อุปสรรคการเป็นองค์กรแห่งสุดยอดนวัตกรรม


900 ผู้ชม


อุปสรรคการเป็นองค์กรแห่งสุดยอดนวัตกรรม




ทุกวันนี้หนึ่งในคำถามที่ผู้เขียนได้ยินเป็นประจำจากบรรดาผู้บริหารก็คือ "ทำอย่างไรจึงจะเป็นองค์กรที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เสมอ" หรือไม่ก็ "ทำอย่างไรจึงจะเทรนให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์" ซึ่งทั้ง 2 คำถามนี้ก็หมายถึงเรื่องเดียวกันนั่นเอง คือ ทำอย่างไรจึงจะฝึกอบรมให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อที่จะได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้องค์กร

เรื่องของการฝึกอบรมให้บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์ก็คล้ายๆ กับการฝึกอบรมให้มีภาวะผู้นำตรงที่ว่าเรามักจะมีคำถามในใจว่าเรื่องอย่างนี้ฝึกกันได้ (ง่ายๆ) ด้วยหรือ -- เพราะดูเหมือนว่าคนบางคนเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานมาให้มีรูปร่างสูงสง่า สวย หล่อ จะพูดจาอะไรดูมีเสน่ห์น่าเชื่อถือไปเสียหมด ยกตัวอย่างเช่น เจ้าชายจิกมี แห่งภูฏานที่สาวๆ หลายคนกรี๊ดสนั่นจนมีกระแสภูฏานฟีเวอร์จะไปเที่ยวภูฏานกันเสียแล้ว หรือบางคนก็ดูชาญฉลาด คิดอะไรได้แปลกๆ สร้างประดิษฐกรรมได้ใหม่ๆ และเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นโทมัส แอลวา เอดิสัน อเล็กซานเดอร์ เกรแฮมเบลล์ บิล เกตส์ เป็นต้น

การเป็นผู้นำที่น่าประทับใจหรือการเป็นนักคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ หรือสร้างธุรกิจใหม่ๆ นั้น จำต้องอาศัยทุนเดิม คือ สติปัญญา รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทีที่มีติดตัวมาบ้างก็จริงอยู่ แต่นักจิตวิทยาองค์กร และผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการก็เชื่อว่าการฝึกอบรมและหลักการบริหารจัดการที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีภาวะผู้นำและมีความคิดสร้างสรรค์ ผนวกกับบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริม ก็จะทำให้บุคลากรเค้นฟอร์มเก่ง (ขอยืมสำนวนนักข่าวกีฬามาใช้หน่อย) ออกมาจนได้ โดยในสัปดาห์นี้เราจะมาศึกษากันว่าองค์กรที่เป็นเจ้าของสุดยอดนวัตกรรมของโลกนั้นเขามีวิธีพัฒนาคนและมีหลักการบริหารจัดการอย่างไร

2 ปีที่ผ่านมานี้นิตยสาร Business Week ร่วมกับ BCG หรือบริษัท The Boston Consulting Group ได้จัดให้มีการสำรวจเพื่อจัดลำดับบริษัทที่มีนวัตกรรมสูงสุด ของโลก โดยการสัมภาษณ์ความเห็นของผู้บริหารระดับสูงจากหลายประเทศทั่วโลก โดยในปี 2006 นี้ได้ทำการสำรวจความเห็นจากผู้บริหารระดับสูงจำนวน 1,070 คน ที่ทำงานกับบรรษัทขนาดใหญ่จาก 63 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งประเภทของนวัตกรรมออกเป็น 3 รายการ คือ

Process Innovation หรือ นวัตกรรมด้านกระบวนการ

Product Innovation หรือ นวัตกรรม ด้านผลิตภัณฑ์ (สินค้าหรือบริการ)

Business Model Innovation หรือ นวัตกรรม ด้านรูปแบบจำลองทางธุรกิจ

ในปี 2006 นี้ บริษัทที่ติดอันดับ 1 ใน 25 ของ The World''s 25 Most Innovative Companies ของ Business Week มีดังนี้ คือ

อันดับ 1 Apple อันดับ 14 Dell

อันดับ 2 Google อันดับ 15 IDEO

อันดับ 3 3M อันดับ 16 BMW

อันดับ 4 Toyota อันดับ 17 Intel

อันดับ 5 Microsoft อันดับ 18 eBay

อันดับ 6 GE อันดับ 19 IKEA

(เพิ่งติดอันดับปีนี้)

อันดับ 7 P&G อันดับ 20 Wall-Mart

อันดับ 8 Nokia อันดับ 21 Amazon

อันดับ 9 Starbucks อันดับ 22 Target

(เพิ่งติดอันดับปีนี้)

อันดับ 10 IBM อันดับ 23 Honda

อันดับ 11 Virgin อันดับ 24 Research in Motion (เพิ่งติดอันดับปีนี้)

อันดับ 12 Samsung อันดับ 25 Southwest Airlines

อันดับ 13 Sony

 

