บริหารคน "วิกฤติโลกาภิวัตน์"


680 ผู้ชม


บริหารคน "วิกฤติโลกาภิวัตน์"




คงหลีกหนีไม่พ้นกับสภาวะการแข่งขันแบบ "Globalization" ที่ถือเป็นการสู้รบในสนามธุรกิจแบบเต็มรูปแบบที่สุด รุนแรงที่สุด เหนื่อยที่สุด ตั้งแต่โลกถือกำเนิดขึ้นมาก็ว่าได้

โลกการค้าไม่มีการแบ่งโซนการลงทุน ไม่มีกำแพงภาษีกีดกั้นทางการค้า ดังนั้นการแข่งขันทางธุรกิจ จึงปรากฏทั้งในและนอกรูปแบบ ซึ่งในเชิงการบริหารทรัพยากรบุคคล มี 3 ประเด็นที่ HR ต้องวางแผนบริหารวิกฤติที่ไร้ตะเข็บนี้ หรือ "Crisis Management"

ประเด็นแรกก็คือ การรักษาคนมีความสามารถ ไว้กับองค์กรให้นานที่สุด ประเด็นที่สอง การดึงดูดให้คนมีความสามารถมาร่วมทำงานกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการวางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของพนักงานให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ และประเด็นที่สาม เลิกจ้างกลุ่มพนักงานที่มีผลงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่สามารถปรับปรุงผลการปฏิบัติงานให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้

ผมขอกล่าวถึงเรื่องที่ยากที่สุดก่อน ได้แก่ การเลิกจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมากที่สุด เพราะ "คนมีงานทำ" ในวันนี้ จะกลายเป็น "คนตกงาน" นับแต่วันพรุ่งนี้ ความโกรธแค้น การไม่สามารถยอมรับได้ ภาพลักษณ์องค์กรที่ดีอยู่ ก็ล่มสลายภายในพริบตา

จะทำอย่างไร กับข้อกำหนดการคัดเลือกใครไปใครอยู่ ผมถือว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ถึงความเป็นมืออาชีพ HR และขอให้คำแนะนำไว้ดังนี้ครับ

การเลิกจ้างเพราะการรวมกิจการ หรือ การเลิกจ้างเพราะลดค่าใช้จ่าย ถือเป็นสาเหตุหลักของการเลิกจ้างในยุคนี้ มีหลักการจำนวน 14 ข้อที่ต้องทบทวนให้แม่นยำ ดังนี้

1. ต้องทราบสาเหตุของการลดค่าใช้จ่ายก่อนเป็นอันดับแรก

2. ต้องทราบจำนวนเงินที่ต้องการลดค่าใช้จ่าย

3. จัดทำแผนลดค่าใช้จ่าย เริ่มจากค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และจัดการลดคนไว้เป็นอันดับสุดท้าย

4. สื่อสารในทุกช่องทางอย่างจริงจัง และ ต่อเนื่อง ในเนื้อหาที่เรียบง่าย กระชับ เข้าใจง่าย

5.ผู้บริหารทุกคนต้องทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี และต้องอยู่ในมาตรการนี้ด้วย

6. หากถึงจุดที่ต้องลดคนแล้ว ต้องกำหนดหลักเกณฑ์การลดคนให้ชัดเจนและเป็นธรรม

7.แนวทางหนึ่งที่สร้างความโปร่งใสในกระบวนการ ให้เห็นความเป็นธรรมในการดำเนินการ ตลอดจนป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวก ก็คือ การใช้บุคคลที่สามเป็นผู้ดำเนินการ แต่ที่สำคัญบุคคลที่สามนี้ ควรเป็นกลุ่มบุคคลที่มีประสบการณ์ในธุรกิจของเรา และหรือเป็นบุคลากรที่ได้รับการยอมรับกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

8.หากองค์กรท่านมีสหภาพแรงงาน ท่านควรประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของข้อกฎหมายแรงงาน ตลอดจนศึกษากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

9.เตรียมการชี้แจงกับบุคคลภายนอก ได้แก่ กระทรวงแรงงาน สื่อมวลชน สถานีตำรวจท้องที่ โรงพยาบาลท้องที่ สถานีตำรวจดับเพลิงท้องที่ และอาจรวมถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ

10.เตรียมแผนการชี้แจงต่อพันธมิตรทางธุรกิจ อันได้แก่ ลูกค้าของบริษัท ผู้แทนจำหน่าย สมาคม หรือ สภาหอการค้า ผู้ผลิต และผู้จัดส่งสินค้า

11.เตรียมการป้องกันบุคคลผู้ไม่หวังดีที่เข้ามาก่อความวุ่นวาย

12.ขอกำลังตำรวจเพื่ออารักขาทรัพย์สิน และบุคคลสำคัญของบริษัท

13.ทบทวนแผนความคุ้มครองทางประกันภัย

14.ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน องค์กรต้องจัดตั้ง

โดยต้องจัดตั้งทีมงาน เรียกว่า "Crisis Management Team" เพื่อเตรียมการทุกข้อที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ตลอดถึงต้องเตรียมโฆษกหรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้บริษัท เตรียมศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน เพื่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนญาติพนักงาน ผู้สื่อข่าว การแจ้งสถานการณ์ เพื่อป้องกันข่าวลือ

พลาดไม่ได้คือ แผนการฟื้นฟูกิจการ ควบคู่กับการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานที่ยังคงปฏิบัติงานให้กับองค์กรต่อไปภายหลังจากวิกฤตการณ์ ซึ่งมีความสำคัญมาก

เป็นไงครับ อ่านอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้วใช่หรือไม่ หากต้องทำจริงจะเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งเครียดครับพยายามศึกษาขั้นตอนเบื้องต้นดังที่ได้นำเสนอ ผมเชื่อว่าทุกอย่างน่าจะอยู่ภายใต้ความราบรื่น

สำหรับฉบับหน้า ผมจะกล่าวถึง "การรักษาคนเก่ง กับการดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานในองค์กร" ฉบับนี้ขอจบเพียงเท่านี้ สวัสดีชาว HR ทุกคนครับ

ที่มา : ภัทรพงษ์ พรรณศิริ

อัพเดทล่าสุด