เปิดแผนธุรกิจ กลุ่มปตท. ปี 2553


967 ผู้ชม


เปิดแผนธุรกิจ กลุ่มปตท. ปี 2553




เจอมรสุมข่าว''มาบตาพุด''แต่หุ้นกลุ่มปตท.ยังแข็งแกร่ง แสดงว่ายักษ์พลังงานต้องมี''ทีเด็ด''คอยจับตา Positive Surprise เสริมบารมีหุ้นกลุ่มปตท.

Positive Surprise ก็คือ ราคาน้ำมัน การปลดล็อกโครงการสำคัญของกลุ่มปตท. และแผนการควบรวมกิจการภายในกลุ่มที่ผู้บริหารยังปิดเงียบ   

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. บอกว่า แม้โครงการมาบตาพุดจะเดินเครื่องไม่ได้ตามแผน แต่ขอรับรองว่าฐานะการเงินของกลุ่มปตท.จะ "ไม่ขี้เหร่" จนทำให้ผู้ถือหุ้นหัวใจแห้งเหี่ยว อย่างน้อยๆ จะพยายามทำให้ผลประกอบการของปตท.เท่ากับปีที่ผ่านมา หรือถ้าไม่มีเรื่องเลวร้ายอีกก็อาจจะทำได้มากกว่าปี 2552

"ผมเชื่อว่าฐานะการเงินของปตท.จะแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดูจากแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันก็เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ปตท.และบริษัทในเครือทั้ง 6 แห่ง (PTTEP, PTTAR, PTTCH, TOP, IRPC และ BCP) ก็มีแผนเพิ่มกระแสเงินสดในกระเป๋ามากขึ้นถือเป็นแผนสำรองหลังบริษัทในเครือบางแห่งไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้ตามแผน"

โดยล่าสุด ปตท.ประกาศแผนการลงทุน 5 ปี (2553-2557) วงเงินรวม 243,518 ล้านบาท โดย 92% ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดวางน้ำหนักเท่ากันที่ 46% หรือ 111,017 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และอีก 46% หรือ 113,289 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจร่วมทุน ซึ่งต่างจากแผนลงทุนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (2551-2555) ที่ ปตท.วางน้ำหนักลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติสูงถึง 72% และลงทุนในธุรกิจร่วมทุนเพียง 23%  

ผู้นำกลุ่มปตท. อยากให้นักลงทุนมองแผนการลงทุนในช่วง 5-6 ปีข้างหน้าของปตท.มากกว่า ไม่อยากให้โฟกัสแค่ปัญหามาบตาพุดเพียงประเด็นเดียวเพราะสิ่งที่ผู้บริหารกำลังดำเนินการอยู่จะทำให้ปตท.เป็นบริษัทข้ามชาติระดับโลกที่ติด TOP Fortune 100 จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 118 

อีกทั้งในระยะยาวปตท.มีแผนลงทุนเหมืองถ่านหินในพื้นที่ต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายกำลังการผลิต 20 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตเพียง 8 ล้านตันต่อปี ในส่วนของธุรกิจน้ำมันปาล์มก็เป็นธุรกิจที่ปตท.ได้ทยอยลงทุนไปบางแล้วในประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 6-7 ปี จะเห็นความคุ้มค่า ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทน ปตท.ก็ดำเนินการอยู่โดยเป็นโครงการที่ทำเพื่อสังคม

วีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.เคมิคอล เปิดเผยว่า ในปี 2553 บริษัทจะต้องมีความแข็งแกร่งตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าเพื่อต้านทานวัฏจักรธุรกิจขาลง ถึงแม้ว่าโครงการอีเทนแครกเกอร์ กำลังการผลิต 1 ล้านตัน มูลค่าเงินลงทุน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้ตามแผน แต่บริษัทจะพยายามผลักดันรายได้ในปี 2553 ให้ทะลุ 100,000 ล้านบาท (งวด 9 เดือนปี 2552 มีรายได้รวม 64,606 ล้านบาท) ภายใต้เงื่อนไขว่าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต้องขึ้นมายืนระดับ 1,100-1,200 ดอลลาร์ต่อตัน และราคาน้ำมันดิบยืนระดับ 65-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดยล่าสุดปตท.เคมิคอลอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และต่อยอดธุรกิจเดิม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางปี 2553 นี้

“ถามว่าเราวิตกเรื่องโครงการในมาบตาพุดหรือไม่ ถ้าจะตอบว่า "ไม่" ก็คงโกหก แต่เมื่อวันนี้มันเป็นแบบนี้แล้วเราก็ต้องหาทางแก้ไข อะไรที่ทำแล้วได้เงินเราทำหมด ฉะนั้นผู้ถือหุ้นไม่ต้องเป็นห่วง...ผมจัดการได้”
ซีอีโอปตท.เคมิคอล เผยว่า เป้าหมายของบริษัทต้องการออกไปเติบโตนอกบ้าน (โกอินเตอร์) แต่เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส ลักษณะที่จะเกิดขึ้นคือไปตั้งโรงงานในต่างประเทศและขายสินค้าให้กับเจ้าของประเทศ รูปแบบอาจเข้าไปเทคโอเวอร์ หรือร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่น 

ประเทศที่จะเข้าไปคงเป็นในแถบเอเชีย เช่น จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ก็มองไปแถบตะวันออกกลาง (ดูไบ) และเยอรมัน โดยอาจเข้าไปพร้อมๆ กับปตท. ซึ่งโครงการของ ปตท.จะสามารถเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ดาวน์สตรีมได้  

“เราเคยเข้าไปลงทุนธุรกิจต่างประเทศมาแล้ว โดยถือหุ้น 50% ในบริษัท อีเมอร์รี่ โอลีโอเคมิคอลส์ (ชื่อเดิม ค็อกนิส โอลีโอเคมิคอลส์) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกในด้านผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี มีกำลังการผลิต 962,000 ตันต่อปี"

ชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น บอกว่า ในส่วนของบริษัทก็มีโครงการที่ติดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ระงับโครงการ แต่เราก็เชื่อมั่นผลประกอบการจะไม่ได้รับผลกระทบและจะสวยวันสวยคืน โดยบริษัทมีนโยบายจะต้องมีอัตราการขยายตัวปีละประมาณ 5-10%

"เนื่องจากเรามีแผน Synergy ระหว่างโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอะโรเมติกส์ แผนนี้จะทำให้บริษัทสามารถเพิ่ม “กำไรสุทธิ” ได้ค่อนข้างมาก อย่างในปี 2552 คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการ Synergy ประมาณ 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ"

ชายน้อย เปิดแผนธุรกิจระยะ 5 ปีข้างหน้า บริษัทเตรียมควักเงินลงทุนใน 9 โครงการใหม่ มูลค่า 396 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าโครงการทั้งหมดจะสามารถเพิ่มกำไรสุทธิให้กับปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น ปีละประมาณ 100-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทได้ทยอยลงทุนมาตั้งแต่ในปี 2551 ขณะเดียวกันยังมีโครงการร่วมทุนที่เตรียมผลิตในเชิงพาณิชย์ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งทั้งหมดจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้ตามแผนที่วางไว้

อนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวว่า ถึงแม้ปตท.จะหยุดโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 และสถานการณ์เพลิงไหม้ในแหล่งมอนทารา แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบผลประกอบการในปี 2553 ของบริษัท เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 2553 น่าจะสูงกว่าปี 2552 ขณะที่ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้น

เขาบอกว่า บริษัทจะพยายามผลักดันยอดขายปิโตรเลียมในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2552-2556) ให้ขยายตัวปีละ 6.5% เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ตัวเลข 301,000 บาร์เรลต่อวัน เชื่อว่าไม่พลาดเป้าหมายแน่นอน เนื่องจากในช่วงปลายปี 2552 บริษัทจะมีกำลังการผลิตใหม่ๆ เกิดขึ้นค่อนข้างมาก

สุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยออยล์ บอกว่า ในฐานะบริษัทลูกของปตท.มั่นใจว่าปี 2553 จะสามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้นอย่างคุ้มค่า แม้ว่าบริษัทจะไม่มีแผนการลงทุนใหม่ๆ มาเซอร์ไพรส์ผู้ถือหุ้นก็ตาม

"ปี 2552 โรงกลั่นจะแฮปปี้ทุกโรง เพราะมีกำไร โดยกำไรจากสต็อกน้ำมันจะอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ปี 2553 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยืนอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นเป็นตัวอะไร จึงเชื่อว่าปี 2553 ไทยออยล์จะมีกำไรสุทธิมากกว่าปีที่ผ่านมา" 

สุรงค์ ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันเอเชียแปซิฟิก คือ ภูมิภาคที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลกถึง 25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาอีกต่อไป โดยมีจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นตัวขับเคลื่อน ดีมานด์น้ำมันในปัจจุบันจึงย้ายมาที่เอเชีย และโรงกลั่นไทยออยล์ก็อยู่ที่เอเชีย ทว่ากำลังการกลั่นในไทยเกินความต้องการอยู่ 20% นั่นคือ Challenges สำหรับไทยออยล์ที่ต้องทำตัวเองให้แข็งแรง เพราะคนไหนอ่อนแอก็ไปก่อน

แล้วไทยออยล์จะทำอย่างไร? สุรงค์ เฉลยทางรอดของไทยออยล์ อยู่ที่ 3 คำ คือ Flexibility ความยืดหยุ่น   Efficiency ความมีประสิทธิภาพ และ Reliability ความน่าเชื่อถือ ซึ่งไทยออยล์กำลังทำเรื่องเหล่านี้อย่างขะมักเขม้น  โดยตอนนี้ไทยออยล์ก็เริ่มแปลงสภาพจากการกลั่นน้ำมันมาทำปิโตรเคมีที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเน้นไปที่สเปเชียลตี้ โปรดักส์ และ ดาวน์สตรีม การตลาดน้ำมันหล่อลื่น โรงไฟฟ้า และเอทานอล การเข้าไปบุกตลาดน้ำมันในจีนตอนใต้ การเข้าไปตั้งโรงงานผลิตสารโซเวนท์ในเวียดนาม ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกของไทยออยล์ที่ออกไปทำในต่างประเทศ

"ตอนนี้เราแตกกิ่งสาขาโตแบบ Vertical ไม่ได้ใหญ่ แต่เน้นไปในทางลึก เพื่อกระจายความเสี่ยง"

ประสิทธิภาพการผลิต ตอนนี้ไทยออยล์พยายามทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด ด้วยการเดินเครื่องผลิต 100% และกำลังจะลดต้นทุนลงอีก 50 เซนต์ เพราะธุรกิจน้ำมันเป็นธุรกิจที่แข่งกับโลกโดยไม่มีแต้มต่อ เพราะอิงราคาน้ำมันในตลาดโลก ต้องบอกว่าไทยออยล์ Benchmark กับโรงกลั่นมาตรฐานโลก

"ไทยออยล์จะมองภาพธุรกิจเป็น alternative หมายถึง พลังงานไปทางไหนเราจะไปทางนั้น เพื่อผลักดันวิชั่นของไทยออยล์ เป็น Energy Conversting Company"

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี ระบุว่า กำไรสุทธิในปี 2553 ของบริษัทจะไม่แพ้ปี 2552 ที่เติบโตอย่างโดดเด่น โดยมีปัจจัยสนับสนุนในเดือนพฤษภาคม 2553 ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าปิโตรเคมีรายใหญ่จะจัดงาน Expo และในเดือนพฤศจิกายนจะจัดงาน Asian Games ครั้งที่ 16 ที่เมืองกวางเจา นอกจากนี้ยังเป็นปีท่องเที่ยวของจีนด้วย เพราะฉะนั้นราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552

“เราคาดว่ารายได้ในปี 2553 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่อาจมีรายได้ 1.8-1.9 แสนล้านบาท แต่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าไรต้องรอดูสถานการณ์ต่างๆ อีกครั้ง”

สำหรับแผน 5 ปี (2553-2557) ดร.ไพรินทร์ บอกว่า จะลงทุนทั้งหมด 16 โครงการ มูลค่าประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะโครงการปิโตรเคมีและโรงกลั่น และแผนพัฒนาโครงการอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างองค์กรให้มีความแข็งแกร่งและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และที่ดินที่มีอยู่กว่า 12,000 ไร่ทั่วประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เบื้องต้นมองว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าแผนงานดังกล่าวจะทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 23% สูงกว่าปัจจุบันที่อยู่ 8-9%

อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ในปี 2553 บริษัทอาจมีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ต่ำกว่าปี 2552 ที่อยู่ระดับกว่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มค่าการกลั่นอาจอ่อนตัวลงจาก 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2552 มาอยู่ที่ประมาณ 4-5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากค่ากลั่นในช่วง 6 เดือนแรกอาจปรับตัวลดลง

สำหรับแผนลงทุนในปี 2553 บริษัทอาจใช้เงินประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อการปรับปรุงสถานีบริการ และขยายสถานีบริการเพิ่ม รวมถึงปรับปรุงโรงกลั่น  แต่หากรวมเงินลงทุนในปี 2553-2554 จะใช้เงินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการพลังงานทดแทน เช่น โรงงานไบโอดีเซล โรงงานโซลาร์เซลล์ และการพัฒนายูโร 4

“ผลตอบแทนการลงทุนพลังงานสะอาดอาจต่ำเพียง 10% เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่สูงถึง 15% แต่ความต้องการที่สูงขึ้นบริษัทก็พร้อมจะดำเนินการ วันนี้มีแผนจะเปิดสถานีบริการที่มีหัวจ่าย อี20 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 130 สถานี เป็นประมาณ 250-260 สถานี ในปี 2553”

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อัพเดทล่าสุด