ปลุกพลังจิตทั้ง 5 สร้าง "Creating Mind"
ปลุกพลังจิตทั้ง 5 สร้าง "Creating Mind"
นั่นคือการพัฒนาทุนมนุษย์จะต้องสร้างให้คนรู้จักบริโภคและนำความรู้ออกมา เผยแพร่ แบ่งปันสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ๆ
การสัมมนาล่าสุดของโครงการพัฒนาศูนย์เครือข่ายองค์ความรู้สาธารณะด้านการจัดการทุนมนุษย์ จึงได้หยิบทฤษฎีของศาสตราจารย์ Howard Gardner นักวิชาการด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด Five Minds for the Future ซึ่งประกอบด้วย จิต 5 ด้าน 1.จิตแห่งวิทยาการ (disciplined mind) 2.จิตแห่งการสังเคราะห์ (synthesizing mind) 3.จิตแห่งการสร้างสรรค์ (creating mind) 4.จิตแห่งความเคารพ (respectful mind) 5.จิตแห่งคุณธรรม (ethical mind) มาสื่อสารผ่านผู้รู้เพื่อให้คนในสังคมเข้าใจหัวใจการบริหารคนในเรื่องของจิตว่าสำคัญแค่ไหน
เพราะที่สุดแล้ว จิตคือสิ่งที่จะนำพาทุนมนุษย์ไปสู่อนาคตที่มีประสิทธิภาพ
"พิชัย วาศนาส่ง" ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สุดยอดของนักวิเคราะห์ข่าวของเมืองไทย ได้ถอดบทเรียนตั้งแต่เมื่อครั้งผันตัวเองจากสถาปนิกใหญ่มานั่งวิเคราะห์ข่าวหยิบโลกที่รู้จักมาเล่าให้ประชาชนทั่วประเทศฟังเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพจิตของการสังเคราะห์ว่า ทั้งหมดเกิดจากการวิเคราะห์ตัวเองว่าคำตอบของชีวิตคือการรับใช้คนที่เอาสตางค์มาจ้างให้เขียนแบบครั้งละหมื่น สองหมื่น เท่านั้นหรือ แล้วสิ่งที่เป็นความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เด็กมีอีกมากมายทำไมไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จะได้ทำให้สาธารณชนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมาก ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มหันมาวิเคราะห์ข่าว
ตรงนี้เรียกว่าจิตวิเคราะห์ เริ่มต้นจากวิเคราะห์ตัวเองว่าจะเดินไปทางไหน จากนั้นก็อ่านหนังสือพิมพ์อย่างระมัดระวัง เอาข่าวทั้งในอดีตและปัจจุบันมาประมวลแล้วมองต่อไปถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร โดยอาศัยความรู้พื้นฐานในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าคำตอบคืออะไร ตรงนี้นี่แหละคือ สัจธรรม ถ้าอยากได้ความจริงจะต้องรู้จักสังเคราะห์หรือวิเคราะห์
"อย่าเชื่อในสิ่งที่เล่าลือกันมา อย่าเชื่อสิ่งที่ครูสอนให้เชื่อ หรือแม้กระทั่งญาติพี่น้อง แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ความจริงก่อนจึงเชื่อ"
พิชัยเล่าว่า ในช่วงที่หาสตางค์อยู่ก็ไม่เคยละทิ้งความรู้ที่ได้ในช่วงที่บวชเป็นสามเณร คือ ไตรสรณคมน์ พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เราควรวิเคราะห์มากที่สุดว่าท่านได้ตรัสรู้มาได้อย่างไร
"ธรรมะ" มาจากคำว่า "ธรรมชาติ" เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรม พระพุทธเจ้าเสด็จไปทุกหนทุกแห่ง จึงได้พบความจริงว่า การดำเนินชีวิตของคนก็เหมือนกับฤดูกาลต่างๆ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฤดูใบไม้ผลิก็ดูสดใสเบิกบาน ฤดูใบไม้ร่วงก็เปรียบเหมือนคนชราที่ต้องร่วงโรยไปตามกาลและเวลา
เช่นเดียวกัน ดร.พัชนี จันทร์น้อย ผู้อำนวยการใหญ่สังกัดสำนักงานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตัวแทนแห่งจิตวิทยาการ ซึ่งเชื่อว่าพระพุทธเจ้าคือศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องจิตมากที่สุด
ดร.พัชนีลำดับย่างก้าวในชีวิตให้ฟังว่า หลังจากจบบัญชี จุฬาฯ ได้เข้าทำงานการบินไทยในแผนกการเงิน ปรากฏว่าพอทำไประยะหนึ่งก็เห็นว่านี่ไม่ใช่คำตอบในชีวิต เรียนมาตั้งเยอะแต่ต้องมานั่งนับเงินปิดบัญชีแล้วจบ จึงผันตัวเองไปเป็นแอร์ พอแต่งงานก็มาตั้งหลักใหม่ทำงานในตำแหน่งออดิเตอร์ (auditor) ต่อมาขยับมาทำงานด้านธุรการ
คราวนี้เห็นภาพรวมการทำงานทั้งระบบ พนักงานทุกคนเติบโตในแนวดิ่ง
มาถึงขั้นนี้จึงเกิดความคิดอยากทดแทนคุณบริษัทในฐานะอู่ข้าว อู่น้ำ ด้วยประสบการณ์ที่ทำงานมาในหลายแผนกก็กระโดดเข้ามาทำงานด้าน HR ใช้ความรู้ มัลติสกิลและความสัมพันธ์ที่มีกับแผนกต่างๆ ทำงานให้เกิดประโยชน์กับองค์กร
เมื่อมองเห็นว่าโครงสร้างองค์กรที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะนำศักยภาพของพนักงานที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็เริ่มจัดทำแผนงานดึงศักยภาพของพนักงานออกมา ชี้ให้ทุกคนเห็นว่ามนุษย์เกิดมาต้องเรียนรู้ตลอดเวลา
หากจะตั้งคำถามว่า 5 จิตคิดเพื่ออนาคตอยู่แถวไหน ทั้งหมดอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่จะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ขั้นแรกจะต้องทำให้ ทุกคนอยากเรียน อยากรู้ เมื่อเรียนรู้แล้ว ต้องรู้ให้ลึกแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเองกับองค์กรให้ได้ นั่นคือหลักสัปปุริสธรรม อิทธิบาท 4 สังคหวัตถุ 4 พละ 5 ที่ทำให้คนมีปัญญา เพราะเมื่อมีปัญญาแล้วจึงจะสามารถนำความรู้ไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์กับวิกฤตการณ์ข้างหน้าได้
ด้าน กอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒน วรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา (ประเทศไทย) จำกัด แม้จะเป็นสาวคิวทองแต่เธอก็ย้ำทุกครั้งว่า ทุกคน ในองค์กรมีความสำคัญเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หรือคนขับรถ หรือแม่บ้าน
บางทีเราเลือกชีวิตไม่ได้แต่เราต้องเดินไปด้วยกันในอนาคต ศรัทธาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อคนมีศรัทธาจะมีใจที่จะทำทุกอย่างได้
เป้าหมายหลักในการทำธุรกิจของ โตชิบา เงินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเงิน คือ ประโยชน์สุขของพนักงานทุกคนในองค์กร
ตัวอย่างหนึ่งที่ได้หยิบยกมาพูดให้ พนักงานฟังเสมอๆ นั่นคือ เจ้าชายน้อย หนังสือเด็กที่ทำให้ผู้ใหญ่อ่าน
"คนเมื่อโตขึ้นจะอยู่ในกรอบมากขึ้น มุมมอง 360 องศาจะลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดเหลือแค่ทางเลือกเดียว ฉะนั้นทำอย่างไรจะกระตุ้นจินตนาการที่ทุกคนมีตอนเด็กๆ ออกมาได้ เพราะคนที่มีเจ้าชายน้อยอยู่ในตัว "เงิน" จะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย จะไม่มีคำว่างบฯไม่พอ เงินเท่าไรก็สามารถสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งตรงจุดนี้สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจมาก"
นอกเหนือจากเจ้าชายน้อยแล้ว ที่ โตชิบายังมีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือการปั้นดินให้เป็นดาว ให้โอกาสทุกคนได้ค้นพบตัวเอง โดยจัดกิจกรรมให้พนักงานทุกคนได้มีโอกาสได้ขึ้นไปแสดงทรรศนะบนเวที และกิจกรรมนี้ทำให้โตชิบาค้นพบเพชรเม็ดงามหลายเม็ดในบริษัท
สุดท้ายคือ เรื่องราวของอเล็กซานเดอร์เดอะเกรท สามารถรบชนะได้ทั้งๆ ที่ทหารก็น้อยกว่า อาวุธก็น้อยกว่า เพราะทีมเวิร์กที่ดี ถ้าองค์กรรู้จักบริหารคนบนความแตกต่าง ให้มีความศรัทธาองค์กรจะก้าวไปได้ไกล
ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ chief learning officer บริษัท 37.5 องศาเซลเซียส จำกัด ตัวแทนแห่งจิตการสร้างสรรค์ตบท้ายรายการว่า คนเราเมื่อไรก็ตามที่คิดว่าหมดก็หมด แต่ก็เมื่อไรก็ตามที่บอกกับตัวเองว่าอย่าทำแบบเดิมสมองก็จะประมวลแล้วสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้อยู่ที่ไหนแต่อยู่ในสมองของทุกคน เพียงแต่ว่าไม่ได้ถูกนำมาใช้เท่านั้นเอง
หน้า 35
ที่มา : matichon.co.th