ผู้บริหารคืออะไร ? (1)


776 ผู้ชม


ผู้บริหารคืออะไร ? (1)




คอลัมน์ Excecutive Coach
โดย คม สุวรรณพิมล Leadership Coach [email protected]

mujผ่านมาบ่อย ๆ ครั้งที่ผมมักได้รับคำถามประเภทกลับสู่จุดเริ่มต้น ประมาณว่า "ผู้บริหารคืออะไร" ซึ่งฟังดูจะเป็นคำถามที่ง่าย ๆ แต่เวลาจะตอบจริง ๆ กลับใช้เวลานานมากกว่าจะครอบคลุมคำตอบได้ครบถ้วนทุกประเด็น
คำถามประเภทนี้ส่วนใหญ่มักมาจาก ผู้บริหารใหม่ ๆ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะกลับมาหวนคิดและ ตั้งคำถามประเภทนี้ได้ เพราะส่วนใหญ่เมื่อได้รับตำแหน่งมาก็จะคิดว่าการ "มีอำนาจ" จากตำแหน่งก็สามารถ "ใช้อำนาจ" ทำอะไรกับลูกน้อง หรือสั่งการลูกน้องแบบไหนก็ได้ เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับตำแหน่งก็จะเป็นคนเก่งแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น เขาก็จะมีความคิดในใจเสมอว่า ถ้าลูกน้องทำตามที่เขาแนะนำ งานก็จะสำเร็จตามเป้าหมาย ?
แต่ก็มีผู้บริหารรุ่นใหม่บางท่านที่พอได้รับตำแหน่ง เขาก็เริ่มมองเห็นปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะกับการบริหารทีมงาน จึงกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง แล้วเริ่มตั้งคำถามว่า "ผู้บริหารคืออะไร"
จากคำถามสั้น ๆ กระชับ ดูพื้น ๆ แต่คำตอบมันไม่สั้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงขอตอบเป็น "ไตรภาค" ก็แล้วกันนะครับ
"การเป็นผู้บริหาร" ก็คือความ รับผิดชอบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมากับตัวเรา เป็นสิ่งที่เราทั้งอยากได้รับ และอยากปฏิเสธไปพร้อมกัน เพราะการได้รับมันมาก็คือการตอบสนองความต้องการภายในตัวเอง ซึ่งเข้าหลักการของ Spiderman
"พลังที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่"
ดังนั้น ไอ้คำว่าความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่นี่แหละที่ผู้บริหารหลาย ๆ คนปฏิเสธมัน และเลือกรับเอาเฉพาะพลังที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น
ทีนี้มาคำว่า "ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่" ที่เป็นตัวกำหนดการเป็นผู้บริหารมีอะไร บ้าง ? สามารถแยกประเภทได้ 3 ส่วนคือ
1.direction-ผู้บริหารคือผู้ที่มีหน้าที่ในการสร้างวิสัยทัศน์และแนวทางเดินที่ชัดเจน
2.motivation-ผู้บริหารคือผู้ที่สามารถสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นทีมงานได้
3.organization-ผู้บริหารคือผู้ที่สามารถบริหารจัดการทั้งทีมงานและควบคุมการเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้
จากคำจำกัดความทั้ง 3 ส่วนนี้อาจจะสรุปเป็นภาพรวมได้ว่า "ผู้บริหารคือผู้ที่มองไปข้างหน้าด้วยการใช้พลังของทีมงาน โดยการกำกับควบคุมให้ทีมงานเดินตามแนวทางและกลยุทธ์ที่กำหนดไว้"
ดูแล้วไม่น่ายากเลย แต่เวลาทำจริง ผู้บริหารหลาย ๆ คนกลับหลุดจากคำจำกัดความนี้ไปไกลพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการตีความของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ทีนี้ผมขออนุญาตตีความให้ไปในแนวทางเดียวกัน
"direction หรือวิสัยทัศน์ หรือแนวทางเดินไปข้างหน้า"
ข้อนี้เป็นข้อบังคับหลักของผู้บริหารทุกคนที่ต้องมี เพราะทุกคนต้องมีเป้าหมาย ทุกคนต้องมีทางเดินไปในอนาคต เพราะความสำเร็จของคนก็คือ
"เราต้องรู้ว่าเราจะไปไหน"
ถ้าไม่มีก็คือการเดินวนไม่ได้ไปไหน การทำงานไปวัน ๆ
ผมว่าผู้อ่านหลายคนคงเบื่อที่จะได้ยินคำนี้ เพราะคิดว่าเรื่อง vision นี้มันเบสิกเสียเหลือเกิน จะมามัวพูดถึงอยู่ทำไม ? ถ้าอย่างนั้นผมขอถามคำถามสักข้อหนึ่งนะครับว่า "วิสัยทัศน์ของคุณคืออะไร ?"
ข้อย้ำว่าต้องวิสัยทัศน์ของคุณนะครับ ไม่ได้ไปหยิบมาจากวลีสวยหรูของบริษัท ผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่ครับถ้าผมจะบอกว่า เมื่อผมถามคำถามนี้กับผู้บริหารใช่ว่าทุกคนจะตอบได้นะ แล้วคุณล่ะตอบได้หรือไม่ ?
นั่นแหละคือข้อเสียที่หลายคนมองข้าม
"คิดว่ามีแต่ไม่มี"
"คิดว่ามันเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ใช่เรา"
"คิดว่ามีแล้วจะมีประโยชน์อะไร อำนาจก็ไม่มี" เป็นต้น
วิสัยทัศน์ก็คือ "เป้าหมาย" ที่อยู่ภายใต้อำนาจและหน้าที่ของคุณ
ถ้าให้ง่ายผมขอให้รายละเอียดเพิ่มเติม คุณลองตอบคำถามเหล่านี้ดูว่า
งานของคุณจะพัฒนาขึ้นได้อย่างไร ?
งานของคุณจะลดอุปสรรคอย่างไร ?
งานของคุณจะทำให้มีประสิทธิภาพ มากกว่านี้ได้อย่างไร ?
คุณจะลดต้นทุนแผนกคุณอย่างไร ?
ทีมงานของคุณจะมีความสุขในการทำงานอย่างไร ?
ทีมงานของคุณจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพได้ด้วยวิธีไหนบ้าง ?
ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ออกมา นั่นแหละคือ "วิสัยทัศน์ในการทำงานของคุณ" ซึ่งก็คือวิสัยทัศน์ในการพัฒนางานและทีมงาน
ผมหวังว่าคุณคงตอบคำถามเหล่านี้ได้นะครับ แต่ความยากของคำว่า วิสัยทัศน์ไม่ได้มีแค่นี้นะครับยังมีวิธีการสร้างประสิทธิภาพของวิสัยทัศน์ซึ่งมีรายละเอียดอีก 4 ขั้นตอน
1.การขายวิสัยทัศน์ : เมื่อมีวิสัยทัศน์แล้ว สิ่งที่คุณจะทำต่อไปคือการ "ขาย" วิสัยทัศน์นี้ให้ทีมงานยอมรับแต่โดยดี
ผู้บริหารหลาย ๆ คนหลงลืมประเด็นนี้ เพราะพอคิดวิสัยทัศน์ได้ก็บังคับให้ใช้เลยหลงลืม "ประชาพิจารณ์" เพราะคิดว่าถ้าเราคิดได้ เราเก่งกว่าทีมงาน ทุกคนต้องยอมรับมันแต่โดยดี ความจริงประเด็นนี้ก็ถูกนะ แต่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น คือเมื่อคุณคิดสินค้าดี ๆ ออกมาได้ สิ่งที่คุณต้องทำคือ ทำอย่างไรให้คนอื่น ๆ ซื้อสินค้าของคุณ แล้วถ้าเขาซื้อสินค้าของคุณเมื่อไร การยอมรับก็เกิดขึ้น การทำงานต่อไปก็ได้รับความร่วมมือมากขึ้น
2.การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนปลง : เมื่อคุณมีวิสัยทัศน์ สิ่งที่ตามมาก็คือการเปลี่ยนแปลง คุณต้องมองให้รอบด้าน เตรียมพร้อมรอบด้านที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งแง่ดีและแง่ลบ หลายคนมองแต่แง่ดีลืมการรองรับในแง่ลบ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลยไม่มีการ เตรียมพร้อมที่ดีพอ
3.ให้ทีมงานรับรู้ว่าเราต้องการความ ช่วยเหลือจากเขา : การบรรลุตามวิสัยทัศน์ แน่นอนว่าเราไม่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว เราต้องอาศัยการร่วมมือและการช่วยเหลือจากทุกฝ่าย การเห็นประโยชน์ในช่วงการ "ขาย" เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่การให้ทุกคนร่วมมือก็เป็นหัวใจในขั้นตอนวิสัยทัศน์เช่นกัน
4.การสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ : ผู้บริหารหลาย ๆ คนจะพูดกับทีมงานเกี่ยวกับวิสัยทัศน์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ลืมตอกย้ำและพูดซ้ำ ๆ ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนในทีมยังมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน คุณต้องมีการสื่อสารถึงวิสัยทัศน์ย้ำ ๆ สม่ำเสมอ ประมาณว่าขายแล้วขายอีก บอกถึงความก้าวหน้า ปัญหาและการแก้ไขด้วยความโปร่งใส
สิ่งที่ผมเขียนมานี้คือ คำตอบของคำถามว่า "ผู้บริหารคืออะไร" ซึ่งยังไม่จบครับ วันนี้เป็นแค่เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น อีก 2 ข้อคงต้องยกยอดไปฉบับต่อ ๆ ไปครับ
การเป็นผู้บริหารไม่ยากครับ แต่การเป็นผู้บริหารที่ดีมันยากครับ มันขึ้นอยู่กับว่า "คุณเปิดใจและยอมรับการพัฒนาตนเองมากน้อยแค่ไหน"
หน้า 26

วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4197  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด