สนุกกับการเตรียมตัว ทำธุรกิจส่งออก


1,181 ผู้ชม


สนุกกับการเตรียมตัว ทำธุรกิจส่งออก




มีข้อดีตั้งมากมายที่คนรุ่นใหม่หันมาทำธุรกิจของตนเอง กันมากขึ้น

หนึ่งในข้อดีที่สัมผัสได้คือความสบายใจในการทำงาน เพราะเราเปลี่ยนบทบาทกลายเป็นนายของตนเองแล้ว ยิ่งถ้าพัฒนาธุรกิจที่เรารัก จนกลายเป็นสินค้าทำเงินอย่างมหาศาล และสามารถโกอินเตอร์ได้อย่างสมใจแล้วละก็ เป็นใครก็ต้องเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจด้วยกันทั้งนั้น

เหล่าคนดังที่ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ

มีคนดังตั้งมากมายในโลกแห่งการทำงานที่ประสบ ผลสำเร็จจากธุรกิจที่เขารัก และทุ่มเทใจอย่างเต็มที่ ดูอย่าง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ เขาลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ของตนเอง ตอนนั้นเขาไม่สนใจใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแม้แต่น้อย หรือแม้แต่กรณีของ ลี คา ชิง มหาเศรษฐีชื่อดังของฮ่องกง ย้อนประวัติชีวิต พบว่าเขาเสียพ่อตั้งแต่เด็ก เขาต้องดิ้นรนทำงานอย่างหนัก งานแรกของเขา คือการทำงานในโรงงานพลาสติก เขาสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานหนัก จนก้าวขึ้นสู่การเป็นเจ้าของกิจการของตนเอง ตอนนี้เขามีธุรกิจตั้งหลายอย่างอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในสายอสังหาริมทรัพย์ ท่าเรือ โทรคมนาคมการสื่อสารและการพลังงาน

มีวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน

ก่อนทำธุรกิจส่งออกเราต้องตั้งเป้าเลยว่าเราต้องการให้อนาคตของธุรกิจออกมาในรูปแบบใด ภาพรวมและทิศทางของธุรกิจต้องชัดเจน เมื่อภาพชัดเจนแล้ว ทีนี้ก็ง่ายแล้ว เพราะเรามีเครื่องนำทาง คอยกำหนดทิศทางให้ธุรกิจของเรากลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างเช่น สตีฟ จ็อบส์ นักธุรกิจชั้นแนวหน้าที่ประสบผลสำเร็จ เขาเป็นหนึ่งใน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิล ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลนับพันล้านเหรียญสหรัฐ ทว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาแลดูโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ ก็คือ เขามีศักยภาพในการกำหนดทิศทางและเทรนด์ของอนาคตในธุรกิจของตนเองได้ นี่คือจุดเด่นของคนอนาคตไกล

เชื่อมั่นในเป้าหมาย

ยกตัวอย่างนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จตามแนวคิดนี้ เขาคือ ริชาร์ด แบรนสัน จากกลุ่มเวอร์จิน เขาเชื่อมธุรกิจต่างๆ อย่างหลากหลายเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบิน บริษัทเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ด้านดนตรี เขาเป็น ผู้มีบุคลิกภาพที่แน่วแน่ เวลาทำงานก็ตั้งใจจริง เช่นเดียวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นเจ้าของรายการทีวี เขาเป็นคนเชื่อมั่นในจุดหมายปลายทาง

เมื่อคนเรามีจุดหมายอยู่ในใจ จุดหมายจะเป็นเครื่อง นำทางให้เราเดินบนเส้นทางและสู่ความสำเร็จในที่สุด

9 คำแนะนำการทำธุรกิจจากผู้มีประสบการณ์ตรง

ชลวุฒิ วัชรอยู่ (บิ๊ก) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูดี เดคคอเรชั่น (ประเทศไทย) ทำผลิตภัณฑ์สำหรับแต่งบ้านจำหน่าย เช่น ผ้ารองจาน ปลอกหมอนส่งออกไปยัง ต่างประเทศ ขณะนี้สินค้าของเขาชิมลางจำหน่ายอยู่ที่ สยามพารากอน ส่งในเมืองไทย 20 เปอร์เซ็นต์ ส่งตลาดเมืองนอก 80 เปอร์เซ็นต์ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง เขาเปิดเผยขั้นตอนการทำธุรกิจส่งออกไปต่างประเทศว่า สำหรับมือใหม่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนที่มีความฝันอยากทำธุรกิจของตนเองสามารถทำได้

1.ตอบตัวเองให้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร — เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าถ้าผลิตสินค้านี้ออกไปแล้วคิดว่าลูกค้าจะชอบหรือไม่ เช่น การที่เรากำหนดเป้าหมายว่า บริษัทของเราเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงกลุ่ม ที่มีรายได้สูง

2.ศึกษาขั้นตอนการส่งออกอย่างละเอียดและรอบด้าน — อย่าคิดแต่เพียงด้านเดียวว่าเราอยากมีกิจการเป็นของตนเอง เราไม่อยากเป็นลูกจ้างเขาอีกแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องเรียนรู้ขั้นตอนการส่งออกอย่างละเอียด เช่น การเรียนรู้ว่าก่อนส่งออก สินค้าเราต้องมีความพร้อม ต่างประเทศสั่งมากี่ชิ้นเราก็ต้องผลิตให้ได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้

ในการส่งออกสินค้าของเราไปต่างประเทศ เราทำผ่านระบบชิปปิ้ง และจองเรือเพื่อนำสินค้าของเราไปยังจุดหมายปลายทาง "เราต้องเป็นคนติดต่อระบบชิปปิ้งเอง หรือเราอาจเลือกวิธีให้เขามารับสินค้าไปยังท่าเรือก็ได้"

3.ผลิตสินค้าตามแบบที่ลูกค้าต้องการ — หลักสำคัญคือขั้นตอนการทำสินค้า ถ้าทางเมืองนอกสั่งสินค้ามาเป็นพันๆ ชิ้น เราต้องประเมินสถานการณ์ว่าเราจะสามารถ ผลิตได้ตามนั้นหรือไม่ ชลวุฒิ บอกด้วยว่า สินค้าที่ผลิต ต้องมีมาตรฐานและได้ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่ว่าสินค้าเด้งกลับมา เพราะไม่เป็นไปตามที่คุยกัน

4.ให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ — กล่องใส่สินค้าของเราต้องได้รับการบรรจุอย่างดี อย่าคิดว่าเรามั่นใจว่าสินค้า เราดี เราเลยไม่ใส่ใจแพ็กเกจ คิดแบบนี้ไม่ถูก เพราะหากการบรรจุหีบห่อไม่ดี อาจทำให้สินค้าเราได้รับความเสียหายได้ ผู้รับก็จะไม่พอใจ ในกรณีที่เราไม่สะดวกนำสินค้าไปส่งที่ท่าเรือ เราอาจเลือกวิธีให้บริษัทชิปปิ้งที่เราติดต่ออยู่มารับสินค้าตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ตอนแรก

5.ให้ความสำคัญกับชิ้นงาน — ยิ่งถ้าทำธุรกิจสินค้าสำหรับตกแต่งบ้าน เราต้องเข้าใจว่าตัวดีไซน์ต้องมีความ โดดเด่น ชาวต่างชาติเห็นแล้วต้องรู้สึกชอบ เช่น การที่เรา ออกแบบปลอกหมอน และผ้ารองจานให้มีดีไซน์เก๋ ดูเป็นอินเตอร์ ชาวต่างชาติเห็นแล้วพอใจ ยิ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะธุรกิจส่งออกจะเดินหน้าไปในทิศทางใดยังขึ้นอยู่กับ ดีไซเนอร์หรือผู้ออกแบบนั่นเอง

