ปรับระบบขนส่ง-ข้อมูลดี กลยุทธ์ลดต้นทุน "พานาโซนิค"
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ที่สำนักงานโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการส่งออก เตรียมจัดโครงการลดต้นทุนโลจิสติกส์สำหรับผู้ส่งออกเป็น รุ่นที่ 2 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการกระบวนการโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดซัพพลายเชน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมส่งเสริมการส่งออก ร่วมกับ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) ได้เชิญ นายเชิดชัย ศิริยะ Outbound Logistics Manager บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 1 ในปีที่ผ่านมา มาบรรยายถึงการดำเนินการลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่ประสบความสำเร็จดังนี้
โดย นายเชิดชัย ศิริยะ Outbound Logistics Manager บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติกับสำนักงานโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการส่งออก ของบริษัทในปีที่ผ่านมา เพราะต้องการแก้ปัญหาด้านการขนส่งหลายอย่าง ได้แก่ 1.ปัญหาค่าขนส่งเกิน งบประมาณที่บริษัทกำหนดไว้ 2.การ ส่งสินค้าแบบรายเที่ยวไม่เหมาะสมกับการขนส่งสินค้าที่ไม่เต็มคันรถ ทำให้ต้นทุนสูง เช่น ขนส่งสินค้าบริษัทไปเชียงใหม่ 2 หมื่นบาท/เที่ยว บางครั้งสินค้าไม่เต็ม คันรถก็เสียค่าใช้จ่ายเท่าเดิม
3.ลูกค้าไม่พอใจ เนื่องจากบริษัทรับส่งสินค้าล่าช้า 4.กรณีสินค้าเต็มคันรถ แต่ในจังหวัดไกลสุดเป็นสินค้าชิ้นเล็กและราคาต่ำ 5.เกิดปัญหาต่าง ๆ ด้านการส่งสินค้ามากมาย เช่น เซลส์และลูกค้าโทรศัพท์ตามสินค้า หรือมีสินค้าที่ลูกค้าไม่รับเพิ่มมากขึ้น และ 6.การขอให้ "รับ-ส่งของด่วน" ของฝ่ายขาย และสินค้าซ่อมของฝ่ายบริการ โดยเฉพาะต่างจังหวัด ภาคใต้ตอนล่าง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ตนอยากจะแสดงตัวอย่างการส่งสินค้าแบบรายเที่ยวที่ไม่เหมาะสมให้ฟัง ก็คือบริษัท ตั้งเป้าต้นทุนโลจิสติกส์ไว้ที่ 0.7% ของยอดขายสินค้า นั่นคือยอดขายสินค้า 1 หมื่นบาท ต้องมีต้นทุนโลจิสติกส์ไม่เกิน 70 บาท สินค้าที่จะขนส่งต้องมีมูลค่า 1.2 แสนบาท หรือ 20% ขึ้นไป ตามเกณฑ์ที่บริษัทตั้งไว้ จึงจะขนส่ง แต่ค่าขนส่งก็ยังสูง ตกเที่ยวละ 6,826 บาท ค่าขนส่งจึงตกประมาณ 5.68% ของยอดขาย ถ้าจะแก้ปัญหาโดยชะลอการขนส่งออกไปอีก 1 วัน เพื่อให้มีสินค้ามากขึ้นและคุ้มกับค่าขนส่ง ก็จะมีปัญหาด้านความพึงพอใจของลูกค้า (Service Level) ซึ่งไม่ส่งผลดีในด้านการตลาด
ฝ่ายโลจิสติกส์ของบริษัทจึงได้เสนอ แผนงานเพื่อสร้างระบบการส่งสินค้าอย่างมี นวัตกรรมต่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เพื่อให้ได้ความรวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ ขานรับให้บริการลูกค้าได้ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและควบคุมค่าขนส่งที่ต้องจ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 100% ในต้นทุนต่ำสุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของ บริษัทและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ทางฝ่ายมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริษัทตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำนำการบริหารการจัดการซัพพลายเชนมาใช้
