'Relationship Networking' กลยุทธ์ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจอย่างยั่งยืน
|
๐ จะสร้างเครือข่ายอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ทางธุรกิจและเกิดความสัมพันธ์อันดีอย่างยาวนาน ? ๐ เรียนรู้ระบบและวิธีการจาก "กลุ่มบีเอ็นไอ" เพื่อพบทางลัด ๐ แนวคิดสำคัญอยู่ที่การเป็น "ผู้ให้" เป็นจุดเริ่มของความสำเร็จ เพื่อสุดท้ายจะกลายเป็น "ผู้รับ" ๐ เผยจุดเด่นและจุดแข็ง คบ "เพื่อน" แบบหลากหลายและลงลึก เพื่อสร้างความแตกต่างด้วยเครือข่ายสายสัมพันธ์ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีปัญหาติดขัดเพราะพึ่งพาช่องทางเก่าๆ ไม่ได้ใช้ช่องทางหรือสายสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่ต้องสร้าง ขณะที่ผู้ประกอบการต่างประเทศ พยายามจับกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลุ่มบีเอ็นไอมี ผู้ประกอบการฯ ที่รวมตัวกันโดยใช้รูปแบบการรวมกันระดับโลกเพื่อช่วยกันสร้างโอกาสธุรกิจหรือมองหาช่องทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักผ่านความไว้วางใจจากเพื่อน ในขณะที่ อีกปัญหาหนึ่ง คือ การลอกเลียนแบบที่รวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแข่งขัน สิ่งหนึ่งคือการสร้างความแตกต่างของสายสัมพันธ์ เพื่อไปสู่เส้นชัยของความสำเร็จ ซึ่งผู้ประกอบการฯ หลายคนยังไม่เข้าใจหรือไม่เห็นความสำคัญ หรือแม้ว่าจะมีการสร้างความช่วยเหลือมากมาย เช่น เว็บไซต์ ฯลฯ แต่ไม่มีการทำอย่างจริงจังหรือขาดนวัตกรรมที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งบางเรื่องต้องสร้างบางเรื่องไม่ต้องสร้าง แต่ไม่เข้าใจว่าอะไรต้องทำและไม่ต้องทำ หรือบางรายที่เกิดปัญหาจากการทำธุรกิจที่สืบทอดจากรุ่นพ่อมาที่รุ่นลุกแต่รุ่นลูกไม่ชอบธุรกิจที่รุ่นพ่อทำ จึงแก้ปัญหาด้วยการแตกธุรกิจใหม่จากที่ชอบและเพื่อให้มีรายได้หลายๆ ด้าน ปัญหาอย่างนี้มาจากการที่ทำเล็กแล้วติดปัญหาทำให้ขยายเติบโตไม่ได้ แล้วแก้ไขด้วยการเปิดธุรกิจใหม่ ซึ่งในทางที่ดีควรจะเติบโตจากเล็กแล้วขยายใหญ่ขึ้นเป็นความต่อเนื่อง แต่กลุ่มบีเอ็นไอช่วยได้ในระดับหนึ่ง ด้วยการทำให้เกิดการต่อยอดธุรกิจ เพราะในกลุ่มบีเอ็นไอมีเครือข่ายทุกระดับตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการฯ จะคิดใหญ่หรือคิดเล็ก ข้อสำคัญ ผู้ประกอบการฯ ต้องรู้ว่าจะใช้กลุ่มฯ ซึ่งเปรียบเหมือนกลไกหรือเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดผลสำเร็จทางธุรกิจได้อย่างไร ถ้าทำได้จะหมายถึงข้อได้เปรียบอีกด้วย ๐ ต่อยอดด้วยกิจกรรม เพิ่มระดับโอกาสธุรกิจ กลกิตติ์ เถลิงนวชาติ ผู้นำกลุ่มบีเอ็นไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่าความคืบหน้าของกลุ่มบีเอ็นไอในประเทศไทย ด้วยการใช้การสร้าง Relationship Networking คือการใช้ความสัมพันธ์ไปขยายเครือข่าย สำหรับในปีนี้เป็นปีที่ 2 ของการรวมกลุ่ม ซึ่งการพัฒนาคอนเซ็ปต์ทำให้สมาชิกซึ่งส่วนมากเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าใจและเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มฯ เริ่มเห็นภาพองค์รวมว่าการมารวมกลุ่มกันและมีการประชุมทุกสัปดาห์ทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ใน 2 ลักษณะ ส่วนแรก เป็นการแนะนำธุรกิจ ด้วยการช่วยกันไปมา ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้ตรงๆ และส่วนที่สอง เป็นประโยชน์ที่มีมากกว่าการแนะนำธุรกิจ เช่น การที่พันธมิตรรวมตัวกันแล้วเกิดเป็นธุรกิจหรือบริการใหม่ เป็นนวัตกรรมที่ทำให้ได้มูลค่าทางธุรกิจสูงขึ้น รวมถึงโอกาสการมองหาธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศ เช่น เริ่มมีสมาชิกบางรายไปประชุมกับกลุ่มบีเอ็นไอที่ประเทศนิวซีแลนด์ อย่าง เจ้าของธุรกิจ Quality Kids ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาสมองของเด็ก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6-7 สาขา ต้องการทำแฟรนไชส์เพื่อขายไปต่างประเทศ ได้พบที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์และที่ปรึกษาด้านกฎหมายในการไปประชุมครั้งนั้นเกิดการต่อยอดธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการคนอื่นๆ เห็นความเป็นไปได้ในเชิงรูปธรรมมากขึ้น หลังจากที่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาสมาชิกรู้จักการสร้างโอกาสและต่อยอดธุรกิจ ด้วยการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้น ในปี 2551 นี้ มีแผนจะจัดกิจกรรมประมาณ 3 กิจกรรม กิจกรรมแรก เป็นการสร้างความสัมพันธ์ เพราะนอกจากกลุ่มฯ จะเน้นการสร้างธุรกิจ สมาชิกเห็นว่าการมีกิจกรรมเชิงสังคมมากขึ้น เช่น จัดกิจกรรมกลุ่มเล่นกอล์ฟเพื่อสร้างความสนิทสนมมากขึ้น หรือการนำธุรกิจของผู้ประกอบการในกลุ่มฯ ไปใช้เป็นข้อมูลในการเข้าร่วมการแข่งขันแผนธุรกิจซึ่งมีหลายเวที โดยเฉพาะในต่างประเทศ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษากับองค์กรเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการจริงๆ โดยที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาที่เป็นจริง ซึ่งเมื่อนำไปทำแล้วจะเกิดเป็นประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมจากธุรกิจจริง เมื่อจบการศึกษาจะได้นำไปใช้อย่างจริงจังหรืออาจจะเกิดการต่อยอดธุรกิจ เช่น ได้รูปแบบธุรกิจใหม่ขึ้นมาทำร่วมกับผู้ประกอบการที่ใช้เป็นกรณีศึกษา ในขณะที่กลุ่มบีเอ็นไอจะได้ประโยชน์หลายข้อ ไม่ว่าจะทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของกลุ่มฯ ที่เน้นในเรื่องธุรกิจ และการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังขาดองค์ความรู้ แหล่งเงินทุน โดยมีการนำหลักการมาใช้ประกอบการทำธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้นำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรมมากขึ้น ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจขายส่งแว่นตา ต้องการวางระบบธุรกิจในการกระจายแว่นตาไปทั่วประเทศ แต่ขาดที่ปรึกษา จึงเกิดเป็นไอเดียว่าหากนำนักศึกษาที่มีความรู้ด้าน MBA เข้าไปช่วยวางแผน และมีการเชิญผู้มีประสบการณ์มาแสดงความคิดเห็น จะทำให้เกิดแผนธุรกิจที่นำไปใช้จริงได้ เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมการจัดการหรือการหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ โดยการเชื่อมโยงกับพันธมิตรอื่นๆ มากขึ้น กิจกรรมที่สอง เป็นการประชุมประจำปีที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2551 จะมีผู้ประกอบการในกลุ่มฯ ในต่างประเทศมาไทย เช่น อังกฤษ มาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย เพื่อมาให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายที่เป็นสังคมของการให้จริงๆ ว่าทำอย่างไร และกิจกรรมที่สาม เป็นการฝึกอบรมที่จะมีทุกไตรมาส เช่น การสร้างพันธมิตร การสร้างนวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ด้วยการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วของเพื่อนในกลุ่มมาประกอบกันขึ้น นำความเก่งแต่ละเรื่องของเพื่อนๆ เช่น โรงพิมพ์ ออกแบบแบรนด์ บรรจุภัณฑ์ ส่งของ ผลิต มาประกอบเป็นนวัตกรรมใหม่แล้วไปตอบโจทย์ผู้บริโภค "วิธีการอย่างนี้ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวและเดินหน้าต่อได้เร็วขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องสร้างเองทำเองทั้งหมด เป็นการต่อจิ๊กซอว์ทางธุรกิจ เมื่อได้ผลประโยชน์ก็มาแบ่งสันบันส่วนกันเพื่อให้ธุรกิจของทุกคนได้ผลประโยชน์มากขึ้น" ๐ ติวเข้มองค์ความรู้ ควบคู่การสร้างสายสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังมองว่าผู้ประกอบการในเมืองไทยยังขาดองค์ความรู้ ทำให้คิดจะทำหนังสือบีเอ็นไอ เป็นการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านการบริหารจัดการ เป็นทิศทางการเพิ่มมูลค่าให้กับสมาชิกของกลุ่มฯ มากขึ้น และเป็นการประชาสัมพันธ์กลุ่มฯ ไปด้วย รวมทั้ง ยังมีแนวคิดที่จะสร้างสถาบันบีเอ็นไอขึ้นมา เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการสร้างสายสัมพันธ์อย่างชัดเจน โดยรูปแบบจะมีการจัดโครงสร้างเหมือนกับมหาวิทยาลัย มีการแบ่งเป็นกลุ่มก้อน ทั้งนี้ เพราะกลุ่มบีเอ็นไอมี 2 ด้าน คือ ด้านการให้ความรู้และด้านการปฏิบัติ เพราะแนวทางการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ เป็นการสวนกระแสด้วยการที่ต้องปฏิบัติก่อนเพื่อจะได้รู้ว่าขาดองค์ความรู้ด้านไหน แล้วจึงไปเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ใช่การเรียนไปก่อนโดยไม่รู้ว่านำไปทำอะไรหรือใช้อย่างไร ซึ่งสถาบันฯ ที่จะเกิดนี้จะเป็นตัวช่วยให้เกิดความแข็งแรงและนำความรู้ไปใช้ได้จริง "มีไอเดียมากมาย แต่เมื่อก่อนผู้ประกอบการฯ ยังไม่ค่อยเข้าใจเราก็ยังไม่ทำ เพราะจะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เรามีแผนที่จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ" สำหรับการรวมกลุ่มบีเอ็นไอ ในปีนี้ตามเป้าหมายจะมี 26 กลุ่ม นอกจากผู้ประกอบการที่เป็นคนไทย ยังมีนักธุรกิจต่างชาติที่ทำธุรกิจในเมืองไทยเรียกร้องเข้ามาเพราะอยากจะมีสายสัมพันธ์กับคนไทยหรือผู้ประกอบการท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาไปอยู่ในสมาคมต่างๆ ที่มักจะเป็นไปในลักษณะที่ฝรั่งพบกับฝรั่งด้วยกัน ไม่รู้จะต่อยอดธุรกิจอย่างไร ทำให้เกิดแนวทางจะขยายเครือข่ายเพิ่มเป็น BNI English Chapter ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในเร็วๆ นี้ ทำให้สมาชิกคนไทยได้สื่อสารและเข้าใจวัฒนธรรมต่างชาติ และด้วยการมีสายสัมพันธ์กับต่างประเทศมาก อาจจะช่วยขยายธุรกิจกันได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับแผนดำเนินการในปี 2552 ที่จะพาสมาชิกกลุ่มฯ ไปต่างประเทศโดยในครึ่งปีหลังของปี 2551 จะมีการทำวิจัยว่าประเทศไหนที่ผู้ประกอบการในกลุ่มฯ อยากจะเข้าไปเจาะตลาด ซึ่งเมื่อไปถึงตอนนั้นน่าจะมีผู้ประกอบการประมาณ 300-400 ราย เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 100 กว่าราย ซึ่งตลาดที่มองว่ามีความน่าสนใจ คือ ดูไบและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก มีทั้งประชากร และกำลังซื้อสูง โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเพิ่มองค์ความรู้และการเจาะตลาด กลกิตติ์ บอกว่ามีการเลียนแบบการรวมกลุ่มในลักษณะนี้ แต่ไม่มีรูปแบบและรายละเอียดในการจัดการ รวมทั้งเครือข่ายที่กว้างเพียงพอ สุดท้ายจึงเป็นการจบลงที่การเน้นการขายของให้กัน ทำให้สมาชิกรู้สึกว่ามาแล้วต้องเสียเงินมากกว่าการมาช่วยกันหาเงิน ขณะที่กลุ่มบีเอ็นไอ ยึดแนวทาง "การให้" เป็นหลัก ซึ่งเมื่อเริ่มอย่างนี้และทำไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดชุมชนแข็งแกร่ง โดยจุดเด่นของกลุ่มฯ มาจาก 3 องค์ประกอบหลัก ตั้งแต่ 1.มีการคัดคนที่มีคุณภาพ เพราะคนที่เข้ามาจะต้องมีพันธะสัญญาว่าต้องการพัฒนาตนเองและมีทัศนคติของการเป็นผู้ให้ ไม่ใช่คนที่กำลังหิวโซต้องการรับเท่านั้น 2. มีการให้องค์ความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ทั้งการทำธุรกิจและการจัดการรวมกลุ่มให้สัมฤทธิ์ผล และ3. สมาชิกทุกคนต้องมีเป้าหมายของการมารวมกลุ่ม นอกจากนี้ การมี "ระบบ" มีความสำคัญมาก มีกฎเกณฑ์ที่ต้องทำร่วมกัน เช่น การประชุมทุกสัปดาห์ ด้วยรูปแบบและเนื้อหาการประชุมที่ชัดเจนและใช้เวลากระชับตามที่กำหนด ที่สำคัญต้องการสร้างระเบียบวินัยซึ่งเป็นจุดอ่อนของคนในแถบเอเชีย เพราะการที่จะแนะนำกันได้ต้องพบกันบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อใจหลังจากเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมีพันธะสัญญาหรือเป้าหมายร่วมกัน เพราะสมัยนี้จะคิดเองแล้วกว่าจะได้รูปแบบที่สำเร็จจะช้าเกินไป สำหรับการแข่งขันระดับโลก "การรวมกลุ่มอย่างนี้ พบว่าดูเหมือนง่ายแต่ในความเป็นจริงแล้วยาก เพราะการรวมผู้ประกอบการซึ่งต่างคนต่างเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากหรือมีอีโก้ ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ทะเลาะกันทำให้เกิดการแตกแยกออกจากกลุ่มไปเพราะไม่ต้องการทะเลาะ" อย่างไรก็ตาม เมื่อจุดแข็งของกลุ่มฯ คือ การให้ เพราะเมื่อให้จนเพื่อนได้รับความสำเร็จก็จะทำให้เชื่อ และรักการรวมกลุ่มฯ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อช่วยให้เกิดความสำเร็จ เมื่อความคิดแบบนี้เกิดเป็นรูปธรรมทำให้เกิดนวัตกรรม ความสำเร็จของกลุ่มบีเอ็นไอมาจากจุดประสงค์ต้องการรวมกลุ่มกันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อช่วยกันสร้างธุรกิจอย่างเป็นระบบมีการจัดการที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่พิสูจน์แล้ว สำหรับในต่างประเทศ เกิดจากการที่สมาชิกรักกลุ่ม และช่วยกันระดมสมอง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก ซึ่งการขับเคลื่อนของกลุ่มฯ มาจากสมาชิกนั่นเอง ตามปกติของการรวมกลุ่มกว่าจะมาถึงจุดนี้เป็นไปได้ยาก เพราะการรวมกลุ่มอื่นๆ โดยทั่วไป มักจะเริ่มมาจากผลประโยชน์ต่างตอบแทนทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ช่วยอะไรกันเลย ทำให้ไม่เกิดการช่วยเหลือกันและการได้ผลประโยชน์ต่อเนื่องในระยะยาว หรือเป็นการพบปะสังสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ในธุรกิจอย่างเป็นระบบ "ระบบของกลุ่มฯ ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนพฤติกรรมทันที แต่ทำให้กล้าหรือจำเป็นที่จะต้องบอก เพราะถ้าจะช่วยเหลือกัน เช่น ธุรกิจออร์แกไนเซอร์ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการฯ ไม่บอกเลยว่าข้อจำกัดของธุรกิจเขาคืออะไร เราก็ไม่รู้จะช่วยแนะนำลูกค้าประเภทไหน ทำให้ต้องเข้าใจธุรกิจเขาลึกพอ ทำให้เรารู้ว่าเขาติดขัดตรงไหน ทำให้เขามีการพัฒนาองค์ความรู้มากขึ้น ส่วนใหญ่จะไม่พูดถึงปัญหาตรงๆ แต่เมื่อเล่าออกมาในเชิงบวกสะท้อนปัญหาและจะทำให้จับประเด็นได้ เช่น ปัญหาเรื่องบุคลากร เรื่องระบบทำงานคนเดียว ทำให้เห็นข้อติดขัดที่ทำให้เขาโตมากกว่านี้ไม่ได้ เมื่อคุยกันมากทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นการสื่อสารที่ตรงไปตรงมามากขึ้นและกล้าแนะนำธุรกิจให้กันวัฒนธรรมการช่วยเหลือ เพื่อนช่วยเพื่อน ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน" ณ ธันวาคม 2550 กลุ่มบีเอ็นไอมีสมาชิกทั่วโลก จำนวน 103,607 มี 5,010 chapter ใน 45 กว่าประเทศ มีการแนะนำ (Referral) 5.5 ล้านโอกาส ทำให้เกิดรายได้รวม 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่มบีเอ็นไอมีต้นทางจากอเมริกาและพัฒนามาถึง 22 ปี รูปแบบแบ่งเป็น Chapter แต่ละ Chapter เปรียบเหมือนแผนกหนึ่งในบริษัท ต้องมีระบบการบริหารองค์กร มีคำกล่าวในกลุ่มฯ ว่า "การเป็นเอ็มดีของบริษัทใหญ่แค่ไหนในโลกนี้ แต่อาจจะไม่ได้เป็นประธานที่ดีของ Chapter แต่ถ้าเป็นประธานที่ดีใน Chapter สามารถเป็นซีอีโอของบริษัทไหนก็ได้ในโลกนี้" หมายความว่า การเป็นประธานบริษัทย่อมมีอำนาจทำให้ทุกคนในบริษัทต้องทำตาม แต่การเป็นประธานในกลุ่มย่อยของบีเอ็นไอซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเจ้าของบริษัทหรือผู้บริหารระดับสูง ไม่ได้เป็นลูกจ้าง ทุกคนมีอีโก้ ทำให้ต้องนำเทคนิคการบริหารมาใช้จัดการกับกลุ่มคนเช่นนี้ ซึ่งเทคนิคการโน้มน้าวและสื่อสารยังเป็นเรื่องที่ขาดแคลนในเมืองไทย แต่เนื่องจากกลุ่มฯ มีสมาชิกทั่วโลกทำให้สามารถนำตัวอย่างและกลยุทธ์ที่สำเร็จมาปรับใช้ให้เหมาะกับเมืองไทย "เพราะวัฒนธรรมคนไทยเกรงใจกัน หวังดีกันเพื่อน เมื่อเพื่อนทำไม่ดีไม่กล้าพูด ซึ่งถ้าเราพูดเพื่อนจะเปลี่ยนพฤติกรรมแลพัฒนาตัวเองทำให้ไปได้ประโยชน์อีกมากมายในอนาคต แต่การนำตัวอย่างจากต่างประเทศซึ่งมีมากมายเป็นวิธีแก้ซึ่งเป็นทางลัดให้เรียนรู้ เพียงแต่ต้องประยุกต์ให้เหมาะกับคนไทย เช่น ต้องพูดอย่างไรไม่ให้โกรธ เพื่อจะได้ยอมรับฟังและเป็นเพื่อนกันต่อไป" กลกิตติ์ กล่าวในตอนท้าย การเปลี่ยนพฤติกรรมคนต้องใช้เวลา แต่เมื่อเข้าใจจะทำเองได้จากเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการให้ความรู้และต้องสร้างความเข้าใจ เพราะปัญหาใหม่ๆ เกิดจากการที่ชุมชนเติบโตขึ้น โดยทำคู่ขนานไปกับการสร้างเครือข่ายอย่างมีระบบ รวมกลุ่มอย่างไรให้ได้ผล ? หลักคิดในการเข้ากลุ่ม สำหรับผู้ประกอบการฯ ผู้นำกลุ่มบีเอ็นไอ (ประเทศไทย) มีข้อแนะนำว่าไม่ควรจะเป็นสมาชิกหลายกลุ่มเพราะจะทำให้ใช้เวลามากเกินไปเพื่อนจะไปเข้ากลุ่มแต่ไม่ลงลึก จะไม่ทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกเข้ากลุ่มหลายกลุ่มควรจะมีความหลากหลาย เช่น กลุ่มเพื่อธุรกิจ กลุ่มเพื่อสังคม กลุ่มเพื่อให้ความรู้ กลุ่มกีฬา หรือมีความแตกต่างในประเภทธุรกิจ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอุปโภคบริโภค สำหรับกลุ่มบีเอ็นไอในระดับองค์กรเน้นเรื่อง Strategic Partner ด้วยการขยายกลุ่มสมาชิก เช่น เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยที่มีการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายผู้ประกอบการฯ หรือสมาคมแฟรนไชส์ "สุดท้ายจะพบว่า โลกนี้มันกลม เพราะเรารู้จักคนไม่กี่คนแต่คนเหล่านั้นสามารถพาเราไปเจอลูกค้าที่เราต้องการจะเจอได้เหมือนกัน นับไปแค่ 6 คนจะเจอคนที่รู้จักคนกลุ่มเดียวกัน บีเอ็นไอในต่างประเทศบอกมาและเมื่อลองนำมาใช้ก็ได้ผลออกมาเหมือนกัน เช่น ถามว่าเรียนจบที่ไหน ทำงานที่ไหน สักพักจะเจอคนกลุ่มเดียวกัน ถ้าเรารู้จักเขาดีในแต่ละด้านจะทำให้ต่อยอดออกไปได้ แต่ถ้าเรารู้จักแค่ด้านเดียวเราก็ได้แค่ด้านเดียว การรู้จักคนมากไม่ได้หมายความว่าจะได้โอกาสมาก แต่ต้องเป็นคนที่ถูกต้องและถูกกลุ่มและลึกซึ้งพอจะทำให้เกิดโอกาสดีๆ" ปัจจุบัน "know who" สำคัญกว่า "know how" ซึ่งหาได้ง่ายกว่าและถ้าไม่มีสินค้าแต่สามารถเชื่อมโยงให้ได้ สามารถทำงานเป็นเครือข่ายช่วยคนอื่นให้สำเร็จได้ เพราะนี่คือโลกของสายสัมพันธ์ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งมีความเก่งในการสร้างสายสัมพันธ์ทางการค้า ไม่ใช่แหล่งผลิตแต่นำสินค้าจากแหล่งอื่นไปต่อยอดจนได้มูลค่าเพิ่มมากกว่า ในขณะที่ประเทศไทยมีทรัพยากรที่ดี ซึ่งต่อไปถ้ามีสายสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้ไม่ต้องผ่านตัวกลางทำให้มีส่วนต่างของกำไรเพิ่มขึ้นและนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมได้มากขึ้น เพราะโลกนี้เริ่มแคบลงเรื่อยๆ จากการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว
|
|
ที่มา : โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์