คิด+มอง+ทำ แบบองค์รวม Systemic Thinking ในมุมมองของ "บรูซ แมคเคนซี"
ในงานสัมมนาเทศกาลคืนกำไร ครั้งที่ 4 ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจและ บริษัท เอพีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ร่วมกันจัดขึ้นในหัวข้อคิดมองทำกับแนวทางใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและภาครัฐ
นอกจากจะมี "อริญญา เถลิงศรี" กรรมการผู้จัดการ เอพีเอ็มกรุ๊ป และ "อิสระ ยงปิยะกุล" ที่ปรึกษา และวิทยากรอาวุโสเอพีเอ็มกรุ๊ปมาร่วมพูดคุย แปล พร้อมกับแลกเปลี่ยนมุมมองและให้ข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับเรื่องคิด+มอง+ทำแบบองค์รวม
หากภายในงานยังได้รับเกียรติจาก "บรูซ แมคเคนซี" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Systemic Development Institute (SDI) จากประเทศออสเตรเลีย ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา
ยิ่งเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานการวางแผน การกำหนดนโยบาย และกระบวนการบริหารของรัฐบาลที่สลับซับซ้อน ทั้งภายในและภายนอกสหรัฐอเมริกา โดยผ่านวิธีคิดแบบองค์รวม (systemic thinking) เพื่อให้การแก้ปัญหานั้นสามารถครอบคลุมทุกหน่วยงานของภาครัฐ และก่อให้เกิดความยั่งยืนของรัฐบาล
ที่สำคัญ ในช่วงผ่านมา "บรูซ แมคเคนซี" ได้พิสูจน์ให้ทีมที่ปรึกษาประธานาธิบดีบารัก โอบามา สมัยที่ยัง หาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต่อเรื่องวิธีคิดแบบองค์รวม (systemic thinking) ในการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำให้กับมลรัฐแคลิฟอร์เนียจนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า วิธีคิดแบบองค์รวม หรือ systemic thinking นั้นน่าจะเป็นหนทางใหม่ หรือวิธีคิดใหม่อันน่าจะนำไปสู่หนทางการแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนได้
ผลเช่นนี้เอง จึงทำให้วิธีคิดแบบองค์รวม หรือ systemic thinking รวมถึงชื่อของ "บรูซ แมคเคนซี" จึงกลายเป็นที่สนใจขึ้นมา และไม่เฉพาะกับประธานาธิบดีบารัก โอบามาเท่านั้น หากในแวดวงวิชาการ แวดวงนักธุรกิจ รวมถึงองค์กรภาครัฐและเอกชนในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็ต่างให้ความสนใจต่อเรื่องนี้
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเอง !
ฉะนั้น ในคำถามและคำตอบที่เกิดขึ้นนับจากนี้จึงต่างเป็นคำถามและคำตอบที่ไม่เพียงทำให้หลายคนประจักษ์ชัด หากยังทำให้หลายคนที่ฝ่ามรสุมพายุกิสนาจนมาอยู่ร่วมกัน ณ อาคารข่าวสด กว่า 300 คน ของเช้าวันที่ 1 ตุลาคม 2552 พลอยประจักษ์ชัดด้วยว่า วิธีคิดแบบองค์รวม หรือ systemic thinking นั้นน่าสนใจจริง ๆ
ไม่เชื่อ จงติดตามโดยพลัน !
โดยเบื้องต้น "อิสระ" ขอให้ "บรูซ แมคเคนซี" ช่วยเล่าให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจก่อนว่า systemic thinking คืออะไร ? และมีหลักการอะไรบ้าง ?
