คิง แคมป์ ยิลเล็ต King Camp Gillette ( 1855-1932 ) "มีดโกนยิลเล็ต"
คิง ยิลเล็ต บุรุษร่างสูง ไหล่ผึ่งผาย ท่าทางภูมิฐานและมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองอย่างรุนแรง มีความเชื่อมั่นว่าคนรุ่นต่อไปในอนาคตจะรำลึกถึงเขาในฐานะบุรุษผู้นำระเบียบทางสังคมอย่างใหม่มาสู่โลก ซึ่งหาได้มีอะไรใกล้เคียงกับการโกนหนวดเลยแม้แต่น้อย ในปี 1894 นักขายฝาจุกขวดวัย 34 ปีจากบอสตันผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพจัดพิมพ์ พิมพ์เขียวที่ใช้ภาษากวนน้ำท่วมทุ่งเรียกร้องการปฏิรูปสังคมโดยใช้ชื่อเรื่องว่า "สารัตถะแห่งมนุษย์"ออกเผยแพร่หนังสือซึ่งใช้คำอุทิศอย่างอวดดีว่า"แด่มนุษย์ชาติทุกหมู่เหล่า"เล่มนี้เสนอว่าโลกทั้งโลกจะดำเนินไปเหมือนเช่นเป็นบริษัทเดียว ซึ่งทุกๆคนเป็นผู้ถือหุ้นที่เสมอกัน ภายใต้แผนการณ์ของยิลเลต พลเมืองทุกคนจะถูกกำหนดให้ทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นเวลา 5 ปีก่อนที่จะถูกปล่อยเป็นอิสระเพื่อใช้วันเวลาที่เหลืออยู่แสวงหาความอิ่มเอมทางวัฒนธรรมและศิลปะ ศูนย์กลางของสังคมในอุดมคติของนักขายชาวอเมริกันภาคเหนือผู้ที่จะเป็นมหานครแห่งอพาร์ตเมนต์ ทาวเวอร์ทรงกลมที่คลุมครอบด้วยหลังคากระจก ตั้งอยู่ใกล้กับน้ำตกไนแองการ่า ซึ่งพลังของน้ำที่มีอยู่มากพอจะนำมาใช้ปั่นไฟฟ้าสำหรับพลเมือง 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในนคร
ยิลเลตต้องผิดหวังอย่างสาหัสเมื่อมวลชนมิได้แห่กันอ้าแขนรับระเบียบสังคมใหม่ของเขา ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากพิมพ์เผยแพร่คำประกาศของเขาออกไปก็ง่วนอยู่กับเป้าหมายที่ทะเยอทะยานน้อยลงกว่าเก่า นั่นก็คือการสร้างต้นแบบที่ใช้งานได้ของมีดโกนหนวดที่เขาเพิ่งประดิษฐ์ขึ้น มีดโกนหนวดแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในสมัยนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ปราศจากจากความสะดวกสบายอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญต้องลับก่อนการโกนในแต่ละครั้ง โดยการปาดใบมีดกับแผ่นหนังอย่างหนาเป็นเวลา 5 -10 นาท แต่มีดโกนที่ยิลเล็ตคิดประดิษฐ์ขึ้นมานั้นไม่เหมือนกับมีดโกนแบบเก่าที่เป็นชิ้นเดียวติดกัน มันประกอบด้วยสองส่วน คือ ใบมีดโกนที่มีด้านคมสองด้าน ทำจากโลหะบางเหมือนกระดาษ กับส่วนที่เป็นด้ามจับที่มั่นคง ยิลเลตให้เหตุผลว่าใบมีดแบบบางนั้นผลิตขึ้นได้ราคาที่ถูกมากจนเมื่อไรที่มันเกิดทื่อขึ้นมา เจ้าของสามารถโยนทิ้งไปแล้วเปลี่ยนใบใหม่แทนที่จะต้องไปนั่งปาดกับแผ่นหนังให้ยุ่งยาก
ตลอดครึ่งหลังของทศวรรษ 1890 เวลาว่างเกือบทั้งหมดของเขาไปกับการปรับปรุงต้นแบบมีดโกนหนวดแบบใหม่ ในฤดูใบไม่ร่วงปี 1901 ยิลเล็ตเริ่มการผลิตสิ่งประดิษฐ์ของเขา เขาเริ่มต้นตั้งบริษัทอเมริกัน เซฟตี้ เรเซอร์บนห้องเล็กๆชั้นบนของร้านขายปลาเลขที่ 424 บนย่านแอตแลนติค เอเวนิว ในบอสตัน ด้วยความช่วยเหลือของนักลงทุนหยิบมือหนึ่ง
ปฏิกิริยาของสาธารณชนต่อมีดโกนยิลเล็ตเป็นไปด้วยดี ทว่าบริษัทประสบกับปัญหากับการที่จะผลิตมันออกมาในปริมาณที่มากพอ เนื่องจากขาดเงินลงทุนที่จำเป็นสำหรับใช้ซื้ออุปกรณ์ในการผลิตแบบขนานใหญ่ ไม่ช้าปัญหานี้ก็ได้รับกับการแก้ไขเมื่อเศรษฐีแห่งบอสตันที่ชื่อ จอหน์ จอยส์ ตกลงใจสนับสนุนบริษัทเป็นเงิน 60,000 เหรียญเพื่อแลกกับการเข้าถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สองปีหลังจากจอยส์เข้าร่วมในบริษัท(1904) บริษัทก็ขยับขยายไปสู่โรงงานผลิตที่ใหญ่โต และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังเริ่มการโฆษณาระดับประเทศเป็นครั้งแรก ยอดขายชุดมีดโกนราคาชุดละ 5 เหรียญนั้นสูงเกือบถึง 20,000 ชุด แต่ละชุดมีด้ามมีดโกนหนึ่งอันพร้อมกับใบมีดใช้แล้วทิ้งอีก 20 ใบ
ควบคู่ไปกับความสำเร็จของบริษัทที่เพิ่มพูนขึ้น ความแตกร้าวระหว่างผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ ยิลเล็ตผู้บ้าระห่ำและยึดมั่นในตัวเอง กับ จอยส์ผู้รอบคอบและมีระเบียบแบบแผนปะทะกันเป็นประจำในทุกเรื่อง นับตั้งแต่การจ้างพนักงานใหม่ไปจนถึงเรื่องการเปิดสาขา ท้ายที่สุดทั้งคู่ก็ตัดสินใจยุติการทะเลาะวิวาทของพวกเขาในปี 1910 โดยตกลงยินยอมให้จอยส์ซื้อหุ้นส่วนทั้งหมดของยิลเล็ตไปเป็นเงินเกือบ 1 ล้านเหรียญ
หลังจากการขายหุ้นในบริษัทไป ยิลเล็ตได้ดำเนินกิจกรรมในฐานะนักปรัชญาการเมืองของเขาต่อไป คิง ยิลเล็ตยังคงมุ่งหน้าสู่ความฝันในอุดมคติของเขาต่อไปตราบจนสิ้นลมหายใจเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1932 แม้ว่ามีดโกนที่ใช่ชื่อของเขาจะประสบความสำเร็จก็ตาม เขาเองยังคงผิดหวังที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในนักคิดที่ยิ่งใหญ่ของโลกอันเป็นสิ่งซึ่งเขาถือว่าเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับเขาในประวัติศาสตร์
แหล่งข้อมูล : www.cyberdol.cjb.net