The Best Supplier CEO Award ผู้บริหารซีพีเปิดวิสัยทัศน์ ชี้ทิศทางซัพพลายเชนคือคู่ค้าสำคัญ


1,084 ผู้ชม


The Best Supplier CEO Award ผู้บริหารซีพีเปิดวิสัยทัศน์ ชี้ทิศทางซัพพลายเชนคือคู่ค้าสำคัญ




The Best Supplier CEO Award ผู้บริหารซีพีเปิดวิสัยทัศน์ ชี้ทิศทางซัพพลายเชนคือคู่ค้าสำคัญ

นอกจากทางบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จะมีการมอบรางวัล The Best Supplier CEO Award 2009 ให้กับคู่ค้า หรือซัพพลายเออร์ ที่ร่วมกันทำธุรกิจในตลอดช่วงหลายปีผ่านมา
หากงานดังกล่าวยังจัดให้มีฟอรั่มบรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทาง Supply Chain ของ ซีพีเอฟ" ตามนโยบายคู่คิด คู่พัฒนา ก้าวหน้าเคียงคู่สู่ครัวของโลก
ซึ่งมี "นพดล ศิริจงดี" รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสธุรกิจอาหารแปรรูปเนื้อไก่ครบวงจร และ "ดร.สมบัติ ธีระตระกูลชัย" รองกรรมการผู้จัดการ สำนักวางแผนธุรกิจและบริหารคุณภาพ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นวิทยากรพิเศษ
โดยเบื้องต้น "ดร.สมบัติ" ขอให้ "นพดล" พูดถึงโครงการ The Best Supplier CEO Award 2009 ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ? และไปเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ที่ CPF วางไว้ว่าจะต้องเป็นครัวของโลกอย่างไร ?
"นพดล" จึงเล่าให้ฟังว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการในกลุ่มโรงงานผลิตอาหารแปรรูป เริ่มจากสัตว์บกก่อน และจะขยายโครงการครอบคลุมกลุ่มโรงงานอื่น ๆ ต่อไป
"โดยปีแรก ซีพีเอฟพิจารณาคู่ค้ากลุ่มเครื่องปรุง น้ำมันพืช และกลุ่มบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก เนื่องจากสินค้าทั้ง 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มวัตถุดิบที่มีอยู่ในอาหาร และสัมผัสกับอาหารโดยตรง อันมีผลกระทบต่อคุณภาพอาหาร และมีความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางการตลาดให้แก่ซีพีเอฟ"
"ขณะเดียวกัน ซัพพลายเออร์ หรือคู่ค้า ผู้ขายสินค้า 2 กลุ่มนี้ มีจำนวน 1,283 ราย โดยในแต่ละปี ซีพีเอฟมียอดซื้อสินค้าทั้ง 2 กลุ่ม สูงถึง 7,600 ล้านบาท/ปี ซึ่งถือว่า สูงมาก"
"สำหรับวิธีการประเมินมาตรฐานของคู่ค้า ซีพีเอฟจะคัดเลือกคู่ค้าที่มีผลงานโดดเด่น และส่งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายผลิต ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ และฝ่ายควบคุมคุณภาพ เข้าตรวจสถานที่ประกอบการของคู่ค้า"
"จากนั้นจึงสรุปข้อเสนอแนะ เพื่อให้คู่ค้าปรับปรุงแก้ไข โดยใช้มาตรฐานสินค้าอาหารทั้งในและต่างประเทศเป็นเกณฑ์ โดยจะพิจารณาทั้งหมด 4 ด้านด้วยกัน คือด้านคุณภาพสินค้า, ด้านการบริการส่งมอบ, ด้านราคา และด้านเงื่อนไขการซื้อขาย จนสามารถคัดเลือกคู่ค้าให้ได้รับรางวัลทั้งหมด 6 ราย"
ฉะนั้น ต่อผลของรางวัลดังกล่าว "นพดล" บอกว่า จะสามารถนำไปเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ที่ซีพีเอฟวางไว้ว่าจะต้องเป็นครัวของโลก เพราะเรามีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ และปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
"ดังนั้น เราจึงต้องคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพ และสามารถรองรับความต้องการทางด้านวัตถุดิบ วัสดุ และบรรจุภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ขณะเดียวกัน เรามีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย และให้บริการอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่ความพึงพอใจสูงสุดต่อลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ"
ถึงตรงนี้ "ดร.สมบัติ" จึงตั้งคำถาม เพื่อให้ "นพดล" อธิบายถึงทิศทาง Supply Chain ของซีพีเอฟ ซึ่งเบื้องต้น "นพดล" ฉายภาพพันธกิจให้ฟังก่อนว่า...พันธกิจของเราคือผู้ผลิตอาหารที่มีโภชนาการ พร้อมข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
"ปลอดภัย มีรสชาติ มีคุณภาพมั่นคงสม่ำเสมอ รักษาสภาพแวดล้อมของโลก สร้างความผูกพันให้ลูกค้าในทุกภาคส่วนของตลาดและธุรกิจ อีกทั้งยังสามารถสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร"
"สอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ Traceability ที่ไม่เพียงจะครอบคลุมตั้งแต่ปู่-ย่าพันธุ์ไก่ จนมาผสมพันธุ์ฟักไข่พ่อ-แม่พันธุ์ ผสมพันธุ์ฟักไข่พันธุ์ไก่กระทง กระทั่งมาถึงโรงงานชำแหละ เพื่อนำไก่สดแปรรูปจำหน่าย ไก่สดแปรรูปอาหาร ไปจนถึงอาหารสำเร็จรูปเพื่อจำหน่าย"
"ฉะนั้น ในทุก ๆ ขั้นตอนจึงตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร เพราะนอกจากเราจะต้องมอบสินค้าให้กับ ผู้ส่งมอบภายในประเทศ หากผู้ส่งมอบภายนอกประเทศ เราก็จะต้องทำอย่างมีความรับผิดชอบด้วย"
ทั้งนั้น เพราะ "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ เคยแสดง วิสัยทัศน์บอกว่า ในกระบวนงานต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งกระบวนงานต้อง ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ที่สำคัญการรวมศูนย์ข้อมูลกลุ่มซีพีเอฟจะต้องมีความสัมพันธ์ กันด้วย
เพราะปัจจุบันซีพีเอฟทำธุรกิจกว่า 18 ประเทศ ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ขณะที่เป้าหมายในอนาคต ซีพีเอฟต้องการส่งออกสินค้าไปกว่า 42 ประเทศทั่วโลก
ผลเช่นนี้จึงทำให้ซีพีเอฟนำองค์กรเข้าตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) และล่าสุด 2 บริษัทในเครือซีพีเอฟ คือบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) โรงงานผลิตอาหารสัตว์ปักธงชัย จ.นครราชสีมา สามารถคว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC)
"ดร.สมบัติ" จึงถาม "นพดล" ว่า แนวทางในการพัฒนาบุคลากรและองค์กร เพื่อให้ได้รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC) และอนาคตต่อรางวัลคุณภาพ แห่งชาติ (TQA) วางไว้อย่างไรบ้าง
"นพดล" จึงตอบว่า เราวางกลยุทธ์ 5 ด้าน อันประกอบด้วยประสิทธิภาพ, บุคลากร, ลูกค้า, การเงิน และยั่งยืน ทั้งนั้น เพื่อสร้างความสอดคล้อง และการบูรณาการ การปฏิบัติงานขององค์กรให้เป็นเนื้อเดียวกันแบบองค์รวม
หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ "Balanced 5 Scorecard"
"เพื่อให้ข้อมูลทุกอย่างที่บันทึกไว้สามารถนำไปใช้ได้ ถ้าเกิดปัญหาหนึ่งปัญหาใดขึ้นมา ซึ่งเราเรียกว่า KM Focus และตรงนี้นอกจากจะมีเรื่องของการ Benchmark กับประเทศในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ทุก ๆ เดือนเรายังสามารถเปรียบเทียบกับคู่แข่งว่าเขาใกล้เข้ามาหาเราหรือยัง"
"นอกจากนั้น ในส่วนของ KM Focus ยังมีเรื่องของอินโนเวชั่น, พันธกิจ, ไคเซ็น และเรื่องของ 7 เปลี่ยนแปลง, 5 ได้เปรียบ, 5 ท้าทาย หากยังมีเรื่องของ CPF Way ด้วย"
ทั้งนั้น เพราะ CPF Way เป็นเรื่องของการมุ่งเน้นค่านิยมเพื่อสร้างคน หาก CPF Way ยังมีกรอบของการปฏิบัติงาน 6 ประการด้วย คือ
หนึ่ง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
สอง ใฝ่รู้ และแลกเปลี่ยนความรู้
สาม สรรค์สร้างนวัตกรรม
สี่ มีคุณธรรม และความซื่อสัตย์
ห้า มุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ
หก ตอบแทนคุณแผ่นดิน
โดยเฉพาะเรื่อง "ตอบแทนคุณแผ่นดิน" ต้องถือว่ามาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากนั้น ในตอนท้ายของการบรรยายพิเศษเรื่องทิศทาง Supply Chain ของซีพีเอฟ "ดร.สมบัติ" ยังขอให้ "นพดล" อธิบายถึงเรื่องนวัตกรรม Low Carbon Economy ตามเงื่อนไขใหม่ เพื่อลดภาวะโลกร้อนด้วย
"ซีพีเอฟเป็นผู้ผลิตไก่ครบวงจรรายแรกของโลกที่ได้รับรองฉลาก Carbon Footprint และในปี 2552 โรงงานแปรรูปไก่สระบุรีสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได ออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับการปลูกต้นไม้ปีละ 600,000 ต้น"
"โดยกระบวนการผลิตไก่สดซีพีตั้งแต่ต้นทางจนเป็นสินค้า 1 กิโลกรัม เรา ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 2.9 กิโลกรัม"
"ฉะนั้น ภายใน 2 ปีจากนี้ไป ซีพีจะต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตให้ต่ำกว่า 2.9 กิโลกรัม มิฉะนั้นจะ ถูกเพิกถอนฉลาก Carbon Footprint และจะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าในประเทศภาคี ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเรา"
ถึงตรงนี้ "ดร.สมบัติ" ได้นำคำพูดของ "อดิเรก ศรีประทักษ์" ประธานกรรมการและประธานบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มากล่าวให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟังในช่วงสุดท้ายว่า...ความสำเร็จส่วนหนึ่งของซีพีเอฟในอนาคต คือการสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างซัพพลายเออร์กับซีพีเอฟ
"ที่จะร่วมกันศึกษาแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกษตร อุตสาหกรรม อาหาร ทิศทางของตลาดของผู้บริโภค และร่วมกันสร้างนวัตกรรมอาหารที่สะอาดปลอดภัย มั่นคง มีโภชนการที่ดี"
"มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ลดการทำลายสภาพแวดล้อม และขอเชิญชวนให้ซัพพลายเออร์เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นครัวของโลกร่วมกับซีพีเอฟ"
ซึ่งฟังเผิน ๆ เหมือนคำกล่าว อาจเป็นการเชิญชวน แต่ในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ระหว่างซัพพลายเออร์กับซีพีเอฟ ต่างเหนียวแน่น และแนบแน่นกันมา นานแล้ว
หากไม่เช่นนั้น ซัพพลายเออร์กว่า 1,283 รายคงไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจทุกวันนี้ ซึ่งเหมือนกับซีพีเอฟก็ต่างประสบความสำเร็จในธุรกิจเช่นเดียวกัน
ตามกฎ Win-Win
ที่ยึดถือการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินสำคัญกว่าเรื่องอื่นใด ?
หน้า 25


วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4203  ประชาชาติธุรกิจ


อัพเดทล่าสุด