วิริยะประกันภัย ต้นแบบองค์กรสีขาว
"กฤตวิทย์ ศรีพสุธา" กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด องค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็น น่านน้ำสีขาวตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่รู้จักคำว่า White Ocean Strategy ได้แชร์ประสบการณ์ดีๆ ให้ฟังว่า นโยบายของ "เล็ก วิริยะพันธุ์" ผู้ก่อตั้ง วิริยะประกันภัย ตั้งแต่แรก นึกถึงสังคมเป็นตัวตั้ง
ย้อนไปในปี 2535 ประเทศไทยออกกฎหมายเรื่องพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยทางรถยนต์ ช่วงนั้นมีคนตายบนท้องถนนประมาณ 18,000-19,000 คน คนบาดเจ็บ 300,000 กว่าคน คุณเล็กมองเห็นว่าประชาชนไม่มีคนดูแล จึงคิดทำธุรกิจนี้ขึ้น ในช่วงแรกบวกลบคูณหารแล้ว บริษัทน่าจะขาดทุนประมาณปีละ 200 ล้านบาท แต่เล็กก็ยืนยันจะทำด้วยเจตนาที่ต้องการจัดสวัสดิการให้กับประชาชน
เล็กบอกเสมอว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ประชาชนเอาไปฝากไว้ในรูปแบบของเบี้ยประกันภัยนั้นเป็นของประชาชนทั้งสิ้น เพียงแต่เราช่วยกันบริหารเงินเหล่านั้น จากผู้ที่โชคดีไม่ประสบภัย ไปช่วยเหลือผู้ที่โชคไม่ดีต้องประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เกิดความสมดุล
หลายคนบอกว่าวิริยะได้รับเบี้ยประกันมากที่สุด ปีละกว่าหมื่นล้านบาท น่าจะมีผลประกอบการที่ดี แต่ข้อเท็จจริงเมื่อหักภาษีแต่ละปีวิริยะมีกำไรเเพียง 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น แต่แค่นี้วิริยะก็พอใจแล้ว เพราะองค์กรนี้ ประชาชนผู้จ่ายเบี้ยประกันคือผู้ถือหุ้น ที่ต้องได้รับผลประโยชน์สูงสุด
"กฤตวิทย์" บอกว่า พนักงานของวิริยะทุกคนมีความสุขทุกระดับ เพราะ ผู้บริหารปฏิบัติกับพนักงานทุกคนด้วย ความเสมอภาค
วิริยะได้พยายามพัฒนาคนให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ โดยอาศัยพื้นฐาน 2 อย่าง ที่ฝากไว้ในใจพนักงานทุกคน หนึ่ง อย่าทำความชั่วทั้งปวง สอง ทำแต่ความดี
"คุณเล็กบอกเสมอว่า ทุกคนสามารถเป็นคนดี คนเก่งได้ ถ้าให้โอกาสเขา ดังนั้นในการรับพนักงานวิริยะจะรับคนที่หลากหลาย แล้วส่งเสริมให้เขาเป็นคนดีก่อน"
"กฤตวิทย์" บอกว่า วันนี้กล้าพูดได้ว่า สิ่งที่ทำให้วิริยะชนะคู่แข่งทั้งมวล คือคนที่ได้รับการปลูกฝังให้มีจิตอาสาเพราะเป็น สิ่งที่เลียนแบบได้ยาก พนักงานที่อยู่ใน ศูนย์บริการจะทำงานกัน 365 วัน ไม่มี วันหยุด แม้แต่ช่วงเทศกาลสำคัญ แต่ทุกคนก็เต็มใจที่จะทำงาน เพราะเขามีความสุขที่ได้ให้ความสุขกับคนอื่น
หน้า 31
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