มองมุมใหม่ : บทบาทของผู้นำกับความขัดแย้ง


802 ผู้ชม


มองมุมใหม่ : บทบาทของผู้นำกับความขัดแย้ง




รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ [email protected] คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งครับ ชื่อ Leading Through Conflict เขียนโดย Mark Gerzon เท่าที่ได้อ่านดูเบื้องต้นคิดว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกันนั้น กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เราพบกันในชีวิตประจำวันกันไปแล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของคนที่เป็นผู้นำในการบริหาร จัดการกับความขัดแย้งต่างๆ นั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญว่าผลของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะออกมาในทางบวกหรือทางลบ

ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าเป็นอย่างไร ทั้งผู้นำระดับประเทศ ผู้นำองค์กร หรือผู้นำกลุ่มต่างๆ ที่ท่านผู้อ่านได้เกี่ยวข้องอยู่ด้วยตลอดเวลา มีแนวทางหรือวิธีการในการจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไร?

จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งไม่ดีนะครับ แนวคิดทางด้านการบริหารในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะสนับสนุนให้มีความขัดแย้งกันขึ้นมาบ้าง เนื่องจากความขัดแย้งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการอภิปราย เกิดความคิดสร้างสรรค์ มากขึ้น

มีงานวิจัยที่แสดงออกมาเหมือนกันครับว่า ในกลุ่มที่มีความขัดแย้งนั้น จะทำให้ระดับของผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มจนถึงระดับหนึ่งเท่านั้นนะครับ ถ้าความขัดแย้งที่มีอยู่มากเกินไป หรือเกินระดับที่สมควรก็จะทำให้ผลิตภาพลดลง แทนที่จะเพิ่มขึ้นครับ สังเกตเห็นคู่สมรสหลายๆ คู่ที่แต่งงานกันมานาน สามีก็ชอบแหย่ภรรยาให้ทะเลาะกันบ้าง หรืองอนกันบ้าง ก็เป็นรสชาติที่ดีของชีวิตครับ

ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับในปัจจุบัน โอกาสที่ความขัดแย้งต่างๆ จะเกิดขึ้นนั้นทวีมากขึ้นทุกขณะครับ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างครับ ถ้ามองในระดับกว้างก็อาจจะเกิดขึ้นจากความเป็นสากลหรือโลกาภิวัตน์ที่มากขึ้น ปัจจุบันในสถานที่ทำงานแห่งหนึ่งไม่ได้ถูกจำกัดด้วยคนเชื้อชาติเดียวอีกต่อไปแล้ว การที่คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม มาทำงานร่วมกันก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนที่มีพื้นฐานเหมือนกัน

ในขณะเดียวกัน เสรีภาพของสื่อและระเบียบต่างๆ ก็ทำให้โอกาสของความขัดแย้งมีมากขึ้น ทั้งในด้านของการนำเสนอและรับรู้ข่าวสารต่างๆ หรือระเบียบต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบซึ่งกันและกันมากขึ้น ถ้ามองลงในระดับจุลภาค การเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบัน ที่เน้นเสรีภาพของความคิดเห็น การแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่โอกาสของความขัดแย้งที่จะมากขึ้น

ในเมื่อเราทราบและยอมรับว่า สังคมและการทำงานในปัจจุบันมีโอกาสของความขัดแย้งมากขึ้นกว่าในอดีต คำถามคือ ตัวผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรเองก็ต้องยอมรับในจุดนี้ และต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน เราเคยถูกสั่งสอนกันมาในอดีตว่าคนที่เป็นผู้นำนั้นต้องทำการตัดสินใจ และจากนั้นก็สั่งการเพื่อให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม โดยบทบาทของลูกน้องที่ดีคือเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำ

แต่จากลักษณะของสังคมและบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านผู้อ่านจะสังเกตนะครับว่า น้อยนักที่ลักษณะผู้นำดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว ยกเว้นผู้นำที่มีบารมีจริงๆ ท่านผู้อ่านจะสังเกตว่าถ้าเราเจอผู้นำที่ประเภทสั่งอย่างเดียว และหวังจะให้ลูกน้องปฏิบัติตามนั้น ไม่ช้าก็เร็วความขัดแย้งย่อมจะปรากฏขึ้น แต่จะเป็นความขัดแย้งแบบดัง (ออกมาโวยวาย แสดงความไม่เห็นด้วย) หรือขัดแย้งแบบเงียบ (เงียบ เก็บกด ไม่เห็นด้วยในใจ)

ผู้นำในปัจจุบันเมื่อวางแผนหรือตัดสินใจไปแล้ว การจะให้แผนงานนั้นได้มีการนำไปปฏิบัติจนประสบผลนั้น จะต้องอาศัยคนจำนวนมาก และคนจำนวนมากเหล่านี้ก็ไม่ใช่ทำไปแบบแกนๆ เท่านั้นนะครับ การที่จะให้คนเหล่านั้นทำงานอย่างทุ่มเท จริงใจ และจริงจัง จะต้องอาศัยความสามารถในการบริหารความขัดแย้งอย่างสูงครับ เนื่องจากความต้องการ ความคาดหวัง และความสนใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ผู้นำยุคโบราณที่คิดว่าตนเองรู้ดีที่สุด (ก็อาจจะรู้ดีจริงๆ ด้วยครับ) และหวังว่าผู้อื่นจะทำตามที่ตนเองสั่งนั้นจะไม่เหมาะกับยุคปัจจุบันแล้วครับ ผู้นำในยุคปัจจุบันจะต้องเอื้อมมือ (หรือแขน) ออกไปหาผู้อื่น และพยายามที่จะลดความแตกต่างหรือความขัดแย้งระหว่างกันลงไป ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นำจะต้องละจุดยืนของตน เพื่อตอบสนองผู้อื่นนะครับ แต่จะต้องหาแนวทางหรือวิธีการที่จะตอบสนองความต้องการของทุกๆ ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการตอบสนองทุกๆ ฝ่ายยังไม่ดีพอสำหรับผู้นำยุคใหม่นะครับ ผู้นำที่ดีจะต้องไม่มองเฉพาะความต้องการของตนเองหรือของบุคคลอื่น แต่ต้องมองที่ภาพรวมเป็นหลักครับ ไม่ว่าจะเป็นประเทศ องค์กร หรือกลุ่ม อาจจะกล่าวได้ว่าผู้นำที่ดีจะต้องให้ความสำคัญต่อทั้งความต้องการของทั้งตนเอง ของบุคคลอื่น และขององค์กรเป็นสำคัญครับ

สัปดาห์นี้เกริ่นไว้เบื้องต้นก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาขยายและดูเนื้อหาจากหนังสือ Leading Through Conflict กันต่อนะครับ

ก่อนจากกัน ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะจัดสัมมนาเรื่อง นักบัญชีกับการสร้างมูลค่าเพิ่มกลับไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการ (Accountants and Value Creation for Stakeholders) เพื่อเฉลิมฉลองทรงครองราชย์ ครบ 60 ปี ในวันศุกร์ที่ 22 กันยายนนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจหลายประการครับ เช่น CRM, CEM และ SCM กับความเชื่อมโยงกับ ABC หรือ Open Book Management หรือ Good Corporate Governance หรือจาก KPI สู่ KRI (หัวข้อนี้ผมรับผิดชอบครับ) เป็นต้น สนใจก็โทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2218-5740-2 นะครับ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


อัพเดทล่าสุด