ปรัชญา 7 ดี 7 เก่งสร้างไทยประกันชีวิต ไชย ไชยวรรณ
ปรัชญา 7 ดี 7 เก่งสร้างไทยประกันชีวิต ไชย ไชยวรรณ
ต้องยอมรับว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา นับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 "ไชย ไชยวรรณ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ได้วางค่านิยมขององค์กรเกี่ยวกับตัวแทนของไทยประกันชีวิตทุกคนว่าจะต้องเป็นมากกว่าตัวแทนประกันชีวิต
ทั้งนี้ เพราะ "ไชย" คิดว่าในโลกแห่งการแข่งขันทางธุรกิจประกันชีวิตสามารถตามทันกันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถตามทันกันได้คือการสร้างคน
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ตลอด 10 กว่าปีหลังตัวแทนของไทยประกันชีวิตทุกคนจึงผ่านการเคี่ยวกรำอย่างหนัก ทั้งในเรื่องของการฝึกอบรมพนักงาน การเสริมสร้างหลักสูตรใหม่ๆ รวมถึงการตอบสนองความต้องการของลูกค้า
โดยมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างบริษัทและลูกค้า ที่สำคัญยังทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์
มูลเหตุดังกล่าวนี้เองจึงทำให้ในปี 2550 บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด สามารถผลิตเบี้ยประกันที่เกิดจากธุรกิจใหม่ได้สูงถึง 9,600 ล้านบาท หรือเติบโตสูงถึง 90%
นอกจากนั้น บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ยังพิสูจน์ตัวเองตามปรัชญาที่บอกว่า "ไทยประกันชีวิตเป็นมากกว่าการประกันชีวิต" เพราะไม่นานจากนั้นบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด รับการจัดอันดับเครดิต A- จากสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลก โดยได้รับรางวัล Asian Insurance Industry Awards และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
"ผมมองว่าทิศทางจากวันนี้ไปสู่อนาคต เราไม่มองตัวเราเองเป็นแค่บริษัทประกันชีวิตอีกต่อไป แต่เราจะดูแลผู้เอาประกันทุกช่วงของชีวิต ทั้งยามปกติและฉุกเฉิน รวมถึงการเพิ่มคุณค่าของชีวิตและเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้กับชีวิต รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับผู้เอาประกันของเรา"
เหตุผลนี้เองจึงทำให้ "ไชย" ตั้งเป้าในปี 2551 ที่จะต้องได้รับเบี้ยประกันรับรวม 29,000 ล้านบาท มิหนำซ้ำยังตั้งเป้าในการสร้างบุคลากรฝ่ายขายใหม่อีกประมาณ 20,000 คน
เพื่อให้สอดรับกับการเปิดเสรีทางการเงิน การออกกฎหมายใหม่และการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี
เพราะ "ไชย" มองเห็นว่าบุคลากรทางด้านตัวแทนประกันชีวิตจะต้องเป็นมากกว่าตัวแทนประกันชีวิต คือจะต้องเป็นผู้วางแผนดูแลชีวิตลูกค้า (life planner) และจะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้และรู้รอบแบบ 360 องศา
โดย "ไชย" เรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า "ยุทธศาสตร์การพัฒนาฝ่ายขาย" อันประกอบด้วย 7 ปรัชญาแห่งความดี และ 7 ปรัชญาแห่งความเก่ง
ซึ่ง 7 ปรัชญาแห่งความดีนั้น "ไชย" บอกว่าจะต้องประกอบไปด้วย 1.การเป็นวิศวกรสังคม คือจะต้องสร้างสังคมให้เข้มแข็ง อบอุ่น หรือการทำดี 2.มีทุนวัฒนธรรมที่สำคัญของคนไทย คือมีน้ำใจดี 3.มนุษย์นิยม คือเชื่อในความดีของผู้อื่น เช่นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน
4.คุณประโยชน์ภิบาล คือคิดถึงคุณประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าแสวงหากำไร หรือหวังดี 5.มีหิริโอตัปปะ คือมีความละอายต่อการทำผิด มีจริยธรรม หรือคิดดี 6.มีนวัตกรรมทางความคิดและปัญญา มีความรอบรู้และรู้รอบ หรือรอบรู้ดี 7.เป็นคนไทยที่มีมาตรฐานระดับสากล หรือมีมาตรฐานดี คือมีความเป็นมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์
เช่นเดียวกันใน 7 ปรัชญาแห่งความเก่งที่จะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้และรู้รอบทั้ง 7 ด้าน หรือ 7 เก่ง จะต้องประกอบไปด้วย 1.ความรู้เรื่องการประกันชีวิต 2.ความรู้เรื่องการเงิน การลงทุน และภาษี 3.เทคโนโลยี 4.การศึกษา 5.การแพทย์ 6.จิตวิทยา และ 7.จะต้องมีจิตใจในการให้บริการ
ซึ่ง 7 ปรัชญาแห่งความดี และ 7 ปรัชญาแห่งความเก่งนั้น "ไชย" บอกว่าจะต้องไปสอดคล้องและสอดรับกับเรื่องแนวทางในการพัฒนาบุคลากร แนวทางในการพัฒนาตัวแทนสู่ผู้วางแผนดูแลชีวิต (life planner) และจะต้องไปสอดคล้องกับเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มเติมด้วย
ยิ่งเฉพาะในเรื่องของแนวทางการพัฒนาบุคลากร "ไชย" บอกว่า แนวทางในการพัฒนาบุคลากรของไทยประกันชีวิตจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ พนักงานสำนักงานใหญ่ พนักงานสาขา และพนักงานฝ่ายการตลาด
"โดยการพัฒนาบุคลากรของสำนักงานใหญ่ จะแบ่งเป็นระดับปฏิบัติการ และระดับบริหาร โดยพนักงานในระดับปฏิบัติการจะให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความรู้พื้นฐานด้านการประกันชีวิต สินค้า และการบริการของบริษัท การทำงานเป็นทีม การสอนงาน การดำเนินธุรกิจเบื้องต้น และการเสริมสร้างศักยภาพ ทั้งนี้เพื่อสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพ"
"ส่วนสำหรับพนักงานระดับบริหาร จะต้องเข้าใจการบริหารจัดการในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงต้องเข้าใจการดำเนินธุรกิจในภาพรวม การแก้ปัญหา การตัดสินใจ การวางแผน และการวางแผนเชิงกลยุทธ์"
"เช่นเดียวกัน แนวทางในการพัฒนาบุคลากรสาขา เขาจะได้รับการอบรมตามหลักสูตรมาตรฐาน เช่น การสัมมนาเจ้าหน้าที่สาขา หัวหน้างาน สมุห์บัญชี และ ผู้จัดการสาขา ส่วนความรู้ด้านอื่นๆ เช่น การบริการ การสอนงาน คอมพิวเตอร์ การบริหารเบื้องต้น เราก็จะมีหลักสูตรมินิเอ็มบีเอ โดยอบรมร่วมกับบุคลากรสำนักงานใหญ่ และฝ่ายการตลาด"
"ส่วนการพัฒนาบุคลากรฝ่ายการตลาด จะต้องรับการฝึกอบรมและพัฒนาในเรื่องการประกันชีวิต สินค้า การบริการ การขาย การสร้างทีมงาน นอกจากนั้นเรายังมีหลักสูตรที่จัดทำเป็นมาตรฐาน เช่น ตัวแทนมาตรฐานหน่วย/ศูนย์มาตรฐาน เทคนิคการขาย การบริการตามเงื่อนไขกรมธรรม์ การวางแผนการขาย การวิเคราะห์ลูกค้า และการบริหารการเงินบุคคล"
ซึ่งเหมือนกับแนวทางในการพัฒนาตัวแทนสู่ผู้วางแผนดูแลชีวิต (life planner) ก็จะต้องมีคุณสมบัติ 7 ดี และ 7 เก่ง ที่จะต้องเป็นให้ได้ทั้งนักวางแผนทางการเงิน การพัฒนาเครื่องมือการขาย คู่มือการใช้ อันประกอบด้วยหลักสูตรการวางแผนความพร้อมทางการเงิน
แบบสำรวจความพร้อมทางการเงิน คู่มือนักวางแผนความพร้อมทางการเงิน โปรแกรมการวางแผนทางการเงิน และวีซีดี สมุดภาพ
นอกจากนั้น ยังจะต้องมีหลักสูตร Cross Roads เพื่อสร้างทีมงานในระดับสากล และทราบความแตกต่างระหว่างการขาย และการบริหารงานขาย
หลักสูตร Thai Life Professional ซึ่งเป็นหลักสูตรส่งเสริมการสรรหาบุคลากรใหม่ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจประกันชีวิต พร้อมกับมีทักษะสำหรับงานขายด้วย
สำคัญไปกว่านั้น ในส่วนของแนวทางการพัฒนาตัวแทนสู่ผู้วางแผนดูแลชีวิต (life planner) ยังมีโครงการ Seize the day โดยเชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาบรรยายให้กับบุคลากรฝ่ายการตลาด ทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดคือหลักสูตร FAST อันได้แก่
F-Finance
A-Advisor
S-Skill
T-Training
นอกจากนั้น ยังมีโครงการนักขายไร้ขีดจำกัดที่ได้รับการอบรมการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายที่ไม่เพียงทำให้บุคลากรฝ่ายขายมีความชำนาญมากขึ้น หากยังสามารถทำให้มีโอกาสรับข่าวสารจากระบบสารสนเทศของบริษัทด้วย
โดยในส่วนนี้ "ไชย" บอกว่า บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณแบบไร้สาย (Wi-Fi Hotspots) ที่สำนักงานสาขา รวมถึงติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บุคลากรฝ่ายขายสามารถใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายได้ทุกที่ทุกเวลาทุกสถานการณ์
ที่สำคัญอีกอย่างคือ แนวทางในการ ส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะที่ผ่านมาบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ได้จัดทำระบบการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต (E-learning) ตั้งแต่ปี 2547 โดยผ่าน www. thailife.com/e-learning
ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้บุคลากรของบริษัท รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจประกันชีวิต
แต่ปัจจุบันบริษัทได้ขยายองค์ความรู้เพิ่มเติมด้วยการจัดทำเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยใช้ชื่อว่า Sawasdee TL เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรด้วยการเชื่อมโยงการเรียนรู้ของพนักงาน ทั้งพนักงานสาขา และสำนักงานใหญ่
ฉะนั้น จะเห็นว่าในปี 2551 เป็นต้นไป "ไชย" จึงไม่ได้มองเรื่องของธุรกิจประกันชีวิตแค่เพียงเป็นธุรกิจระหว่างตัวแทนกับลูกค้าและบริษัทอีกต่อไป แต่เขากำลังมองธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างไรถึงจะมีความยั่งยืน
ซึ่งเหมือนกับที่เขาถอดรหัสความคิดออกมาว่า การที่จะทำให้บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ก้าวต่อไปในระดับสากลและมีความยั่งยืน หนทางเดียวเท่านั้นที่ทำได้คือ ต้องสร้างคนของไทยประกันชีวิตทุกคนให้เป็นคนดีและคนเก่ง
บนความเชื่อของหลักปรัชญา 7 ดี 7 เก่งนั่นเอง ?
หน้า 33
ที่มา : matichon.co.th