มาร์ค เดวาเดสัน ธุรกิจเหมือนกีฬามาราธอน
มาร์ค เดวาเดสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) บอกว่า มหกรรมกรุงเทพมาราธอน ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
ด้านหนึ่งนอกจากเป็นการแสดงออกถึงพลังของคนในชาติแล้ว อีกทางหนึ่งกีฬาประเภทนี้ยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ติดแน่นทนทาน ของธนาคาร หลังจากจัดพร้อมกันใน 9 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ชื่อกิจกรรม สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เวิลด์-คลาส มาราธอน ซีรีส์ ซึ่งเป็นร่มคันใหญ่มาครอบอีกทีหนึ่ง
กีฬาชนิดนี้มีค่านิยมบางอย่างอยู่ในตัวของมันเอง คนที่จะมาวิ่งได้ต้องมีความกล้าหาญ มีพละกำลัง มีการมองการณ์ไกล มีการฝึกฝน เป็นเรื่องของความมุ่งมั่นกระตือรือร้น ที่จะทำบางอย่างให้ประสบความสำเร็จ
ซึ่งสอดรับกับภาพลักษณ์องค์กรที่มีอายุ 115 ปี หลังการเข้ามาบุกเบิกธุรกิจในไทย
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับเปลี่ยนองค์กรไปตามฤดูกาล จากยุคสมัยแรกๆ ที่เปิดให้บริการเพื่อรองรับกลุ่มบริษัทในเครือของประเทศอังกฤษ ทุกวันนี้องค์กรจัดวางรูปแบบธุรกิจเป็นธนาคารพาณิชย์ของท้องถิ่น มีหน้าที่ให้บริการและดูแลความต้องการของลูกค้า
คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าแบงก์ต่างชาติมาแล้ววันหนึ่งก็ต้องกลับไป แต่เราไม่ใช่ เราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีความมุ่งมั่นระยะยาวต่อทุกพื้นที่ที่เราไปอาศัยอยู่ ภายใต้พื้นฐานที่แข็งแกร่งและสะท้อนถึงความเป็นตัวตนของเรา
เขาบอกว่า สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจะวางจุดยืนว่าเป็น commercial bank โฟกัสไปที่ความต้องการของลูกค้า มากกว่าเป็น investment bank ที่เน้นเรื่องของการลงทุน เอาเงินไปต่อเงิน ดังนั้นจึงมีผลกระทบทางธุรกิจน้อยกว่า เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงิน
มาร์คมองว่า อนาคตของโลกทางการเงินยุคใหม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปและอเมริกาอย่างที่แล้วมา เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นที่เอเชีย การเตรียมความพร้อมของธนาคารสู่ความเป็นเครือข่าย (networking bank) ระดับภูมิภาค จะเป็นอีกบทบาทที่สะท้อนศักยภาพของธนาคาร ในการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มบริษัทคนไทย ที่ต้องทำธุรกรรมทางการเงินในตลาดเอเชีย
ทุกวันนี้สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยืนอยู่บนตลาดเฉพาะกลุ่มแบบ niche market ท่ามกลางความแข็งแกร่งของบรรดาธนาคารสายพันธุ์ไทย สิ่งที่เขาคิดก็คือ การมีสาขาน้อยกว่า ไม่ได้แปลว่าต้องจำนนยอมแพ้อย่างหมดรูป
ตราบที่รถโฟล์กยังบอกว่า ยิ่งเล็กยิ่งดี (small is beautiful) ความคล่องตัวในแบบของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ก็นำไปสู่การบริหารต้นทุน และการให้บริการที่ทั่วถึงและมีโอกาสสร้างความประทับใจได้มากกว่า
ธนาคารในไทยแข่งขันกันดุเดือดจนน่ากลัว แต่ละรายพยายามเข็นสินค้าและบริการใหม่ๆ ออกมาอย่างไม่ขาดสาย แต่ความที่เราอยู่มานาน จึงไม่พะวง หลายเรื่องเราสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำ และอยู่ในจุดที่แข่งขันได้
มาร์คเป็นลูกหม้อที่เติบโตและทำงานกับธนาคารมายาวนานถึง 24 ปี และอยู่ในตำแหน่งซีอีโอเก้าอี้ที่หลายคนใฝ่ฝันเป็นปีที่ 7 ก่อนหน้าที่เขาจะมารับตำแหน่งในเมืองไทย เขาเคยกินตำแหน่งเดียวกันนี้ที่ญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าเมืองไทย แต่ขนาดการจัดการก็เล็กกว่ามาก
ในฐานะผู้นำไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ก็ต้องบริหารจัดการให้ได้ และทำตัวเองให้สนุกไปกับงาน
ผมเป็นตัวแทนขององค์กร ทั้งในแง่ของแบรนด์ และการรักษาภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมองค์กร การเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ต้องดูแลในทุกภาคส่วน ทั้งของเรื่องคน เรื่องของธุรกิจ และชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
แม้แต่การเชื้อเชิญลูกค้า แขกคนสำคัญ และพนักงานบริษัท ไปทานข้าวที่บ้านปีละไม่น้อยกว่า 900 คน ก็ยังถือเป็นบทบาทหลักของผู้นำ ในการสร้างสัมพันธภาพและสะท้อนถึงความรู้สึกดีๆ
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นธนาคารที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสัมพันธภาพค่อนข้างมาก จากลักษณะธุรกิจที่เป็นบริษัทข้ามชาติ ยืนอยู่บนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และต้องมาอยู่ร่วมกัน จนนำไปสู่แนวทางการสร้างสมดุลครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเรื่องของธุรกิจ คน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ก็นำแนวคิดที่เป็นกลยุทธ์ balance กระจายตัวออกมาเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับประเด็นของสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพอนามัยของผู้คน 4 เรื่อง ครอบคลุมในเรื่องของ 1. การให้ความรู้เกี่ยวกับผู้ป่วยเชื้อเอชไอวี ด้วยการปลูกฝังว่า ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ 2. ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนดวงตาให้คนตาบอด ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 3. การมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน และ 4. การมีส่วนร่วมกับชุมชน
การสร้างสมดุลในทุกภาคส่วนธุรกิจ คือการทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมืองบรรษัทของโลก เราทำธุรกิจในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง หลายประเทศมีปัญหาสุขภาพ ความเป็นอยู่ น้ำเสีย และมลภาวะ หน้าที่บริษัทข้ามชาติไม่ใช่แค่ทำธุรกิจ แต่ต้องให้ความใส่ใจกับประเด็นปัญหาเหล่านี้
มาร์คเล่าว่า ธุรกิจยุคใหม่จะอยู่รอดและยั่งยืนได้ 1. ต้องไหวตัวต่อการเปลี่ยนแปลง 2. เรื่องของการสร้างคนอย่างใส่ใจ สร้างความรู้สึกให้คนอยากผูกพันใกล้ชิด และมีส่วนร่วมไปกับธุรกิจ
3. มุ่งบริหารความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้ควบคุมกฎ หรือซัพพลายเออร์ 4. การตอกย้ำความเป็นบรรษัทภิบาล และ 5. สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ดังกรณีของการเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลักของกรุงเทพ มาราธอน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามองว่า สามารถนำกลับมาเชื่อมโยงกับคนในองค์กรให้มีส่วนร่วม และตอบโจทย์การสร้างสมดุลในชีวิตส่วนตัวและการทำงานในท้ายที่สุด
"เรามองระยะยาว มองภาพกว้าง มององค์รวมทั้งหมด เอชไอวีทำร้ายเศรษฐกิจ ฉุดภาวะการเติบโตของประเทศลง ตัวอย่างเช่น ในประเทศเคนยา 10% พนักงานติดเชื้อเอชไอวี ถ้าเราให้ความรู้ เราลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ ภาวะการเติบโตของประเทศก็จะสูงขึ้น ไม่แต่เพียงบริษัทเราได้ประโยชน์ แต่ก็จะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสถานะทางการเงินโดยรวม
หรือเรื่องของคนตาบอด ต้องใช้คนหนึ่งคนมาดูแลอีกคน ถ้าสามารถรักษาคนตาบอดได้ ก็จะกลายเป็นว่า มีคนสองคนเดินกลับเข้าไปสู่ตลาดแรงงาน ได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ"
บริษัทมองว่า การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต้องมองกันยาวๆ และไม่มีอะไรสำเร็จได้ในระยะสั้น ขณะเดียวกันการมองปัญหาและผลประโยชน์ร่วม ต้องมองไกลออกไปจากพรมแดนของประเทศชาติ ผิดกับมุมมองของรัฐบาลบางประเทศ ที่ยังมองแค่ปัญหาและประโยชน์ของตัวเอง
ทุกวันนี้มาร์คยังคงตื่นเช้ามาทำงานและกลับบ้านในตอนเย็น เพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ขณะเดียวกันก็ฟิตซ้อมร่างกายอยู่เสมอ เพื่อรอเวลาไปวิ่งมาราธอน นอกจากนี้ เขาก็พยายามจะไม่พลาดแมทช์สำคัญของ ลิเวอร์พูล หลังสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเพิ่งกระโดดเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลัก
มีบางคนเคยบอกว่า ในโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ ถัดจากกีฬาวิ่งทางไกล บางทีการเดินหน้าของธุรกิจสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจากนี้ อาจจะเปลี่ยนมา ฟาดแข้ง สลับกับการสาวเท้าไปข้างหน้าด้วยจังหวะที่เสมอกัน...
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