อาชญากรเศรษฐกิจ สารพัดกลยุทธ์ โคตรโกง


825 ผู้ชม


อาชญากรเศรษฐกิจ สารพัดกลยุทธ์ โคตรโกง




โดย บิสิเนสไทย [10-1-2008]
อาชญากรเศรษฐกิจ สารพัดกลยุทธ์ โคตรโกง
ลอกคราบ "เล่ห์"อาชญากรเศรษฐกิจ สารพัดกลยุทธ์ "โคตรโกง"  ผ่านเครื่องมือไฮเทค ทั้งบัตรเครดิต,เอทีเอ็ม, เวบไซต์, โทรศัพท์ ที่แม้แต่ตำรวจยังตามไม่ทัน ถ้าคุณไม่อยากตกเป็น "เหยื่อ" ต้องอ่าน ! 

หากพิจารณาสถิติอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของเมืองไทย อาจอนุมานได้ว่า วงจรของการฉ้อโกงประชาชนครั้งใหญ่ๆ มักจะอุบัติขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง
 
ดังเช่นใน 2527 กรณีแชร์ชาร์เตอร์ สร้างความเสียหายกว่า 5,560 ล้าน มีผู้เสียหาย 17,740 ราย ปีถัดมาแชร์แม่ชม้อย สร้างความเสียหายกว่า 3,115 ล้านบาท เหยื่อผู้เสียหายมากกว่า 17,597 ราย
 
ผ่านมากว่า 20 ปี เมื่อรอบเศรษฐกิจถดถอย  กงล้อแห่งวงจรอุบาทว์นี้ ก็เวียนมาบรรจบอีกครั้ง หากแต่ครั้งนี้ ไม่เพียงปรากฏการณ์แชร์ลูกโซ่กลับมาระบาดทั่วประเทศในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแชร์ข้าวสาร,แชร์น้ำมัน,แชร์เกี๋ยวเตี๋ยว ฯลฯ
 
ทว่าอาชญากรทางเศรษฐกิจยุคนี้  ยังได้พัฒนาเล่ห์เหลี่ยมสูงขึ้นไปอีก โดยมีเครื่องมือไฮเทค เป็นตัวช่วย เมื่อรวมกับแชร์ลูกโซ่แล้ว เฉพาะปี 2550 ปีเดียว  กระทรวงการคลังประมาณการณ์ว่า มีมูลค่าความเสียหายสูงที่เกิดขึ้นถึง 2 หมื่นล้านบาท
 
"บิสิเนสไทย"ฉบับนี้ ขันอาสาเปิดโปงสารพัดอุบายกลโกง ที่พัฒนาขึ้นมาทุกรูปแบบ เพื่อล่อหลอกให้เหยื่อมาติดกับ โดยข้อมูลมาจากการเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ "มิจฉาชีพ กับอนาคตธุรกิจการเงินไทย"(อ่านหน้า 28 ประกอบ)
 
และข้อมูลจากการสืบค้น ที่รวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มาประมวลให้ผู้อ่านได้ใช้เป็นข้อมูลเพื่อรับมือกับภัยมืดดังกล่าว

เสียงตามสาย
 
ภัยแรกที่ "บิสิเนสไทย"อยากจะนำเสนอก็คือ ภัยที่เกิดจาก "โทรศัพท์" ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์ มือถือหลายรายได้รับความเดือดร้อน จากบริษัทรับทวงหนี้ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทขายตรง ขายประกัน
 
รวมทั้งมิจฉาชีพที่จงใจล่อลวงฉ้อโกงเงินจากเหยื่อ ได้โทรศัพท์เข้าไปยังเบอร์ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือโดยไม่ปรากฏต้นตอเบอร์ต้นสาย ทำให้ผู้รับสายไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเบอร์ที่โทรเข้ามานั้นเป็นใคร ส่วนใหญ่สายที่ไม่แสดงเลขหมายนั้น จะปรากฏคำว่า private number (เบอร์ส่วนตัว) หรือ unknown caller (ไม่ระบุผู้โทรเข้า) ทำให้สืบหาต้นตอไม่ได้  
 
สำหรับวิธีที่อาชญากรนำมาใช้ รูปแบบหลักๆที่เกิดขึ้นคือ โทรศัพท์เข้าไปหลอกล่อเพื่อลวงเอาเลขที่บัญชี หรือ โอนเงิน มาเข้าบัญชีตัวเอง วิธีการก็มีตั้งแต่ โทรสุ่มเข้ามาแล้วหลอกว่าถูกรางวัล  แล้วขอเลขบัญชีธนาคาร เพื่อจะโอนเงินให้
 
หรือ อ้างว่ามาจากสถาบันการเงิน แล้วลวงว่า เหยื่อเป็นหนี้บัตรเครดิตมูลค่าสูงๆ จากนั้นก็จะขอหมายเลขบัตรเครดิต โดยอ้างว่าจะขอไปตรวจสอบว่า หมายเลขนี้ว่าเป็นหนี้จริงหรือไม่ บางครั้งถึงกับอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากแบงก์ชาติก็มี เพื่อความน่าเชื่อถือให้เหยื่อตายใจ  ที่น่าสนใจ ก็คือ ขบวนการเหล่านี้ สามารถระบุชื่อเหยื่อ ได้อย่างถูกต้อง
 
วิธีรับมือ ก็คือ ให้ปฏิเสธ แล้ววางหูทันที หรือ โทรกลับไปแบงก์นั้นๆที่ระบุมา เพื่อเช็คข้อมูลว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ข้อสังเกตคือ มิจฉาชีพเหล่านี้จะไม่โชว์เบอร์โทร ข้อควรระวังคือ อย่าบอกข้อมูลส่วนตัวทั้ง วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ หมายเลขบัญชีธนาคาร อีเมล์


Phishing Mail
 
หลังจากที่บริการ E-banking ในต่างประเทศต้องเจอกับภัยคุกคามจากอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า Phishing Mail มาพักใหญ่ ตอนนี้เรื่อง Phishing Mail ก็เริ่มฮือฮาขึ้นมาบ้างแล้วในเมืองไทย เห็นได้จากหลายๆ ธนาคารในบ้านเรา เริ่มประกาศเตือนลูกค้าออกมาให้เห็นผ่านทางหน้าเว็บไซต์บ้างแล้ว
           
หากเราเป็นคนหนึ่งที่ใช้บริการระบบ E-banking เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งในส่วนของบัญชีเงินฝาก เงินหมุนเวียน หรือแม้แต่การหักชำระผ่านบัตรเครดิต ภัยที่ว่านี้แฝงตัวมาในรูปแบบของการหลอกลวงและล้วงเอาข้อมูลความลับในส่วนของรหัสที่ใช้ในการดำเนินการด้านการเงิน
 
เนื่องจากมิจฉาชีพกลุ่มนี้อาศัยช่องโหว่ที่เกิดจากความไว้วางใจของผู้บริโภคที่มีต่อระบบ E-banking เพื่อเข้ามาประกอบอาชญากรรม โดยพยายามโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และนำข้อมูลที่ได้ไปขโมยเงินออกจากบัญชี
           
กระบวนการนี้เริ่มจากการที่เหล่าโจรบนโลกไซเบอร์ส่งอีเมลที่ปลอมแปลงว่ามาจากธนาคารที่เราติดต่ออยู่เป็นประจำ อีเมลดังกล่าวจะมีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของธนาคาร ของสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียง และของบัตรเครดิตประเภทต่างๆ
 
จากนั้นใช้วิธีการหลอกลวงด้วยการใช้ชื่ออีเมลในทำนองว่า เป็นเรื่องด่วนจากธนาคาร บัญชีที่ใช้งานจะหมดอายุ ต้องการอัพเดตฐานข้อมูลใหม่ หรือเสนอสินค้าที่มีดอกเบี้ยต่ำต่างๆ เป็นต้น แล้วบอกให้เราล็อกอินเข้าใช้งาน E-banking โดยจะทำลิงก์มาล่อให้เราคลิก
 
เมื่อเราเผลอคลิกเข้าไปโดยไม่ระมัดระวัง เราก็จะเข้าไปติดกับดักที่ผู้ไม่หวังดีวางไว้ เพราะเขาจะจำลองเว็บไซต์ของธนาคารให้ดูเหมือนจริง แต่จริงๆ เป็นเว็บไซต์ของผู้ไม่หวังดี หลอกสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนถึงข้อมูลทางการเงิน
 
 เช่น เลขที่และรหัสบัตรเครดิต เมื่อเราป้อนข้อมูลต่างๆ ลงไป โจรไซเบอร์เหล่านี้จะนำข้อมูลทางการเงินของเราไปใช้ได้อย่างสบายใจ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือชำระเงินค่าสาธารณูปโภค โดยที่เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
                   
การป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพที่ใช้กระบวนการ "Phishing" ได้ในเบื้องต้น คือ ผู้ใช้บริการ E-banking จะต้องหมั่นสังเกตว่าเว็บไซต์ที่อีเมลหลอกให้เราเข้าไปนั้น คือเว็บไซต์ของธนาคารส่งมาจริงหรือไม่ เนื่องจากเว็บไซต์ที่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยง
 
เช่น การโอนเงินออกจากบัญชีของลูกค้า ชื่อเว็บไซต์จะปรากฏคำขึ้นต้นด้วย https การมี "s" ต่อท้ายอยู่ เพื่อบ่งบอกว่าเป็นระบบที่มีการป้องกันความปลอดภัยไว้แล้ว ซึ่งเป็นมาตรฐานโลกสำหรับเว็บไซต์ธุรกรรมทางการเงิน แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ปลอมจะไม่มี "s" ต่อท้ายคำว่า "http"
 
นอกจากนั้นก่อนการ submit ข้อมูลใดๆ ให้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่เข้านั้นมีสัญลักษณ์ของระบบ security (รูปแม่กุญแจ) หรือไม่ โดยมุมขวาล่างของ browser ซึ่งสัญลักษณ์รูปแม่กุญแจนี้จะแสดงในหน้าเว็บไซต์ที่มีการรับส่งข้อมูล โดยจะมีการเข้ารหัสก่อนการรับ-ส่ง ซึ่งพอจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่ามีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ
           
ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ป้องกัน Phishing ก็คือใช้โปรแกรมช่วย นักพัฒนาโปรแกรมได้ทำการพัฒนาซอฟต์แวร์ Anti-phishing ซึ่งโปรแกรมนี้จะฝังตัวอยู่กับโปรแกรม Anti-virus กระบวนการทำงานมีความแม่นยำพอสมควร โดยจะอาศัยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อที่จะทราบถึงลักษณะและชนิดต่างๆ ของ Spam mail และ Phishing mail
           
วิธีการทำงานของซอฟต์แวร์ Anti-phishing ใช้ระบบ Multi-Layer โดยชั้นแรกจะดูจากประวัติของผู้ส่งก่อน (Reputation Filter) ถ้ามีประวัติที่น่าสงสัยจะถือว่าเป็น Spam mail หรือ phishing mail ก็จะลบเมลนั้นทิ้งทันที ในกรณีที่ประวัติไม่น่าสงสัยก็จะมาสู่ชั้นที่สอง ซึ่งระบบจะตรวจเนื้อหาข้างในอีเมลว่าเป็น Spam หรือ Phishing หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ระบบป้องกันไวรัสก็จะปล่อยให้อีเมลผ่านเข้าไปสู่ระบบของผู้รับ
           
เว็บไซต์ Security Hacks ได้แนะนำซอฟแวร์บางตัวที่เอาไว้ป้องกัน Phishing ได้ เช่น Google Safe Browsing ซึ่งค่อนข้างเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำงานโดยการเปรียบเทียบกับเว็บไซต์ในฐานข้อมูลว่าเป็น Phishing หรือไม่ แล้วแสดงให้เราเห็นใน URL bar อีกโปรแกรมหนึ่ง คือ CallingID Link Advisor ที่แสดง URL ของลิงก์นั้นให้เห็นตั้งแต่ก่อนกดเลย
 
รูดปรื๊ดๆ
 
ส่วนใหญ่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของภัยในลักษณะนี้  จะประสบได้จากการแจ้งหนี้ของบัตรเครดิตเป็นมูลค่าสูงๆทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้รูดเพื่อชำระสินค้าต่างๆเหล่านี้ สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ มิจฉาชีพเหล่านี้ ได้เลขที่บัตรเครดิตมาได้อย่างไร  
 
กลวิธีของแก๊งค์เหล่านี้ได้เลขที่บัตรเครดิตจากเหยื่อ วิธีแรกที่ง่ายที่สุดคือ "สลิปบัตร" ที่ผู้เสียหายทิ้งไว้เมื่อไปใช้บริการตามที่ต่างๆ แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ขบวนการเหล่านี้สามารถนำไปปลอมบัตรขึ้นมาใหม่แล้วนำไปใช้รูดได้เสมือนเป็นเจ้าของบัตรเอง
 
วิธีต่อมาก็คือ  ว่าจ้างพนักงาน ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน หรือร้านค้าให้นำข้อมูลของลูกค้าไปให้ โดยจะใช้วิธีการรูดบัตรเครดิตสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการจ่ายเงินของลูกค้าตามปกติ ครั้งที่สองจะดูดข้อมูลหรือสกิมเมอร์ ของลูกค้าเก็บไว้เพื่อนำไปใส่กับบัตรเครดิตปลอมที่มีอยู่จากนั้นก็จะนำไปรูดสินค้า
   
ส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายของคนร้าย จะมุ่งไปที่ชาวต่างประเทศที่เดินทางมาเมืองไทย จากนั้นทำบัตรปลอมขึ้นพร้อมลายเซ็นที่เหมือนกับเจ้าของเดิม และ นำไปรูดสินค้า หรือบางรายก็นำบัตรเครดิตปลอมไปขายตามท้องตลาด
 
ราคาบัตรเครดิตปลอมจะขึ้นอยู่กับคุณภาพบัตรว่า มีความใกล้เคียงกับของจริงแค่ไหน โดยบัตรปลอมที่เหมือนมากๆ เรียกว่า "บัตรปลอมโซนยุโรป" จะมีราคากว่า 1 แสนบาทต่อใบ แต่มีวงเงินรูดซื้อสินค้าได้เป็นหลักล้าน ส่วนราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่พบอยู่ในประเทศไทย สนนราคาประมาณ 6,000 บาทต่อใบ      
              
ต่อมาก็พัฒนาการขโมยข้อมูลบัตรเครดิต โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "สกิมเมอร์" เพื่อก๊อบปี้ข้อมูล จากนั้นก็จะทำบัตรและปลอมลายเซ็นขึ้น วิธีการนี้จะมีพนักงานของร้านค้าบางแห่งรู้เห็นเป็นใจด้วย
        
แต่ที่น่ากลัวที่สุด จากการเปิดเผยข้อมูลจาก กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรม ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) ก็คือ การนำเอาอุปกรณ์มาดูดข้อมูลจากชุมสายโทรศัพท์ โดยตรวจสอบดูว่า มีข้อมูลรหัสบัตรเครดิตผ่านเข้ามาในชุมสายนั้นๆ หรือไม่
 
จากนั้นก็จะทำการ "แทป" เพื่อดักจับรหัสบัตรเครดิตที่จะมาพร้อมกับ "รหัสลับ ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคาร" ซึ่งแกงค์พวกนี้จะมี "โปรแกรมถอดรหัส" เพื่อหาทางถอดรหัสและสกัดเอารหัสบัตรเครดิตมาใช้       
        
ปศท. และ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของบัตรเครดิต ได้แนะนำว่า ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้ ก็คือ  ควรจะเก็บรักษาสลิป หากจะทิ้ง ก็ควรจะทำลาย เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ถูกนำไปใช้ต่อยอด
 
ในกรณีหากเข้าไปใช้บริการ หรือ ซื้อสินค้า เวลาให้พนักงานรูดบัตร ก็ควรจะอยู่ใกล้ เพื่อคอยดูว่าพวกเขามีพฤติกรรมรูดบัตรกี่ครั้ง ผิดสังเกตหรือไม่

แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือ ควรมีการตรวจสอบยอดเงินคงเหลือทุกครั้งก่อนไปใช้บัตร  ที่สำคัญผู้ใช้บัตรเครดิตควรจะกำหนดวงเงินในการใช้ไม่มากนัก เมื่อเกิดกรณีที่เสียหายจริง
 
ปัจจุบันสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของบัตรเครดิตเกือบทุกแห่งขณะนี้ จะมีระบบป้องกัน ด้วยการรีเช็คไปยังเจ้าของบัตร ในกรณีที่พวกเขารูดสินค้า และบริการ ที่เกินผิดปกติ โดยเฉพาะสินค้าที่หมุนเวียนเร็ว อย่าง โน๊ตบุค, ทองคำ,

เมื่อเอทีเอ็มกลายเป็นตู้ปล้นเงิน
 
ภัยใกล้ตัวอีกประการหนึ่ง ที่อาชญากรเศรษฐกิจเหล่านี้ ใช้เป็นเครื่องมือก่อเหตุ จนถึงทุกวันนี้ตำรวจก็ยังตามจับตัวไม่ได้ นั่นก็คือ ตู้เอทีเอ็ม
 
รูปแบบก็มีตั้งแต่ใช้วิธีซึ่งๆ หน้า ด้วยการจ้างหน้าม้า หรือ นกต่อ เข้ามาพูดคุยหลอกล่อเหยื่อ โดยให้โอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย ไปอีกบัญชีหนึ่งที่เปิดเตรียมไว้ โดยอ้างว่า ตู้เอทีเอ็มดังกล่าวไม่สามารถฝากเงินสดได้ และมิจฉาชีพ ก็จะให้เงินสด
 
พร้อมค่าโอนเป็นจำนวนเงินหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันว่า เหยื่อจะได้เงินสด ไม่ได้ถูกหลอก เมื่อเหยื่อหลวมตัวโอนเงินไป พวกนี้ก็จะได้ข้อมูลเลขที่บัญชีเพื่อนำไปใช้ต่อไป
 
นอกจากนี้ ก็คือ การนำสลิปหลังจากใช้บริการเอทีเอ็มแล้ว  ซึ่งคนร้ายจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้  เพราะสลิปมีเลขที่บัญชีสิบตัวปรากฏอยู่ แต่ละธนาคารจะมีการโอนเงินทางโทรศัพท์ โดยมีผู้ไม่ประสงค์ดีนี้จะโทร.ไปยังธนาคาร
 
เพื่อโอนเงินผ่านทางโทรศัพท์ตามหมายเลขแล้วแต่ธนาคาร เขาก็จะได้จากสลิปของผู้ที่ทิ้งไว้แล้ว เมื่อกดเลขบัญชีธนาคารเสร็จจะมีการให้ใส่รหัสประจำตัวสี่ตัว เมื่อกดเงินนั้นเขาก็จะจำไว้แล้วว่าหมายเลขอะไร จากนั้นก็กดหมายเลขนั้นลงไป เท่านี้เขาก็โอนเงินเข้าบัญชีของเขาได้ตามที่ต้องการ ดังนั้นสลิปจึงไม่ควรทิ้งเรี่ยราด  
 
แต่ที่น่ากลัวมากกว่านั้น เมื่อขบวนการเหล่านี้ ถึงขนาดพัฒนาเครื่องมือ สวมครอบไปในช่องเสียบบัตรเพื่อดูรหัสบัตรเอทีเอ็ม หรือบางกลุ่มก็ใช้พลาสติกครอบแป้นกดรหัสเพื่อดูรหัสส่วนตัว เมื่อมีผู้เข้าไปใช้บริการแล้วจะไม่มีใครสังเกตแต่เมื่อกดรหัสส่วนตัวไปแล้วเงินจะไม่ออกก็จะไม่มีใครสนใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
 
 เช่น ไปกด ATM จะสังเกตว่าค่อนข้างแนบเนียน ตัวสกินเนอร์จะซ่อนอยู่ใต้ตัว Key pateแต่ก่อนจะมีช่องใส่บัตรเข้าไปก็จะสกินข้อมูลได้เฉพาะบนบัตร เวลากดคีย์ข้อมูลก็อาจจะไม่ทราบ แม้แบงก์จะซ่อนกล้องเอาไว้ข้างบน เพราะพวกนี้จะทำงานเร็วมาก ส่วนใหญ่ที่แบงก์ที่เป็นเจ้าของตู้เอทีเอ็มเห็นจากกล้องวงจรปิดก็คือ มือของคนร้ายที่ปิดหน้ากล้องไว้
 
กรณีนี้ค่อนข้างยากในการที่จะแยกแยะเครื่องเอทีเอ็มเครื่องไหน มีการติดตั้งอุปกรณ์ของคนร้าย หรือ เครื่องไหนไม่มีการติดตั้ง เพราะทำไว้แนบเนียน นอกจากจะเป็นช่างที่ชำนาญงานของแบงก์ที่เป็นเจ้าของตู้เอทีเอ็มจริงมาตรวจสอบจึงจะรู้ว่าผิดปกติ
 
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ พยายามใช้บริการเครื่องเอทีเอ็ม ที่มีผู้คนอยู่พลุกพล่าน ไม่ควรใช้บริการตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่โดดเดียว ห่างไกลจากชุมชน เพราะการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ คนร้ายจะต้องหาช่วงเวลาในการปลอดคนติดตั้ง
 
สารพัดแชร์ลูกโซ่
 
ภัยสุดท้ายที่กำลังเป็นกระแสที่มาแรงอยู่ในขณะนี้ ที่จะต้องกล่าวถึงก็คือ แชร์ลูกโซ่ จากสถิติของกลุ่มงานป้องปรามการเงินนอกระบบ กระทรวงการคลัง ระหว่างในช่วงตั้งแต่ปี 2527-2549 จะเห็นได้ว่ากว่า 20 ปีที่ผ่านมาการกระทำผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ไม่ได้ห่างหายไปจากสังคมไทยเลย เพราะทุกๆ ปี ยังมีการแจ้งร้องเรียนในเรื่องเหล่านี้
 
เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.ซ) ตามดูสถิติของผู้ร้องเรียนผ่าน "Help Center" ของก.ล.ต.พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปี 2547 มีผู้ร้องเรียนเข้ามา 9 รายปี 2548 ร้องเรียน 3ราย ปี 2549มี 6 ราย
 
และเพิ่มสูงมากเป็นพิเศษปี 2550 ที่มีผ้ร้องเรียนเข้ามามากถึง 102 ราย จากครึ่งปีแรกร้องเรียน 11 รายเท่านั้นคาดปีนี้ร้องเรียนอาจพุ่งถึง 113 ราย โดยมียอดความเสียหาย โดยเฉพาะในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามูลค่ากว่า 60 ล้านบาท
 
รูปแบบการหลอกลวงให้ลงทุนมีหลากหลายมากขึ้น การจ่ายผลตอบแทนที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจในการเข้าไปลงทุน และมีการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค โดยอาศัยหลักการจ่ายผลตอบแทนเช่นเดียวกับธุรกิจขายตรง และพัฒนาไปเป็นรูปแบบการขยายธุรกิจโดยอิงหลักการของธุรกิจแฟรนไชส์ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ในวงกว้างทั่วประเทศ
    
แชร์ลูกโซ่ หมายถึง รูปแบบการดำเนินธุรกรรมที่มุ่งประสงค์เพื่อหารายได้จากการระดมทุนเป็นหลัก โดยแอบอ้างอิงหลักการดำเนินธุรกิจกับธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ธุรกิจขายตรง ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น
      
เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของธุรกิจ ซึ่งมีการสัญญาในการเข้าร่วมธุรกิจที่จะตอบแทนผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่สูงกว่าเงินลงทุน โดยผู้ประกอบการมักจะอ้างถึงการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ต่อๆ ไป เพื่อปันรายได้แจกจ่ายผู้เข้าร่วมธุรกิจอย่างทั่วถึงในช่วงระยะแรก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมธุรกิจต่อเนื่อง จนเมื่อถึง "จุดอิ่มตัว" ที่ผู้เข้าร่วมธุรกิจที่เข้ามาในช่วงหลังจะไม่สามารถหมุนเวียนเงินตอบแทนให้กับคนที่มาก่อนได้ก็จะปิดตัวลง
      
ปัจจุบันลักษณะการประกอบธุรกิจแชร์ ลูกโซ่สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้ 1.ธุรกิจแชร์ลูกโซ่แบบดั้งเดิม ธุรกิจแชร์ลูกโซ่รูปแบบนี้จะอาศัยการชักชวนมาร่วมลงทุนโดยใช้หลักการเดียวกับสหกรณ์ เป็นการระดมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ แต่จะเสนอผลประโยชน์สูง กว่าระบบสหกรณ์
 
หลังจากนั้นก็มีการพัฒนารูปแบบการจ่ายผลตอบแทนเช่นเดียวกับธุรกิจขายตรง และล่าสุดก็มีการพัฒนาขยายวิธีการระดมเงินโดยใช้หลักการเดียวกับการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้ทำให้ธุรกิจแชร์ลูกโซ่กลับมาเฟื่องฟูอย่างมาก
 
2.ธุรกิจแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่ ธุรกิจแชร์ ลูกโซ่รูปแบบใหม่นี้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก เรียกว่า ธุรกิจอี-มันนีเกมส์ (E-Money Game) เป็นลักษณะการทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการเปิดเว็บให้คนทั่วไปเข้าร่วมลงทุน โดยจะเป็นเว็บประเภท High Yield Investment Program (HYIP) ซึ่งเป็นเว็บประเภทรับฝากเงินจากสมาชิก
 
โดยเว็บดังกล่าวอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนตามธุรกิจต่างๆ โดยจะจ่ายดอกเบี้ย 2 ลักษณะ คือ แบบรายวัน เว็บจะคำนวณเงินให้เราเป็นรายวัน สามารถกดถอนได้ทุกวัน ซึ่งจะสามารถกดถอนได้กี่วันนั้นทางเว็บจะกำหนดไว้ และแบบเป็นรอบ (after N days) เว็บจะคำนวณเงินให้เมื่อครบกำหนดรอบวันที่กำหนด ซึ่งจะกำหนดว่ารอบละกี่วัน เช่น N วัน ลักษณะนี้จะสามารถกดถอนเงินได้ครั้งเดียวเมื่อครบรอบวันที่กำหนด
    
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีการพัฒนาเป็นเว็บประเภท Surf-Site ซึ่งเป็นเว็บประเภทรับฝากเงินเช่นเดียวกับ HYIP เพียงแต่ผู้ลงทุนจะต้องเข้าไปเปิดเว็บทุกวัน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในการลงทุน ในขณะที่ HYIP นั้นผู้ลงทุนจะเลือกเปิดเช็กข้อมูลวันใดก็ได้ และเว็บลูกผสมระหว่าง HYIP และ Surf-Site โดยมีลูกเล่นที่แตกต่างกัน ปัจจุบันเว็บไซต์ลักษณะนี้มีประมาณ 400-500 ราย
 
ในหลักการเบื้องต้นผู้ที่สนใจทำธุรกิจขายตรงสามารถใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ว่า บริษัทเหล่านั้นเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่นั้น ให้ดูจากผลตอบแทนและแผนงานธุรกิจ  หากว่าธุรกิจไหนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงเกินเหตุ และไม่ต้องลงทุนลงแรงในการขายสินค้า   ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่าอาจเข้าข่ายธุรกิจนั้น
 
พญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ยูนิตี้ จำกัด  และในฐานะนายกสมาคมขายตรง   ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลักในการพิจารณาเบื้องต้นว่าธุรกิจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่นั้น  สามารถดูได้จากผลตอบแทนต่อราคาสินค้าต้องไม่เกิน 50%
 
ถ้าหากธุรกิจใดที่ให้มากกว่าให้คิดไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่ รวมทั้งอัตราการจ่ายผลตอบแทนให้กับสมาชิก จะต้องใกล้เคียงกับค่าบริหารทางการตลาดในสินค้าผ่านช่องทางค้าปลีกปกติทั่วไป

โดย บิสิเนสไทย [10-1-2008]

อัพเดทล่าสุด