพนักงานไม่ได้รับการพัฒนาให้ทัน ไม่มีการปรับปรุงก็จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ บริษัทลีพัฒนาฯของเราจึงได้จัดระบบพื้นฐานที่ทุกคนสามารถบริหารได้ เช่น ISO 9002, GMP (Good Manufacturing Practice)/HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) เพื่อเป็นตัวช่วยส่งเสริมในการดูแลสภาพแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและดูแลชุมชน ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มเรื่องของการสร้างจิตสำนึกให้แก่พนักงานโดยผ่านโครงการกิจกรรมหลายตัวด้วยกัน"
ฉะนั้น ตั้งแต่ปี 2548-2551 อย่างเช่นกรณีของการบำรุงรักษาแบบทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productivity Maintenance-TPM) กิจกรรมนี้ได้ที่ปรึกษาจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเข้ามาช่วยเหลือด้วยเช่นกัน และอีกหนึ่งโครงการ คือ การจัด การพลังงานแบบสมบูรณ์ (Total Energy Management-TEM) ทุกคน มีส่วนร่วมดูแลการใช้พลังงานภายในโรงงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้พนักงานติดตามผลอยู่ตลอดเวลา"
ดังนั้น การที่นำระบบ productivity facilitator เข้ามาปรับใช้ภายในองค์กร และทำให้พนักงานเกิดการยอมรับและเข้าใจตรงกันนั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากแต่ก็ไม่เกินความสามารถ
โดย "วิเชียร" ได้เล่าถึงวิธีการที่จะทำให้พนักงานเกิดการยอมรับและเข้าใจตรงกันว่า...ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เป็นไปอย่างราบรื่นนัก ไม่ว่าเราจะพัฒนาหรือดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพนักงาน ถ้าเราจะพัฒนา ปรับปรุง เราจะต้องเริ่มจากพนักงาน
เริ่มจากสิ่งที่เขาไม่รู้เป็นอันดับแรก
"ผู้บริหารสูงสุดมีความสำคัญค่อนข้างมาก เริ่มแรกสำหรับโครงการที่เข้ามาเราต้องประชาสัมพันธ์เผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็น การจัดงาน event หรือการประชุม ทุกอย่างล้วนต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับพนักงานระดับล่างหรือพนักงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเรา"
"ส่วนที่ 2 คือการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจในกฎหมายและหน้าที่ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นหลักของโปรดักชั่น ซึ่งเดิมนั้นอยู่ในส่วนของประชาสัมพันธ์ หน้าที่หลักของเขาสามารถทำงานเฉพาะหน้าเป็นช่วงสั้น แต่ไม่ใช่เชิงลึก ต่างจากโปรดักชั่นที่ทาง สถาบันเข้ามากำหนดไว้ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตรงจุดนี้ค่อนข้างมากพอสมควร โดยการเลือกทีมงานและการสื่อสารกับทีมงานให้เข้าใจถึงเป้าหมายร่วมกัน"
"ส่วนที่ 3 คือต้องมีการกำหนดแผน ร่วมกัน การเข้ามามีบทบาทส่วนรวมร่วมกัน เข้าใจร่วมกันทั้งฝ่ายและทีมงาน รวมถึง ผู้บริหารโดยต้องเห็นภาพรวมว่าตั้งแต่ขั้นแรก จนถึงขั้นสุดท้าย ต้องการแบบไหน ซึ่งคือเป้าหมายที่ต้องคุยกันให้เข้าใจและร่วมเดินตามเป้าหมายในแบบเดียวกัน"
"สุดท้ายคือการเผยแพร่และการนำผลสำเร็จของงานไปขยายผลต่อ เพื่อให้แผนกอื่นร่วมรับรู้และรับผิดชอบด้วย เช่น แผน 5 ส. และควรจัดบันทึกลงในรายงานการประชุมประจำเดือน เป็นอีกหนึ่งช่องทาง การสื่อสารที่มีความสำคัญอย่างมาก"
ขณะเดียวกัน "จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว" ผู้บริหารโครงการก็ได้ฉายภาพให้เห็นถึงกลวิธีในการทำงานให้ฟังพอสังเขปว่า... ทีมบุคลากรหลักที่เข้ามา 3 ทีมด้วยกัน คือ ทีมแรกเป็นทีมด้านที่ปรึกษาด้านการผลิต เป็นทีมที่เตรียมเครื่องมือให้พร้อมทุกรูปแบบ ในการผลิต ส่วนทีมถัดมาเป็นทีมของการรณรงค์ส่งเสริม สร้างองค์ความรู้และการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ส่วนทีมที่สำคัญสุดท้ายคือ ทีมวิจัย จะเข้ามาสำรวจ สัมภาษณ์และเก็บข้อมูล สรุปง่าย ๆ คือ เป็นส่วนที่ทำให้บุคลากรได้เข้ามามีส่วนร่วมให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการมีความสำเร็จมาก
ผลเช่นนี้ "วิเชียร" จึงกล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า...กิจกรรมหลัก ๆ ของโครงการ คือ QC Story ซึ่งจะเป็นในเรื่องของการเพิ่มอัตราการเดินเครื่องอาหารกุ้ง เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ประมาณ 70-80% ส่วนเรื่องที่ 2 คือเปอร์เซ็นต์การลดอาหาร การผลิตอาหารกุ้ง เราสามารถลดได้ถึงประมาณ 50% เรื่องที่ 3 คือเปอร์เซ็นต์การลดการผลิตอาหารปลา เราลดได้ถึง 82%
"ซึ่งทั้งหมดนี้เรามองทางด้านผลลัพธ์ทางธุรกิจในเรื่องของด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตอาหารกุ้งประมาณ 7.83% เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตอาหารกุ้งลดลงประมาณ 17.8% เชื้อเพลิงในการผลิตอาหารปลาลดลงประมาณ 3.58% หากมองในแง่ต้นทุนการผลิตลดลงประมาณ 3.68%"
"ที่ไม่เพียงองค์กรจะได้รับรางวัลจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 3 รางวัล คือ Best exculsive, Best productivity facilitator, Best organization ยังได้ต่อยอดงานโดยขยายผลให้ทุกแผนกต้องมี facilitator อย่างน้อย 2 คน รวม 16 คน และเชิญทั้ง 16 มาเข้าคอร์สอบรม 2-3 เดือน"
"โดยผู้อบรมคือผู้ที่เคยเป็นแชมป์มาก่อน อบรมกันเอง จากนั้นอีก 2 เดือนถัดไป ส่ง facilitator ที่เข้าอบรมกลับไปยังแผนกของตนเองเพื่อพูดคุยกับผู้จัดการแผนกเพื่อร่วมกันสร้างหลักสูตรตามคอร์สที่ได้อบรมไป เอาหลักสูตรกลางเป็นตัวหลักเพื่อให้แต่ละแผนกนำเนื้อหาสาระสำคัญของแผนกตนเองใส่เข้าไปในแต่ละหลักสูตร"
"เหมือนเป็นกึ่งการพัฒนาด้านการเรียนรู้ไปในตัว หลังจากที่มีหลักสูตรแล้วเราได้จัดให้มีกระบวนของการติดตามผลเดือนละ 2 ครั้ง โดยให้ facilitator ประชุมงานร่วมกันและนำเสนอผลงาน เพื่อนำเสนอความคืบหน้าของงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นกรอบการทำงานหลัก ๆ และต่อยอดงานตลอดเวลา เรียกง่าย ๆ คือ creative competition"
ผลตรงนี้จึงนับได้ว่าองค์กรที่พัฒนาบุคลากรจนประสบความสำเร็จถึงขั้นนี้ หากต้องการผลักดันให้องค์กรธุรกิจขึ้นสู่จุดสูงสุดให้ได้ จะละเลยบุคลากรซึ่งเป็นเหล่ากองทัพสำคัญขององค์กรไปไม่ได้
เพราะหากองค์กรเราขาดกองทัพที่ เข้มแข็งและมากความสามารถแล้ว องค์กรของเราจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ?
หน้า 27
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4188 ประชาชาติธุรกิจ