8 ปี HiPPS บันไดฝันคนพันธุ์เก่ง


900 ผู้ชม


8 ปี HiPPS บันไดฝันคนพันธุ์เก่ง




ดร.ชุติมา หาญเผชิญ

@ สู่ปีที่ 8 สานต่อโครงการข้าราชการพันธุ์ใหม่
       
       @ พิสูจน์ผลสัมฤทธิ์ ''มัดใจ-พัฒนาศักยภาพ''
       
       @ ชู ''กรมชลฯ'' ใช้แล้วเวิร์ก-''นิติเวช'' จ่อคิว
       
       @ ก.พ.หมายมั่นยกระดับข้าของแผ่นดิน
       

       ปัญหาข้าราชการไทยที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างตรงจุด หรือเติบโตแบบไม่มีลำดับขั้น ทำให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ต้องลงแรงลงใจ สร้างแนวทางการพัฒนาภายใต้ชื่อโครงการระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance and Potential System หรือ HiPPS)
       
       HiPPS จะเข้ามาช่วยส่วนราชการไทยให้มีแนวทางการพัฒนาคนแบบตรงจุด โครงการนี้หวังดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นข้าราชการ พร้อมรักษาคนเก่าให้อยู่เหมือนเดิม เริ่มต้นการพัฒนาจากข้าราชการผู้มีศักยภาพสูงในระดับปฏิบัติการให้เป็นข้าราชการชำนาญการพิเศษ ไม่หวังทุกส่วนราชการจะเอาโครงการนี้ไปทำ แต่ขอเป็นแนวทางให้เขาเอาโครงสร้างนี้ไปพัฒนาส่วนราชการตัวเอง
       
       ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามา
       รักษาคนเก่าให้อยู่
       
       ดร.ชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการศูนย์นักบริหารระดับสูง สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
กล่าวว่า ปีนี้เป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ของโครงการระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance and Potential System หรือ HiPPS) ซึ่งเป็นระบบบริหารทรัพยากรบุคคลที่ ก.พ. ได้พัฒนาขึ้นมา และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนปี 2546
       
       โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความพร้อมให้กับข้าราชการผู้มีศักยภาพสูงอย่างเป็นระบบ โดยเน้นที่การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง และเสริมด้วยกลไกการสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน การสอนงาน และการเรียนรู้ผ่านการฝึกอบรม เพื่อให้ข้าราชการกลุ่มดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้สามารถเติบโตเป็นข้าราชการระดับสูงได้อย่างมีคุณภาพในเวลาที่เหมาะสม
       
       นอกจากนี้ ยังต้องการรักษาคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพไว้ หากให้คนกลุ่มนี้มีการเติบโตตามระบบปรกติเขาอาจจะออกจากราชการไปก่อนก็ได้ ดังนั้น HiPPS จะช่วยรักษาคนเก่าให้อยู่ต่อ และดึงดูดคนใหม่ให้เข้ามา และยังเป็นการเตรียมผู้นำที่มีคุณภาพมากประสบการณ์ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการเป็นนักบริหารระดับสูง และผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ
       
       พัฒนา ''ฝ่ายปฏิบัติการ''
       ให้เป็น ''ชำนาญการพิเศษ''

       
       ดร.ชุติมา กล่าวต่อว่า โดยผู้ที่สนใจสมัครเข้าระบบนี้จะต้องสมัครใจเข้าร่วมโครงการเอง และส่วนราชการนั้นๆ ต้องสมัครใจให้สมัครด้วย ผู้สมัครจะต้องจบปริญญาตรีและเป็นข้าราชการผู้มีศักยภาพสูงในระดับปฏิบัติการ หรือ ซี 4-ซี 5 ที่สำคัญต้องมีประสบการณ์ทำงานภาครัฐอย่างน้อย 1 ปี โดยใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 8-13 ปี ซึ่งเขาจะสิ้นสุดโครงการเมื่อเป็นข้าราชการชำนาญการพิเศษ หรือ ซี 8
       
       ด้านส่วนราชการที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ เขาจะต้องมีการเซ็น MOU กับ ก.พ. ที่สำคัญเขาต้องเป็นส่วนราชการที่มีความพร้อมเรื่องกลุ่มบริหารงานบุคคลที่เข้มแข็งและต้องทำงานเป็นระบบ มีการดูแลผู้เข้าร่วมโครงการอย่างดี
       
       สำหรับสิ่งที่หน่วยงานจะได้จากโครงการ คือ โครงสร้างอายุราชการของหลายส่วนราชการจะอยู่ที่ 45-50 ปี ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้าคนจะหายไปจากส่วนราชการจำนวนมาก ดังนั้น จะต้องมีการวางกำลังคนให้ดี ซึ่งโครงการนี้สามารถช่วยราชการในเรื่องของการวางกำลังคนได้
       
       ส่วนประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับคือ ได้โอกาสในการทำงานที่ท้าทาย และตรงกับความรู้ความสามารถ รู้แผนการทำงานในอนาคตและได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง มีมุมมองที่หลากหลายผ่านการได้ทำงานแบบหมุนเวียน และรู้จักกับคนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างส่วนราชการทั้งในระดับกระทรวงและกรม นอกจากนี้ เขาสามารถขอ 2 ขั้นในการปรับเงินเดือนได้โดยไม่ต้องรอโควตา
       
       อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ใช่โครงการที่ผลักดันให้ผู้เข้าร่วมโครงการเติบโตได้เร็วอย่างที่หลายฝ่ายคิด แต่เป็นการพัฒนาเขาอย่างเป็นระบบมากกว่า ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการนี้เขาจะเห็นอนาคตการทำงานของตัวเองชัดเจนขึ้น เนื่องจากระบบงานราชการแบบเดิมเขาไม่มีสิทธิที่จะรู้ได้ว่าตัวเองจะต้องถูกเลื่อนไปอยู่ตำแหน่งใด ทำให้บางครั้งเมื่อก้าวสู่ตำแหน่งบริหารเขาไม่มีความรู้รอบด้าน แต่มีความรู้แบบตัวที คือรู้ด้านเดียว ทำให้บริหารคนไม่ได้
       
       ดร.ชุติมา กล่าวเสริมว่า ระบบนี้จะช่วยให้เขาเข้าใจการทำงานทุกอย่าง เช่น ถ้าเขาต้องการเป็นผู้บริหาร เขามาอยู่ระบบนี้จะทำให้ได้การทำงานที่หลากหลาย เมื่อเขาออกจากระบบไปจะสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ โดยระบบนี้ส่วนราชการที่เขาสังกัดจะเป็นคนประเมินเขาทุกระยะ เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับตัวเขา ซึ่งหากผลประมาณออกมาต่ำกว่า 70% หรือประเมิน 2 รอบได้รอบละ 80% เขาจะต้องออกจากโครงการ
       
       โดยเป้าหมายของการพัฒนาภายใต้ระบบ HiPPS นั้น เนื่องจากงานราชการมีลักษณะที่หลากหลายและต้องการใช้บุคลากรหลายประเภทให้เหมาะสมกับลักษณะงาน ดังนั้น ระบบนี้จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่การพัฒนาผู้มีศักยภาพที่จะเติบโตไปเป็นผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างทาเลนต์สำหรับงานที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ หรืองานที่ต้องผสมผสานความเชี่ยวชาญหลากหลายด้านเข้าด้วยกัน
       
       ทั้งนี้ ระบบ HiPPS ได้มีการกำหนดประเภทข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงไว้ 4 ประเภท คือ 1.ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะ 2.ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 3.ประเภทผู้บริหาร และ 4.ผู้ที่สามารถพัฒนาได้มากกว่า 1 ประเภท หรือ Superstar Type ทั้งนี้ ระบบมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาข้าราชการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่ระบบนี้เป็น 1 ใน 4 ประเภทดังกล่าว
       
       สำหรับปัญหาเรื่องระบบเส้นสายนั้นเชื่อว่าไม่มีผลต่อการคัดผู้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของโครงการคือคนรุ่นใหม่ และเป็นกลุ่มที่ตำแหน่งยังเล็กๆ อยู่ อย่างไรก็ตาม ระบบการคัดคนเข้าร่วมโครงการมีความเข้มข้น เพราะเป็นการคัดเลือกโดยส่วนราชการเอง และคัดเลือกโดย ก.พ. ซึ่งถือว่าเป็นการคัดเลือกที่โปร่งใส
       
       นอกจากนี้ โครงการยังช่วยป้องกันปัญหาการคัดเลือกคนไม่มีคุณภาพมาขึ้นตำแหน่ง เพราะคนที่เข้าร่วมโครงการจะมีโปรไฟล์งานของเขาให้ดู อย่าง การไปเป็นนักวิจัย ถ้าส่วนราชการเลือกคนที่ไม่เคยทำงานวิจัยเลยอย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง
       
       สร้าง ''EAF''
       ตีกรอบการทำงาน

       
       ดร.ชุติมา กล่าวถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานในระหว่างเข้าร่วมโครงการว่า หลังจากที่ผ่านการคัดเลือกจากส่วนราชการ และ ก.พ.แล้ว กระบวนการพัฒนาจะเริ่มจากการสร้างกรอบการสั่งสมประสบการณ์ (EAF หรือ Experience Accumulation Framework)
       
       โดยส่วนราชการและตัวผู้เข้าร่วมจะช่วยกันสร้าง ซึ่งจะต้องมองว่าเป้าหมายที่เขาต้องการพัฒนาไปจะอยู่ในตำแหน่งทางวิชาการหรือบริหารก็ได้ หลังจากนั้น เขาจะต้องดูว่าการไปสู่เป้าหมายนั้นได้จะต้องผ่านการทำงานที่ใด และใช้เวลาเท่าใด
       
       สำหรับระบบงานราชการในแบบเก่านั้น เขาจะไม่มีสิทธิรู้เลยว่าจะถูกย้ายไปที่ใด นอกจากส่วนราชการนั้นเขามีความพร้อมเรื่องการพัฒนาคนอยู่แล้ว เช่น กระทรวงการต่างประเทศ เขาจะมีกำหนดเลยว่าแต่ละปีจะต้องมีการโยกย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศกี่ปี
       
       ดร.ชุติมา กล่าวถึงผลตอบรับในโครงการนี้ว่า ที่ผ่านมาถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดี โดยโครงการนี้เริ่มเมื่อปี 2546-2547 มีส่วนราชการที่เข้าร่วม 4 ส่วนราชการ ปัจจุบันมีส่วนราชการที่เข้าร่วมถึง 80 ส่วนราชการ จากทั้งหมด 130 กว่าส่วนราชการ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ 229 คน เนื่องจากบางส่วนจบโครงการไปแล้วซึ่งเขาก็มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการรุ่นใหม่ๆ สำหรับปีนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการ 161 คน ซึ่งจะเป็นรุ่นที่ 5 ของโครงการ
       
       สำหรับปัญหาของโครงการนี้ คือ 1.ความยากในการสร้าง EAF เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานของส่วนราชการเป็นแบบตัวที ทำให้มองภาพไม่ออกว่าจะต้องส่งไปในหน่วยงานใด 2.บางครั้งหน่วยงานยังไม่พร้อมส่งคนไปหน่วยอื่น เพราะคนใหม่ยังไม่ได้เทรน 3.ไม่มั่นใจว่าหน่วยงานใหม่จะดูแลคนของตัวเองได้ดีเท่ากับตัวเองหรือไม่ และ 4.การขาดความเข้าใจของส่วนราชการ
       
       อย่างไรก็ดี ก.พ. ไม่ได้หวังว่าทุกส่วนราชการจะต้องเข้าร่วมโครงการนี้ แต่เขาสามารถเอาแนวคิดนี้ไปประยุกต์ทำเป็นโครงการของส่วนราชการเขาเองได้ก็พอแล้ว โดยในวันที่ 7 กันยายน 2552 ก.พ.จะจัดงานสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ของ HiPPS ภายใต้ชื่อ ''HiPPS มุ่งสู่ทศวรรษแห่งการบริหารกำลังคนคุณภาพ'' ซึ่งงานนี้จะมีส่วนราชการที่ได้ใช้ HiPPS ในการพัฒนาคนแล้วประสบความสำเร็จ อย่าง กรมชลประทาน สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เป็น รักษาการผู้อำนวยการสถาบัน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้เข้าร่วมโครงการนั้นจะเข้าร่วมในปีนี้ ก็จะมาพูดคุยให้ฟัง

ที่มา : ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด