ระบบดี creativity หาย


613 ผู้ชม


ระบบดี creativity หาย




By chok

เป็นธรรมดาที่ธุรกิจเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นก็ย่อมจำเป็นต้องอาศัย ‘ระบบ’ เป็นตัวพาธุรกิจให้เดินไปข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงและมีเสถียรภาพของกิจการ แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่กำลังเริ่มออกเดินทางนั้น ‘ระบบ’ อาจมีบทบาทน้อยหรือยังไม่มีความสำคัญมากนัก เนื่องจากธุรกิจยังมีความคล่องตัว และมีโครงสร้างไม่สลับซับซ้อนหรือเทอะทะเหมือนดังเช่นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่

 

และด้วยความไม่ยุ่งยากซับซ้อนของธุรกิจขนาดเล็กนี่เอง ที่กลายเป็นข้อได้เปรียบธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ นั่นเป็นเพราะ ‘เวลา’ ที่ถูกใช้ไปเพื่อการสื่อสารหรือถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ลงไปสู่พนักงานนั้นจะสั้นลง ทำให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนได้ง่ายและเร็วขึ้น ‘เวลาที่เหลือ’ จึงถูกนำมาใช้ในการคิดค้น พัฒนา หรือสร้างสรรค์สินค้าและบริการได้มากขึ้น เราจึงสามารถพบเห็น ‘นวัตกรรม’ ได้บ่อยครั้งจากธุรกิจที่มีขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังยืนยันได้จากการที่บริษัทใหญ่ๆหลายบริษัทใช้วิธีกว้านซื้อบริษัทเล็กๆไว้เพื่อคอยผลิตไอเดียให้ แล้วส่งต่อไอเดียเหล่านั้นสู่กระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการต่อไป

 

ถึงแม้ว่าเราจะเห็นข้อดีในวิธีการดำเนินกิจการของธุรกิจขนาดเล็ก แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเดินเกมธุรกิจให้อยู่ในระบบ ด้วยเป็นเพราะข้อจำกัดของโครงสร้างที่ใหญ่และซับซ้อนประกอบกับ ‘คน’ ในองค์กรซึ่งมีความหลากหลาย เพราะฉะนั้น หากไม่มีระบบในการจัดการหรือควบคุมสิ่งต่างๆ ให้ดำเนินอยู่บนมาตรฐานเดียวกันแล้ว ก็อาจทำให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงต่อธุรกิจตามมาได้ในที่สุด

 

ผมคิดว่า ระบบ คือการตีกรอบ และการได้มาซึ่งระบบที่ดีย่อมมาจาก “การอยู่ในกรอบ”

 

บางบริษัทพยายามผลักดันให้พนักงานคิดนอกกรอบ ลงทุนจัดอบรมสัมมนา และว่าจ้างวิทยากรค่าตัวแพงๆ มาให้การบรรยาย แต่หลงลืมไปว่า ในขณะที่กำลังยัดเยียดให้พนักงานคิดนอกกรอบอยู่นั้น องค์กรหรือบริษัทก็ยังคงดำเนินอยู่ในระบบ อยู่ภายใต้กรอบที่ไม่ว่าจะซ้ายหัน ขวาหัน ก็เห็นแต่เส้นที่ขีดไว้ให้เดิน นั่นเองจึงยังคงเป็นความขัดแย้งกันอยู่ในตัวอย่างสิ้นเชิง บางทีการวางระบบไว้ดีจนเกินไปก็อาจเป็นเหมือนการสร้างห้องขังที่ประตูถูกปิดตาย คนที่อยู่ข้างในก็เปรียบเสมือนนักโทษที่ต้องถูกจองจำด้วยพันธนาการแห่งการไร้ซึ่งอิสรภาพทางความคิด ผลร้ายที่ตามมาก็คือ ‘การสร้างนิสัย’ ให้คุ้นชินและเคยตัวกับการที่ไม่ต้องใช้สมองนั่นเอง

 

“จะทำอย่างไรให้องค์กรใหญ่ที่มีระบบ อยู่ได้โดยไม่ขาดความคิดสร้างสรรค์?” หรือ “จะทำอย่างไรให้คนคิดนอกกรอบ อยู่ได้ในระบบที่องค์กรสร้างไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐาน?”  จึงเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายความสามารถของผู้บริหารอยู่ไม่น้อย

 

เพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจน ผมขอแบ่งคนในองค์กรออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ยึดมั่นในระบบและแบบแผนขององค์กรอย่างเคร่งครัด ผลงานที่เกิดขึ้นจึงได้มาจากการดำเนินงานภายใต้กรอบขององค์กร ซึ่งยากที่ผลงานจะออกมาจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนั่นเป็นเพราะการไม่กล้าที่จะก้าวออกมาจากกรอบนั่นเอง ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มคนที่ชอบคิดนอกกรอบ และไม่ชอบเดินในกรอบที่บริษัทวางไว้ แต่มักจะผลิตผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างไร้ที่ติ

 

การมีคนทั้งสองประเภทนี้อยู่ในองค์กร นับเป็นสิ่งที่ดี เพราะสิ่งที่องค์กรจะได้คือ ความเป็นระเบียบ และความเป็นมาตรฐานจากคนที่อยู่ในกรอบ และได้นวัตกรรมจากความคิดสร้างสรรค์จากคนที่ชอบคิดนอกกรอบ ดังนั้นเพื่อผลประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร ผู้บริหารที่มีความสามารถจึงจำต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการบริหารความแตกต่างของคน ต้องสามารถสร้างเอกภาพในท่ามกลางความหลากหลายของคนให้ได้ และที่สำคัญต้องสามารถวางกรอบนโยบายที่ไม่สร้างความอึดอัดให้กับพนักงานมากจนเกินไป

 

ตราบใดที่ธุรกิจยังต้องการความเป็นมาตรฐานที่คงไว้ซึ่งความหลากหลายของสินค้าและบริการ ผมเชื่อว่าคนทั้ง 2 กลุ่มก็น่าจะมีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คนที่อยู่ในกรอบสามารถสร้างให้ธุรกิจเดินไปอย่างมีระเบียบแบบแผนตามครรลองของธุรกิจที่ควรจะเป็น ในทางกลับกันคนที่ชอบคิดนอกกรอบถึงแม้จะไม่ได้ทำตามแบบแผนแต่ก็สามารถผลิตผลงานจากไอเดียที่บรรเจิดได้ องค์กรจึงจำเป็นต้องอาศัยคนนอกกรอบเพื่อผลิตผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ แต่ในขณะเดียวกันองค์กรก็ต้องการคนในกรอบเพื่อประคับประคองธุรกิจให้ก้าวย่างอย่างมั่นคงเช่นกัน
การสร้างให้คนในองค์กรยอมรับในความต่างของกันและกัน รวมถึงการบริหารและเลือกใช้คนทั้งสองกลุ่มจากจุดเด่นที่เขามีให้ได้ นับเป็นความสามารถและความสำเร็จของผู้นำองค์กรในการจะนำพาธุรกิจให้ก้าวต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนสัญญาณที่ดีที่สามารถบ่งชี้ได้ถึงอนาคตอันสดใสขององค์กรอีกด้วย

 

“เช่นเดียวกับเกมกีฬา เวลาทุกเสี้ยววินาทีในสนามล้วนมีผลต่อการแพ้หรือชนะ ดังนั้นโค้ชที่เก่งจึงต้องรู้จักเลือกใช้นักกีฬาในช่วงจังหวะเวลา และโอกาสที่เหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อชัยชนะของทีมซึ่งจะเกิดขึ้นจากเกมการแข่งขันในท้ายที่สุด.....”

 

ที่สำคัญ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผู้นำซึ่งสามารถสร้างระบบให้มีความยืดหยุ่นพอที่จะมีพื้นที่เปิดรับความคิดสร้างสรรค์ได้ และพร้อมกันนั้นก็สามารถผลักดันให้คนคิดนอกกรอบสามารถอยู่ในกรอบได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด นั่นคือ ‘สุดยอดนักบริหาร’ ในความคิดของผม  

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด