กระบวนการ สร้างลีดเดอร์ชิพ


955 ผู้ชม


กระบวนการ สร้างลีดเดอร์ชิพ




''กระบวนการ สร้างลีดเดอร์ชิพ'' สูตรคิด อดิเทพ พิศาลบุตร์

 

"เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี" ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปี ผ่านมา ทั้งจากกระแสการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทย

การเกิดขึ้นของ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTCH เมื่อ 7 ธันวาคม 2548 จากการรวมกิจการ ระหว่าง บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด(มหาชน) สองบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ตามนโยบายของ บริษัท ปตท. จำกัดผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ต้องการรวมเพื่อให้ฐานธุรกิจใหญ่ขึ้น เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและยกระดับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยก้าวสู่ระดับโลก ซึ่งผลจากการควบรวม ทำให้ PTTCH กลายเป็นผู้ผลิตโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของไทย มีกำลังการผลิตใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย
ภายใต้การบริหารงานของ "อดิเทพ พิศาลบุตร์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTCH และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไทยโอเลฟินส์ ก่อนรวมธุรกิจ เผยว่าวันนี้ PTTCH ได้กลายเป็นผู้นำธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่มีสายการผลิตทั้ง ปิโตรเคมีต้นน้ำถึงเคมีภัณฑ์ปลายน้ำรายใหญ่ของประเทศไทย ด้วยกำลังผลิต..............มากเป็นอันดับหนึ่ง และขนาดการผลิตระดับโลก จากตัวเลขในปี 2550 กิจการมีรายได้รวมบริษัทในเครือ 73,870 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% และมีกำไรสุทธิ 19,167 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% รวมรายได้จากการขาย MEG 13,423 ล้านบาท
"เป้าหมายก้าวต่อไปคือ สร้าง PTTCH เป็นองค์กรแห่งคุณภาพ องค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม"
เส้นทางเดินแต่ละย่างก้าวกว่าจะมาถึงวันนี้ของ อดิเทพ ยอมรับว่า ผ่านมรสุมและความยากลำบากมาทุกรูปแบบ โดยในอดีต ปิโตรเคมีแห่งชาติ ทำธุรกิจเป็นแบบ cost plus หรือขายออกไปได้กำไรชัดเจน ส่วนไทยโอเลฟินส์ ขายราคา market price แต่รับวัตถุดิบมาจาก ปตท. เหมือนกัน ทำให้ธุรกิจแข่งกันมาก ต่อมาเจอวิกฤติปรับค่าเงิน ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว "งานตอนนั้นผมไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากเจรจากับเจ้าหนี้ และสื่อสารให้พนักงานเข้าใจ"
พอดีในขณะวิกฤติ ไทยโอเลฟินส์ ต้องขยายโรงงานจึงไปขอเงินจากผู้ถือหุ้นมาลงแต่ไม่มีใครให้นอกจาก ปตท. รายเดียวจึงได้ถือหุ้นเกิน 50% บริษัทก็ต้องเปลี่ยนสภาพจากเอกชนไปเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย ต่อมา ขยายธุรกิจลง ปิโตรเคมีขั้นปลาย( down stream)ไปขอเงินเพิ่มไม่ได้จึงต้องเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯโดยลดหุ้นในส่วนของ ปตท. ก็กลับมาเป็นบริษัทเอกชนอีกครั้ง
"Different story มั้ย!!! ตอนแรกไปบอกต้องเป็นรัฐวิสาหกิจ ตอนหลังบอกต้องออกจากรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนโฉมเลยและถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่พนักงานไม่มีใครต่อต้าน เพราะเราสื่อสารให้พนักงานเข้าใจ และบอกให้เห็นถึงความจำเป็น ทำให้ไทยโอเลฟินส์ รอดมาได้"
จนกระทั่งมีนโยบายให้รวมกิจการสองบริษัทเข้าด้วยกันเมื่อสามปีก่อนเพื่อให้ฐานธุรกิจใหญ่ขึ้นเพราะบริษัทปิโตรเคมีรายเล็กอนาคตรอดยาก แม้รวมกันได้วัดไซซ์แล้วก็ยังเล็กกว่าในต่างประเทศมาก แต่มาร์จินดีขึ้น ตอนนั้นมีพนักงานรวมกันประมาณ 1,500 คน ก็ต้องสร้างวัฒนธรรม(culture)องค์กรใหม่ โดยเฉพาะจัดการเรื่องคน เพื่อไม่ให้เกิด culture shock ด้วยการตั้งทีมงานขึ้นมาทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา หาจุดเด่น(value)ของแต่ละบริษัทออกมา แล้วมองไปข้างหน้าในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปีอุตสาหกรรมของเราจะเป็นแบบไหน เพื่อดีไซน์ culture ให้เหมาะสมกับธุรกิจที่จะทำ
"หน้าที่ของเรา คือ เอาองค์ความรู้ที่พนักงานสะสมมา เช่น ปิโตรเคมีแห่งชาติมีจุดเด่นในด้านการผลิตและความปลอดภัย ส่วนไทยโอเลฟินส์ ก็ชำนาญในด้านพัฒนาธุรกิจ ก็ดึงออกมาใช้เป็นตัว drive culture พร้อมกับการปรับโครงสร้างให้เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจที่จะเติบโตไปข้างหน้า และวัดผลจาก
ความพึงพอใจคนข้างนอก เช่น ลูกค้า นักลงทุน เป็นคนมองเข้ามา( outside approached)" "
หลักการที่อดิเทพนำมาใช้สร้างวัฒนธรรม PTTCH คือไม่สร้างความแตกต่าง ( respect) ทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างให้เป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้(knowledge based organization) แล้วสร้างกระบวนการหรือวิธีการทำงาน ที่วัดผล และปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำไปสู่องค์กรที่ทุ่มเทสู่ความเป็นเลิศ(Passion for excellence)ยึดมั่นคุณธรรมด้วยใจ(Integrity) กล้าเผชิญความท้าทาย(Mastering the challenge)และสร้างนวัตกรรม( innovation)
"การสร้าง วัฒนธรรม PTTCH ทั้งหมดนี้ ถือเป็นตัวสะท้อนวิสัยทัศน์ของบริษัท ที่จะก้าวไปสู่ การเป็นลีดเดอร์ชิพด้านกระบวนการทำงาน และการเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ที่มุ่งพัฒนา นวัตกรรมเพื่อแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน "
อดิเทพ ถือ เป็นผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับในแวดวงธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จาก มหาวิทยาลัยฮุสตัน สหรัฐอเมริกา ผ่านการอบรมประกาศนียบัตรหลักสูตร Directors Certification Program(DCP) รุ่น 48/2004 ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และประกาศนียบัตร Modern Marketing จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นหนึ่งในทีมงานบริหารของ ปตท. เคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายคลังก๊าซหุงต้ม และระบบจ่ายก๊าซ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.เดิม) ภายหลังย้ายมาเป็นรองผู้อำนวยการโครงการ(บริหาร) บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัดจนกระทั่งได้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการคณะกรรมการ จนกระทั่งรวมกิจการกับ บมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ และเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. ปตท. เคมิคอลจึงได้เข้ามาบริหารงานต่อในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
เมื่อถามถึงหลักคิดในการบริหารงาน กับสองปีที่เขานำพาองค์กรและพนักงาน 2,000 คน ก้าวขึ้นมาอยู่ระดับแถวหน้าด้วยปริมาณการผลิตเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย อดิเทพ เผยว่า นอกจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมรสุมมาหลากหลายรูปแบบแล้ว วันนี้ยังยึดแนวทาง คิดเป็นระบบ ทำงานเป็นระบบ บริหารเป็นระบบตามหลัก TQA และเมื่อการทำงานมีปัญหาก็จะใช้เวลาและรู้จักการ balance ให้พอเหมาะ เพราะการทำงานเน้นที่กระบวนการ ถ้าสำเร็จผลลัพธ์ก็ตามมา
"ในสองปีสร้างองค์กรเป็นที่รู้จักได้ขนาดนี้ก็ภูมิใจ เป้าหมายต่อไปปี 2554-2555 เราจะขึ้นเป็นอันดับ 2 ซึ่งยังต้องทำอีกเยอะ ทั้งพัฒนาคน และพัฒนาด้าน R & D เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็น value added มากขึ้น"
พร้อมๆไปกับการสร้าง Road map ผลักดัน PTTCH จากบริษัทระดับชาติของไทย สู่การเป็นบริษัท Multinational และสุดท้ายสู่การเป็นบริษัท Globally integrated ที่กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่จาก value based สู่ share service ที่เขายอมรับว่า เป็นงานท้าทาย
"การจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้องค์กรต้องพร้อมมาก พาร์ตเนอร์ชิพต้องแข็ง และธุรกิจต้องหลากหลาย ที่สำคัญจะดึงศักยภาพของคนออกมาใช้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน และขีดความสามารถในการปรับตัวให้รับกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนเร็ว ได้อย่างไร "

อัพเดทล่าสุด