6.กำหนดกลยุทธ์การตลาด — บางครั้งถ้าไม่มีเวลา ทำเอง เราอาจต้องพึ่งตัวแทนจำหน่ายนำสินค้าเราไปเสนอตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ เพื่อให้สินค้าของเราแจ้งเกิดอย่างง่ายดาย รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการทำโบรชัวร์สินค้าเพื่อให้เป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการทำแค็ตตาล็อกสินค้าควบคู่กันไปด้วย

7.เงินทุนต้องเพียงพอ — ต้องเผื่อขาด เผื่อเหลือ อย่าคิดว่าเงินก้อนเดียวจะพอ เราต้องให้ความสำคัญกับการไหลเวียนของเงินทุน อย่าให้เงินชอร์ต ชลวุฒิ ให้คำแนะนำ ส่วนตัวแล้วเขาจะแบ่งรายรับรายจ่ายออกเป็นส่วนๆ ทำอย่างเป็นระบบและต้องมีความชัดเจน ต้องรู้ว่าวันนี้เราจ่ายไป เท่าไหร่แล้ว เสียค่าอะไรไปบ้าง เราต้องประเมินว่าอะไร ควรจ่าย และอะไรที่ไม่ควรจ่าย

8.ประชุมกันสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง — สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีหุ้นส่วนหลายคนนั้น ควรวางกฎเกณฑ์ (แบบยืดหยุ่น) ไปว่าสัปดาห์หนึ่งควรประชุมกัน 1-2 ครั้งเป็นอย่างต่ำ เพื่อที่ว่าจะได้คอยอัพเดตข้อมูลใหม่ๆ กัน เช่น บางคนไปสำรวจตลาดมาจากการพูดคุยกับลูกค้า รับรู้ว่าสินค้าเราถูกใจลูกค้าหรือเปล่า เรานำมาประเด็นมาคุยกันในห้องประชุม ทั้งนี้ ระยะเวลาในการประชุมขึ้นอยู่กับว่าแต่ละครั้งมีประเด็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องพูดคุยกัน ส่วนใหญ่ประชุมกันครั้งละ 1-2 ชั่วโมง ก็น่าจะเพียงพอ

9.บางทีเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะผ่านช่วงเวลาแห่งความ ยากลำบากบ้าง — แนวทางหลักๆ ตอนแก้ปัญหา เวลาที่ธุรกิจเราเจอ "ตอ" คือการแก้ปัญหาตามความเชื่อของเราเอง ทว่าในความเป็นจริง ประสบการณ์ตรงก็ทำให้เราเรียนรู้การแก้ปัญหาที่อยู่นอกเหนือตำราได้เป็นอย่างดี

เขาฝากด้วยว่าในการทำธุรกิจส่งออก เราต้องมีความ ตั้งใจทำงานจริง อดทน และอย่ารีบร้อน เขามีมุมมองว่า อาจจะเป็นการลงทุนเยอะในตอนแรก แต่เราก็ต้องอดทนกับเม็ดเงินเยอะที่เสียไปตอนที่เราเริ่มทำธุรกิจใหม่ สิ่งสำคัญคือต้องใจเย็น แล้วสักวันหนึ่งความสำเร็จจะเป็นของคุณ

หลักอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาประกอบ

- ต้องดูด้วยว่าสินค้าของเรามีความโดดเด่นหรือไม่ และควรผลิตสินค้าที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันหมด เช่น ทำสินค้าสำหรับตกแต่งบ้านอย่างเดียว

- ดูทิศทางของตลาด และดูทิศทางลูกค้าควบคู่กันไป

- สำรวจดูด้วยว่าเงินทุนของเราเพียงพอหรือไม่

- ใจเย็น ย้ำกับตัวเองว่าเป้าหมายของเราคืออะไร

- ท้อได้ แต่ต้องไม่ยอมแพ้

 

ที่มา : โพสต์ทูเดย์


อัพเดทล่าสุด