ใช้บริษัทขนส่งแบบ LTL ลดต้นทุน
โจทย์ข้อแรกที่เข้าไปแก้กัน คือปัญหาค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสูงขึ้น จากปริมาณสินค้าที่จะส่งประจำวันมีจำนวนน้อยไม่เต็มคันรถ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องไปส่ง โดยเฉพาะต่างจังหวัด สาเหตุของปัญหา เกิดจาก ลูกค้าไม่สต๊อกสินค้า สั่งสินค้าแค่จำนวนพอขายในแต่ละวัน กับลูกค้าต้องการสินค้าด่วน แต่มีจำนวนน้อย ซึ่งจำเป็นต้องไปส่ง วิธีแก้ปัญหาของเรา คือจัดหาบริษัทขนส่งที่รับส่งสินค้าแบบรายชิ้น (Less than truck Load : LTL) เข้ามารองรับในเส้นทางขนส่งที่มีสินค้าจำนวนน้อยแทน
ยกตัวอย่าง รายการขนส่งสินค้าไป ภาคใต้แบบเก่า ซึ่งปกติภาคใต้ตอนบน จะส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ภายใน 2 วัน และภาคใต้ตอนล่างภายใน 3 วัน ในเส้นทางกระบี่-พังงา-ภูเก็ต มูลค่าสินค้า 1.41 แสนบาท ค่าขนส่ง 8,713 บาท ค่าขนส่งเท่ากับ 6.17% ของยอดขาย และเส้นทางไป ภาคใต้แบบเก่าสายสตูล-สงขลา มูลค่าสินค้า 2.35 แสนบาท ค่าขนส่ง 12,179 บาท รวมมูลค่าสินค้าทั้ง 2 เส้นทางใน ภาคใต้ 3.76 แสนบาท ใช้รถกระบะ 2 คัน ค่าขนส่งรวม 20,892 บาท เปอร์เซ็นต์ ค่าขนส่งเท่ากับ 5.55%
แต่การขนส่งแบบใหม่ใช้การขนส่งแบบ LTL สายกระบี่-พังงา-ภูเก็ต มูลค่าสินค้าเท่าเดิม 1.41 แสนบาท ค่าขนส่งเหลือเพียง 2,330.50 บาท และสายสตูล-สงขลา มูลค่าสินค้าเท่าเดิม แต่ค่าขนส่งเหลือเพียง 2,759 บาท รวมมูลค่าขนส่ง ทั้ง 2 สายที่ดำเนินการในแบบ LTL มูลค่าขนส่งเหลือเพียง 5,089 บาท เปอร์เซ็นต์ค่าขนส่งเหลือเพียง 1.35% ของยอดขาย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ลดลง 4.20% ประหยัดต้นทุนได้ถึง 15,803 บาท
โจทย์ข้อที่สองที่แฝงจากข้อแรก คือกรณีสินค้าเต็มคันรถ แต่จังหวัดที่ไปส่ง ไกลสุด เป็นสินค้าตัวเล็ก และราคาต่ำ ซึ่งสาเหตุมาจากมีข้อมูลแสดงในเส้นทางการจัดส่งสินค้าไม่เพียงพอ จึงทำให้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการกับค่าใช้จ่าย ไม่คุ้มกับค่าขนส่งที่ต้องวิ่งไปรับส่งที่ร้านค้าในจังหวัดนั้น ๆ วิธีแก้ปัญหา คือให้ฝ่ายขายส่งข้อมูล P-run Report มาให้ฝ่าย โลจิสติกส์ เพื่อเอาสินค้าตัวเล็กส่งแบบ LTL ทั้งนี้ ข้อมูลแบบเก่าจะไม่แสดงจังหวัด อำเภอ และร้านค้าให้เห็น ก็ให้แก้ใหม่ ต้องมีรายละเอียดร้านค้า อำเภอและจังหวัดให้ชัดเจน เพราะการมีรายละเอียดอำเภอและจังหวัด สามารถลดรายจ่ายได้เป็นล้านบาท
ข้อมูลลูกค้าต้องชัดเจน
แก้ปัญหาสินค้าตีกลับ
โจทย์ข้อที่สาม คือเกิดปัญหาต่าง ๆ ด้านการส่งสินค้ามากมาย เช่น เซลส์และลูกค้าโทร.ตามสินค้า มีสินค้าที่ลูกค้าไม่รับมอบมากขึ้น สาเหตุมาจากระยะเวลาการส่งสินค้าและการจัดการกับสินค้าที่ต้องส่งไม่ชัดเจน จากการสื่อสารที่ล่าช้า ไม่ทันเวลา และยังไม่เป็นระบบ จึงต้องแก้ปัญหา ด้วยการประชุมกับฝ่ายขาย ให้คีย์ความต้องการของลูกค้าลงใน P-RUN เพื่อจัดการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น แจ้งวันส่งให้ชัดเจน การติดสติ๊กเกอร์รายละเอียดสินค้า
โจทย์ข้อที่สี่ คือการขอให้รับ-ส่งของด่วนของฝ่ายขายและสินค้าซ่อมของฝ่ายบริการ โดยเฉพาะต่างจังหวัดภาคใต้ ตอนล่าง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง สาเหตุจากวันนั้นไม่มีรถวิ่งส่งสินค้าในเส้นทางนั้น ๆ และข้อกำหนดให้รับ- ส่งสินค้าซ่อม ต้องให้เสร็จภายใน 3 วัน ซึ่งจำเป็นต้องไปส่ง เพื่อให้ทันความต้องการของลูกค้า วิธีการแก้ปัญหา คือการสร้างเครือข่ายการรับส่งสินค้าระบบ LTL ทั่วประเทศ เพื่อรองรับกรณีที่เส้นทางนั้นไม่มีรถของบริษัทวิ่งส่งสินค้า โดยจะ สั่งให้ศูนย์กระจายสินค้าเข้ารับแทน
ยกตัวอย่างในเรื่องนี้ เช่น ฝ่ายการตลาดขอให้ไปรับสินค้า LCD 2 เครื่องที่ร้านเดอะเบส จังหวัดจันทบุรี เพื่อใช้ในงาน Convention ด่วน แต่ไม่มีรถวิ่งส่งสินค้าในเส้นทางนั้น ถ้าบริษัทส่งรถไปรับ ต้องจ่ายค่าขนส่งเที่ยวละ 3,656 บาท จึงอาศัยฮับเครือข่ายขนส่งไปรับ แล้วแจ้งให้ศูนย์กระจายสินค้าบริษัทที่มีอยู่ในแต่ละภาค เข้ารับแทน จ่ายค่าขนส่งไปเพียง 218 บาท ทำให้ลดค่าขนส่งไปได้ 3,438 บาท
ผลที่ได้รับด้านค่าขนส่งที่ลดลงหลังจากดำเนินการ 3 เดือน สามารถลดค่าขนส่งเหลือ 21.47 ล้านบาท จากเดิม 23.51 ล้านบาท ค่าขนส่งลดได้ 2.04 ล้านบาท คิดเป็นค่าขนส่งต่อยอดขายเหลือ 0.80% จาก 0.87% นอกจากนี้ บริษัทยังมีการแก้ปัญหาภายในด้านระบบขนส่งด้วย เนื่องจากพานาโซนิคมีคลังสินค้าอยู่ 2 แห่ง ที่ถนนเสรีไทย (คลัง PST) และที่สำโรง (TMB) สมุทรปราการ จึงพยายามเชื่อมโยงระบบข้อมูลและสินค้าที่จะส่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น คลัง TMB ซึ่งมีสินค้าจำนวนน้อยที่จะต้องไปส่ง จะมีการโทรศัพท์สอบถามเส้นทางร่วมส่งสินค้า กับคลัง PST คลัง PST จะรับเรื่องและตรวจสอบเส้นทาง หากส่งให้ได้ รถวิ่งบิลและสินค้าจากคลัง TMB ก็จะนำสินค้าและบิลมาที่คลัง PST เพื่อส่งสินค้าร่วมเส้นทางกัน ทำให้พานาโซนิคจ่าย ค่าขนส่งเท่าเดิม
โดยสรุปผลที่ได้รับจากการดำเนินงานด้านการปฏิบัติงาน ก่อนเริ่มดำเนินโครงการลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่งของบริษัท ต้องมีการรอปริมาณสินค้าให้เต็มคันรถก่อน เพื่อให้คุ้มกับค่าขนส่งในแต่ละเที่ยว แต่หลังดำเนินโครงการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ไม่ต้องรอ สามารถส่งสินค้าได้ทุกที่ ทุกวัน ทันความต้องการของลูกค้า ปัญหาค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากวิธีการส่งสินค้า ขาดการจัดการและปรับปรุง หลังปรับปรุง สามารถควบคุมค่าขนส่งได้ และเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายจริง โดยเกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทและลูกค้า ปัญหาฝ่ายขายและฝ่ายโลจิสติกส์ที่ขาดการประสานงานกัน ต่างคนต่างทำ ก็ปรับปรุงทำงานเป็นทีม มีการสื่อสารที่ดี ส่งสินค้าถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา งานเสร็จได้รวดเร็วขึ้น และปัญหาถูกลูกค้าและเซลส์โทร.ตามสินค้าบ่อยครั้ง หลังปรับปรุง มีการส่งสินค้าตรงตามต้องการ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและผู้ที่มาขอใช้บริการ รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยไม่มีการควบคุม ก็สามารถลดการแพร่กระจายได้
หน้า 10
วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4206 ประชาชาติธุรกิจ