นอกจากบริษัทในลำดับที่ 19, 22 และ 24 ที่เพิ่งติดอันดับในปีนี้ บริษัทอื่นๆ อีก 23 บริษัทล้วนเป็น "เจ้าเก่า" ที่เคยติดอันดับในปีก่อนมาแล้ว และนอกจากจะติดอันดับเป็น Most Innovative Companies แล้วยังติดอันดับเป็นสุดยอดอื่นๆ อีกหลายรายการที่จัดโดยนิตยสาร Fortune Financial Times และอื่นๆ เช่น Most Admired Companies Best Performance ฯลฯ การที่เป็นบริษัทชั้นแนวหน้าในเรื่องนวัตกรรมนับเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่องค์กรในศตวรรษที่ 21 กำลังมองหาอย่างเอาเป็นเอาตาย และอยากรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างนวัตกรรมได้อย่างบริษัทแนวหน้าเหล่านี้ แต่ก่อนจะเรียนรู้ถึงปัจจัยที่ทำให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม มาดูก่อนดีกว่าว่าปัจจัยอะไร หรือปัญหาอะไรที่ทำให้ผู้บริหารไม่สามารถผลักดันให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมได้

อุปสรรคของการเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม

นอกจากจะสำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูงว่าบริษัทใดในโลกที่เป็นสุดยอดในเรื่องนวัตกรรมแล้ว BCG ยังสำรวจว่าปัจจัยอะไรที่ผู้บริหารเหล่านั้นมองว่าเป็นอุปสรรคกั้นขวางไม่ให้องค์กรเป็นสุดยอดด้านนวัตกรรมได้

ปัญหาลำดับแรก : ความล่าช้าในการพัฒนาความคิดให้กลายเป็นรูปธรรม

"การคิดค้นให้เกิดไอเดียแจ๋วๆ นั้นก็ยากอยู่แล้ว แต่ก็ยังง่ายกว่าการทำให้ไอเดียนั้นกลายเป็นจริงขึ้นมา" นี่คือคำกล่าวของ CEO ผู้หนึ่งซึ่งประสบปัญหาในการบริหารจัดการที่จะทำให้ไอเดียดีๆ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการรวดเร็วทันเวลาถึงมือลูกค้าก่อนคู่แข่ง ประมาณว่า ไอเดียดี แต่ช้าไปต๋อย... ทำไมถึงช้าไม่ทันกาลจนความคิดดีๆ กลายเป็นหมันไป ตามมาอ่านกันต่อในข้อ 2 เลยค่ะ

ปัญหาลำดับที่ 2 : ขาดการประสานงานที่ดี

แค่มีไอเดียดีๆ จากสมองของพนักงานคนหนึ่งนั้น ไม่พอที่จะทำให้องค์กรเป็นเจ้าของสุดยอดนวัตกรรม นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ยาวไกล องค์กรจะต้องมีกระบวนการที่เป็นระบบสนับสนุนอีกมากมาย บริษัท Apple ที่เป็นเจ้าของนวัตกรรม iPod นั้น กว่าจะทำให้ iPod ติดตลาดทั่วโลก ต้องสร้างนวัตกรรมอื่นๆ ติดตามมาอีกหลายประการเพื่อให้ iPod ออกสู่ตลาดนักนิยมเพลงได้ กล่าวคือ เมื่อคิด iPod ออกมาได้แล้ว Apple ก็ต้องปฏิวัติแนวทางการทำธุรกิจ เริ่มตั้งแต่สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับบรรดาค่ายเพลงทั้งหลาย โดยมีข้อตกลงว่าจะขายเพลงของพวกเขาทาง online ซึ่งข้อตกลงกับบริษัทเพลงเหล่านี้ถือเป็นนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างหนึ่ง นวัตกรรมลำดับต่อไปก็คือ การขายเพลงให้ลูกค้าดาวน์โหลดได้ในราคาเพลงละ 1 เหรียญ online และลำดับต่อไปคือการนำเสนอภาพลักษณ์ของ iPod และลูกค้าของ iPod ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่นิยมดนตรีและสามารถซื้อหาดาวน์โหลดเพลงที่ชอบโดยสะดวกง่ายดาย ภาพของคนสมัยใหม่ที่พกพา iPod มีอุปกรณ์การฟังแนบหูและสายอุปกรณ์ที่ดูเก๋ไก๋นั้น เป็นการสร้าง Brand ที่ได้ผลในหมู่วัยรุ่นและยัปปี้ยุคดิจิตอลมาก

ที่ยกตัวอย่างมาเสียยืดยาวนี้ ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายมองเห็นภาพทะลุปรุโปร่งว่าการจะเป็นเจ้าของนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จนั้น ต้องมองเห็นกระบวนการให้ครบวงจร ตั้งแต่วิเคราะห์ตลาดและรสนิยมของผู้บริโภค --> คิดค้นหาคำตอบที่จะสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แหวกแนวโดนใจกว่าใครอื่นในรูปของผลิตภัณฑ์หรือบริการ --> เมื่อไอเดียเกิดขึ้นแล้ว ทุกฝ่ายตั้งแต่ฝ่ายดีไซน์ ฝ่ายผลิต R&D ต้องรีบพัฒนาไอเดียทำเป็นต้นแบบ (Prototype) แล้วทดลองว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ใช้การได้ดี มีข้อบกพร่องหรือไม่ --> หากใช้ได้ ก็ต้องคิดต่อว่าจะหาทางนำสู่ตลาดได้เร็วกว่า ถูกกว่า แรงกว่าคู่แข่งอื่นๆ ได้อย่างไร

ขั้นตอนในการแปรความคิดหรือความฝันมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำยอดกำไรได้นั้นมีมากกว่าที่แสดงให้เห็นคร่าวๆ ในย่อหน้าที่แล้วมาแน่นอน และในแต่ละขั้นตอนก็ต้องหาแนวคิดใหม่ๆ ที่จะทำให้ขั้นตอนการทำงานนั้นๆ มีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นนวัตกรรมจึงเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของการทำงาน ซึ่ง Apple รวมทั้งบริษัทอื่นๆ เช่น Microsoft Toyota หรือ Samsung นั้น มองเห็นวงจรของการสร้างนวัตกรรมอย่างทะลุปรุโปร่ง ดังนั้นการสร้างนวัตกรรมจึงเป็นการทำงานที่ครบวงจร หลายบริษัทมีไอเดียดีๆ แต่ก็มาตกม้าตายไปไม่ถึงดวงดาวเพราะขาดการประสานงาน การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ นั่นเอง

ปัญหาลำดับที่ 3 : การมีวัฒนธรรมองค์กรที่หลีกเลี่ยงการเสี่ยง

การจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ คือ การคิดไม่เหมือนใคร คิดนอกกรอบ ดังนั้นถ้าองค์กรมีวัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยม ต้องทำอะไรตามระเบียบแบบแผน เคารพระบบอาวุโสอย่างเคร่งครัด ไม่มีการเสี่ยง และไม่เปิดโอกาสหรือให้อภัยการทำผิดพลาดของพนักงานบ้าง สภาพแวดล้อมแบบนี้ย่อมไม่เอื้อให้พนักงานกล้าคิดนอกกรอบแน่ๆ และผู้นำอย่าได้คิดว่าจะสั่งให้พนักงานคิดสร้างสรรค์ได้นะ

ปัญหาลำดับที่ 4 : มีความเข้าใจและรู้จักลูกค้าไม่เพียงพอ

จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้โดนใจลูกค้า หมายความว่าองค์กรต้องมีผู้นำที่อุทิศเวลาในการติดตามข้อมูล วิเคราะห์พฤติกรรม สไตล์การใช้ชีวิตของประชากรกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิดจนรู้ใจว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขามองหาเพื่อเพิ่มความสุขสบายในชีวิตมากขึ้น การสร้างนวัตกรรมไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่าลูกค้ากำลังต้องการอะไร แล้วนำเสนอสิ่งนั้นให้ แต่มันหมายถึงการคาดการณ์ไปในอนาคตว่า พวกเขาจะมีความต้องการอะไรสำหรับชีวิตในอนาคตต่างหาก หลายองค์กรยังทำได้เพียงพยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้าในวันนี้ แต่นวัตกรรม เช่น Prius รถ Hybrid ของ Toyota หรือ โทรศัพท์มือถือที่ทำหน้าที่ได้หลายอย่างเหมือนมีโทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ และเครื่องเสียงอยู่ในตัว อย่างโทรศัพท์ของ Nokia หรือของ Samsung นั้น ไม่ใช่เพียงแต่ "ตอบสนอง" ความต้องการของลูกค้า แต่นวัตกรรมของพวกเขาเป็นการนำเสนอทางเลือกใหม่ รูปแบบชีวิตใหม่ให้แก่สังคมของมนุษย์ นวัตกรรมต้องมีความยิ่งใหญ่เช่นนี้

ยังมีปัญหาสำคัญอีก 3 ประการที่กีดกั้นไม่ให้บริษัททั้งหลายเป็นสุดยอดองค์กรแห่งนวัตกรรม ซึ่งจะต้องยกยอดไปคุยกันต่อในสัปดาห์ต่อไป พร้อมกับจะได้นำเสนอเคล็ดลับหรือกลยุทธ์ต่างๆ ในการสร้างองค์กรให้เป็นเจ้าของนวัตกรรมชั้นยอดได้ โดยเคล็ดลับเหล่านี้เป็นของบริษัทที่ติดอันดับ The World''s 25 Most Innovative Companies นั่นเอง อดใจรออ่านต่อฉบับหน้านะคะ

ที่มา : โพสต์ ทูเดย์


อัพเดทล่าสุด