มองมุมใหม่ : คุณลักษณะของ Servant Leadership


805 ผู้ชม


มองมุมใหม่ : คุณลักษณะของ Servant Leadership




รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ [email protected] คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เนื้อหาสัปดาห์นี้ก็ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ นั่นคือเรื่องของ Servant Leadership หรือผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจจากท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านนะครับ สังเกตได้จากความคิดเห็นต่างๆ ที่ส่งเข้ามา อาจจะเนื่องจากวิกฤติทางด้านผู้นำที่หลายๆ แห่งประสบอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการได้ผู้นำที่นึกถึงแต่ตนเอง แทนที่จะได้ผู้นำที่นึกถึงผู้อื่นเป็นหลักตามแนวทางของ Servant Leadership

สัปดาห์นี้เรามาดู คุณลักษณะที่สำคัญของ Servant Leaders กันนะครับว่ามีอะไรบ้าง ซึ่ง Larry C. Spears ซึ่งเป็น CEO ของ The Greenleaf Center for Servant-Leadership ซึ่งเป็นสถาบันที่ Robert Greenleaf ตั้งขึ้นมาได้สรุปออกมาไว้

ประเด็นแรกสุดครับคือผู้ที่เป็น Servant Leaders คือจะต้องมีทักษะในการฟัง (Listening) Servant Leaders จะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี และพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่นอย่างจริงใจ โดยจะต้องเป็นผู้ที่สนใจและพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น Servant Leaders จะต้องสามารถทำให้บุคคลอื่นรู้สึกอยากจะแสดงความคิดเห็น และเชื่อว่าเมื่อแสดงความคิดเห็นนั้นแล้ว จะเป็นที่รับฟังจากตัวผู้นำเอง ผู้ที่อยากจะพัฒนาตนเองให้เป็น Servant Leaders จะต้องเริ่มจากการพัฒนาทักษะในการฟังก่อนนะครับ และเจ้าทักษะในการฟังนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญอันจะนำไปสู่ทักษะในด้านอื่นๆ ที่จำเป็น

คุณสมบัติประการที่สองคือ ความเข้าใจในผู้อื่น (Empathy) ผู้ที่เป็น Servant Leaders นั้นจะต้องมีความพยายามในการทำความเข้าใจผู้อื่น เนื่องจากบุคคลต่างๆ นั้น ต้องการให้เป็นที่ยอมรับในความแตกต่างของแต่ละคน Servant Leaders จะเข้าใจในปัญหาและความแตกต่างของแต่ละคน ในขณะเดียวกัน Servant Leaders ก็จะได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้อื่น

คุณสมบัติประการที่สามคือ ความสามารถในการกระตุ้นและให้กำลังใจผู้อื่น (ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Healing ครับ เลยไม่แน่ใจจะแปลเป็นไทยว่าอย่างไร?) เนื่องจากบุคคลต่างๆ ในองค์กรจะประสบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ นานัปการ และอาจจะนำไปสู่การบาดเจ็บ (ทางจิตใจ) Servant Leaders จะเป็นบุคคลที่คนอื่นจะมองหาเมื่อประสบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ และ Servant Leaders จะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการกระตุ้น ให้กำลังใจ และบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาเหล่านั้น

คุณสมบัติประการที่สี่ คือ ความตระหนัก (Awareness) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งครับ เนื่องจากถ้าเราตระหนักและรู้จักตนเองเป็นอย่างดีแล้ว จะทำให้เรามองปัญหาต่างๆ ด้วยความรอบคอบจากมุมมองต่างๆ ที่กว้างขึ้น นอกเหนือจากความตระหนักในตนเองแล้ว ผู้ที่เป็น Servant Leaders ยังมีความตระหนักในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว อยู่ตลอดเวลา อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ตื่นอยู่ตลอดเวลา ก็ได้ครับ

คุณสมบัติประการที่ห้า คือ ความสามารถในการเกลี้ยกล่อมผู้อื่น (Persuasion) เนื่องจาก Servant Leaders จะไม่เน้นการสั่งการตามตำแหน่งหน้าที่ที่มี แต่จะเน้นการเกลี้ยกล่อม หรือชี้ชวนให้ผู้อื่นเห็นด้วยและทำตาม แทนที่จะเป็นการบังคับบัญชา Servant Leaders จะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำให้กลุ่มสามารถเห็นชอบในสิ่งเดียวกัน Servant Leaders จะไม่บังคับให้ผู้อื่นเห็นด้วยหรือทำตาม แต่จะมีเหตุผลที่ชัดเจน และไม่สามารถปฏิเสธได้ที่ผู้อื่นเมื่อฟังแล้ว จะปฏิบัติตาม ซึ่งคุณสมบัติในข้อนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Servant Leaders มีความแตกต่างจากผู้นำที่มุ่งเน้นการบังคับบัญชา

คุณสมบัติประการที่หก คือ ความสามารถในการมองภาพในเชิงองค์รวม (Conceptualization) ผู้ที่เป็น Servant Leaders จะไม่มองภาพเป็นจุดๆ หรือเป็นปัจจุบันเท่านั้น แต่จะมองสิ่งต่างๆ ในเชิงองค์รวม และไม่ได้มองเฉพาะสิ่งที่เป็นเป้าหมายในปัจจุบัน แต่จะมองภาพใหญ่และสิ่งที่ต้องการไปสู่ในอนาคต ผู้ที่เป็น Servant Leaders จะไม่มองเฉพาะตนเองเท่านั้น แต่ยังพยายามกระตุ้นคนรอบข้างให้มองภาพใหญ่ในอนาคต

คุณสมบัติประการที่เจ็ด คือ เป็นความสามารถในการมองเห็นสิ่งที่จะเกิดในอนาคต (Foresight) ซึ่งจะค่อนข้างใกล้เคียงกับคุณสมบัติประการที่หก Servant Leaders จะเป็นผู้ที่สามารถคาดการณ์หรือมองเห็นถึงแนวโน้ม หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งผลกระทบต่างๆ ของสิ่งที่ได้ตัดสินใจลงไป

คุณสมบัติประการที่แปดคือ Stewardship (ไม่ทราบจะแปลอย่างไรจริงๆ ครับ) เป็นความมุ่งมั่นของผู้นำในการเตรียมองค์กรให้สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

คุณสมบัติประการที่เก้าได้แก่ การให้ความสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาของผู้อื่น (Commitment to the Growth of People) ซึ่งคงไม่ต้องแปลความหมายนะครับ เพียงแต่ผู้ที่เป็น Servant Leaders นั้น จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ที่จะให้บุคคลอื่นในองค์กรได้มีการเติบโตและพัฒนา

คุณสมบัติประการสุดท้าย ได้แก่ การสร้างชุมชน (Building Community) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างลักษณะของชุมชนให้เกิดขึ้นภายในองค์กร Servant Leaders เชื่อว่าองค์กรควรจะดำเนินงานในลักษณะชุมชน และสร้างบรรยากาศการทำงานในลักษณะของชุมชนให้เกิดขึ้นภายในองค์กร

ท่านผู้อ่านลองนำคุณลักษณะทั้งสิบประการข้างต้นของ Servant Leadership ไปพิจารณาดูนะครับ แล้วท่านผู้อ่านลองมองย้อนกลับมาในเมืองไทยดูว่า ท่านผู้อ่านรู้จักผู้นำท่านไหนที่มีคุณลักษณะของ Servant Leadership ไหมครับ?

ท่านที่ผมนึกถึงก่อนเป็นท่านแรก คือองค์พระประมุขของประเทศครับ ท่านเป็น Servant Leaders โดยไม่ต้องเอาทฤษฎีใดๆ เข้ามาจับเลยครับ นั่นคือทรงนึกถึงแต่ประโยชน์สุขของประชาชนของพระองค์เป็นสำคัญ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


อัพเดทล่าสุด