กระบวนยุทธ์ธุรกิจ:Leveraged Growthการเติบโตแบบเหนี่ยวนำไร้ขอบเขต


779 ผู้ชม


กระบวนยุทธ์ธุรกิจ:Leveraged Growthการเติบโตแบบเหนี่ยวนำไร้ขอบเขต




    อีกหนึ่งแนวคิดกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดกลยุทธ์หนึ่งในช่วงที่ผ่านมา คือ เอาท์ซอร์สซิ่ง หรือ การจัดจ้างจากภายนอก ซึ่งหมายถึง การที่กิจการหนึ่งพยายามที่จะมุ่งเน้นการดำเนินงานไปที่กิจกรรมหลักที่จะสร้างมูลค่า (Value-adding services) และมีความสำคัญกับหน่วยงานของตนเองจริงๆ เท่านั้น และจะทำการว่าจ้างกิจการอื่น ให้ทำการบริการหรือผลิตวัตถุดิบในส่วนที่คิดว่ามิใช่กิจกรรมหลักของตน โดยแนวความคิดนี้ กิจการพยายามที่จะทุ่มเทความสนใจและทรัพยากรทั้งหมดไปในกิจกรรมหลักที่สร้างคุณค่าให้กับองค์การและลูกค้าของตนเองเท่านั้น กิจกรรมอื่นๆที่ไม่สำคัญมากนัก ก็จะให้ผู้อื่นที่มีความสามารถมากกว่าเป็นผู้ทำให้แทน
        ซึ่งในหลายๆครั้งที่กิจการใช้กลยุทธ์แบบนี้ ทำให้ได้รับวัตถุดิบหรือบริการที่มีคุณภาพที่สูงขึ้น รวดเร็วขึ้น และในต้นทุนที่ต่ำลง ผลประโยชน์ดังกล่าวนี้เองส่งผลให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกหันมาใช้กลยุทธ์เอาท์ซอร์สซิ่งกันมากมายทีเดียว โดยมักจะมีการติดต่อกับองค์การอิสระภายนอก เพื่อที่จะหาบริษัทที่มีคุณภาพในการให้บริการหรือผลิตวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติตามที่กิจการต้องการมากที่สุด
        กิจกรรมที่มักได้รับความนิยมในการทำเอาท์ซอร์สซิ่ง เช่น การดูแลรักษาความปลอดภัย การจัดการและบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน การดูแลรักษาเครื่องจักร เป็นต้น โดยปัจจุบันแม้แต่กิจกรรมด้านการตลาด ส่งเสริมการขาย บริการลูกค้า และแม้แต่วิจัยและพัฒนาก็เริ่มมีการใช้เอาท์ซอร์สกันอย่างแพร่หลายแล้ว เพื่อสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่กิจการไม่ต้องลงทุนทางด้านทรัพย์สินทั้งหมดด้วยตนเอง
        แต่ในปัจจุบันมีการเติบโตโดยใช้แนวคิดที่เกินกว่าเอาท์ซอร์สซิ่งปกติ เริ่มขยายขอบเขตเป็นกลยุทธ์หนึ่งคือ "Leveraged Growth" หรือ การเติบโตธุรกิจแบบเหนี่ยวนำ โดยใช้ทรัพยากรความเชี่ยวชาญ และช่องทางการตลาดของกิจการอื่น โดยความหมายจะสอดคล้องกับการใช้เอาท์ซอร์สซิ่งเช่นเดียวกัน
        กลยุทธ์ Leveraged Growth นั้น เป็นเสมือนกับการทำ การจ้างจากภายนอกขนานใหญ่ นั่นคือองค์กรหนึ่งจะมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้รับเอาท์ซอร์สมากมาย โดยผู้รับเอาท์ซอร์สเหล่านี้ จะมีหน้าที่ดูแลหน้าที่งานต่างๆ แทนองค์กรของเราในหลากหลายด้าน อาทิเช่น ด้านการออกแบบ การสำรวจความต้องการของลูกค้า การส่งเสริมการขาย การวิจัยและพัฒนา การผลิต การจัดการสินค้าคงคลังและการขนส่ง การบริการด้านสารสนเทศ รวมถึงการบริการด้านธุรการต่างๆอีกหลายด้าน ซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้เสมือนว่า กิจการสามารถเพิ่มขอบเขตในการผลิตและดำเนินงาน
        รวมถึงเพิ่มการเจริญเติบโตของยอดขาย โดยที่ตนเองไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมเองทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ยิ่งประหยัดทั้งเวลาในการขยายตัวและประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน รวมถึงไม่จำเป็นต้องลงทุนในทรัพย์สินเพิ่ม ทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนต่อทรัพย์สินสูงขึ้นมากด้วย และสามารถสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วต่อกิจการ
        กลยุทธ์นี้จึงเป็นเสมือนเทคนิคในการบริหารรูปแบบใหม่ที่จะสามารถช่วยในการเติบโตของธุรกิจในแถบบ้านเราได้มาก โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs เนื่องจากส่วนใหญ่จะขาดทักษะการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ รวมถึงขาดแคลนทรัพย์สินโดยเฉพาะเงินลงทุน ดังนั้นเมื่อธุรกิจขนาดย่อมดังกล่าว ต้องการขยายขอบเขตการดำเนินงานโดยใช้กลยุทธ์นี้ ทำให้ตนเองไม่จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนมาลงทุนเองทั้งหมด
        แต่จะใช้การติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับองค์การอื่นๆ เพื่อให้รับเอาท์ซอร์สกิจกรรมต่างๆไป โดยที่ตนเองทำหน้าที่ในการวางแผน ประสานงาน ติดต่อสื่อสาร ควบคุมการาดำเนินงานทั้งหมดให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนด ก็สามารถจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วครับ
        ตัวอย่างที่ค่อนข้างเห็นชัดของการใช้กลยุทธ์นี้ก็คือ บริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในฮ่องกง ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1906 โดยเริ่มต้นเป็นเพียงลักษณะของธุรกิจในครอบครัว ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้า โดยในยุคแรกจะทำการค้าเพียงในประเทศเท่านั้น และต่อมาจึงขยายขอบเขตมาทำธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันสามารถที่จะขยายศักยภาพในการทำธุรกิจส่งออกไปยังแถบประเทศยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของบริษัทนี้ทีเดียว
        จากการที่บริษัทดังกล่าว เป็นลักษณะของธุรกิจขนาดย่อมเช่นกันในช่วงแรก ซึ่งมีข้อจำกัดหลักๆคือ เงินทุนและทรัพยากรต่างๆ ทางบริษัทจึงมีการใช้แนวคิด Leveraged Growth นี้ โดยทำการเอาท์ซอร์สให้กับหน่วยงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มารับผิดชอบในกิจกรรมต่างๆให้ จนปัจจุบันทางบริษัทมีผู้รับเอาท์ซอร์สอยู่ถึงเกือบ 7,500 บริษัท โดยแต่ละบริษัทก็มีความชำนาญที่แตกต่างกันไป ทั้งทางด้านการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ การประกอบ การวิจัยและพัฒนา ที่ปรึกษาด้านแบรนด์
        นอกจากนี้ ทางบริษัทยังจ้างบริษัทที่มีความสามารถในเรื่องการออกแบบจากอิตาลีมาช่วยเหลือ และแม้แต่การขนส่งสินค้านั้น ก็ได้มีการติดต่อทำสัญญากับบริษัทขนส่งในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่อเมริกาเอง ซึ่งช่วยให้มีความสามารถในการเจาะตลาดหลักได้ชัดเจนขึ้น
        อาจจะมีข้อสงสัยว่า เมื่อมีผู้รับเอาท์ซอร์สมาช่วยจัดการเกือบทุกอย่างแล้ว บริษัทนี้ทำอะไรบ้าง คำตอบก็คือ บริษัทนี้จะพยายามมุ่งเน้นในเรื่องของสิ่งที่ตัวเองถนัด โดยจะดูแลในเรื่องการติดตามความต้องการของลูกค้าในตลาดอย่างใกล้ชิดและนำมาวางแผนกลยุทธ์ และทางการตลาดต่อไป ซึ่งจะมีการทำงานและวางแผนร่วมกับดีไซน์เนอร์อยู่ในอิตาลี นอกจากนี้ยังต้องรับผิดชอบในเรื่องของการจัดการด้านคุณภาพไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ กระบวนการผลิต หรือตัวสินค้าที่ออกมาจากผู้รับเอาท์ซอร์สทั้งหมด และประสานให้อีกกิจการหนึ่งจัดการในเรื่องของการกระจาและขนส่งสินค้าตามยอดคำสั่งซื้อที่ตนรับมา
        กล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่าบริษัทนี้ เป็นเสมือนกับหางเสือควบคุมทิศทาง ประสาน และควบคุมดูแลองค์การที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เปรียบเสมือนผู้ควบคุมวงออเครสต้า ที่มีหน้าที่จัดการให้นักดนตรีบรรเลงเพลงร่วมกันได้อย่างคล้องจองและไปในทิศทางเดียวกัน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันนั่นเอง
        โดยประโยชน์ที่ได้จากการใช้กลยุทธ์นี้ คือบริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายกับทรัพย์สินต่างๆ เช่น โรงงาน คลังสินค้า ช่องทางการกระจายสินค้า ฯลฯ รวมถึงไม่ต้องว่าจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทุกด้านมาไว้ที่กิจการ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงมาก และท้ายสุดตนเองก็สามารถทุ่มเททักษะและทรัพยากรของตนทั้งหมด ไปที่การวางแผนทิศทางและการจัดการดังกล่าวทั้งหมดนั่นเอง ทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 35 % มาตลอดเวลาหลายปี
        ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าเช่น จีนหรือเวียดนาม โดยปัจจุบันทางบริษัท มียอดขายถึง 5,000 ล้านเหรียญ โดยมีพนักงานทั้งหมดแค่ 4,200 คนเท่านั้น
        อย่างไรก็ตาม การใช้การเติบโตแบบเหนี่ยวนำนี้ ก็มีความเสี่ยงมากพอควรที่ต้องคำนึงถึง เริ่มจากการพึ่งพาผู้รับเอาท์ซอร์สอย่างมาก หากไม่สามารถสร้างความผูกพันหรือภักดีต่อกันก็อาจเป็นปัญหาในอนาคตได้ จึงมักจะมีการทำเป็นลักษณะพันธมิตรที่มาถือหุ้นลงทุนร่วมกันควบคู่ไปด้วย รวมถึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเรื่องของการควบคุมคุณภาพ และที่สำคัญที่สุดคือการประสานงานให้ทุกกิจการที่เกี่ยวข้องสามารถเดินไปด้วยกันอย่างสอดคล้องและสร้างสมดุลของผลตอบแทนร่วมกันระหว่างเราและผู้รับเอาท์ซอร์สทั้งหมดด้วย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด