9 วิธีฝ่าคลื่นยักษ์ ทางรอดธุรกิจในโลกยุคใหม่


839 ผู้ชม


9 วิธีฝ่าคลื่นยักษ์ ทางรอดธุรกิจในโลกยุคใหม่




โดย บิสิเนสไทย [3-7-2008]
9 วิธีฝ่าคลื่นยักษ์ ทางรอดธุรกิจในโลกยุคใหม่
กูรูด้านการตลาดเมืองไทยเปิด 9 การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังยุคสังคมฐานความรู้ Post Knowledge Based Society เตือนภัยภาคธุรกิจให้ปรับรูปแบบกลยุทธ์สอดรับพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  รับมือกับเหตุการณ์ที่คาดฝันซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาบนโลกใบนี้ แรงบีบรัดเช่นนี้สร้าง Awareness ทุกฝ่ายโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจรับรู้ว่าหากยังไม่ปรับตัว  อาจหมายความถึงการตกขบวนแข่งขันในสนามการค้ายุค Post Knowledge Based Society

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของผลงานหนังสือ Marketing Move ที่ร่วมแต่งกับศาตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์  “กูรู”การตลาดชื่อก้องของโลก ได้เสนอ 9 วิธีในการทำธุรกิจยุคหน้าสำหรับนักธุรกิจไทย ผ่านเวทีการบรรยายในหัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจไทยยุค Digital Economy” ที่ซอฟต์แวร์พาร์คจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้  ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

จากพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง  จะทำให้โลกหลังจากนี้ไปเกิดช่องว่างทางยุทธศาสตร์อย่างน้อย  5ช่องว่าง  ช่องว่างที่ 1  สิ่งแวดล้อมที่เราเคยเป็นอยู่ในปัจจุบันกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นในอดีต ช่องว่างที่ 2 คือช่องว่างระหว่างเป้าหมายที่จะต้องดีลิฟเวอร์เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคต และรวมถึงก้าวที่ต้องดีลิฟเวอร์ ตามนั้นได้เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่   ช่องว่างที่ 3   ภารกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งเราจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเราเองในเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไรนี่เป็นช่องว่างที่ 4 และขีดความสามารถที่เราจำเป็นต้องมีในอนาคตกับในปัจจุบันมันอาจจะมีความแตกต่าง อาจจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้ นั่นก็คือช่องที่ 5

เพราะฉะนั้น   เรากำลังอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายไม่ใช่แค่เรื่องวันนี้ หรือวันพรุ่งนี้   แต่เพื่ออนาคต เป็นอนาคตที่ทุกคนจะข้ามไปได้อย่างน้อยจะผ่านยุทธศาสตร์ช่องว่างด้วยกัน 5 ช่องว่างดังกล่าว
 
ถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไร?
 
ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ในหนังสือ Marketing Move ที่ได้เขียนขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในการที่จะทำให้สังคมนั้นเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมไปสู่สังคมที่เป็นฐานความรู้( Knowledge Based Society) ได้พูดเอาไว้ 9 ประการ คือจาก Mass Market ที่บริการคนทีละมากๆ กลายเป็นเราสามารถ Customize ได้เป็น Market of One จากเดิมที่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎเหล็กของหลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย Economics of Diminishing Return ไปสู่เรื่องของ Economic of  Increasing  Return

จากเรื่องที่ทุกคนมองว่าเราเป็นเจ้าของ(Ownership)มาสู่ที่มองว่าใครก็ตามที่สามารถจะสร้างเน็ตเวิร์กกับคนอื่น  คนนั้นเป็นผู้ที่กำชัยชนะ(Ability to Access) และจากการที่มองตัวเองเป็นหลักภายใต้ Corporate Governance กลายมาเป็น Market Governance

จากการเดิมเคยต้องทำของหรือสินค้าให้ไม่มีใครเหมือน(Goods for Elites) กลายเป็นว่าเราสามารถที่จะตอบสนองให้กับทุกๆ คนได้(Goods for Everyone) และจาก Just in Time มาสู่ Real Time อย่างแท้จริง(ดูแผนภูมิประกอบ)
 
 ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดคนสำคัญของประเทศไทยยังวิเคราะห์ต่อว่า  โลกไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เพราะนี่คือโลกเมื่อประมาณปีค.ศ. 2000 แต่โลกได้เปลี่ยนไปมาก หลังจากที่เราก้าวเข้าสู่ ความเป็น Knowledge Based Society อย่างแท้จริง  ซึ่งมีทั้งข่าวดีและก็ข่าวร้าย
 
ข่าวดีของโลกก็คือ Globalization นั้นทำให้เกิดประชาธิปไตย (Democratization) ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์พร้อมๆ กับเกิดประชาธิปไตยในเชิงของภูมิเศรษฐศาสตร์ หรือพูดง่ายๆก็คือ Democratization Power and Wealth
 
สงครามเย็นสิ้นสุดลงก่อให้เกิด Muti-Polarity(ขั้วอำนาจหลายขั้ว) นี่คือ Democratization of Power แต่ในขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดโมเดลใหม่ๆ การใช้ทรัพยากรจากทั่วทุกมุมโลก(Outsourcing) เป็นผลทำให้ความมั่งคั่งกระจายตัวออกไป โอกาสในการสร้างความมั่งคั่งไม่ได้กระจุกอยู่ในจุดเดิม เพราะฉะนั้นทั้งสองส่วนทำให้โลกในปัจจุบันเป็นโลกที่มีประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นโลกที่มีพลวัตสูงขึ้น เป็นโลกที่เปิดมากขึ้นอยู่ใน Open System  และเป็นโลกที่ต้องเชื่อมต่อกันมากขึ้นทุกที
 
แต่ข่าวร้ายของโลกหลังจากที่เราเข้าไปสู่ Knowledge Based Society ก็คือ เราทำลายกันเอง เกิด Global Imbalance ไม่ว่าจะในแง่ของสภาวะแวดล้อม  Imbalance ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราต้องรับกรรมและตามเช็ดกันต่อไปอย่างน้อย 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.Global  Inflation หรือเงินเฟ้อทั่วโลก 2.Financial  Instability  หรือความสั่นคลอนทางการเงิน 3.Wealth Inequality คือความรู้ทำให้ช่องว่างของความรวยกับความจนมากขึ้น และ4. Long -Term Burden โครงสร้างประชากรโลกเปลี่ยนไป กลายเป็นพวกเราต้องแบกภาระ ในอนาคตเด็กรุ่นต่อไปต้องแบกภาระสูงขึ้น เพราะสัดส่วนการพึ่งพิงจาก 7 ต่อ 1 เปลี่ยนมาเป็น 4 ต่อ 1

องค์กรธุรกิจ ยุคหลังสังคมฐานความรู้
 
“เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่พวกเราต้องรับรู้และเข้าใจ และสิ่งต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางการปรับตัวที่ทำให้โลกมันดีขึ้น จากเดิมที่เราไปเน้นการเห็นแก่ตัวมาสู่จิตสาธารณะมากขึ้น จากเดิมที่มองทุกอย่างอยู่ในโครงสร้างลำดับชั้น มาสู่โครงสร้างที่เป็นเน็ตเวิร์ก ทำให้คนนั้นอยากแสดงออกผ่านอินเทอร์เน็ต บริการช่องทางต่างๆ มากขึ้น"ดร.สุวิทย์ย้ำ
 
ขณะเดียวกันสังคมที่เดิมนั้นอยู่ใน Industrial  Society มาสู่ Knowledge Based Society และปัจจุบันที่เรากำลังก้าวสู่   Post Knowledge Based Society อย่างสมบูรณ์  ซึ่งสิ่งนี้ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีก 9 ประการสำคัญที่จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจาก Knowledge Based Society ไปสู่ Post Knowledge Based Society ซึ่งจะมีผลต่อวิถีการทำงาน แนวคิด แนวปฏิบัติ หรือแม้แต่วิถีชีวิตเรา
 
ในความเป็นจริงแล้ว  วงการซอฟต์แวร์ได้มาสู่เทรนด์นี้ในหลายมิติแล้ว นั่นก็คือการแทนที่จะมองตัวเองเป็นหลักเพื่อให้อยู่รอด(Survival) กลายเป็นมองเรื่องของการสนับสนุน (Sustainability) จากการที่มองวัตถุนิยม  เป็นทุนนิยมที่เน้นตลาดมาสู่ทุนนิยมที่เริ่มเห็นแก่สังคมมากขึ้น Opensource Software, Opensource Education ล้วนแล้วแต่มาสู่เทรนด์นี้แล้ว จากเดิมที่คิดว่าใครเร็ว ใครอยู่รอด มาสู่การแบ่งปันและดูแลซึ่งกันและกัน (Share & Care)
 
เดิมที่เราคิดว่าอินเทอร์เน็ตนั้นทำให้การสื่อสารเป็น Many to Many แต่แค่นี้ไม่พอแล้ว ปัจจุบันโลกจะอยู่ด้วยกันได้เราจะต้องมี Mind to Mind เพราะฉะนั้นหลายๆ อย่างของโลกเปลี่ยนจาก Close 2 Close  มาสู่ Open 2 Open มากขึ้น   จากเดิม "ตัวกูของกู "ใครลงทุนใครก็ต้องได้ เป็น Private Investment มาสู่ Citizen Investment มากขึ้น 
 
จากภูมิปัญญาที่เรามองว่าเป็น Intellectual Property มาสู่ภูมิปัญญามหาชน(Wisdom of the Crowd)มากขึ้น นี่คือเทรนด์ต่างๆ ไม่มากก็น้อยที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางนี้แล้ว
 
คำถามคือ เมื่อกระบวนทัศน์ของโลกเปลี่ยน รูปแบบของการดำเนินของเราในฐานะที่เราทำธุรกิจอยู่ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วยอย่างไร?
 
ดร.สุวิทย์บอกว่า อยากให้มองไกลออกไปเราจะเห็นว่าโลกได้เปลี่ยนโครงสร้าง โครงสร้างของการเปลี่ยนแปลงนั้น พลังขับเคลื่อนสำคัญคือเรื่องของกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเปลี่ยนจากความสัมพันธ์จากแนวตั้ง(Vertical Tied up)กลายเป็นความสัมพันธ์ในแนวตั้งลดน้อยถอยลง เกิดความสัมพันธ์ใหม่เป็นความสัมพันธ์ในแนวนอน(Horizontal Tied up)ระหว่างรัฐต่อรัฐ เอกชนกับเอกชน และความสัมพันธ์ของภาคประชาชนด้วยกันในรูปแบบต่างๆ รวมถึง Social Networking ด้วย
 
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถ้าเรามองในมิติของการทำธุรกิจ การสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือ Value Creation ก็เปลี่ยนไปด้วย นั่นคือ แพลตฟอร์มที่เราจะมาสร้างคุณค่าด้วยกันไม่ได้ถูกจำกัดอีกต่อไปแล้วว่าจะต้องอยู่ใน In-In คือ อยู่ในประเทศ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะส่งออก In-Out หรือ บิซิเนส โพรเซส เอาท์ซอร์สซิ่ง Out-In เข้ามา แต่พวกเราอาจจะต้องไปต่อสู้บนเวทีโลกแล้ว หรือ Out-Out เพราะจะไม่มีสัญชาติอีกต่อไปในเรื่องของธุรกิจ
 
เพราะฉะนั้น  เราจำเป็นต้องมีความพร้อมในเรื่องของการที่จะตั้งรับและรุกในทั้ง 4 แพลตฟอร์มพร้อมๆ กัน
 
อย่างไรก็ดี  ถ้ามองในเชิง Communication Platform นั้นโลกได้เปลี่ยนไป จากใครทำใครก็ได้ในรูปแบบ Close 2 Close ขณะนี้มุ่งไปสู่ Close to Open, Open 2 Close และตอนนี้เริ่มไปสู่ Open 2 Open โดยโอเพ่นซอร์สเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของสิ่งเหล่านี้แล้ว
 
"เพราะฉะนั้นต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงว่าเราจะไปสู่จุดนี้ได้อย่างไร จำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าโลกไม่ได้เป็นเวอร์ชวล(Vertual) และโลกไม่ได้เป็นฟิซิคอล(Physical) แต่สองสิ่งนี้เหมือนอยู่คนละด้านของเหรียญแล้ว มันต้องอยู่ด้วยกันอย่างไร ในโลกของที่เป็นฟิซิคอล คือโลกที่เป็นฟิซิคอลโปรดักต์และเฟสอยู่ด้วยกัน แต่ในโลกเวอร์ชวล คือฟิซิคอลโปรดักต์และเฟสนั้นอยู่ด้วยกัน เราจะทำให้บรรลุผลสำเร็จตรงส่วนนี้อย่างไร"ผู้เชี่ยวชาญการตลาดเปรียบเทียบปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น    

 Key Successธุรกิจยุคหน้า
 
ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ได้เสนอแนะถึงปัจจัยที่จะนำสู่ความสำเร็จ( Key Success Factor) สำหรับภาคธุรกิจว่า การทำธุรกิจหลังจากนี้ไปเหมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจของเรา Attractive ,Productive,Competitive   และทำอย่างไรที่สร้างเครือข่ายกับคนอื่น ทำนองเดียวกันจะทำให้เวอร์ชวลสเปซ(Vertual Space)ของเราเชื่อมต่อกับคนอื่นในทิศทางที่เกิดพลังในเชิงแมส เกิดความมั่งคั่งร่วมกัน

เพราะฉะนั้น  เรากำลังพูดถึง Collective Forces และทั้งสอง Forces นี้คอมพลิเมนท์กัน แต่อยู่ที่เราสามารถทำให้เป็นหนึ่งเดียวได้ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่าบนสองแพลตฟอร์มใหม่เราจะทำอย่างไรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิง Value Creation
 
ดร.สุวิทย์เสนอว่า Value Creation Process เป็นกระบวนการที่เชื่อมกันอย่างมีพลัง เริ่มจากเรามีนวัตกรรมอะไร(Innovation Model) ที่เราจะนำเสนอออกมาแบบเป็นแผนหรือโครงการของเรา ต้องถอดออกมาให้เป็น Business Model ให้ได้ ให้นวัตกรรมที่คิดออกมามีประโยชน์และสามารถทำให้เป็นเชิงพาณิชย์ได้  

"และถ้าน่าสนใจ คุณไม่ต้องกลัวเรื่องของ Investment Model เลยเพราะจะมีคนมาลงกับคุณแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเวนเจอร์ แคป หรือใครต่อใคร และก็จะนำมาสู่ที่จะทำให้มันเกิดเป็น Operating Model"ดร.สุวิทย์วิเคราะห์

วงจรของการสร้าง Value Creation บนโลกใบนี้หลังจากนี้ไป    บนโลกเปิดกว้างมากขึ้น มีพลวัตมากขึ้น มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น  เมื่อโครงสร้าง (Architecture)เปลี่ยนภายใต้กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยน สิ่งที่ตามมาก็คือ ธรรมนูญของการทำธุรกิจของพวกเราก็ต้องเปลี่ยนด้วย เพราะโลกเปลี่ยน  ไม่ได้เปลี่ยนในระดับแมคโคร   เพราะขณะนี้แมคโครและไมโครจะเชื่อมต่อกันจนกระทั่งแยกไม่ออก ทำให้เกิดการเปลี่ยนจาก Private Investor มาสู่ Citizen Investor อย่างสมบูรณ์    

ในทำนองเดียวกันเรื่องของนวัตกรรมปัจจุบันเกิดเรื่องของ Democratization of Innovation แล้ว จากเดิมที่เน้น Intellectual Property มาสู่ภูมิปัญญามหาชน
 
เรื่องของการบริโภค(Consumption)ในโลกอดีตถ้าไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีศักยภาพตรงนั้นไม่ใช่ตลาดของเรา   เพราะฉะนั้นคนยากจนไม่มีโอกาสที่จะใช้สินค้าที่เขาทำกัน   แต่จริงๆ วันนี้  คนเหล่านี้มีศักยภาพ  อยู่ที่ว่าเรากำหนดเซ็กเมนต์เขาอย่างไร   เพราะฉะนั้นจะนำมาสู่โอกาสทางธุรกิจ ปรับเปลี่ยนจาก Top ไปสู่ Bottom of the Pyramid
 
นี่คือเทรนด์ต่างๆ ของโลก เมื่อโลกเปิดกว้างมากขึ้น โอกาสทางธุรกิจมากขึ้น มันก็ดีขึ้นในทิศทางที่ทุกคนได้!!!
 
ข้อเสนอแนะคือ เราจำเป็นต้องเข้าใจและรับรู้วัฒนธรรมใหม่ของสิ่งที่เรียกว่า Free Culture ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เริ่มให้ความสำคัญจากทางด้านดีมานด์ไซด์ และลดทางด้านซัพพลายไซด์ เป็นวัฒนธรรมที่ว่าด้วย Free to Take และ Free to Share เป็นวัฒนธรรมที่ภาษาของพวกซิลิคอน วัลเล่ย์ หรือสแตนฟอร์ดพูดกันว่า NEA โดย  N คือ Nobody Owns ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  E - Everybody can use it ทุกคนสามารถใช้ได้ และA -Anybody can improve it ใครๆ ก็สามารถตรวจสอบได้
 
วันนี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้วในหลายส่วนมาสู่ส่วนนี้มากขึ้น นั่นคือจุดเน้นจากเดิมที่เป็นของเรามาสู่หลายพื้นที่ที่เป็นสาธารณะ  ซึ่งทุกคนสามารถแชร์เหมือนซอฟต์แวร์ อากาศ น้ำ ซึ่งซอฟต์แวร์ก็เป็นสิ่งที่เป็นปกติธรรมดาสำหรับทุกคนบน "โอเพ่น แพลตฟอร์ม" ดังนั้น ทุกคนจำเป็นต้องเริ่มทำความเข้าใจว่าการเป็น Power ทางด้านดีมานด์ไซด์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและโอกาสทางธุรกิจอีกมากมาย  เนื่องจากเดิมเรามองแต่ B2B, B2C แต่ตอนนี้เขามี C2C แล้วก็คือ Consumer to Consumer เล่นกันเองแล้ว ผ่านในเรื่องของ Social Technology ต่างๆ
 
แต่นั่นคือสิ่งที่พวกเราต้องเข้าใจพฤติกรรมและโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อจะมาดูว่า จะมี Business Opportinity ได้อย่างไร
 
"สิ่งที่เกิดขึ้น  คือ ณ จุดนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่าทุกคนต้องกลับมาคิดใหม่ ฟังใหม่ในธุรกิจของตนเอง เรายังเป็น Product Centric อยู่หรือไม่ หรือเราจะเป็น Customer Centric ตรงนี้มันเริ่มมีการพัฒนาการไปสู่ตอนนี้มันเกิด C2C Market เราอาจจะต้องมาดูว่าเราจะเป็น People Centric เหมือนกูเกิลไหม ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเราเป็นแพลตฟอร์ม โพวายเดอร์ เหมือนเราเป็นอินฟราสตรักเจอร์ โพรวายเดอร์ ไม่ใช่โซลูชัน โพรไวเดอร์อีกต่อไป"ดร.สุวิทย์พยายามอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจในวันนี้
 
