คิดที่แตกต่าง : กล้าแก้ไขความผิดพลาด


734 ผู้ชม


คิดที่แตกต่าง : กล้าแก้ไขความผิดพลาด




  "คนที่ไม่เคยทำผิดก็คือ คนที่ไม่เคยทำอะไรเลย" นี่คือคำพูดของอดีตจักรพรรดิ์นโปเลียนที่ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส
       
        ฉะนั้นมนุษย์ทุกคนหรือแม้แต่อริยบุคคลขณะที่ท่านเหล่านั้นยังไม่ได้เป็นอริยบุคคลก็สามารถทำความผิดได้ทั้งนั้น
       
        ตัวอย่างเช่น ก่อนที่พระพุทธองค์จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็กระทำความผิดเช่นกัน กล่าวคือ พระองค์ทรงเลือกปฏิบัติทางสุดขั้วสองทาง(ตึงสุด ๆ และหย่อนสุด ๆ) ก่อนที่จะทรงค้นพบทางสายกลาง หรือความสมดุลในความหมายของเต๋า
       
        หรือการที่พระองค์แสวงหาความรู้จากบุคคลภายนอก หรือการแสวงหาจากภายนอกโดยไปศึกษาจากพระฤษี ก็ไม่สามารถช่วยให้พระองค์ตรัสรู้ได้
       
        เพราะความรู้จากภายนอกเป็นเพียงแค่ระดับ "ความรู้" เท่านั้น ไม่ว่าเราจะขนขวายเรียนมากมายเพียงใด ต่อให้สำเร็จปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก 10 แห่ง หรือ 100 แห่ง เราก็ได้แค่ความรู้ ไม่สามารถได้มาซึ่ง "ปัญญา" ที่จะช่วยให้เรารู้แจ้ง หรือตรัสรู้ได้
       
        มีแต่ทางปฏิบัติธรรมด้วยตนเองเท่านั้น หากสามารถ "ปล่อยวาง" ทุกอย่างได้ ก็จะได้มาซึ่ง "ปัญญา" หรือ "รู้แจ้ง" นั่นเอง
       
        สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องยอมรับว่า ตัวเราเองกระทำผิด และพร้อมที่จะแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว
       
        ถ้าเราคิดว่า ตัวเราทำถูกตลอดเวลา ไม่ยอมรับความจริงว่า ตัวเราก็ย่อมกระทำผิดพลาดได้
       
       หากเราไม่ยอมรับความจริงดังกล่าว แน่นอนที่สุดเราก็ไม่ยอมแก้ไขความผิดพลาด เวลามีใครมาเตือนเรา เราก็จะโกรธ หรือโมโห โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เตือนมีตำแหน่งต่ำกว่า หรือมีอายุน้อยกว่า หรือมีฐานะทางสังคมด้อยกว่า
       
       มหาจักรพรรดิถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถังที่รุ่งเรืองได้ทรงกล่าวว่า หน้าที่ของผู้นำอย่างหนึ่งก็คือ ต้องกล้ารับความผิดพลาด และพร้อมที่จะแก้ไขความผิดพลาด รวมทั้งการแก้ไขความผิดพลาดของผู้นำในอดีต
       พระองค์ท่านทรงชี้ให้เห็นว่า จักรพรรดิ หรือผู้นำเปรียบเสมือนเรือ ขณะที่ประชาชนเปรียบเสมือนน้ำ เรือต้องอาศัยน้ำ ไม่ใช่น้ำอาศัยเรือ
       
       ดังนั้น หลักการปกครองของพระองค์ท่านก็คือ ต้องคิดถึงความสะดวกสบาย และความสุขของประชาชนก่อน ไม่ใช่ความสะดวกสบาย หรือความสุขของพระองค์เอง หรือราชวงศ์
       
       หากประชาชนทุกข์ยากลำบาก มีความเป็นอยู่ที่ยากไร้ ลำเข็ญ จักรพรรดิ หรือผู้นำจะเสวยสุขอยู่ได้นานเท่าไร
       
       ไม่นาน น้ำก็จะคว่ำเรือ เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อระบบปกครองทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นระบบกษัตริย์ หรือระบบการปกครองแบบอื่น ๆ
       อดีตประธานาธิบดีของจีน ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิงก็ได้สร้างความผิดพลาดหลายประการ
       
       ตัวอย่างเช่น ท่านปล่อยให้คนในตระกูล ลูกน้องคนสนิท หรือเพื่อนฝูงพรรคพวกโกงกินบ้านเมือง ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชั่นแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศเพราะท่านเป็นผู้นำสูงสุด
       
       เนื่องจากผู้นำสูงสุดคือ ตัวอย่าง หากผู้นำสูงสุดประพฤติดี ก็เป็นตัวอย่างที่ดี แต่ถ้าผู้นำสูงสุดมีพฤติกรรมที่ชั่วร้าย ท่านก็เป็นตัวอย่างที่เลวเช่นกัน
       
       หรือการปล่อยให้มีการตัดต้นไม้ที่ประธานเหมาเจ๋อตงรณรงค์ปลูกไว้หลายร้อยล้านต้นเพื่อป้องกันพายุทรายโหมกระหน่ำมหานครปักกิ่ง หรือเป่ยจิง รวมทั้งที่อื่น ๆ ของจีนซึ่งนำภัยพิบัติทางธรรมชาติมาสู่ประชาชนชาวจีน
       
       หรือการสั่งปราบปราม และทรมานผู้ฝึก "ฝ่าหลุนกง" เพราะเกิดจิตระแวงคิดว่า ชาวจีนที่ฝึก"ฝ่าหลุนกง"จะมาโค่นล้ม หรือล้มล้างรัฐบาลของตน เนื่องจากหลังจากที่อาจารย์หลี่หงจื้อเผยแพร่หลักการปฏิบัติธรรม "ฝ่าหลุนกง"เพียง 7 ปี (1992-99) มีชาวจีนที่เลื่อมใสศรัทธาฝึกฝนกว่า 70 ล้านคน
       
       เป็นการกระทำที่เปลี่ยนประชาชนของตนเองมาเป็นศัตรู หรือการสร้างศัตรูด้วยจิตแห่งความระแวง อิจฉาริษยา
       
       การสั่งปราบ "ความเชื่อ" เป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรง เพราะประธานเหมาเจ๋อตงเคยสอนนายกฯไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชไว้ว่า ไม่ต้องปราบผู้เลื่อมใส หรือเชื่อในหลักการคอมมิวนิสต์ เพราะยิ่งปราบก็ยิ่งโต
       แต่ให้ใช้วิธีที่ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข โดยการส่งข้าราชการดี ๆ เข้าไปปกครองในเขตอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ สร้างความเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบประชาชน ปราบปรามผู้มีอิทธิพล คอมมิวนิสต์ก็จะหายไปเอง
       
       ประธานเหมาฯได้ยกตัวอย่างเรื่องที่มหาอาณาจักรโรมันจับพระเยซูไปฆ่าโดยการตึงไม้กางเขน แทนที่จะปราบผู้นับถือศาสนาคริสต์ได้ กลับกลายเป็นว่า ศาสนาคริสต์รุ่งเรือง และมหาอาณาจักรโรมันล่มจม
       "ฝ่าหลุนกง"คือ การปฏิบัติธรรมที่เน้นให้ผู้ฝึกปล่อยวางกิเลสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ตำแหน่ง ลาภยศ หรือเงินทอง โดยการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง ครอบครัว ผู้อื่น และสังคม
       
       ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาจารย์หลี่หงจื้อ ห้ามลูกศิษย์ยุ่งเกี่ยว หรือเล่นการเมืองเพราะจะทำให้จิตถูกครอบงำด้วยกิเลสเรื่องอำนาจ และชื่อเสียงจนยากที่จะปล่อยวางได้
       
       ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำรุ่นใหม่อย่างเช่น ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา หรือนายกฯเวิ่นเจียป่าวที่จะต้องเข้ามาเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของอดีตผู้นำอย่างเช่นที่มหาจักรพรรดิถังไท่จงได้ทรงวางหลักการในการบริหารปกครองประเทศเอาไว้

แหล่งข้อมูล: https://www.manager.co.th

อัพเดทล่าสุด