เคล็ดลับ 4 ประการ ทำ CSR ให้สำเร็จ


854 ผู้ชม


เคล็ดลับ 4 ประการ ทำ CSR ให้สำเร็จ




โดย ดร.ไชยยศ บุญญากิจ
คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (ธวท.) หรือ Thailand Business Council for Sustainable Development - TBCSD เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มระหว่างภาคธุรกิจกับสมาคม สิ่งแวดล้อมไทย โดยมีพันธกิจสำคัญในการสื่อสารถึงความเป็นบรรษัทภิบาลและร่วมกันพัฒนาโครงการจัดการความรู้ด้านการดำเนินงานธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม ปลุกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมให้กับสมาชิกเพื่อการก้าว ไปสู่การยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล
มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการบริหารร่วมกับนักธุรกิจจากองค์กรชั้นนำกว่า 25 องค์กร จาก 10 กลุ่มประเภทธุรกิจ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัทบางจากปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอมเวย์ ประเทศไทย จำกัด ฯลฯ ดูจากชื่อชั้นของสมาชิกแล้ว พลังของ TBCSD ย่อมไม่ธรรมดา
ไม่ธรรมดาทั้งที่สมาชิกเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับ เข้มข้น และยังเป็นกลุ่มธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 14 ปีก่อนที่ประเด็นในลักษณะนี้ยังไม่ร้อนแรงเท่าใน ปัจจุบัน
การทำงานมาอย่างยาวนานย่อมทำให้ TBCSD โดดเด่นในแง่องค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริงขององค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกซึ่งดำเนินธุรกิจใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมายาวนาน จึงน่าสนใจว่าแนวปฏิบัติของความสำเร็จในการทำ CSR มุมของ TBCSD จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง
ดร.ไชยยศ บุญญากิจ คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงสิ่งที่องค์กรต้องคำนึงถึงในการทำ CSR ว่ามี 4 ข้อด้วย กันคือ 1.บรรษัทภิบาล ในองค์กรของท่าน มีค่านิยม มีความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ในการดำเนินกิจการด้านใดบ้าง ก็วาง แนวทางไว้
2.เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่พูดถึงกันมาก เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องดูแลตลอดวงจรชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือด้านการบริการ จะมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ทั้งภายในและภายนอก 3.ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย 6 ภาคี คือพนักงาน ผู้ถือหุ้น ผู้ค้า ลูกค้า ชุมชน สังคม และประเด็นสุดท้ายที่ค่อนข้างใหม่และมาแรง คือการส่งเสริมและพัฒนาประเทศและชุมชนในท้องถิ่นที่เราไปทำธุรกิจ เพราะเมื่อประเทศไม่ยั่งยืน ธุรกิจก็คงอยู่ไม่ได้ แต่ที่เห็นมากตอนนี้คือการเข้าไปช่วยเรื่องความยากจน เรื่องการศึกษา สุขภาพ อนามัย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพื้นฐาน และเรื่องใหม่ตอนนี้คือความเหลื่อมล้ำด้านไอที
"ตัวอย่างกิจกรรมที่ TBCSD ด้านสิ่งแวดล้อมมีโครงการฉลากสีเขียว ที่ทำตั้งแต่ปี 2536 ผลักดันให้ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม น้อยที่สุด ด้านสังคมมีโครงการรักพัทยา พัฒนาเกาะเกร็ด และปรับภูมิทัศน์บริเวณสนามหลวง ส่วนด้าน CSR ปี 2549 เราเชิญสมาชิกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำ CSR ในองค์กร และปี 2550 จะมีการฝึกอบรมเรื่อง CSR และให้นำไปปฏิบัติจริง และอยากแนะนำเพิ่มว่า การจะนำ CSR เข้าไปในองค์กรนั้น ควรพิจารณาว่าเราได้เลือกประเด็นที่ครอบคลุมตามหลัก 4 ข้อหรือไม่ และต้องสอดคล้องกับองค์กร รวมถึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงานด้วย"
สิ่งที่ TBCSD ต้องการสื่อสารให้สมาชิกเข้าใจคือ ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมไม่ได้หมายถึงการบริจาคเงินให้กับชุมชนหรือการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรเท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานในองค์กร
และที่สำคัญต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น โดยเฉพาะชุมชน เพราะภาคธุรกิจจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ถ้าขาดฐานทรัพยากรและชุมชนที่เข้มแข็ง โครงการธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นโครงการที่สอดคล้องกับธุรกิจขององค์กรนั้นๆ และยังเป็นโครงการที่จะไปช่วยสร้างศักยภาพของชุมชนโดยรอบ ให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้ตามวิถีทางที่ชุมชนต้องการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เพราะภาคธุรกิจอยู่ได้ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน
หน้า 33


ประชาชาติธุรกิจ 


อัพเดทล่าสุด