ความล้มเหลวขององค์กรที่เคยประสบความสำเร็จ
กล่าวกันว่า การสร้างให้องค์กรประสบความสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่านั้น ก็คือ การรักษาความสำเร็จนั้นให้คงอยู่กับองค์กรได้ตลอดไป ยิ่งในยุคที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง และการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่เป็นประจำ ทำให้การรักษาความสำเร็จให้คงอยู่กับองค์กรนั้นยากเย็นยิ่งนัก เราได้เห็นองค์กรที่เคยเชื่อกันว่าไม่มีวันล้มเหลวล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา ทั้งๆ ที่เป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เคยมีทรัพยากรมหาศาล มีผู้คนที่มีความรู้อยู่มากมาย มีระบบไอทีที่กล่าวได้ว่าทันสมัยที่สุดในโลก ความสำเร็จขององค์กรในวันนี้ ไม่สามารถรับประกันว่าองค์กรนั้นจะอยู่รอดได้ในวันหน้าเสมอไป
นักปราชญ์ด้านการจัดการท่านหนึ่งได้นำเสนอผลงานวิจัยที่อธิบายว่าองค์กรที่เคยประสบความสำเร็จนั้นกลับกลายเป็นองค์กรที่ล้มเหลวได้อย่างไร นักปราชญ์ท่านนั้นได้ชี้ให้เห็นว่าองค์กรประสบความสำเร็จได้นั้น เป็นเพราะองค์กรนั้นเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในเวลาที่สมควร เกิดถูกเวลา เกิดถูกที่ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก แต่ถ้าเกิดผิดที่ เกิดผิดเวลา แม้ว่าจะเก่งเท่ากัน ก็ไม่แน่ว่าความสำเร็จนั้นจะมีขึ้นเท่าเทียมกันได้ ดีไม่ดีแม้ว่าจะเก่งเท่ากันแต่เกิดผิดที่ผิดเวลา แทนที่จะเป็นความสำเร็จก็อาจเจ๊งไปได้ ดังนั้น การที่จะรักษาความสำเร็จให้ยืนยงต่อไปได้ องค์กรต้องสามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งการปรับตัวนี้รวมตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ระบบ กระบวนการในการทำงาน เครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ไปจนกระทั่งวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้คนในองค์กรนั้น ถ้าไม่พร้อมหรือไม่ยอมปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โอกาสที่จะเห็นความล้มเหลวขององค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมีมากมาย
ผู้นำขององค์กรที่ต้องการรักษาความสำเร็จให้ยืนยงคงอยู่ต่อไปได้นั้น จึงต้องเป็นผู้ที่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ดีเท่าๆ กับที่ต้องเป็นผู้ที่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในองค์กรของตนได้ ผู้นำคนใดก็ตามแต่ที่ปฏิเสธการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผู้นำคนนั้นจะเป็นผู้นำคนสุดท้ายที่ได้เห็นความสำเร็จขององค์กรนั้น แต่จะเป็นผู้นำคนแรกที่ได้เห็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลว หรือถ้าโชคร้ายมากไปกว่านั้น ก็จะได้เป็นผู้ที่เป็นคนแรกพร้อมกับที่เป็นคนสุดท้ายในเวลาเดียวกัน ที่จะได้เผชิญหน้ากับหายนะขององค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน
สาเหตุแรกที่ทำให้องค์กรที่เคยประสบความสำเร็จด้วยดีกลับกลายเป็นองค์กรที่ล้มเหลวได้อย่างไม่น่าเชื่อนั้น ได้แก่ การที่ผู้คนในองค์กรยึดมั่นอยู่กับนโยบาย กระบวนวิธีในการทำงาน ตลอดจนความเชื่อและวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เรียกได้ว่าผู้คนในองค์กรนั้นติดกับดักแห่งความต่อเนื่อง เคยทำอะไรมาอย่างไรก็ทำไปตามนั้นโดยตลอด ไม่เคยคิดท้าทายความเชื่อเดิมๆ ว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ เคยทำอย่างไรก็ยึดมั่นอยู่อย่างนั้นโดยปฏิเสธไม่พิจารณาวิธีการใหม่ๆ ใดๆ แม้จะเห็นคนอื่นที่ทำงานคล้ายๆ กันปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานไป แต่ก็มิได้ใส่ใจว่าทำไมคนอื่นจึงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ใส่ใจแต่ว่าจะทำงานให้เหมือนเดิมได้มากน้อยเพียงใด ใครก็ตามแต่ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ภายในองค์กรนั้น ก็จะถูกครอบงำให้มีความเชื่อ ให้มีวิธีการทำงานเหมือนที่เคยทำมาแต่ก่อน องค์กรที่มีผู้คนเช่นนี้จึงยากที่จะรักษาความสำเร็จไว้ได้ เมื่อสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเปลี่ยนแปลงไป ที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตนั้นก็เป็นเพราะความบังเอิญที่เกิดถูกที่ถูกเวลาในขณะนั้นนั่นเอง
สาเหตุประการที่สองที่ทำให้องค์กรที่เคยประสบความสำเร็จกลับล้มเหลวแม้สภาพแวดล้อมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ได้แก่ การที่ผู้คนต่างคนต่างช่วยกันสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็เกิดความขัดแย้งภายในองค์กรนั้นขึ้น ต่างคนต่างช่วยกันขยายความขัดแย้งที่เดิมจำกัดอยู่เพียงเฉพาะระหว่างผู้คนในองค์กรให้กระจายออกไปสู่ลูกค้า กลายเป็นว่าทะเลาะกันเองแล้วขยายวงกลายเป็นการทะเลาะกับลูกค้า เมื่อต่างคนต่างทระนงตัวเองว่าเป็นผู้ที่สร้างความสำเร็จให้กับองค์กรต่างคนก็ต่างเชื่อว่าวิธีการของตนเท่านั้น ที่จะทำให้องค์กรสามารถรักษาความสำเร็จได้ต่อไป หากคนอื่นภายในองค์กรไม่เห็นด้วยและไม่ยอมปฏิบัติตามวิธีการของตน ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น และเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นความขัดแย้งจากความตั้งใจดีต่อองค์กรของทุกคน ถ้าองค์กรใดผู้คนเกิดอาการเช่นนี้แล้ว โอกาสที่จะรักษาความสำเร็จไว้ได้ มีน้อยเต็มทีเพราะผู้คนจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการต่อสู้กันทั้งทางความคิดและกระบวนการทำงาน เพื่อให้แนวคิดในการทำงานตามที่ตนเองเชื่อเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติ กล่าวได้ว่าผูกขาดความรักที่มีต่อองค์กรนั่นเอง ใครทำไม่เหมือนที่ฉันทำถือว่าไม่รักองค์กร
อีกสาเหตุหนึ่งที่นำความล้มเหลวมาสู่องค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมาจากตัวความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั่นเอง พอผู้คนในองค์กรเห็นว่าองค์กรของตนประสบความสำเร็จด้วยดี ก็สำคัญผิดไปว่าความสำเร็จนั้นจะยั่งยืนอยู่ตลอดไป จนกระทั่งเกิดอาการหยิ่งผยองในความสำเร็จ บางครั้งก็มาจากการที่สำคัญผิดไปว่าความสำเร็จที่ตนเองได้รับนั้น ไม่มีใครอื่นจะสามารถกระทำได้ อาการหยิ่งผยองนี้ลดทอนความพยายามในการที่จะขวนขวายปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งขึ้นไปอีก ของดีที่นำไปสู่ความสำเร็จเคยมีอยู่เท่าใด ก็จะมีอยู่เท่านั้นตลอดไป ซึ่งแน่นอนว่าของดีที่นำมาสู่ความสำเร็จในสถานที่หนึ่ง และในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่มีอะไรสามารถรับรองได้ว่าของดีนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ตลอดไปในทุกสถานที่ ในทุกเวลา ความหยิ่งผยองในความสำเร็จกล่าวได้ว่า เป็นเหตุสำคัญของความล้มเหลวที่เกิดขึ้นตามมา และความหยิ่งผยองนั้นยังทำให้ผู้คนไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ เมื่อได้เผชิญหน้ากับความหายนะขององค์กรที่กำลังคืบคลานมา เห็นก็เหมือนไม่เห็นเพราะความหยิ่งผยองในความสำเร็จกลายเป็นม่านบังตาไปเสียแล้ว อะไรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็มองไม่เห็น
ที่จริงแล้ว นักปราชญ์ท่านนี้ยังได้กล่าวถึงอีกหลายสาเหตุที่นำความล้มเหลวมาสู่องค์กรที่เคยประสบความสำเร็จ แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มาจากภายนอกองค์กร ซึ่งกล่าวได้ว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องที่มาจากภายในองค์กรตามที่บอกกล่าวไปแล้ว สาเหตุภายนอกคาดการณ์และแก้ไขได้ยาก แต่สาเหตุภายในกลับกลายเป็นเหตุแห่งความล้มเหลว ทั้งๆ ที่รู้ตัวกันดีอยู่แล้ว เป็นความล้มเหลวที่มาจากการรนหาที่ของตัวเองอย่างแท้จริง
ที่มา : bangkokbiznews.com