KTC Knowledge Sharing แบ่งปันความรู้ ต่อเติมความสุข พลิกวิกฤตเพิ่ม "พลังองค์กร"
ถ้าจะถามว่า เสื้อผ้า หน้า ผม มีความสำคัญต่อการทำงานหรือไม่ หลายคนอาจจะบอกว่าไม่น่าจะเกี่ยว ประสิทธิภาพการทำงานน่าจะอยู่ที่กึ๋นของคน แต่สำหรับองค์กรที่เป็นผู้นำแห่งนวัตกรรมอย่าง บริษัท บัตร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี บอกว่า นี่คือส่วนผสมสำคัญที่ก่อให้เกิดพลังในการทำงาน
"คำว่าแฮปปี้เวิร์กเพลส มีองค์ประกอบอยู่หลายอย่าง แต่โดยรวม ๆ ผมมองว่าเป็นการทำ CSR ภายในองค์กร คือนอกจากจะรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมแล้ว ข้างในองค์กรก็ทิ้งไม่ได้ เพราะทั้งเรื่อง แบรนดิ้ง การตลาด ล้วนแต่เกิดจากความคิดของคนข้างในองค์กรทั้งสิ้น"
"ถ้าพนักงานภายในองค์กรมีคุณภาพ มีความรับผิดชอบ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะผลักดันองค์กรให้ไปในทิศทางที่ต้องการ ดังนั้นต้องมาโฟกัสที่ตัวพนักงานแต่ละคนว่าจะทำอะไรกับเขาบ้าง ปลูกฝังให้เขาเป็นคนดีหรือเปล่า ปลูกฝังให้เขาตอบแทนสังคมหรือไม่ หรือแค่ให้ทำงานแล้วรับเงินเดือนไปวัน ๆ"
นี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการ KTC Knowledge Sharing ที่ "ดุสิต รัชตเศรษฐนันท์" Executive Vice President Resources Management บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด บอกว่า การพัฒนาพนักงานไม่จำเป็นต้องโฟกัสไปที่ทักษะในเรื่องธุรกิจหรือเรื่องงานเพียงอย่างเดียว แต่ทักษะชีวิตก็เป็นที่สำคัญ
ถ้าอยากให้พนักงานเป็นคนดีของสังคม นำความรู้ที่เขามีไปต่อยอดให้กับคนอื่นได้ ก็ต้องพัฒนาคนในหลากหลายรูปแบบ
ที่นี่จึงได้พยายามสอดแทรกกิจกรรมให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่องโดยเน้นที่สอดคล้องกับแคแร็กเตอร์ขององค์กรที่มีทั้งความเป็นมืออาชีพ ทันสมัย ไดนามิก ที่สำคัญคือสนุก
ในอดีตช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู องค์กรแห่งนี้ก็จะจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาให้ความรู้กับพนักงาน แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การจะใช้เงินก็ต้องคิดมากขึ้น พอกลับมาคิดว่าจะใช้เงินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ก็ต้องหันมามองทรัพยากรภายในองค์กรว่ามีอะไรที่หยิบขึ้นมาใช้ได้บ้าง สุดท้ายก็เห็นว่าพนักงานของเคทีซี 1,000 คน ก็ 1,000 สมอง
จากนั้นกระบวนการค้นหาดาวเด่นในเรื่องต่าง ๆ มาแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อนพนักงาน ภายใต้โครงการ KTC Knowledge Sharing ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
"KTC Knowledge Sharing จะเป็นกิจกรรมที่ให้พนักงานภายในองค์กรที่มีความถนัดในด้านต่าง ๆ มาแชร์ความรู้ให้กับเพื่อนพนักงานที่สนใจ ซึ่งที่ผ่านมาทุกหลักสูตรที่เปิดสอนได้รับความสนใจจากเพื่อน ๆ เข้าร่วมเติมความรู้อย่างคึกคักตลอด ตั้งแต่การทำซูชิ การวาดภาพ การถ่ายรูป การเขียนมายด์แมป การจัดดอกไม้และอื่น ๆ อีกมากมาย"
ล่าสุดกิจกรรม "knowledge sharing" ที่สร้างสีสันให้กับคน KTC เป็นอย่างมาก คือการจับมือกับเสื้อผ้าแบรนด์ดัง CK (คาลวิน ไคลน์) เชิญพี่หมู (พลพัฒน์ อัศวะประภา) ผู้สร้างแบรนด์ "ASAVA" กูรูแฟชั่นระดับแถวหน้าของเมืองไทยมาพูดเรื่อง The Power of Style and Image พร้อมแฟชั่นโชว์ที่จะสะท้อนให้เห็นการแต่งตัวของหนุ่มสาวยุคใหม่ที่ไม่มากชิ้นแต่ดูดี
ซึ่งทีมงาน HR บอกว่า สิ่งที่พนักงาน จะได้รับจากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ เขาจะรู้ว่าแฟชั่นกับความเป็น โปรเฟสชั่นนอลมันเข้ากันได้อย่างไร
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า กิจกรรมที่ให้ทั้งความสุขและความรู้กับ พนักงานเช่นนี้ส่งผลต่อการทำงานอย่างไร
"ดุสิต" บอกว่า เขาไม่มีไม้บรรทัดวัดแบบเป๊ะ ๆ แต่จะวัดโดยอ้อม เช่น ดูว่า เมื่อทำกิจกรรมเหล่านี้แล้ว บริษัทโตขึ้นไหม มีกำไรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ซึ่งก็พบว่าหลังจากทำโครงการเหล่านี้อย่างจริงจังตั้งแต่ ปี 2545 เป็นต้นมา องค์กรก็มีกำไรต่อเนื่องมาทุกปี ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กำไรอาจจะลดลงบ้าง แต่ภาพรวมก็ยังโอเค
ซึ่งในมุมของ HR ก็จะดูเรื่องเทิร์น โอเวอร์ของพนักงานด้วยก็พบว่า อัตรา การลาออกของพนักงานลดลงอยู่ที่ระดับ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าในตลาด
และเมื่อหันมาดูอัตราการดำรงอยู่ของพนักงานก็พบว่า อายุเฉลี่ยของบริษัท 13 ปี มีพนักงานที่ทำงานกับบริษัทนานกว่า 5 ปีอยู่เกินครึ่ง คนที่อายุงาน 12 ปี มี 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าใช้ได้
ในการทำ knowledge sharing ของ เคทีซี ในเรื่องรูปแบบคงไม่หนีจากองค์กรอื่นมากนัก เพราะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ แต่สิ่งที่แตกต่างคือวิธีการนำเสนอ ที่ "ดุสิต" จะเน้นเรื่องความสนุกเป็นตัวตั้ง แต่ก็ต้องให้บุคลากรนำไปใช้ประโยชน์ได้
โดยในช่วงทำแผนงบประมาณประจำปี จะดูการเติบโตของบริษัทว่าจะเดินไปทิศทางไหน แล้วทำสำรวจความคิดเห็นพนักงานแบบไม่เป็นทางการว่าต้องการเรียนรู้เรื่องอะไร จากนั้นก็กำหนดแผนงานว่าช่วงไหนจะทำอะไร ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับงานและไม่เกี่ยวกับงาน แต่ถ้าช่วงไหนองค์กรดูหงอย ๆ ก็จะหากิจกรรมมาเสริม
เช่นก่อนหน้านี้ก็เชิญผู้พันหญิงมาสอนเรื่องศิลปะการป้องกันตัวให้กับพนักงาน ผู้หญิง เพราะที่เคทีซีมีพนักงานส่วนหนึ่งที่ต้องทำงานเป็นกะ มาเช้าแล้วกลับบ้านดึก ซึ่งการเรียนรู้ตรงนี้ก็จะช่วยทำให้ชีวิต พนักงานมีความปลอดภัยมากขึ้น
เมื่อถามว่ากิจกรรม knowledge sharing ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเท่าที่เคยจัดมาคืออะไร
"พัชรางสุ์ ไชยเชิงชน" และ "ธัญชนิต ทองอาจ" Fun Manager Human Resource Department ของ KTC ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า วันเดอร์แคมป์
ความน่าสนใจของวันเดอร์แคมป์อยู่ตรงไหน ทำไมกระชากใจคนเคทีซี "ดุสิต" เฉลยว่า หลักสูตรนี้มีที่มาจากเวทีอะคาเดมี แฟนเทเชีย หรือที่เราเรียกกันย่อ ๆ ว่า AF เอาครูของนักล่าฝันมาสอนเทคนิคใน 3 เรื่องที่สำคัญให้กับพนักงาน คือแอ็กติ้ง กูมมิ่ง วอยซ์เทรนนิ่ง
"พัชรางสุ์" เล่าว่า เริ่มแรกกิจกรรมนี้จัดให้กับน้อง ๆ ที่ทำงานในคอลเซ็นเตอร์ เพราะทั้งเรื่องการเปล่งเสียง การแต่งตัว และแอ็กติ้ง เป็นสิ่งที่พนักงานคอลเซ็นเตอร์ต้องใช้เป็นประจำโดยไม่รู้ตัว หากเขาได้มีโอกาสเติมความรู้ก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"พนักงานคอลเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่ชอบคิดว่า ตัวเองอยู่หลังโทรศัพท์ ไม่ได้พบปะผู้คน ดังนั้นไม่ต้องสวย ไม่ต้องดูดี"
ตรงนี้เป็นปัญหาเรื่องทัศนคติที่"พัชรางสุ์" บอกว่าต้องเปลี่ยนเป็นอันดับแรกเพราะถ้าพนักงานแต่งตัวสวย ก็จะทำให้มีความมั่นใจในตัวเอง ขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานมีคนมอง เข้าไปในลิฟต์มีคนชมก็ภูมิใจ รับโทรศัพท์น้ำเสียงก็จะสดใส แต่ถ้าวันไหนที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามอมแมม น้ำเสียงก็จะห่อเหี่ยว
ครูที่มาสอนในหลักสูตรนี้จึงต้องรับบทหนักนิดหนึ่ง เพราะคอลเซ็นเตอร์ 200 กว่าคน ก็ 200 คุณลักษณะ นอกจากเรื่องของการทำน้ำเสียงให้สดใสแล้ว การควบคุมสติในเรื่องแอ็กติ้งก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากลูกค้าวีนมา แล้วพนักงานเหวียงกลับ ทุกอย่างก็พัง หรือการนั่งรับโทรศัพท์ก็ต้องไม่ก้มหน้า เพราะโทนเสียงจะทำให้อารมณ์ของคนฟังติดลบ ทุกอย่างสำคัญหมด
ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนจะถูกเติมเต็มในหลักสูตรนี้ คือการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง การควบคุมสติในการคิด การพูดอะไรให้รู้สึกตัวตลอดเวลา การวางเสียงให้ไพเราะเวลารับโทรศัพท์
ฟังอย่างนี้แล้ว หลายคนอาจจะมองว่าคอร์สนี้น่าจะสร้างความเครียดให้กับ พนักงานพอสมควร แต่ "ดุสิต" กลับบอกว่า ในช่วงเวลาของการอบรม 3 วัน ทุกคนสนุกกันมาก เพราะครูที่มาสอนจะมีเทคนิคที่ทำให้ทุกคนไม่เครียด ในช่วงบ่ายก็จะให้ ผู้เข้าอบรมขึ้นเวทร้องเพลง โชว์ศักยภาพ
คนที่เข้าอบรมจึงได้ทั้งความสนุกและเทคนิคในการทำงานที่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันไปพร้อม ๆ กัน
วิกฤตที่ผ่านมาอาจทำให้หลายองค์กรบาดเจ็บสาหัส แต่สำหรับเคทีซีเขาสามารถพลิกวิกฤตฟิตคนในองค์กรด้วยกิจกรรม เล็ก ๆ จนวันนี้เขาบอกว่า พร้อมแล้วที่จะก้าวกระโดดอีกครั้งเมื่อเศรษฐกิจฟื้น
หน้า 31
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4204 ประชาชาติธุรกิจ