บรูซ แมคเคนซี - จึงตอบว่า systemic thinking เป็นวิธีคิด เพื่อไปจัดการกับเรื่องที่สลับซับซ้อน ประกอบด้วยหลักการ 7 ข้อ คือหนึ่ง holism อันหมายถึงมองเป็นองค์รวม เพราะภาพรวมมีความหมายมากกว่าแค่การรวมกันขององค์ประกอบย่อย
สอง relationship คือการมองแต่ละเรื่องให้มีการปฎิสัมพันธ์กัน ฉะนั้น เวลาพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงมีปฏิสัมพันธ์กันเป็นองค์รวม และเริ่มที่จะเห็นหลาย ๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน
สาม diversity คือต้องมีความหลากหลายและแตกต่าง เช่น ถ้าคนใดคนหนึ่งบอกว่าจะคิด systemic และคิด คนเดียว อย่างนี้ทำไม่ได้ ต้องอาศัยความแตกต่างหลากหลายจากคนมากมาย และนี่เป็นอีกหลักการหนึ่งของ systemic
สี่ continuous improvement คือสิ่งที่ต้องฝึกฝน ซึ่งเวลาที่เราเผชิญปัญหา เราต้องหาทางแก้ปัญหา ต้องหาคำตอบ หรือที่เรียกว่า solution เราต้องหาคำตอบให้ได้ แต่ในโลกของความสลับซับซ้อน ก็ต้องยอมรับว่า มันไม่มีคำตอบ ทำให้เรามีความคิด ที่จะปรับปรุงคำตอบของเราอยู่ตลอดเวลา
คำตอบแรกอาจคิดปรับปรุงหาคำตอบที่สอง เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่นิ่ง ตัวแปรก็มีหลายอย่าง และยังมี ปฏิสัมพันธ์กัน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นคำตอบที่เราคิดขึ้นมานั้นอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป
ห้า rich picture คือปกติเวลาที่เราเก็บข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อแก้ปัญหา เราจะเก็บข้อมูลแบบแยกส่วน เช่น บัญชี หรือ ฝ่ายขาย ดังนั้น ถ้าผมยกตัวอย่างว่า ถ้าเราพูดถึงการส่งลูกไปโรงเรียน เราจะเก็บข้อมูลโรงเรียนแบบแยกส่วน ระบบการศึกษาก็ส่วนหนึ่ง, ที่ตั้งก็ส่วนหนึ่ง แต่ rich picture ต้องเอาทุกส่วนมาคิดรวมกัน
หก multiperspective คือการมองจากหลายมุมในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างจากที่เราคุยกันถึงข้อ 3 เรื่องความหลากหลาย และข้อ 5 เรื่อง rich picture ดังนั้น เมื่อมาประกอบกันจะได้ว่า การมีคนหลากหลายมานั่งอยู่รวมกันไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ rich picture ตรงจุดนี้คือเราต้องฟังกัน และเห็นมุมมองที่แตกต่าง และสำหรับ systemic ทำไมต้องฟัง เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะเราไม่รู้ว่าใครมีคุณค่ามากสุด ทุกคนมีข้อมูลบางอย่าง และทุกคนก็มีบางอย่างที่นำไปใช้ได้ เราไม่รู้จนกว่าจะเห็นทั้งหมดว่าข้อมูลจากคนไหนทำให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ความคิดคนจึงมีค่าเท่าเทียมกัน
เจ็ด resilience and innovation คือคงความยืดหยุ่นและสร้างนวัตกรรมที่ตรงความต้องการที่แท้จริง โดยผมเล่าให้ฟังอย่างนี้ systemic มีประโยชน์สำหรับอนาคต แต่คำถามก็เกิดขึ้นว่า ทำไมประธานาธิบดีบารัก โอบามา จึงสนใจ systemic thinking
คำตอบ เพราะเขาไม่ได้เป็นประธานาธิบดีที่บริหารแต่อดีต แต่เขาเป็นประธานาธิบดีที่บริหารอนาคต และอนาคตก็ต่างเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง พอมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สองอย่างที่เขาใช้คือ resilience ความยืดหยุ่นต่อแรงกระทบข้างหน้า และ innovation คือสามารถพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่จะอยู่ในอนาคตใหม่ได้
ถึงตรงนี้ "อิสระ" จึงขอให้ "บรูซ แมคเคนซี" ช่วยยกตัวอย่างการทำ systemic thinking ให้ฟังเพิ่มเติม ?
บรูซ แมคเคนซี บอกว่า ตัวผมนั้นสอน Green MBA ในต่างประเทศด้วย และได้ส่งคำถามไปถามลูกศิษย์จาก 4 ประเทศ ถามว่า ถ้าเราจะยกตัวอย่าง systemic ในชีวิตประจำวัน โดยไม่มีธุรกิจ จะมีอะไรบ้าง
ลูกศิษย์คนหนึ่งเป็น marketing ให้กับเหล้ายี่ห้อหนึ่ง ขายในประเทศอิสลาม คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เขาจะขายเหล้าอย่างไร ? โดยจะต้องขายให้ได้ด้วย แถมไม่กระทบกับความเชื่อทางศาสนาของประเทศนั้น
อีกตัวอย่าง หมู่เกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในแปซิฟิก นิยมสร้างบ้านในทะเล และ น้ำทะเลก็สูงขึ้นทุก ๆ ปี คำถาม คือจะสร้างบ้านใหม่ และจะย้ายเขาไปไหน ? ฟังดูไม่ยากไม่ง่าย แต่ต้องใช้ systemic
เช่นเดียวกัน สินค้าเกษตรที่ขาดแคลนน้ำ คำถาม คือจะทำอย่างไร เปลี่ยนพืชผลหรือ หรือจะย้ายถิ่นฐาน หรือจะทำอย่างไรดี ซึ่งคำตอบมันยากมาก แต่ที่สุด เราก็ต้องคิดแบบ systemic
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลให้งบประมาณจำนวนมาก และต้องใช้เงินทั้งหมดใน 6 เดือนข้างหน้า และต้องสร้างให้เกิด green economy ฟังดูไม่ยาก เรื่องการใช้เงิน แต่ว่า ถ้ามีงบประมาณขนาดนี้ คงมีคนเสนอ project เยอะมาก คำถาม แล้วจะตัดสินใจอย่างไร มันจึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนขึ้นมา ซึ่งฟังดู อาจนามธรรมไปหน่อย
"อิสระ" จึงขอให้ "บรูซ แมคเคนซี" ช่วยอธิบายต่อว่า แล้ว systemic จะมาช่วย link กับโลกธุรกิจอย่างไร ?
บรูซ แมคเคนซี จึงบอกว่า มีหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย ผอ.ทั้งสองจะจอดรถใกล้ ๆ กัน และใช้เวลา 5-6 นาที เดินไป office ของตัวเอง และระหว่างทางจะมีการคุยกันไปเรื่อย ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทำอะไรอยู่ อยู่มาวันหนึ่ง มีคนบ่นว่า พวกที่ขับรถเก่า มักไม่ให้เกียรติคนขับรถใหม่ เพราะมักจะมาเฉี่ยวชน มาขูดขีด
จึงมีการออกนโยบายว่า ให้รถเก่ามาจอดฝั่งหนึ่ง และรถใหม่อีกฝั่งหนึ่ง ต่อมาเกิดปัญหาที่ทำงาน นั่นก็คือการประสานงานในฝ่ายต่าง ๆ นั้นวุ่นวาย ซึ่งทางการก็เชิญผมเข้าไป พอผมเข้าไปก็พบว่า ผอ.ทั้งสอง ปกติจะคุยกันแบบไม่เป็นทางการ แต่มีประโยชน์สูง เพราะว่าต่างคนต่างรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็เลยทำให้ลูกน้องเข้าใจและประสานงานได้ดีขึ้น
แต่พอแยกกันจอดรถ ผอ.ท่านหนึ่งใช้ รถเก่า และอีกท่านใช้รถใหม่ จึงทำให้ไม่คุยกัน และ 6 นาทีที่หายไป จึงเป็นที่มาของการประสานงานที่แย่ลง นี่จึงเรียกว่าผลกระทบที่ไม่ตั้งใจ
systemic จะให้ความสำคัญกับคำว่าเท่าเทียมกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนได้พูดก็จบ ซึ่งตรงนี้เราเอา conversation map หรือการคุยกันบนกระดาษ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งของ systemic thinking หรือการให้ทุกคนที่เชิญมามีส่วนร่วม ความหมายก็คือต้องมาจากมุมมองของผู้ร่วมพูดคุยและร่วมรับรู้ถึงความรู้สึก
ซึ่งไม่เพียงจะทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่าง ความคิดที่แตกต่าง ทั้งยังจะต้องทำให้ความแตกต่างที่ร่วมพูดคุยนั้นสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง ๆ
