Leaderful Organization ปูพรม 'ซีอีโอ' ให้ทั่วองค์กร


909 ผู้ชม


Leaderful Organization ปูพรม 'ซีอีโอ' ให้ทั่วองค์กร




''บทบาทของซีอีโอ จะลดน้อยลง เป็นแค่โค้ช คอยกระตุ้นให้คนทำงาน และจะเป็นเพียงศูนย์รวมศรัทธาของคนเท่านั้น เพราะยุคของ Leaderful ทุกคนจะเป็นผู้นำ และร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ ขององค์กรเอง''

การบริหารธุรกิจแบบบูรณาการ ภายใต้ระบบ ''ซีอีโอ'' เป็นเรื่องที่คนไทยเริ่มคุ้นชิน จากโครงสร้างการจัดการโดยมีผู้นำเป็นแม่ทัพ กระตุ้นพลังการทำงานของพลพรรคที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนธุรกิจหลายชีวิต

แต่วันนี้ท่ามกลางการแข่งขันที่ประชิดประตูบ้านของแต่ละองค์กรมากขึ้น การบริหารงานภายใต้วิสัยทัศน์ของซีอีโอเพียงลำพัง อาจจะไม่พอที่จะต่อกรกับการแข่งขันในโลกไร้พรมแดน จนกระทั่งล่าสุด แวดวงธุรกิจก็เจอกับทฤษฎีปฏิวัติองค์กรใหม่ๆ ในแนวทางของการสร้างภาวะผู้นำ ให้เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อหาเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมสุข ที่จะกอดคอไปพร้อมๆ กับซีอีโอ

''องค์กรแห่งผู้นำ'' จึงเข้ามาเป็นโจทย์ใหม่ของการบริหารจัดการธุรกิจในยุคที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ท่ามกลางความไม่แน่นอนและสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาไว้ล่วงหน้า

ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร หัวหน้ากลุ่มวิจัยภาวะผู้นำ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงนิยามใหม่ขององค์กรแห่งอนาคต จากการไปนำเสนอผลงานวิจัยทฤษฎีแห่งวิสัยทัศน์ขององค์กร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยชั้นแนวหน้าจากทั่วโลกที่ The Australian & New Zealand Academy of Management Conference ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ดร.สุขสรรค์ ให้คำจำกัดความว่าองค์กรในฝัน จะต้องเป็น ''Leaderful Organization''

Leaderful Organization แตกต่างจากองค์กรอื่นในประเด็นของผู้นำหรือซีอีโอ ที่จะต้องพลิกบทบาทจากผู้นำที่กำหนดวิสัยทัศน์ ที่คอยชี้ทางเดิน เป็นผู้นำที่คอยสนับสนุนสมาชิกในองค์กรซึ่งแต่ละคนมีทักษะที่หลากหลาย และมีความสามารถสับเปลี่ยนกันเป็นคนนำสมาชิกอื่นๆ ได้แล้วแต่สถานการณ์ที่ตนมีความชำนาญมากกว่า ถึงแม้ว่าจะทำงานอย่างมีอิสระมากแต่ก็ทำตามกรอบวิสัยทัศน์ร่วมที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งองค์กร

ซีอีโอเพียงให้กำลังใจหรือสอนสมาชิกใหม่ อำนาจของหัวแถวอย่างซีอีโอจะน้อยลง แต่ความศรัทธาจะกลับเพิ่มมากขึ้น

“ปัจจุบันที่เราอยู่ในยุคของ Visionary Leadership ผู้นำยังมีเพียงคนเดียว แต่ผู้นำจะต้องเริ่มเข้าใจคำว่า วิสัยทัศน์ขององค์กร หรือสังคม เริ่มกำหนดทิศทางในอนาคต และไม่ใช่ให้ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวแก่สมาชิก จึงจะดึงดูดคนให้ทำงานด้วยได้

วันนี้ การทำงานขององค์กรในบ้านเราจะไม่เพียงแต่จะต้องตอบสนองเฉพาะลูกค้าในประเทศเท่านั้น การแข่งขันและแรงกดดันมันถูกผลักมาจากต่างประเทศ ซึ่งองค์กรต้องมี guiding light เพื่อให้ทุกคนเดินตาม ไม่ให้เดินสะเปะสะปะ นั่นคือรูปแบบของการบริหารงานแบบผู้นำที่วางวิชั่นหรือทิศทางให้องค์กร''

แต่ที่เป็นที่น่าสังเกตว่า วิสัยทัศน์ที่องค์กรไทยตั้งไว้ เป็นเพียงแค่สโลแกน หรือเป็นคำขวัญประจำองค์กรเท่านั้น ขาดซึ่งความเข้าใจและการนำไปใช้จริง

''มากกว่า 70% ขององค์กรไทยมีวิสัยทัศน์ แต่ใช้ไม่เป็น ที่ตั้งขึ้นมาเป็นอะไรที่อินเทรนด์ บางทีคนไม่เข้าใจหรอกว่าวิสัยทัศน์คืออะไร เป็นคำขวัญหรือเปล่าหรือเป็นสโลแกนขาย ตัวผู้นำบางทีก็ไม่เข้าใจวิสัยทัศน์ให้พนักงานท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทอง''

เขากล่าวว่า ต้องล้างภาพเดิมๆ เสีย แล้วก้าวเข้าสู่การบริหารงานในแบบองค์กรยุคใหม่ ที่จะต้องมีการสลับบทบาทของซีอีโอ จากผู้ชี้นำไปเป็นผู้คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเท่านั้น เนื่องจากว่าในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะของแรงงานและความต้องการลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น

อีกทั้งพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ จึงเป็นการยากที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่ง กำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรหรือเป้าหมายที่สมาชิกในองค์กรทุกคนเห็นดีเห็นงามด้วยและตั้งใจที่จะทำให้บรรลุ

ดร.สุขสรรค์ได้ข้อสรุปว่าหลังจากนี้ไป เทรนด์การบริหารองค์กรแนวใหม่จะไม่มี ''ผู้ตาม'' แต่ทุกคนถือสถานะในการเป็นผู้นำ หรือเป็นซีอีโอในขอบข่ายงานของตัวเองได้อย่างเท่าเทียม

''คอนเซปต์ของ Leaderful Organization ก็คือ ทุกคนเป็นผู้นำทั้งหมดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถแบบไหนในการนำสมาชิกองค์กรในขณะนั้น ไม่ใช่คนเพียงเดียวเป็นผู้นำตลอด ทุกคนจะต้องร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ขึ้นมา

ทุกคนเป็นผู้นำตนเองในบทบาทที่ตัวเองรับผิดชอบ บริหาร จัดการได้ด้วยตัวเอง นำเสนอความคิดใหม่ๆ ในการบริหารหรือแก้ปัญหาที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าและเป็นผู้นำในการนำเอาความคิดนั้นมาปฏิบัติให้เป็น และทุกคนจะผลัดกันขึ้นมาเป็นผู้นำในแต่ละสถานการณ์''

แม้จะดูเป็นคอนเซปต์ที่ไม่ต่างจาก ''ภาวะผู้นำในองค์กร'' ที่เริ่มมีการพูดถึงในปัจจุบันมากเท่าไหร่นัก แต่ด้วยข้อแตกต่างของ ''ความสำคัญและอำนาจ'' ของซีอีโอที่ดูจะลดน้อยถอยลง ทำให้ประเด็นของ Leaderful Organization ดูจะน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

''บทบาทของซีอีโอจะลดน้อยลงไปมาก ซีอีโอจะเป็นแค่โค้ช คอยกระตุ้นให้คนทำงาน และจะเป็นเพียงศูนย์รวมศรัทธาของคนเท่านั้น''

จากการวิเคราะห์สภาพการบริหารจัดการธุรกิจในบ้านเราแล้ว อาจารย์พบว่า ปัจจัยดึงรั้งไม่ให้องค์กรแจ้งเกิดผู้นำยุคใหม่ เกิดขึ้นเนื่องมาจาก การ ''หวง'' เก้าอี้ของซีอีโอ

''บ้านเราคงมีกำแพงอยู่มาก ในการปรับองค์กรเข้าสู่เทรนด์แบบนี้ เพราะระบบการทำงานยังไม่ยืดหยุ่นพอ การตัดสินใจมันยังทำงานเป็นการรวมอำนาจในการตัวสินใจที่ส่วนกลาง ไม่มีใครกล้า take action ต้องผ่านขั้นตอนการตัดสินใจหลายระดับมาก

จากประสบการณ์ที่เราเห็นๆ กันอยู่ ทั้งเรื่องการตัดสินใจในระดับประเทศ อย่างล่าสุด เกี่ยวกับการป้องกันภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าวันนี้ เราจะมารอผู้นำสูงสุดตัดสินใจคนเดียวไม่ทันแล้ว ในบางสถานการณ์ เราควรจะรู้ว่าใครควรจะตัดสินใจ''

''อุปสรรค'' ในการขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่ความเป็นผู้นำนอกจากจะอยู่ที่ความยากของการโน้มน้าว ให้ซีอีโอยอม ''ปล่อยวาง'' แล้ว ยังต้องปลูกฝังความมั่นใจการการคิดและลงมือปฏิบัติในกลุ่มหัวหน้างาน หรือพนักงานให้มีความเป็นผู้นำเต็มตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในองค์กรขนาดเล็ก หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีความคล่องตัวในการทำงานเป็นทุนเดิม และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย หากปรับระบบความคิดเพียงเล็กน้อย องค์กรเหล่านี้ก็อาจติดปีกบินได้ไกล

อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือระบบการศึกษาของประเทศไทยที่ล้าหลังและไม่ส่งเสริมให้คนคิดเป็น กล้าแสดงออกและกล้าทำ ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญแห่งการพัฒนาไปสู่องค์กรในฝันแบบ Leaderful Organization

''การเป็น Leaderful Organization ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่ 3 ประการ'' เขากล่าว

ประการแรก ในเรื่องของต้นทุนการบริหารจัดการที่ต่ำ ซึ่งจะได้เปรียบ เพราะต้นทุนด้านการทำงานที่เปล่าประโยชน์และไปคนละทิศทางน้อยลง จากประสิทธิภาพในการอาสาทำงานและรับผิดชอบเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ร่วมที่ทุกคนกำหนดขึ้นเอง และจากการที่ให้อำนาจในการตัดสินใจในตัวพนักงานทุกคนที่มีความสามารถในการตัดสินใจ

นอกเหนือจากนี้ องค์กรจะได้เปรียบในแง่ของคุณภาพของงานที่จะดีขึ้นจากการระดมพลังความคิดและรับผิดชอบร่วมกันของสมาชิกทุกคนในองค์กร และสุดท้าย การทำงานที่มีผู้นำที่หลากหลายจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งจะพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมทางด้านต่างๆ

Leaderful Organization แม้จะดูเป็นภาพขององค์กรในฝัน ที่อาจพัฒนาให้เกิดขึ้นได้โดยต้องใช้เวลานานสักนิดในบ้านเรา แต่ด้วยศักยภาพ และการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอ่านในกลุ่มนักบริหารเลือดใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาองค์กร คาแรคเตอร์ของเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ จะช่วยขยับแนวทางขององค์กรยุคใหม่ให้เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก

''ซีอีโอหลายๆ บริษัทรับทราบถึงเทรนด์นี้ และกำลังมองหาจังหวะที่จะก้าวลงจากการเป็นผู้รู้ทุกอย่าง ไปเป็นคนที่คอยโค้ช และนั่งดูลูกน้องอยู่ห่างๆ'' ดร.สุขสรรค์กล่าวเช่นนั้น

พร้อมกับบอกอีกว่า ท้ายที่สุด สำหรับซีอีโอไทยที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ก็จะถูกสภาวะการแข่งขันบังคับให้เปลี่ยน เนื่องจากว่าองค์กรในอุตสาหกรรมเดียวกันในส่วนอื่นๆ ของโลกมีแนวโน้มที่จะพัฒนาองค์กรของตนไปสู่ Leaderful Organization อย่างแน่นอน

แหล่งข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ


อัพเดทล่าสุด