แผนกลยุทธ์รวมระดับองค์การ


924 ผู้ชม


กลยุทธ์รวมขององค์กร   (Overall  Strategy)   
 
                  ภารกิจหลักขององค์การจะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อผู้บริหารจะต้องเลือกใช้กลยุทธ์หรือยุทธ์ศาสตร์ที่มีพลังเพียงพอ  ซึ่งหมายถึงการเลือกใช้วิธีการที่จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์การ  (Internal  Resources)  ผสมผสานกับสิ่งแวดล้อมภายนอกเพื่อบรรจุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในอนาคต 
 
1 กลยุทธ์ที่มุ่งหวังความสำเร็จ  (Entrepreneurial  Strategy)  
             จะถูกเลือกใช้เมื่อองค์การต้องนำผลิตภัณฑ์ใหม่  วิธีการใหม่ๆหรือรูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่เข้ามาใช้เพื่อมุ่งสู่ทิศทางใหม่ไปสู่ความสำเร็จ  กลยุทธ์นี้จะใช้ประโยชน์โดยตรงจากความคิดริเริ่มและการกล้าเผชิญกับความเสี่ยง  บุคคลากรขององค์กรจะถูกเร่งเร้าและกระตุ้นให้เร่งรัดสร้างความสำเร็จ  และโทษของความล้มเหลวจะรุนแรงมาก  อาจจะถึงถูกลงโทษ  ถูกลดขั้นลดเกียรติยศหรือแม้กระทั่งถูกออกจากงาน 
 
2 กลยุทธ์การเติบโตอย่างมีพละกำลัง  (Dynamic  Growth  Strategy)            
                จะถูกเลือกใช้เมื่อองค์การต้องการเพิ่มเติมสมรรถนะในการสร้างความสำเร็จเพิ่มขึ้น  ในขณะเดียวกันก็ยังมุ่งพัฒนาความสามารถเดิมให้ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น  โดยการพัฒนาบุคคลากร  การวางแผนและการตรวจสอบที่รัดกุมและการบำรุงขวัญ,กำลังใจของทีมงาน  ทั้งนี้องค์กรจะยอมรับความเสี่ยงที่ได้คิดคำนวณอย่างรอบคอบแล้ว 
 
3  กลยุทธ์ของผู้วิเคราะห์  (Analyzer  Strategy)               
               จะถูกเลือกใช้เมื่อองค์การต้องการเจริญเติบโตอย่างระมัดระวัง  โดยใช้ประโยชน์ของจุดแข็งที่มีอยู่แล้ว  ขยายช่องทางการตลาดเดิมที่มีอยู่เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากขึ้น  อาจรวมถึงการใช้ความสามารถเฉพาะทางที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจอย่างเป็นระบบระเบียบด้วย       
                  
4  กลยุทธ์ของผู้ปกป้อง  (Defender  Strategy) 
              จะถูกเลือกใช้เมื่อองค์การต้องการปกป้องส่วนแบ่งการยึดครองตลาดเอาไว้  โดยการขายให้มากขึ้นในราคาที่ต่ำลง  ซึ่งจะเลือกใช้ได้ดีก็ต่อเมื่อตลาดมีความแน่นอนสูง  ควบคุมค่าใช้จ่ายได้  และผลิตภัณฑ์หรือบริการมีระดับคุณภาพอันเป็นที่พึงพอใจของลูกค้า   
                   
5  กลยุทธ์ของผู้ถนอมตัว  (Rationalization  Strategy) 
         
              จะถูกเลือกใช้เมื่อองค์การจำเป็นต้องรักษาผลกำไรเอาไว้ให้ได้โดยการควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายต่างๆลงในสภาวะที่ความสามารถในการแข่งขันลดลง  และคู่แข่งขันเร่งก้าวนำไปข้างหน้าอย่างรุนแรงมากขึ้น  อันอาจจะเกิดจากการอ่อนล้าของระบบต่างๆ  ซึ่งอาจจำเป็นต้องปิดบางหน่วยงานที่ไม่มีประสิทธิภาพลง  อันอาจส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานจนถึงขั้นที่องค์การต้องตัดสินใจยกเครื่อง  (Re-engineering)  องค์การก็อาจจะเป็นได้ 
 
6  กลยุทธ์การย่อยสลายองค์การ  (Liquidation  Strategy) 
            จะถูกเลือกใช้  เมื่อองค์การประสบปัญหาด้านการลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่องของผลกำไร  ซึ่งอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของสิ่งแวดล้อมภายนอก  หรือจากการคาดการณ์ผิดในการบริหารองค์การ  กลยุทธ์นี้อาจจะคล้ายกับกลยุทธ์ของผู้ถนอมตัวเพียงแต่กลยุทธ์การย่อยสลายองค์การจะใช้วิธีคัดสรรบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะทางไว้เพื่อสร้างความอยู่รอดและเติบโตแล้วปล่อยให้พนักงานที่เหลือหลุดออกจากองค์กรไป
 
7  กลยุทธ์การพลิกฝ่ามือ  (Turnaround   Strategy)             
               ถูกเลือกใช้เมื่อองค์กรประสบปัญหาอย่างร้ายแรงจนอาจจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างต่างๆในระยะสั้นเพื่อให้องค์กรดำเนินการและอยู่รอดต่อไปได้  หลังจากที่พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถจะใช้ทั้งกลยุทธ์ของผู้ถนอมตัว  และกลยุทธ์การสลายองค์กรได้  และเมื่อเริ่มประสบผลแล้ว  ก็อาจเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์มุ่งหวังความสำเร็จ (Entrepreneurial  Strategy)  ต่อไป 
               หากพิจารณากลยุทธ์ทั้งหมดแล้วจะพบว่า  กลยุทธ์มุ่งหวังความสำเร็จ  กลยุทธ์การเติบโตอย่างมีพละกำลัง  และกลยุทธ์ของผู้วิเคราะห์เป็นกลยุทธ์ที่เลือกใช้  เมื่อองค์กรกำลังอยู่ในช่วงเติบโตหรือขาขึ้น  ในขณะที่อีก  4  กลยุทธ์  เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เมื่อองค์กรกำลังอยู่ในช่วงถดถอยหรือขาลง 
            สำหรับองค์กรขนาดเล็ก  มักจะเลือกใช้กลยุทธ์หนึ่งกลยุทธ์ใดเพียงอย่างเดียว  แต่สำหรับองค์กรขนาดใหญ่  อาจต้องใช้มากกว่าหนึ่งกลยุทธ์ประกอบกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรใหญ่ที่ประกอบธุรกิจหลายอย่าง  ซึ่งแต่ละส่วนขององค์กรจะได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
BRIAN  L.  DELAHAYE (2005)  HUMAN  RESOURCE  DEVELOPMENT   ADULT LEARNING  AND  KNOWLEDGE  MANAGEMENT  2nd  EDITION   John  Wiley & Sons  Australia,Ltd. 
ศึกษาโดย  นางสาวฐิติวรรณ  สินธุ์นอก  นักศึกษาปริญญาเอก  โครงการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   มหาวิทยาลัยรามคำแหง
 
 
โดย ฐิติวรรณ สินธุ์นอก


อัพเดทล่าสุด