Intellectual Capital (ทุนทางปัญญา)
รัฐขยับเรื่องความสามารถ เอกชนหนีไปทุนทางปัญญา
โลกใบใหม่ของศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่หมุนเท่าเดิมในความเป็นจริง แต่ความก้าวหน้าด้านความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทำให้โลกใบเดิมใบนี้หมุนเร็วขึ้น
ขณะเดียวกันโลกใบนี้เดิมทีหนักมากเพราะมีสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible Assets) เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันสู่อนาคตสินทรัพย์ที่จับต้องได้นี้เริ่มเสื่อมค่าและไม่ใช่สิ่งที่ จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศและธุรกิจ ขณะที่ สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) มีมูลค่ามากขึ้นและยิ่งทวีค่ามากยิ่งขึ้นทำให้โลกใบนี้เบาขึ้น
เรื่องราวของ ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ มีการพัฒนาและเพิ่มความสำคัญมากขึ้นโดยที่ปัจจุบันและเรียกกันว่า ทุนทางปัญญา (IC: Intellectual Capital)
กลับมาที่ประเด็นของเรื่องที่ ภาครัฐขยับเรื่องความสามารถ
ภายใต้การปฏิรูประบบราชการเราเริ่มจะได้ยินภาครัฐพูดถึงเรื่องความสามารถ (Competencies) อาจจะใช้คำภาษาไทยอื่นๆ เช่น สมรรถนะ (แต่ในทัศนะของผู้เขียนภาษาไทยที่ใช้ไม่สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงของความสามารถ)
ความสามารถเรื่องเก่าเล่าใหม่ใช่ไหม?
หลายๆ ท่านคงจำวลีหรือประโยคต่อไปนี้ที่ขอบพูดกันมากในหมู่ผู้บริหาร หรือเป็นตัวอย่างในที่ประชุมทางธุรกิจ
.เราได้เสียพนักงานขายที่เป็นระดับ เซียน ไปคนหนึ่ง แต่ได้รับ ผู้บริหารงานขาย แย่ๆ มาคนหนึ่ง
.เราได้เสียหมอผ่าตัดมือดีไปคนหนึ่งแล้วได้รับผู้อำนวยการโรงพยาบาลแย่ๆ มาคนหนึ่ง
2 ประโยคข้างต้นนี้เราได้ยินบ่อยมากและก็มากขึ้นในกรณีที่เราจะต้องแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ๆ ขึ้นมารับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่สูงสุด
ถ้าจะพิจารณาในแนวคิดของการบริหารธุรกิจก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะใช้หลักการหรือทฤษฎีอะไรมาอธิบายในเรื่องดังกล่าว แต่หากมีทฤษฎีแล้วยังตอบคำถามไม่ได้ก็คงหนีไม่พ้นต้องลงมือทำในสิ่งที่เรียกว่า วิจัยธุรกิจกันเลย
แต่ผู้บริหารธุรกิจที่สนใจติดตามคอลัมน์นี้อย่าเพิ่งตกใจ เราไม่ได้ไปไกลกันขนาดนั้น
จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้บริหารคนนี้เก่งจริงหรือไม่
ผู้เขียนเชื่ออย่างหนึ่งว่าทุกท่านที่เป็นผู้บริหารธุรกิจ เจ้าของกิจการไม่ว่าเล็กใหญ่ขนาดไหนก็ตาม คงเจอคำถามในใจตามหัวข้อข้างต้นคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้บริหารคนนี้เก่งจริงหรือเปล่า?!
