ซาบีน่า โชว์ สุขพนักงาน ผ่านระบบ'ลีน พัฒนาการ์เม้นต์


903 ผู้ชม


ซาบีน่า โชว์ สุขพนักงาน ผ่านระบบ'ลีน พัฒนาการ์เม้นต์




*''ซาบีน่า'' นำระบบ ''ลีน'' มาใช้ รับผลดี 2 เด้ง
       
       *ประสิทธิภาพและผลของงานดีขึ้น-พร้อมสร้างสุขพนักงาน
       
       *ภายใต้แนวทางนี้มีองค์ประกอบ ''5ส.-ไคเซ็น-QCC-TQM''
       
       *ผลสำเร็จที่ได้ไม่ใช่แค่รางวัลแต่เป็นปริมาณคนลาออกที่ลดลง

       
       ธุรกิจการ์เม้นต์นับเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) จึงต้องมีการปรับตัวให้สอดรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไลน์ของการผลิต หากสามารถลดค่าใช้จ่าย พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้นับว่าผลดี
       
       ''ซาบีน่า'' (Sabina) ผู้ผลิตชุดชั้นในอันดับต้นๆของไทย เดินหน้านำระบบการผลิตแบบลีน (Lean Manufacturing System) เข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยส่วนประกอบทั้ง 4 คือ 5ส, ไคเซ็น, QCC (Quality Control Circle) และ TQM (TOTAL QUALITY MANAGEMENT) จะนำพาลีนไปสู่ความสำเร็จ
       
       
รุกสร้างแบรนด์
       ลดงาน ''OEM''

       
       ''2-3 ปีจากนี้ไปซาบีน่าจะสร้างแบรนด์ของตัวเองและลดการทำงาน OEM หรือรับงานออเดอร์ของต่างประเทศให้น้อยลง'' นี่คือเป้าหมายของ บุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน)
       
       โดยแนวทางการบริหารงานการผลิตจากดั้งเดิมที่ต้องผลิตเป็นจำนวนมากๆ แต่ปัจจุบันนั้นการผลิตต้องผลิตตามความต้องการของลูกค้า การบริหารงานการผลิตจึงเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ ยังส่งผลให้องค์กรเกิดความคล่องตัวและใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดคุ้มค่า สะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุน ลดเวลาที่ไม่จำเป็นและเพิ่มคุณค่าในระบบการผลิต
       
       การที่บริษัทจะเป็นไปตามแนวทางการบริหารงานรูปแบบนี้ได้สิ่งสำคัญ คือ พนักงานซึ่งที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานมาก และเป็นสิ่งที่บริษัททำมาตลอด อย่างเมื่อ 5 ปีก่อนก็มีการไปดูงานที่ประเทศศรีลังกา เพราะเห็นว่าเขามีระบบการดูแลคนที่ดี จึงได้นำหลักการบริหารของเขามาประยุกต์ใช้ ในปีนี้ยังได้นำหลักการและเทคโนโลยีที่ช่วยกำจัดความสูญเปล่าเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่ม ที่เรียกว่า การผลิตแบบลีน ซึ่งโตโยต้าเป็นต้นตำรับ
       
       ''การผลิตแบบลีนจะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีแบบหรือทางเลือกสินค้ามากขึ้น และเป็นระบบที่สร้างความเชื่อมั่นที่จะทำงานได้โดยไม่เป็นเพียงแค่ระบบทันเวลาพอดี แต่เป็นระบบที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดี''
       
       ที่สำคัญการผลิตแบบลีนยังเป็นการพัฒนาด้านการบริหารเวลาและการทำงานโดยการลดความสูญเปล่า ทั้งนี้ หลักสำคัญ คือ การลดช่วงเวลาโดยการกำจัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่มีคุณค่าเพิ่มในตัวผลิตภัณฑ์ เมื่อนำระบบนี้มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะหมายถึงการออกแบบและจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมในครั้งแรกที่ดำเนินการ และมุ่งเน้นถึงกระบวนการที่เพิ่มคุณค่า
       
       โดยวิธีการนี้จะเป็นวิธีการทำงานที่ป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดการปรับตัวในสภาวะการแข่งขันที่ขั้นอยู่กับเวลา เพื่อให้องค์กรมีความคล่องตัวและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า เกิดความสะดวกรวดเร็ว ยังสามารถลดต้นทุน และเวลาที่ไม่จำเป็น รวมถึงเพิ่มคุณภาพในระบบการผลิต
       
       ด้าน อภินันท์ บุษบก ผู้อำนวยการสายงานทรัพยากรมนุษย์ & วิศวกรรมการผลิต กล่าวถึงการบริหารคนของซาบีน่าว่า ซาบีน่าให้ความสำคัญกับคนในองค์กรมาก เนื่องจากเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ การจะรับคนเข้ามาทำงานทำได้ลำบาก ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการพัฒนาคนในองค์กรให้มีศักยภาพ ด้วยการเพิ่มหน้าที่ให้กับเขา อย่าง พนักงานเย็บปรกติทำ 1 ขั้นตอนก็เพิ่มเป็น 2 ขั้นตอน ที่สำคัญรายได้ของเขาจะต้องเพิ่มไปด้วย
       
       ส่วนการนำระบบการผลิตแบบลีนเข้ามาใช้นั้นจะต้องประกอบด้วยเครื่องมือ ทางการผลิตหลายๆ ตัว แต่ละเครื่องมือต่างแฝงปรัชญาและวัฒนธรรม ที่ลึกซึ้ง ระบบการผลิตแบบลีนต้องคิดและ Implement เป็นระบบ ที่สำคัญต้องเรียงลำดับการใช้ Tools อย่างชัดเจน และต้องเน้นที่ Bottom Up หรือพนักงานระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน เพราะการบริหารแบบเดิมที่ผู้จัดการมีอำนาจไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน
       
       ''ปัจจุบันการทำงานต้องแก้ปัญหา ปรับตัวให้เร็ว เมื่อก่อนกว่างานจะออกเป็นตัวต้องใช้เวลา 4 วัน หรือ 15 วัน แต่เดี๋ยวนี้แค่วันเดียวก็ออกเป็นตัวได้แล้ว ลีนจึงเป็นระบบการผลิตที่ต้องเข้าถึง กระบวนการทำงาน, การบริหารจัดการและคน ซึ่งต้องมีการทำงานเป็นทีมภายใต้หลักการ 3ข คือ เข้าหา, เข้าถึง และเข้าใจ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง''
       
       สำหรับสาเหตุที่ซาบีน่ามีการนำระบบลีนมาใช้ เนื่องจากชุดชั้นในสตรีปัจจุบันถือเป็นสินค้าแฟชั่นที่มีจำนวนสั่งซื้อต่อแบบน้อยมาก เมื่อเทียบกับเสื้อผ้าสำหรับกีฬา และยังมีความหลากหลายที่สูงกว่ามาก ดังนั้น ไลน์การผลิต 1 ไลน์ จะต้องผลิตงาน 4-5 แบบต่อเดือน ซึ่งเป็นแบบที่ไม่ซ้ำกันเลย นี่คือความยากของสินค้าประเภทนี้
       
       การนำระบบลีนเข้ามาใช้ก็เพื่อ 1.เพิ่มศักยภาพในเรื่องการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าในช่วงเวลา (Lead Time) ที่สั้นลง 2.ช่วยลด WIP (Work in process) ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนและลดความสูญเปล่าจากการใช้เวลาในการเปลี่ยนแบบ
       
       3.ช่วยให้การไหลของงานในสายการผลิตเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยเรื่องการจัดการบริหารงานและข้อมูลประจำวัน (Daily Management) 4.เพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการผลิต 5.ช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานเป็นทีม (Team work) อย่างยั่งยืน และ 6.ช่วยสร้างคนและระบบให้มีชีวิต (Living Organization) เพื่อความสุขในการทำงาน
       
       สำหรับการตอบรับของพนักงานกับระบบลีนถือว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก และมีการให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ที่สำคัญระดับหัวหน้างานสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง ซึ่งบางครั้งไม่น่าเชื่อว่าระดับหัวหน้าและพนักงานที่ความรู้ไม่สูงจะสามารถเข้าใจลีนและถ่ายทอดต่อกันได้เป็นอย่างดี
       
       อภินันท์ กล่าวเสริมว่า สำหรับข้อดีของการนำระบบลีนมาใช้ทำให้การส่งมอบสินค้า OEM ทันเวลา 100% สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้อย่างดีเยี่ยม ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด และลดความสูญเสียจากการเปื้อน ชิ้นส่วนหายได้มาก ลด WIP ในกระบวนการได้มากกว่า 60-70% พนักงานมีความสุขในการทำงานปริมาณลาออกต่ำลง
       
       นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้วยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการผลิตอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การนำเอาโปรแกรม Fast React เข้ามาสนับสนุนการวางแผนการผลิตที่แม่นยำ, ใช้ระบบ Evap (Evaporative Cooling System) เป็นระบบความเย็นแบบระเหยแทนระบบเครื่องปรับอากาศ, วิจัยพัฒนาวัตถุดิบเพื่อให้เกิด Innovation ใหม่ๆ และวิจัยออกแบบ work place สำหรับการทำงานของพนักงานตามหลักกายศาสตร์ (Ergonomic)
       
       
5ส.-ไคเซ็น-QCC-TQM
       องค์ประกอบของ ''ลีน''

       
       บุญชัย บอกต่อว่า หลักการบริหารแบบลีนจะประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ 5ส. ไคเซ็น QCC (Quality Control Circle) และ TQM (TOTAL QUALITY MANAGEMENT) ซึ่งแนวทางการบริหารงานแบบ 5ส.ได้มีการนำร่องทำมาเมื่อปีที่ผ่านมาแล้วเพื่อเป็นการปรับทัศนคติของเขาก่อน
       
       ส่วนไคเซ็นนั้นได้เริ่มทำแล้วโดยการนำระบบไคเซ็นเข้ามาใช้ เพราะเชื่อว่าในที่ทำงานทุกแห่งมีคนเก่ง คนที่มีเทคนิคในการทำงานในแบบของตัวเองซึ่งคนกลุ่มนี้องค์กรไม่รู้ว่าเขาอยู่ในส่วนใด ดังนั้น ไคเซ็นจึงเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ส่งผลงานเข้าประกวดเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา 1 เดือนมีคนส่งเรื่องเข้าประกวดไม่ต่ำกว่า 150 เรื่อง
       
       อภินันท์ กล่าวเสริมว่า ไคเซ็น คือ การที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคล เสนอแนวคิดสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์แก่หน่วยงาน เพื่อให้สามารถนำออกมาใช้แก้ไข และปรับปรุงสิ่งที่บกพร่องให้มีสภาพดีขึ้นได้โดยผ่านกระบวนการที่วางไว้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติ หัวใจสำคัญของไคเซ็นอยู่ที่ต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด
       
       ส่วน QCC คือการเอาปัญหาของแต่ละกลุ่มมาแก้ ซึ่งแทนที่จะคิดแก้ปัญหาคนเดียวก็เป็นการให้แต่ละกลุ่มเข้ามาช่วยกันแก้ไข โดยจะเริ่มทำ QCC ในปี 2553 และปี 2554 จะทำ TQM หรือการบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกองค์กรระดับใหญ่ต้องการจะทำ และจะขยายระบบการผลิตแบบลีนไปสู่ซัพพลายเออร์และลูกค้าต่อไป
       
       
รางวัลไม่ได้วัดความสำเร็จ
       แต่เป็นเครื่องเตือนใจ

       
       บุญชัย บอกว่า ซาบีน่ามีโรงงานทั้งหมด 4 แห่ง คือที่เพชรเกษม พุทธมณฑลสาย 5 ยโสธร และชัยนาท โดยโรงงานที่เกิดปัญหาในเรื่องของฝีมือแรงงานมากที่สุดคือที่พุทธมณฑลสาย 5 เนื่องจากบริเวณนี้มีโรงงานเย็บผ้าจำนวนมาก ทำให้ปัญหาการลาออกของพนักงานมีสูง อย่างที่ผ่านมาปริมาณการลาออกอยู่ที่ 4% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 1,000 คน แต่ปัจจุบันหลังจากนำระบบลีนมาใช้ปัญหาการลาออกลดลงเหลือ 3.5%
       
       นอกจากนี้ ทัศนคติของพนักงานก็มีการเปลี่ยนแปลงไป เพราะเขาเห็นแล้วว่าการลีนช่วยให้ลดเวลาในการทำงานได้ ผลจากการนำระบบลีนมาไม่เพียงแต่ทำให้ระบบการบริหารงานดีขึ้นแต่ตัววัดผลที่เห็นได้ชัดคือยังได้รับรางวัล ''Thailand Lean Award 2009'' ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ด้วย
       
       แม้ว่าปีนี้ซาบีน่าจะได้รับรางวัลนี้แล้ว แต่สำหรับบุญชัยเขาจะยังคงจะส่งซาบีน่าเข้าประกวด Thailand Lean Award อีกครั้งโดยเป้าหมายครั้งนี้ก็เพื่อรักษาตำแหน่ง และต้องการให้พนักงานรู้ว่าดัชนีวัดของตัวเองอยู่ระดับใดเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในการทำงาน


โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด