7 แนวโน้มการจัดการความรู้ระดับโลก


890 ผู้ชม


7 แนวโน้มการจัดการความรู้ระดับโลก




7 แนวโน้มการจัดการความรู้ระดับโลก

 

ในโลกของทุนนิยม ขีดความสามารถองค์กรอาจจะชี้วัดกันที่ ผลปฏิบัติงานเป็นเลิศ (high performance organization)

ทว่าในโลกของเศรษฐกิจองค์ความรู้ (knowledge economy) ความโดดเด่นจนประกายกระทบสายตา กลับเป็นเรื่องของ การมุ่งผลสัมฤทธิ์แห่งองค์ความรู้ (knowledge performance organization)

และเนิ่นนานวัน ดอกผลแห่งความรู้นี้ ก็ยิ่งแตกกิ่งผลิยอดแทงสูงเสียดฟ้า

ดอกเตอร์โรรี่ แอล. เชซ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทเลออส จำกัด ที่ปรึกษาระดับโลกทางด้านการจัดการความรู้ จากประเทศอังกฤษ ใช้ 8 เกณฑ์ขององค์กรที่ดึงความรู้มาเป็นตัวนำในโลกธุรกิจยุคใหม่ ภายใต้ชื่อว่า MAKE : Most Admired Knowledge Enterprises ซึ่งเป็นผลวิจัยที่มาจากการเปรียบเทียบทุกประเทศในทุกทวีป ทั้งระดับโลก เอเชีย ยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ

8 มิติที่ว่า เป็นการมองถึง 1. ธุรกิจที่ใช้องค์ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร (organizational culture) 2. การพัฒนาแรงงานมีความรู้ผ่านผู้บริหารระดับอาวุโส (knowledge leaders) 3. การส่งมอบรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ บนฐานความรู้ (innovation)

4. การสะสมทุนทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง (enterprise intellectual capital) 5. สรรค์สร้างบรรยากาศของความร่วมไม้ร่วมมือและแบ่งปันความรู้ (collaboration) 6. พัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (organizational learning) 7. ส่งมอบคุณค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้าที่นับวันจะฉลาดขึ้น (managing customer knowledge) และ 8. แปลงรูปจากองค์กรมีปัญญาสู่อาณาจักรแห่งความมั่งคั่ง (transforming knowledge into wealth)

ปีที่ผ่านมาผลวิจัยของ Global MAKE Winners สะท้อนว่า อเมริกาเหนือยังคงเป็นสุดยอดองค์กรแห่งคลังปัญญา เพราะมี 8 บริษัทชั้นนำจากทวีปนี้ติดอยู่ในอันดับ ขณะที่เอเชียกับยุโรปกอดคอกันมา ด้วยการคว้าไปคนละ 4 บริษัทในรอบชิงชนะเลิศ

MAKE Winners จากเอเชีย ที่หลายคนคุ้นหน้ากันดีในปีที่แล้ว ก็อย่างเช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ส, ฮอนด้า มอเตอร์, โตโยต้า, ซัมซุง, ทาทา สตีล และไวโปร เทคโนโลยี

ขณะที่ MAKE Winners ฝั่งยุโรป มีบางบริษัทเคยติดอันดับมาจากหลายเวที เช่น โนเกีย อีริคสัน บีพี สถานีโทรทัศน์บีบีซี โรลส์รอยซ์ และรอยัล ดัช เชลล์

ส่วน MAKE Winners ในอเมริกาเหนือ ล้วนแล้วแต่เป็นกระดูกเบอร์ 1 ทางด้านการจัดการอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม กูเกิล ฮิวเลตต์แพคการ์ด แคเตอร์พิลล่าร์ และแอร์ โปรดักส์

ซึ่งเมื่อมองภาพรวมของ MAKE Winners ระดับโลก โรรี่กล่าวว่า หลายองค์กรมีความแข็งแกร่งทั้งระดับภูมิภาคและบนเวทีโลก อย่างเช่น อินเทล ไมโครซอฟท์ แอปเปิล ไอบีเอ็ม 3 เอ็ม โตโยต้า ซัมซุง วิกิพีเดีย กูเกิล จีอี แม็คคินซี่ และแอคเซนเจอร์

สิ่งที่น่าสนใจคือ องค์กรที่อัดแน่นด้วยขุมทรัพย์ปัญญาสูงสุดจะมาจากกลุ่มธุรกิจคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และไอทีโซลูชั่น รองลงมาเป็นธุรกิจให้บริการและที่ปรึกษา ถัดไปถึงจะเป็นธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิต

ด้วยสถานะภาพที่โดดเด่น องค์กรเหล่านี้สามารถแปลงความรู้ สู่ดอกผลใหม่ๆ ในเกือบทุกมิติ อย่างเช่น การตอบแทนผู้ถือหุ้น การเพิ่มรายได้ สร้างมูลค่าสินทรัพย์ การสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ และการเพิ่มงบใช้จ่ายในวิจัยและพัฒนา

โรรี่ชี้ว่า องค์กรสามารถเรียนรู้ได้จากบรรดาบริษัทระดับพระกาฬเหล่านี้ ทั้งการทำความเข้าใจถึงวิธีคิด แบบอย่างพฤติกรรม รวมถึงการตั้งเป้าหมายที่จะสร้างองค์กรมีความรู้ระดับโลก (a world class knowledge organization) เพราะถือว่าเป็นทางออกที่เหลือไม่มากนัก ในการทำธุรกิจให้อยู่รอด ท่ามกลางการแข่งขันปัจจุบัน

แนวโน้มการจัดการความรู้ระดับโลก (global knowledge management trends) ในมุมมองของเขา ระบุว่ามี 7 แนวทางที่สำคัญคือ

1. ผู้นำองค์กรในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ยุโรปและอเมริกาเหนือ ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในการสร้างแรงงานมีความรู้เข้ามาต่อยอดให้ธุรกิจ

2. ธุรกิจเกือบทั่วทุกมุมโลก ต่างเปิดหูเปิดตาและยอมรับแล้วว่า ความสามารถทางด้านนวัตกรรม ถือเป็นขีดความสามารถหลักของธุรกิจที่จะขาดเสียมิได้

3. องค์กรในทวีปเอเชีย และอเมริกาเหนือ ต่างก็ล้มเหลวในการปรับใช้ทุนทางปัญญาที่ได้มาจากฝั่งยุโรป

4. ประสิทธิภาพในการสานสายสัมพันธ์กับลูกค้าที่แสนชาญฉลาด ถือเป็นเรื่องที่ชักช้าไม่ได้ และเป็นตัวชี้วัดที่ดีสำหรับองค์กรที่ต้องการเติบโตในระดับโลก

5. บริษัทในบางประเทศอย่างเช่น บราซิล และจีน พยายามกลับลำจากที่เคยมุ่งแต่ตลาดเดิมๆ แข่งขันกันตัดราคา มาเป็นการพลิกกระบวนท่าสู่การผลักดันความรู้ให้ไปขับเคลื่อนธุรกิจ

6. ในปี 2012 จะมีบริษัทผู้นำระดับโลกไม่น้อยกว่า 3-5 ราย มาจากแต่ละภาคธุรกิจหลักๆ

7. สารานุกรมวิกิพีเดียได้แสดงให้เห็นถึง รูปแบบใหม่ๆ ของ Global MAKE Winners ว่าไม่จำเป็นต้องมาจากองค์กรที่ใหญ่โต แต่ภายใต้การรวมตัวกันของปัจเจกบุคคลจนเป็นชุมชนบนโลกไร้พรมแดน เท่านี้ก็สามารถส่งมอบความรู้ในสินค้าและบริการได้อย่างทั่วถึงกันไม่รู้จบ

ทุกวันนี้วิกิพีเดียถือเป็นการเรียนรู้ที่ดีสำหรับโลกอนาคต และเป็นสุดยอดบทเรียนในฝึกปรือ KM (Knowledge Management)

ในโลกของทุนนิยม ขีดความสามารถองค์กรอาจจะชี้วัดกันที่ ผลปฏิบัติงานเป็นเลิศ ทว่าในโลกของเศรษฐกิจความรู้ มีแต่การมุ่งผลสัมฤทธิ์แห่งองค์ความรู้เท่านั้น ที่จะสร้างประกายโดดเด่น

จนกระทบทุกโสตสายตา...

เรียบเรียงจากงานประชุมวิชาการ “Technology and Innovation for Knowledge Management” ครั้งที่สอง หัวข้อเรื่อง Creating a World Class Knowledge Organization จัดโดย Asian Productivity Organization & National Productivity Council ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย กลางเดือนก.พ. ที่ผ่านมา

*** ขออภัยในความผิดพลาดฉบับเมื่อวันศุกร์ที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา จากหัวข้อข่าวนำ “6 ความท้าทาย KM ในอีกทศวรรษ” HR&M Section ลงชื่อบรรยายใต้ภาพผิดเป็น “ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์” ที่ถูกต้องคือ “รอน ยัง” ทางกองบรรณาธิการขอกราบอภัยมา ณ ที่นี่

ที่มา : bangkokbiznews.com

อัพเดทล่าสุด