ในอดีตการที่จะหาคนเก่งหรืออยากได้ นักการตลาดเก่งอย่างเช่น บริษัท เชลส์ (แห่งประเทศไทย) จำกัด บริษัท ลีเวอร์ (ชื่อเดิม) บริษัท เอสโซ่
เราได้เรียนรู้ว่าบริษัทชั้นนำเหล่านี้
มีระบบ Management Trainee เพื่อพัฒนาและค้นหาคนเก่ง ซึ่งหลายๆ บริษัทที่กล่าวมานั้นล้วนใช้วิธีการเหมือนกัน
จะมีระบบ Talent Pool หรือ กลุ่มคนเก่ง โดยวิธีการสรรหา-พัฒนา-รักษา-ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า
การประเมินศักยภาพผู้บริหาร (Executive Potential Evaluation) เป็นการใช้เครื่องมือทางการจัดการให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะบอกให้ได้ว่าผู้บริหารคนนี้เก่งจริงหรือเปล่า
แม้ว่าระบบตามที่กล่าวมาข้างต้นจะมีประสิทธิภาพแต่ในการจัดการธุรกิจของศตวรรษที่ 21 อาจจะไม่สามารถสนองความเร็วของการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่มีสูงมากได้อย่างเต็มที่
ประเด็นของเรื่องจึงอยู่ที่ว่า
1) อะไรจะเป็นสิ่งที่บอกได้อย่างแท้จริงว่า คนหรือผู้บริหารธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จนั้นมีองค์ประกอบของอะไรที่ทำให้สำเร็จจริงๆ
2) ถ้ามีสิ่งนั้นหรือองค์ประกอบเหล่านั้นแล้ว เราหรือธุรกิจจะมีทางหรือใช้เครื่องมืออะไรจึงจะสามารถวัดองค์ประกอบเหล่านั้นได้และวัดได้อย่างแม่นตรงและเชื่อถือได้ด้วย
3) และถ้ารู้ว่าผู้บริหารธุรกิจหรือคนๆ นั้นขาดองค์ประกอบใดหรือบางองค์ประกอบจากการวัดในข้างต้น เราจะใช้วิธีการอะไรจึงจะพัฒนาองค์ประกอบที่ขาดไปบางส่วนหรือองค์ประกอบที่ไม่มี ให้เกิดมีขึ้นหรือเติมเต็มองค์ประกอบดังกล่าว
การวัดทางด้านจิตมิติ ผู้บริหารธุรกิจ อาจจะไม่คุ้นเคยสิ่งที่เรียกว่า การวัดทางด้านจิตมิติ (Psychometric) อธิบายภาษาเราๆ ท่านก็คือ เป็นการวัดทางด้านจิตวิทยาที่เรารู้จักกัน เช่น วัดความฉลาดหรือวัดด้านสติปัญญา (IQ Test) ปัจจุบันอาจจะได้ยินพูดกันในเรื่อง การวัดอีคิว (EQ: Emotional Quotient) แปลเป็นไทย-ความฉลาดทางอารมณ์ (อธิบายง่ายๆ ก็เป็นคนที่มีวุฒิทางอารมณ์เท่านั้นล่ะ อย่าไปคิดให้มาก) กับอีกส่วนคือ การวัดด้านบุคลิกภาพ (Personality Test)
เพราะเป็นความเชื่อของนักจิตวิทยาตั้งแต่ก่อนยุค60s นั้นที่อยากจะวัดระหว่างจิต (ใจ) กับกาย (สมองที่สั่งจิตใจ) และก็ไม่ได้มีการพัฒนามากไปกว่าเดิมเท่าไรนักเกี่ยวกับการสอบวัดคนบนความเชื่อดังกล่าว
สิ่งหนึ่งที่พบในปัจจุบัน การศึกษาของวิทยาการเกี่ยวกับสมองของมนุษย์ในปัจจุบันพบว่า การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมองคนนั้นจะอาศัยความรู้ด้านจิตวิทยาไม่พอแล้ว จำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านประสาทวิทยา กับความรู้ด้านชีววิทยา หรือสมัยใหม่หน่อยก็เป็นความรู้ด้าน BIO Technology เข้ามาช่วย
ข้อสรุปที่สำคัญของการศึกษาดังกล่าว ทำให้มีข้อค้นพบใหม่ในการศึกษาเกี่ยวกับความเก่งหรืออะไรสามารถบอกความเก่งของคนหรือผู้บริหารธุรกิจได้
(1) การวัดความรู้ในอาชีพ เช่น ความรู้ด้านบัญชี-การเงิน ความรู้ด้านการตลาด ความรู้ด้านการผลิต ผลการทดสอบที่ได้เป็นคะแนนของแต่ละวิชาเหล่านี้ ซึ่งในภาพรวมที่เรารู้จักเรียกว่า คะแนน GPA (Grade Point Average) หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
พบว่าไม่สามารถบอกความสำเร็จของคนที่เข้ามาทำงานในองค์กรหรือผู้บริหารธุรกิจได้อย่างแท้จริง
(2) ขออธิบายให้สูงขึ้นอีกนิดคือ การวัดด้านไอคิว (ที่บอกได้ดีกว่าคะแนน GPA) หรือวัดด้านสติปัญญากับการวัดด้านบุคลิกภาพ ไม่บอกความสำเร็จในการดำเนินงานหรือประกอบอาชีพของผู้บริหารธุรกิจ
(3) ข้อสรุปใหม่นี้ค้นพบประมาณปี60s เช่นกัน และเริ่มเกิดการศึกษากันใหม่ในปี70s ซึ่งเรียกสิ่งที่เป็นองค์-ประกอบใหม่ในความสำเร็จของผู้บริหารธุรกิจว่า ความสามารถ (Competency) และเครื่องมือที่วัดความสามารถก็มีหลายเครื่องมือ ในบางเครื่องมือมีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ เช่น การจัดทำกลุ่มสนทนา (Focus Group) การประเมิน 360 องศา การจัดทำพอร์ตโฟลิโอ หรือบางเครื่องมือก็ยังยืมการวัดทางจิตวิทยาเข้ามาใช้ เช่น เป็นการวัดด้านความคิด
ดังนั้นข้อสรุปที่ได้เล่าให้ฟังมาทั้งหมดสามารถนำมาสู่ความเข้าใจใหม่ในการทำความเข้าใจองค์ประกอบในความเก่งของคนหรือผู้บริหารธุรกิจได้ดังนี้
ประการแรก ถ้าธุรกิจสนใจที่จะค้นคว้าหาว่า ผู้บริหารธุรกิจที่มีอยู่นั้นมีความเก่งจริงหรือไม่ จะต้องดำเนินการดังนี้
(1) เปลี่ยนความคิดที่ว่า จะไปวัดด้านความถนัด (Aptitude Test) หรือการวัดด้านบุคลิกภาพ ไปสนใจวัดสิ่งใหม่ที่เรียกว่า การวัดความสามารถ (Competency Assessment)
(2) ความสามารถเป็นองค์ประกอบของผู้บริหารธุรกิจหรือคนในองค์กรที่ทำนายความสำเร็จในอาชีพของผู้บริหารหรือบุคคลนั้นๆ ได้แม่นตรงกว่าวิธีการหรือความเชื่อในอดีต
(3) ความสามารถไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่นักจิตวิทยาหรือหลายๆ คนเข้าใจว่าคือ พฤติกรรม (Behavior) แม้ว่าจำเป็นจะต้องเข้าไปวัดพฤติกรรมที่แสดงถึงความสามารถ (ไม่ใช่ตัวพฤติกรรม แต่ดูที่การแสดงพฤติกรรม)
ประการที่สอง ความสนใจของธุรกิจหรือความรู้ด้านการจัดการธุรกิจในปัจจุบันกำลัง
ขยายความสนใจมาสู่เรื่องที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ทรัพย์สินด้านความรู้ (Knowledge Assets) หรือ ทรัพย์สินที่จับไม่ต้องได้ (Intangible Assets) หรือศัพท์ที่นิยมพูดกันในปัจจุบันคือ ทุนทางปัญญา
ทรัพย์สินความรู้ หรือทุนทางปัญญาที่พูดถึงในธุรกิจนี้ การศึกษาหรือทำความเข้าใจของธุรกิจยังไม่ชัดมากนัก ยิ่งในบ้านเราแทบจะเรียกว่า ไม่ชัดเลยหรือมีความเข้าใจอยู่ในระดับที่ยังไม่สูง
ประการสุดท้าย ที่ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้บริหารคนนี้เก่งจริงหรือไม่ ปัจจุบันนี้สามารถสรุปได้ว่า ความสามารถหรือองค์ประกอบของความสามารถเป็นสิ่งที่บอกให้ธุรกิจรู้ได้ ผู้บริหารคนนี้เก่งจริงๆ เป็นอย่างแน่แท้และไม่ใช่ของปลอม
ถ้าจะอธิบายสิ่งที่เป็นความรู้ของธุรกิจโดยเฉพาะการจัดการธุรกิจในศตวรรษที่ 21 ผู้เขียนอยากจะให้ข้อค้นพบและสิ่งที่เป็นบทเรียนใหม่กับผู้บริหารธุรกิจคือ
(1) การคิดหรือจัดการธุรกิจในยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่การเรียนรู้จากประสบการณ์เท่านั้น เพราะประสบการณ์ไม่ใช่สิ่งที่สามารถนำไปใช้แบบทั่วไปได้ ซึ่งทางหลักการเรียกว่า Generalization
(2) การจัดการธุรกิจที่จะนำไปใช้ ความทั่วไปหรือเป็นหลักสากลได้นั้นต้องอาศัยการเรียนรู้และทำความเข้าใจในแนวคิด หลักการหรือทฤษฎีของสิ่งนั้นๆ
(3) เรื่องของความสามารถ ไม่สามารถใช้ประสบการณ์มาอธิบายได้ทั้งหมด หรือใช้เพียงตัวอย่างของบางธุรกิจหรือสามัญสำนึกของตนเองอธิบายได้ แต่ต้องอธิบายบนพื้นฐานของแนวคิด หลักการหรือทฤษฎี
ท่านผู้บริหารธุรกิจจะเห็นว่า แม้แต่ธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในบ้านเรายังพยายามสร้าง
ทฤษฎีขึ้นมา แม้ว่าจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาเท่าใดนักก็ยังอยากเรียกว่าเป็นทฤษฎีเลย ดังนั้นถ้าท่านอยากดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารธุรกิจต้องศึกษาทั้งทฤษฎีบวกประสบ-การณ์อย่างจริงจังครับ!
อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants