โลกไร้พรมแดน


1,253 ผู้ชม


โลกไร้พรมแดน




เคนอิจิ โอมาเอะ (Kenichi Ohmae) นักคิด นักวิชาการ และที่ปรึกษาทางธุรกิจ ชาวญี่ปุ่นได้ศึกษาวิเคราะห์และคาดการณ์ผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทางเศรษฐกิจและสังคมไว้ในหนังสือ "โลกไร้พรมแดน: The Borderless World" มีใจความสรุปได้ว่า โลกในอนาคตจะเป็นโลกที่พรมแดนจะหมดความหมายลง การเคลื่อนย้ายของเงินทุน การกระจายของข่าวสารข้อมูลสารสนเทศทั้งทางการค้า และการลงทุนจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและไม่ถูกสะกัดกั้นด้วยเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศอีกต่อไป การเคลื่อนย้ายปัจจัยทางการผลิตสามารถกระทำได้อย่างเสรี และแนะนำให้องค์การธุรกิจปรับปรุงโครงสร้างและระบบการจัดการใหม่3 เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าสิ่งที่เขาคาดการณ์ไว้ได้เกิดขึ้นอย่างแม่นยำ ทำให้ทุกคนเริ่มให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับความคิดของเขามากขึ้น

เคนอิจิชิ โอมาเอะ ได้แต่งหนังสืออีกเล่มชื่อ "การสิ้นสุดของความเป็นรัฐชาติ: The End of the Nation State" ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนาต่อเนื่องจาก การเกิดขึ้นของโลกไร้พรมแดน โดยคาดการณ์ว่าจากสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงเวลาผ่านมา เป็นผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในทศวรรษนี้คือ ปรากฏการณ์ที่บทบาทของรัฐชาติ (Nation State) ในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนจะลดความสำคัญลง โดยจะมีสิ่งเกิดขึ้นมาทดแทนใหม่และมีอิทธิพลอย่างมากคือ ภูมิภาครัฐ (Region State) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเพื่อร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของ สหภาพยุโรป หรือเรียกชื่อย่อว่า กลุ่มอียู ที่ปัจจุบันมีเงินสกุลยูโร (Euro) ใช้ร่วมกันอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดให้เป็นเงินสกุลหลักสกุลเดียวที่ใช้ภายในประเทศสมาชิก การเคลื่อนไหวล่าสุดมีการจัดประชุมเพื่อขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก สิบประเทศ ทำให้มีประชากรรวมกันมากกว่า 430 ล้านคน ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ โดยมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นประชากรที่มีกำลังซื้อสูงมาก การรวมตัวดัง กล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีในอดีตจะไม่ปรากฎอีกต่อไป ปริมาณการค้าระหว่างประเทศสมาชิกของกลุ่มอียูจะมีเพิ่มมากขึ้น การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศทำได้สะดวกมากขึ้น เป็นผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งในภาครัฐบาล เอกชน และประชาชนในฐานะผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ศตวรรษที่ 21 เป็นการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นเศรษฐกิจโลก (Global Economy) อย่างแท้จริง

ระบบเศรษฐกิจที่เป็นเศรษฐกิจโลกนี้ จะมีปัจจัยที่มีพลังขับเคลื่อนและผลักดันสำคัญ 4 ประการ ซึ่งนักบริหารควรนำมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจ คือ

    1. การลงทุน (Investment) การเคลื่อนย้ายของสินค้า และ เงินทุนจะไม่ถูกสกัดกั้นด้วยข้อจำกัดของรัฐชาติอีกต่อไป กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและการกีดกันต่างๆ จะถูกยกเลิกการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนจะเป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สังเกตได้จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมภายในประเทศต่างๆที่เกิดขึ้นจากการลงทุนทางตรง การเคลื่อนย้ายของเงินลงทุน และปัจจัยในการผลิตที่มีความเสรีมากขึ้น ทำให้การไหลเวียนของเงินทุนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความคล่องตัวมากขึ้น จากธรรมชาติของเงินทุนที่เคลื่อนย้ายตลอดเวลา จากจุดที่มีผลตอบแทนต่ำไปยัง จุดที่มีผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่า ซึ่งแตกต่างจากน้ำที่จะไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ ดังนั้นการจัดการไม่ว่าจะกระทำในฐานะบทบาทของรัฐบาล หรือ ธุรกิจ สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำเพื่อดึงดูดเงินลงทุนทางตรงให้เข้ามาในประเทศคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการให้ธุรกิจสามารถสร้างผลตอบแทนในการลงทุนได้สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับองค์การ และประเทศอื่น ซึ่งอาจกระทำได้ด้วยการส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต มีการพัฒนาทางการจัดการที่เหมาะสมไปพร้อมกับการสร้างให้เกิดพลวัตในการแข่งขัน โดยศึกษากลยุทธ์ของคู่แข่งขันเพื่อพัฒนาตัวเองให้ก้าวล้ำหน้ากว่า ด้วยการปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลอดเวลา การดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างให้เกิดผลตอบแทนในการ ลงทุนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับองค์การอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ผลจากการกระทำคือ จะมีเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ และองค์การนั้นตลอดเวลา มีสิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ เงินทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นเงินที่สำรองไว้เพื่อการลงทุนด้วยการหาผลประโยชน์ ในรูปของกองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานในองค์การของประเทศอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ ที่แสวงหาผลตอบแทนในการลงทุนที่สูงกว่าในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ปรากฏการณ์เช่นนี้แตกต่างจากในอดีตมากคือ ในอดีตเงินลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่มาจากภาครัฐบาลซึ่งมักจะอยู่ในรูปของการติดต่อระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล เน้นในเรื่องการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนาประเทศมากกว่า ซึ่งไม่คำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุนมากนัก ทำให้การเคลื่อนย้ายของเงินทุนมีน้อยเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ดังนั้นการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ จึงควรมุ่งแก้ปัญหาที่ทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ ซึ่งมีสาเหตุหลักสำคัญคือ ผลตอบแทนในการลงทุนที่ลดลง โดยแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาให้เกิดความมุ่งมั่นในการเพิ่มผลิตภาพ และประสิทธิภาพขององค์การธุรกิจเพื่อให้มีผลประกอบการโดยรวมสูงขึ้น ทั้งนี้ควรมีหน่วยงานภาครัฐช่วยทำหน้าที่เป็นกลไกในการผลักดันและส่งเสริม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากเป็นการสร้างให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดจะเป็นการสร้างให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันแบบยั่งยืน
    2. อุตสาหกรรม (Industry) อุตสาหกรรมจะเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สร้างให้เกิดคุณค่าเพิ่ม การมุ่งเน้นงานวิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างให้เกิดคุณค่า เป็นสิ่งที่องค์การธุรกิจต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งแรก ในขณะเดียวกันการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจะต้องกระทำผ่านขบวนการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ จึงเป็นสิ่งที่องค์การต้องพัฒนาและสร้างให้เกิดขึ้น เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงมากขึ้น เป็นเรื่องยากที่องค์การใดองค์การหนึ่งจะสามารถพัฒนาขึ้นได้โดยลำพัง ดังนั้นรูปแบบของอุตสาหกรรมในอนาคตจะมีแนวโน้มของการร่วมมือทำธุรกิจระหว่างกันขององค์การมากขึ้น เพราะบริษัทใดบริษัทหนึ่งย่อมมีข้อจำกัดในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้แตกต่างกัน พันธมิตรธุรกิจ (Strategic Alliance) จึงเป็นช่องทางการดำเนินธุรกิจที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนและการดำเนินงานแล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากความสามารถเฉพาะขององค์การอื่นโดยนำเข้ามาประกอบกับความสามารถของตัวเองในการพัฒนา สินค้าและบริการใหม่ๆ ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางและโอกาสในการขยายบริการให้ครอบคลุม และรุกเข้าสู่ตลาดใหม่ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท Cisco Systems ร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท Linksys บริษัทดำเนินธุรกิจให้บริการระบบโครงข่ายสายเคเบิ้ลความเร็วสูงเพื่อการสื่อสารในมลรัฐ แคลิฟอร์เนีย นับได้ว่าเป็นการขยายธุรกิจครั้งสำคัญของการให้บริการระบบเน็ตเวิร์คสำหรับใช้ภายในบ้าน จัดเป็นความสำเร็จของการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประโยชน์ให้ครอบคลุมมากขึ้น