พร้อมกันนั้น "บรูซ แมคเคนซี" ยังยกตัวอย่างการทำ conversation map หรือการคุยกันบนกระดาษให้ฟังเพิ่มเติมว่า เราชวนพนักงานมามีส่วนร่วม ซึ่งเชิญพนักงานจากทุกส่วนมาร่วมให้ความคิดเห็น ซึ่งไม่ว่าจะทำงานอะไร ก็มีสิทธิเสนอความคิดเห็นได้
มีข้อแม้ว่า ก่อนอื่น เราต้องฟังเขาก่อน แล้วเขียนลงไปบนกระดาษ เพราะนอกจากจะทำให้เขารู้สึกว่าเราเชิญพนักงานมา และตัวพนักงานเองก็รู้สึกว่าเขาสามารถออกความคิดเห็นได้ และทุกคนต้องอ่านของทุกคน จนทำให้สัมผัสได้ว่า สิ่งที่เขียนลงไปมีคนอ่าน และหลายคนในห้องต้องอ่านด้วย
จากนั้นหลาย ๆ คนก็เริ่มเกิดไอเดียขึ้นว่า จะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตอนจบ ทุกคนในห้องจึงต่างรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วม เพราะความคิดนั้นไม่ได้มาจากผู้นำเพียงคนเดียว แต่มาจากความคิดของทุก ๆ คน
ผลตรงนี้ จึงทำให้ "อิสระ" ถามต่อว่า แล้ว systemic thinking จะสามารถนำไปใช้กับ change management ได้หรือไม่ ?
บรูซ แมคเคนซี จึงตอบว่า ทุกคนรู้ดีว่า การเปลี่ยนแปลงมันยาก หลายคนที่มาร่วม อาจคิดว่าอยากมีส่วนร่วม แต่ไม่อยากเปลี่ยน และเราไม่รู้ว่าทำไมเราถึงต้องเปลี่ยน หรือเราถูกสั่งให้เปลี่ยนอย่างเดียว แต่ systemic เหมาะสำหรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยผ่านทุก ๆ คนที่อยู่ในองค์กร
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว "อิสระ" จึงถามต่อว่า ถ้าไม่ใช่ systemic จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้หรือไม่ ?
บรูซ แมคเคนซี จึงตอบว่า...ได้ เพราะจะมีคนบางคนมีความสามารถพิเศษที่มองเห็นบางสิ่งบางอย่างแล้วคิดออกมาเป็น สิ่งใหม่และสร้างขึ้นมา เขาอาจไม่ต้องใช้ systemic ก็ได้ แต่เวลาเราพูดถึง systemic เราหมายถึงว่าการสร้างจากคนหลาย ๆ คน จะมีความหมายยิ่งใหญ่มากกว่าการสร้างจากคนคนเดียว
ผมขอยกตัวอย่างให้ฟังว่า เพื่อน ๆ ที่เป็นพวก creative เขาจะมาเล่าให้ฟังว่า จริง ๆ แล้ว คนพวกนี้จะได้ idea จากการไปพบปะสังสรรค์กับพวก creative ด้วยกันเอง ไม่ได้มาจากตนเองคิดคนเดียว แต่เขาไปต่อยอดจากสิ่งที่เขาได้ยินและได้ฟังมา
ถ้าอย่างนั้น ขอถามคำถามสุดท้าย เราจะสร้าง systemic thinking ให้กับคนของเราได้อย่างไร ?
บรูซ แมคเคนซี จึงตอบว่า ก่อนอื่นต้องพูดให้ชัดก่อนว่า ไม่ใช่ว่า systematic thinking ไม่ดี แต่วันนี้มาเสนอมุมมองใหม่ว่า เอา systemic มาเสริมสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้ว เพื่อเอามาใช้ เพื่อนำมาต่อสู้กับความสลับซับซ้อนในปัจจุบัน
ฉะนั้น systemic thinking จึงไม่ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุก ๆ เรื่อง แต่จะใช้ได้กับบางเรื่องมากกว่า ยิ่งเฉพาะกับเรื่องที่สลับซับซ้อนและหาคำตอบไม่ได้ systemic thinking จะเข้ามาช่วยตรงนี้จนเกิดเป็นความคิดแบบองค์รวมและเกิดความคิดที่แปลกใหม่ขึ้นมา
และนี่คือ systemic thinking
หน้า 29
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์