พร้อมกับเสนอว่า  ตัวการสำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้น Business Model ต่างๆ ที่จะตอบโจทย์ในอนาคต  แต่ถ้าคิดให้ตายโดยคิดถึงแต่ตัวเอง โดยไม่มองจริงๆ ว่า ลูกค้าเราเป็นใคร   เราก็จะ Work Hard อย่างเดียว แต่ไม่ Smart  ในที่สุดคนที่บอกว่าเราสอบได้หรือสอบตกก็คือ ผู้บริโภคนั้นเอง
 
ทั้งนี้ เราสามารถดูความต้องการของคนมีไม่กี่อย่าง  เพราะว่าบางครั้งเราต้องการเปลี่ยนแปลง แต่บางครั้งเราต้องการสิ่งที่มั่นใจ แล้วความต้องการหลายๆ อย่างเป็นความต้องการจากภายนอก และความต้องการที่จะติดต่อกับภายใน   เพราะฉะนั้นในแง่ของคน ความต้องการจึงหนีไม่พ้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง การมีส่วนร่วม อิสระ  ซึ่งเมื่อดูในระดับองค์กรก็เป็นเหมือนกันคือ ต้องการการเติบโต มีส่วนร่วม แต่ในขณะเดียวกันก็ฟรีดอมและต้องการความเสี่ยงของตนเอง ฉะนั้นความต้องการเหล่านี้  เราต้องตีโจทย์ให้แตกความต้องการทั้งหลายนั้นแตกออกมามีได้กี่แบบ และเราจะหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงจากความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคนี้อย่างไร
 
"ทั้งหมด  ถ้าเราเข้าใจแล้วจะนำไปสู่การสร้าง Value Creation ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการธุรกิจจากนี้ไป เราทราบกันดีว่า การสร้าง Value Creation มีเคยพูดไว้มีอยู่ด้วยกัน 5 โมเดล ที่ทำน้อยแต่ได้เยอะ แต่ส่วนปลายน้ำคือส่วนที่ทำเยอะแต่ได้น้อย ฝรั่งนั้นเอาส่วนบนไปคือส่วนที่เรียกว่าเป็นบลูโอเชียน(ตลาดที่ยังมีผู้เล่นน้อยราย)  แล้วเขาให้เรดโอเชียนไปตีกันเองกับจีน เพราะฉะนั้นพวกเราจำเป็นต้องมีความกล้าว่าเราต้องขึ้นบนให้ได้ ถ้าขึ้นบนไม่ได้เราก็อยู่ได้แค่ตีนขอบของมาร์จิ้น"ดร.สุวิทย์กล่าว

5 โมเดลธุรกิจสร้าง Value Creation
 
โมเดลในการสร้าง Value Creation ให้ธุรกิจทั้ง 5 นั้น มีตัวอย่างของบริษัทที่ได้ทำไปแล้วประสบความสำเร็จ กล่าวคือ

- Innovation  Model ต่อไปทุกบริษัทไม่จำเป็นจะต้องทำ R&D ของตนเองเสมอไป เช่น  บริษัท P&G มีการทำโมเดลใหม่ชื่อ C&D (Connect & Develop) เขามองว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว แต่เขาสามารถ Care&Share กับคนอื่นได้ มีโปรเจ็กต์เปิดให้ภายนอกองค์กรเสนอนวัตกรรมเข้ามาได้ จากนี้ไปจะพบว่า เครื่องมือของนวัตกรรมจะมาจากข้างนอกไม่ได้จาก Individual Research อีกต่อไป
 
-Business Model เราจำเป็นต้องคิดใหม่ และใส่ใจเรื่องนี้ให้ลึกซึ้ง กรณีของ Grameen Bank ดำเนินธุรกิจตามแนวคิดที่ว่า "สินเชื่อทางการเงินเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน" ดังนั้น ธนาคารจึงพัฒนาระบบที่ปล่อยเงินกู้ใด้แม้ในผู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน   ธนาคารไม่ได้ปล่อยสินเชื่อโดยประเมินจากราคาสินทรัพย์ของผู้กู้ แต่พิจารณาจากศักยภาพของพวกเขา นั่นหมายความว่าในขณะที่ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมประเมินสินเชื่อจากราคาสินทรัพย์ที่ได้รับมา แต่ Grameen Bank ประเมินจากศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในแต่ละบุคคล

-Investment Model ตัวอย่างในธุรกิจช็อกโกแลต มีช่องว่างด้านรายได้ระหว่างผู้ปลูกโกโก้ในอาฟริกาและโรงงานผู้ผลิตในยุโรปตะวันตก บริษัทช็อกโกแลตอังกฤษ Divine Chocolate เสนอไอเดียให้ผู้ผลิตโกโก้ในสหกรณ์กัวปาโกกู  ประเทศกาน่า ซึ่งมีสมาชิกผู้ปลูกโกโก้อยู่ราว 45,000 คน ให้ถือหุ้นบริษัทได้ 45% และมีตำแหน่งในบอร์ดบริษัทด้วย ซึ่งทำให้รายได้ในปี 2006 สูงถึง 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2007 บริษัทขยายสาขาในอเมริกาโดยสหกรณ์นี้ก็เข้าถือหุ้น 33%

ดร.สุวิทย์บอกว่า มีหลายอย่างที่ต้องคิดใหม่ ในเรื่องของ Value Chain ว่าเราอยู่ใน"กับดัก"ซึ่งก็ยังคิดอยู่ในกับดักของโครงสร้างเดิมๆ แต่ในโลกของเน็ตเวิร์กนั้นก็ต้องเป็น Investment Network ด้วย
 
-Operation Model ก็ทำนองเดียวกัน  ที่เป็นรูปธรรมคือกรณีของ Wikipedia (วิกีพีเดีย)ซึ่งเป็นตัวอย่างของการมีพลัง มี Mind Set บนโอเพ่น แพลตฟอร์ม วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปเพิ่มเติมแก้ไขคอนเท็นต์ข้อความได้เป็น User Generated ความสำเร็จของวิกิจึงเกิดจากกลุ่มคนที่มีความรู้และนักเขียนซึ่งเข้าใจว่าอะไรคือสารานุกรมที่ดีที่ควรจะเป็น ซึ่งผสานกับเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิลด้วยจึงช่วยให้วิกิพีเดียสยายเครือข่ายออกไปอีก

-Profit Model ก็เช่นกันเราต้องเปลี่ยนไปจากเดิม  เราคิดว่าเราทำ  เราต้องได้ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่ายิ่งเราเปิดเราต้องได้  กรณีตัวอย่างธุรกิจที่ใช้โมเดลนี้ Second Life ที่สร้างโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้มีโลกที่สอง หรือโลกไซเบอร์ที่คู่ขนานกับโลกแห่งความจริง เพราะชีวิตจริงถูกจำกัดด้วยกฏเกณฑ์ กฏหมาย และบทบาทหน้าที่ตามสังคมและจริยธรรม  Second Life

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในโลกที่สองจำเป็นต้องจ่ายเพื่อทุกสิ่ง รวมถึงเสื้อผ้า บ้าน ที่ดิน บริการ หรือแม้แต่อวัยวะ (ในโลกไซเบอร์) และระบบทางการเงิน (หน่วยเป็น Linden Dollar) มีการซื้อขายโดยใช้เงินจากโลกแห่งความจริง นั่นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจชิ้นใหญ่  ผู้เล่นแต่ละคนสามารถสร้างธุรกิจด้วยตัวเองได้ใน Second Life

ความสำเร็จของโลกแห่งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น ยิ่งผู้เล่นมากเท่าไร โอกาสทางธุรกิจใน Second Life ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ส่วนรายรับจากโลกแห่งนี้มาจากค่าธรรมเนียมในการใช้บริการแอพพลิเคชั่นต่างๆ และจากการขาย Linden Dollars   

ที่มาบทความ : businessthai.co.th

อัพเดทล่าสุด