    3. เทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศ (Information Technology) จะเป็นปัจจัย และตัวแปรสำคัญที่นำพาธุรกิจไปสู่การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะนอกจากจะทำให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สามามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังส่งผลให้การขยายธุรกิจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ระบบที่ทันสมัยสามารถทำให้การควบคุมการบริหารการปฏิบัติการกระทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการควบคุมผ่านเครือข่ายเคเบิ้ลใยแก้วที่ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการติดต่อระหว่างกัน ส่งผลทำให้การดำเนินงานและการตัดสินใจมีความแม่นยำรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยระบบสนับสนุนของฐานข้อมูลที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ และเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับในอดีต การเกิดขึ้นของธุรกิจ Dot.Com และธุรกิจ E-Commerce เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในระดับแรก แม้กระนั้นได้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดการบริหารจัดการทางการตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีการพัฒนาแนวคิดทางการตลาดแบบร่วมสมัย ตัวอย่างเช่น บริษัท โซนี่ (Sony) และบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ได้หันมาพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในสินค้าหลายชนิดปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า บริษัทค้าปลีกรายใหญ่อย่าง วอลล์มาร์ท (Wal-Mart)ได้เปิดให้บริการทางการค้าโดยผ่านช่องทางดังกล่าวเช่นกันและมีผลตอบแทนจากการดำเนินงานที่สูงมาก ข้อมูลสารสนเทศแบบไร้พรมแดนนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเองได้รับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วมากขึ้น ปัจจุบันมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการในภาครัฐเพื่อเสริมสร้างให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากขึ้น การพัฒนาของเทคโนโลยี Wi-Fi (Wireless Fidelity) ที่ทำให้การเชื่อมต่อสัญญาณกับระบบอินเตอร์เนตแบบไร้สายความเร็วสูงทำได้สะดวกมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีระบบ Broad Brand Internet Connection ทำให้สัญญาณสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้หลายเครื่องพร้อมกัน ในขณะที่สามารถรองรับการต่อเชื่อมของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่มีใช้เป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านเครื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อที่สนามบิน โรงแรม ที่ทำงานหรือแม้แต่กระทั่งร้านอาหาร เฉพาะที่เกาะ แมนฮัตตัน นิวยอร์ค มีการติดตั้ง Wi-Fi เทคโนโลยีมากกว่า 12,000 จุด ปัจจุบันนอกจากบริษัท Microsoft และ Apple Computer ได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีนี้แล้วบริษัท Dell และบริษัท Intel ยังมองว่านี่คือ โอกาสธุรกิจใหม่สำหรับอนาคต
    4. ปัจเจกบุคคล (Individual) ปัจเจกบุคคลจะมีอิทธิพลมากขึ้น เพราะมนุษย์ทุกคนคือ ผู้บริโภค ลักษณะสำคัญของผู้บริโภคปัจจุบันและอนาคตคือ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง พัฒนาเป็นผู้บริโภคที่มีความต้องการสินค้าที่มีแบบเฉพาะของตัวเองมากขึ้น เนื่องจากรับทราบข้อมูลข่าวสารสมบูรณ์มากขึ้น จึงทำให้ปรับตัวเองจากผู้บริโภคที่มีรสนิยมและความคาดหวังในระดับท้องถิ่น เป็นผู้บริโภคที่มีรสนิยมและความคาดหวังในระดับโลก จากสาเหตุนี้เองเป็นผลทำให้การค้าระหว่างประเทศมีมูลค่าสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะลูกค้าที่ปกติบริโภคสินค้าภายในท้องถิ่น เริ่มต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพระดับโลกในระดับราคาที่แข่งขันได้กับท้องถิ่น และมีความต้องการสินค้าที่มีคุณค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับเงินทุกๆหน่วยที่ใช้ในการบริโภค โดยปกติมนุษย์จะมีรสนิยมและพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการที่มีลักษณะแตกต่างกัน ส่งผลทำให้ผู้ผลิตต้องพัฒนาปรับตัวเองตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นกลยุทธ์ที่ควรนำมาพิจารณาคือ การผลิตสินค้าและนำเสนอบริการที่มีลักษณะเฉพาะตรงตามความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะบุคคล (Tailor-made Product/Service) สินค้าบางชนิดจึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงและออกแบบให้เข้ากับรสนิยมการบริโภคของประชาชนในประเทศ ในภูมิภาคนั้น หรือแม้กระทั่งในตลาดประเทศเดียวกัน อาจต้องมีการออกแบบสินค้าให้เหมาะสมกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรตระหนักในการทำธุรกิจตลอดเวลาไม่ควรละเลยหรือเพิกเฉย เพราะอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจส่งผลทำให้เกิดการเสื่อมถอยของสินค้าที่เน้นการผลิตจำนวนมาก

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การเกิดขึ้นของโลกไร้พรมแดนจะนำมาซึ่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้รัฐชาติหมดความหมายลง ในขณะเดียวกันมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นคือ การเกิดขึ้นของภูมิภาครัฐ ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมธุรกิจอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นยังมีพลังในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญเช่น การลงทุน อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และปัจเจกบุคล ซึ่งปรากฏเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นในการพัฒนาปรับโครงสร้าง และระบบการจัดการทั้งในระดับประเทศ ระดับองค์การ และระดับปัจเจกบุคคล จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก และควรกระทำไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จุดสำคัญคือ การพัฒนานั้นต้องเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่แท้จริงของเหตุ และผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เพื่อทำให้การพัฒนาการจัดการเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

ที่มา : การจัดการธุรกิจร่วมสมัย รศ.ดร.ผลิน  ภู่จรูญ


อัพเดทล่าสุด