กลยุทธ์สร้างความสำเร็จ L&E คิดใหญ่ คิดใหม่ Change ให้ทันโลก
หากจะพูดถึงความสำเร็จของบริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในนาม L&E ในวันนี้แล้วคงจะไม่เอ่ยถึง "ปกรณ์ บริมาสพร" ไม่ได้ เพราะแม้ชั่วโมงนี้จะไม่ได้นั่งบัญชาการด้วยตัวเอง แต่ก็ได้กระตุกต่อมคิดผู้บริหารในการพัฒนาองค์กรและบ่มเพาะบุคลากรที่มีคุณภาพตลอดเวลา
เคล็ด (ไม่) ลับความสำเร็จของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในการนำพาองค์กร L&E ขึ้นชั้นแนวหน้าของธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและแสงสว่างของเมืองไทยที่ถูกถ่ายทอดผ่านเวทีต่างๆ เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการทั้งมือเก่า มือใหม่ เป็นอย่างมาก
เมื่อเร็วๆ นี้ "ปกรณ์" ได้เปิดห้องทำงานบนชั้น 17 อาคารมหานครยิบซั่ม เล่าถึงแนวทางในการพัฒนาองค์กร L&E ให้เติบใหญ่ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและแสงสว่างของอาเซียนในอนาคตอันใกล้ แม้จะท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีคลื่นลมแรงไว้อย่างน่าสนใจ
"ระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ และจะช่วยให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคงและ ยั่งยืน"
"ปกรณ์" บอกถึงหลักยึดที่องค์กรแห่งนี้ใช้มาตลอด และให้ความสำคัญถึงขนาด ให้บันทึกลงรายงานประจำปีทุกปี เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับบริษัทต่างชาติมายาวนานกว่า 17 ปี ทำให้รู้ดีว่าจะทำอย่างไรองค์กรจึงจะประสบความสำเร็จ และยังรู้ดีอีกว่าทรัพยากรบุคคลถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของบริษัท ดังนั้นตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับบุคลากรมาก
ผู้บริหารระดับสูง L&E ยอมรับว่า การจะก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดอาเซียนไม่ง่ายเหมือนเป็นผู้นำตลาดในประเทศ จะต้องมีพันธกิจหลายข้อ เรียกว่าต้องพัฒนาโครงสร้างทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไปพร้อมๆ กัน
เรื่องที่เป็นปลายน้ำ เช่น มีสินค้าครบครันและหลากหลาย มีเครือข่ายที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ มีลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 3,000 ราย ในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 50 ราย ฯลฯ
ส่วนเรื่องที่เป็นต้นน้ำ คือ การพัฒนางานวิจัยสินค้าใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่องค์กรต้องทำอย่างต่อเนื่อง
และเหนือสิ่งอื่นใด บุคลากรภายในจะต้องถูกพัฒนาหล่อหลอมให้อยู่ภายใต้ปรัชญาเดียวกัน นั่นคือยึดมั่นในความเป็นธรรม ใส่ใจในคุณภาพ ร่วมกันทำงาน เป็นทีม
เมื่อเป้าหมายชัด L&E จึงเริ่มปรับมุมมอง วิธีคิดของพนักงานตั้งแต่วันปฐมนิเทศโดยแจ้งให้ทุกคนทราบว่า องค์กรจะเติบโตอย่างไร มีอะไรเป็นตัวชี้นำและจะย้ำถึงอุดมการณ์ทั้ง 3 ข้อนี้ตลอดเวลา มีการกระตุ้นเป็นระยะๆ เรียกว่า ทุกครั้งที่มีโอกาสไม่ว่าจะเป็นการประชุมร่วมกัน หรือในงานปีใหม่ ก็จะใช้แท็กติกส์เล็กๆ เพื่อทำให้พนักงาน จำปรัชญาขององค์กรอย่างขึ้นใจ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตหรือเกิดสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นภายในบริษัท ผู้บริหารจะไม่ลืมที่จะหยิบปรัชญาทั้ง 3 ข้อนี้มาเป็นตัวชี้นำองค์กร
"ปกรณ์" เล่าว่า ในช่วงวิกฤตปี 2540 ได้บอกพนักงานทุกคนว่าที่องค์กรยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะบริษัทมีความ เป็นธรรมกับลูกค้า ไม่ได้ขายของอย่างเดียว ถือโอกาสคิดราคาสินค้าแพงๆ เพราะถ้าทำเช่นนั้นในระยะยาวบริษัทก็จะอยู่ไม่ได้ สู้ดูแลลูกค้าให้เป็นพาร์ตเนอร์กันจะดีกว่า
ซึ่งในเรื่องความเป็นธรรมองค์กรแห่งนี้ไม่ได้นำมาใช้เฉพาะกับลูกค้าเท่านั้น แต่กับผู้ถือหุ้นหรือตัวพนักงานเองก็อยู่ ภายใต้หลักการเดียวกัน เป็นที่เข้าใจของฟันเฟืองในองค์กรว่า ใครทำดีได้ดี ถ้าใครทำงานมาก ผลตอบแทนก็จะสูงตามไปด้วย ถ้าองค์กรมีกำไรมาก ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับแบ่งปันผลประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น
ช่วงที่ผ่านมาแม้ว่า "ปกรณ์" จะสามารถผลักดันองค์กรขึ้นมาอยู่แถวหน้าได้ แต่การจะรักษาตำแหน่งผู้นำไว้ได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงไม่ใช่เรื่องง่าย ในฐานะผู้บริหารระดับสูงเขาจึงต้องมองให้ไกลและรอบด้าน การพัฒนา สินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาด แต่การสรรหาเครื่องมือดีๆ มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ไม่แพ้กัน
"ในอดีตบริษัทได้จัดรางวัลพิเศษ สำหรับพนักงานที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสินค้าใหม่ๆ ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง อนาคตคาดว่าจะพัฒนาผลประโยชน์ เป็นรูปแบบของเงินก้อน จ่ายให้กับพนักงานตามจำนวนยอดขายสินค้าชิ้นนั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานมากขึ้น
ซึ่งโดยปกติแล้ว L&E จะคัดคนให้ทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม (put the right man one the right job) เพื่อให้ ทุกคนได้ใช้ศักยภาพของตัวเองในการทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่ในการทำงานจำเป็นต้องกระตุ้นพนักงานตลอดเวลา ซึ่งที่บริษัทจะมีการกระตุ้นใน 2 ด้าน ด้านบวกกับด้านลบ
ด้านบวก คือ ใครทำดีได้ดี ขายมาก ได้คอมมิสชั่นมาก ได้ตำแหน่งงานที่ดี มีโอกาสพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะบริษัทมีทุนให้พนักงานไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทุกปี
ด้านลบ คือ ใครที่ทำไม่ดี ก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายให้กับบริษัท จะมีการภาคทัณฑ์และลงโทษ"
"ปกรณ์" บอกว่า การพัฒนาองค์กรและบุคลากร L&E ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องการเทรนนิ่งให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ กับบุคลากรเท่านั้น แต่ขณะนี้ L&E ยังได้พัฒนาในเรื่องของระบบสารสนเทศให้ซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่กระชับมากขึ้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นข้อมูลเร็วโดยที่ไม่ต้องใช้คนมาก หรือพูด ให้เข้าใจง่ายๆ คือทำให้องค์กรสามารถเพิ่มรายได้โดยที่ไม่ต้องเพิ่มบุคลากร
อีกไม่นานออฟฟิศที่เต็มไปด้วยกองเอกสารก็จะเปลี่ยนเป็นโมบายออฟฟิศ ที่ดูสบายตา มีทั้งโต๊ะกลม โซฟาให้คนประมาณ 80 ชีวิตที่ไม่ต้องทำงาน อยู่ประจำที่ได้เข้ามาใช้พื้นที่ เช่น เซลส์มีคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งเสียบปลั๊กตรงไหน ก็นั่งทำงานได้ ต่อไปฝ่ายขายไม่ต้องมา เซ็นชื่อเข้า-ออกงานอีกแล้ว นั่งทำงานที่ไหนก็ได้ สื่อสารทำออร์เดอร์กับเจ้าหน้าที่ในองค์กรผ่านอินเทอร์เน็ต วัดผลการทำงานกันที่ผลงาน ตรงนี้นอกจากจะทำให้ฝ่ายขายทำงานได้มากขึ้น ได้ผลงานเร็วแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ลดลง ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันรถ ค่าสื่อสาร ซึ่งหากแนวทางนี้ไปได้ดีก็จะมีการขยายผลไปในส่วนอื่นๆ ขององค์กรต่อไป
"ในวันที่โลกหมุนเร็ว ถ้าคุณไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง คนอื่นจะมาเปลี่ยนคุณ"
"ปกรณ์" บอกว่า เคล็ดลับความสำเร็จนี้เป็นสิ่งที่ได้จากการทำงานกับบริษัท ต่างชาติ ที่นั่นจะสอนว่า คุณจะประสบ ความสำเร็จก็ต่อเมื่อคุณสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ ถ้าสามารถปรับตัวได้ก็จะอยู่ได้ แต่ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็อาจจะต้องบาดเจ็บ ฉะนั้นการทำธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาแนวคิดใหม่ๆ มาต่อยอด
ผู้บริหารจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจปรัชญาที่แท้จริงของคำว่า change จะปรับตรงไหน จะประนีประนอมให้ ส่วนไหนอยู่ต่อต้องมองให้ทะลุ ไม่เช่นนั้น ยิ่งเปลี่ยนอาจจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับองค์กรไปกันใหญ่ เพราะทิศทางของ ผู้บริหารระดับสูงมีค่ามากในการที่ผู้จัดการทั้งหลายจะไปดำเนินการต่อ เพราะบางครั้งเป็นนักทฤษฎีมากไปก็ไม่ดี
ต้องมีวิธีคิดที่ฉีกออกไปจากเดิมตลอดเวลา ดังเช่น L&E ได้มองหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่น การเปิดบริการแบบ one stop services การขายสินค้าในรูปแบบที่ทำให้ลูกค้าเห็นว่าแสงสว่างทำให้สินค้าเขาดูดีขึ้นอย่างไร เรียกว่าอะไรที่เป็นความพึงพอใจของลูกค้าบริษัทจัดให้ตลอด
และนี่คือจุดที่ทำให้ change กับบลูโอเชี่ยนไปด้วยกัน องค์กรแห่งนี้จึงเติบโตได้ในขณะที่หลายองค์กรต้องปิดฉากลง
หน้า 35
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