กลยุทธ์ สู่การเป็นผู้จัดการ ระดับโลก


722 ผู้ชม


กลยุทธ์ สู่การเป็นผู้จัดการ ระดับโลก




Post Today - ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ อาจไม่ใช่ผู้นำที่ดีในสายตาของพนักงานในองค์กร ดังนั้นการผนวกคุณสมบัติทั้งสองอย่างให้อยู่ในคนคนเดียวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย (แต่ก็ไม่ยากหากจะทำ) ในงานเสวนา “On Becoming A Global Manager” หรือ กลยุทธ์เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้จัดการระดับโลก ที่จัดขึ้นโดยโครงการศศินทร์สู่สังคม สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ โชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจฟาร์มโชคชัย ได้ร่วมกันเผยกลยุทธ์การเป็นผู้จัดการระดับโลก ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นผู้นำที่ดีและการก้าวสู่ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จไว้อย่างย่อๆ เพื่อเป็นคู่มือหรือแนวทางให้ผู้จัดการทั้งหลายนำไปประยุกต์ใช้กับตนเองและองค์กรต่อไป

กลยุทธ์ สู่การเป็นผู้จัดการ ระดับโลกผู้จัดการโลกาภิวัตน์

       ผู้บริหารหนุ่มแห่งฟาร์มโชคชัย ให้คุณสมบัติของผู้จัดการระดับโลกาภิวัตน์ ไว้ว่า สิ่งแรกคือ นอกจากจะต้องเป็นผู้มีความสามารถอย่างแท้จริงแล้ว จะต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีวิสัยทัศน์ในการมองเห็นเป้าหมายและบริหารงานไปด้วยกัน ขณะที่ผู้บริหารค่ายดีแทค ระบุหนทางสู่ความเป็นผู้นำระดับโลกาภิวัตน์ 4 ข้อ ซึ่งเน้นไปที่เรื่องการบริหารคนมากกว่าบริหารงาน คือ

  1. ไม่ต้องอ่านหนังสือ วิธีนี้อาจดูขัดแย้งกับสิ่งที่คนไทยเคยรับรู้และปลูกฝังมา แต่สำหรับผู้บริหารตาน้ำข้าวอย่างซิคเว่ กลับมองว่าถ้าอยากจะรู้จักคนไทย ก็ให้เข้าไปรู้จักตัวจริงและเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจริงๆ ดีกว่าการนั่งอ่านหนังสือเปิดตำราเพียงอย่างเดียว
  2. อย่าอยู่กับคนที่คุณคุ้นเคย นั่นหมายถึง ให้ออกจากสิ่งที่ทำให้สะดวกสบายหรือความคุ้นเคยเก่าๆ ซึ่งตัวอย่างที่ ซิคเว่ ปฏิบัติคือ การได้ไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สะดวกสบาย รวมถึงเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเข้าไปเรียนรู้วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนไทย “การจะเป็นผู้นำระดับโลก คุณจะต้องคิดกลยุทธ์ที่แตกต่างในวัฒนธรรมที่แตกต่าง คุณจะต้องเข้าใจวัฒนธรรมของเขาเพื่อวางแผนอย่างเหมาะสม เวลาที่อยู่ในวัฒนธรรมไหนเราก็จะได้คำถามที่แตกต่างไป ถ้าคุณไม่เรียนรู้ที่จะอยู่ในวัฒนธรรมของเขา คุณก็จะตอบสนองความต้องการของเขาไม่ได้” ซิคเว่ กล่าว
  3. ดูว่าตัวเองมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ทุกคนย่อมมีข้อดีและข้อเสียในตัวเอง เมื่อรู้ว่าตนเองมีข้อดีด้านไหนก็ดึงศักยภาพมาใช้ให้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็พยายามปรับปรุงข้อเสียนั้นให้ดีขึ้น
  4. รู้จักปรับตัว เพราะสิ่งแวดล้อมในการทำงานสำคัญต่อการทำงานร่วมกันของผู้คน ดังนั้นผู้บริหารจะต้องเรียนรู้และเข้าใจคน บางครั้งต้องเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ก็ต้องรู้จักจัดการความรู้สึก ถ้าคนทำงานอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีมีความสุข ก็จะทำให้งานออกมาดี

       ขณะที่ โชค กล่าวเสริมถึงวัฒนธรรมไทยของคนไทยที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก หรืออายที่จะพูดหรือทำ ซึ่งบางครั้งอาจกลายเป็นข้อจำกัดในการแสดงความสามารถของตัวเอง การจะก้าวสู่ความเป็นผู้จัดการระดับโลกจะต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความเรียบร้อย กับความกล้าแสดงออก เนื่องจากวัฒนธรรมต่างชาติมักตีความว่าการไม่แสดงออกคือการไม่ให้เกียรติ หรือไม่ใส่ใจ เพราะฉะนั้นการเป็นผู้นำได้นั้นต้องกล้าแสดงออก ซึ่งตรงนี้คนไทยจะต้องรู้จักนำมาใช้ว่า เมื่อไหร่ที่ควรจะนอบน้อม เมื่อไหร่ควรจะพูดหรือแสดงออก ทั้งสีหน้าและกิริยาท่าทาง

ซีอีโอต้องมีความเป็นครู

เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำองค์กรจะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงาน และพยายามทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ตลอดจนมองเห็นเป้าหมายของธุรกิจในอนาคต เหตุนี้ซีอีโอจะต้องมีความเป็นครู ซึ่งกรณีของฟาร์มโชคชัยนั้น ไม่ว่าผู้บริหารจะไปบรรยายที่ไหน ก็จะมีเลขานุการคอยบันทึกแล้วนำเรื่องราวไปเผยแพร่ให้พนักงานได้รับทราบ เพื่อให้องค์กรซึ่งหมายถึงตัวพนักงานได้มีส่วนร่วมในการออกสู่สาธารณชน

“ผู้บริหารที่ดีต้องมีความเป็นครู คนเราจริงๆ แล้วมีประสบการณ์ทำงานมา 10-20 ปี แต่การจะเป็นผู้นำได้ ต้องสร้างศรัทธาให้ได้ คนรุ่นใหม่ถ้าเขาไม่ศรัทธาเขาก็ไม่ทำ ถึงแม้เขาจะบอกทำๆ แต่พอเข้าห้องน้ำทุกคนก็ไปจับกลุ่มนินทานาย นอกจากนี้คือ ครูที่ดีต้องขวนขวายตลอดเวลา ถ้าครูสอนในเรื่องที่เรียนมาตั้งแต่อดีต มีแต่เรื่องเดิมๆ เขาก็ไม่อยากฟัง เพราะฉะนั้นผู้บริหารต้องขวนขวายความรู้ใหม่ๆ ตลอด แล้วที่สำคัญคือ ต้องสื่อสารได้ นั่นหมายความว่า ไม่ใช่บอกให้ทำ แต่จะสื่อสารยังไงให้เขาเข้าใจ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้ถูกตามแผนหรือนโยบาย บางเรื่องเราอาจจะมองผ่าน แต่มันเป็นสิ่งที่จะก่อความขัดแย้ง จากจุดเล็กๆ ที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในองค์กร จริงๆ แล้วองค์กรที่มีประสิทธิภาพหรือจะสร้างคนต่อไปได้ นักปฏิบัติต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู แล้วจึงจะพัฒนาคนรุ่นต่อไปได้”

ด้านซิคเว่ บอกว่า การจะเล่าเรื่องอะไรก็ตามให้พนักงานฟัง อย่าเล่าเรื่องที่น่าเบื่อหรือความสำเร็จของตัวเอง เพราะผู้บริหารส่วนมากชอบเล่าเรื่องความสำเร็จของตัวเอง แล้วลืมไปว่าลูกน้องก็มีส่วนในภาพนั้นด้วยเหมือนกัน “จะต้องให้พนักงานอยู่ในเรื่องที่เราเล่าด้วย สิ่งนี้จะทำให้เขาสื่อสารได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสื่อสารให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญซึ่งกันและกัน”

ใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อย

       

เช่นเดียวกับซีอีโอหนุ่มแห่งฟาร์มโชคชัย เผยสิ่งสำคัญของคนที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงว่า จะต้องให้น้ำหนักกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ตนมองข้าม แต่หารู้ไม่ว่านั่นแหละคือสิ่งที่จะต้องเอาใจใส่อย่างมาก เพราะท้ายที่สุดจะเป็นการซื้อใจพนักงานและเป็นสิ่งที่เขาพูดกันแบบปากต่อปาก “เขารู้อยู่แล้วว่าเรามีความสามารถ ไม่ต้องไปแสดงออกมากหรือวางฟอร์มอะไรหรอก เพราะมันพิสูจน์มาอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นยิ่งใหญ่เท่าไหร่ก็ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่เล็กมากเท่านั้น”

ออกจากสิ่งที่คุ้นเคย

       

       “คนไทยไม่ใช่ไม่มีภาวะผู้นำในตัวเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่ในแง่ของคนรุ่นเก่าอาจมีปัญหาเรื่องภาวะผู้นำ สิ่งที่ผมทำในองค์กร คือ ไม่ใช่การเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย แต่เป็นวัฒนธรรมองค์กรซึ่งไม่ว่าใครก็ตามก็ควรจะเปลี่ยน อาทิ เปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน ไม่ว่าชนชาติไหน ถ้าจะปรับปรุงตัวเองให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ก็สมควรทำตัวให้ออกจากความสะดวกสบาย จะได้รู้จักปรับตัวเอง” นี่คือวิธีคิดของซิคเว่ ผู้จัดการระดับโลกาภิวัตน์

เลิกวัฒนธรรมคำสั่ง

ไม่มีองค์กรไหนต้องการพนักงานที่ทำงานแบบขอไปที หรือแบบเช้าชามเย็นชาม แต่ทั้งนี้การหาวิธีให้พนักงานมีทักษะในการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ โดยที่ผู้บริหารไม่ต้องออกคำสั่งนั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ “การเลิกวัฒนธรรมทำงานแบบใช้คำสั่ง และต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา” ซึ่งสิ่งสำคัญที่ซิคเว่ ย้ำนักย้ำหนาคือ ต้องให้โอกาสคน ถ้ามีการผิดพลาดครั้งแรกเกิดขึ้น ก็ต้องให้โอกาสครั้งที่สองเพื่อเขาจะได้เรียนรู้และพัฒนา โดยผู้นำจะต้องทำหน้าที่กระตุ้นให้พนักงานมีความคิดในการพัฒนาต่อไป

เช่นเดียวกับโชค ที่มองว่าการสร้างแรงกระตุ้นต้องเกิดจากความตั้งใจที่อยากให้เกิด ไม่ใช่เพราะเกิดจากความเป็นเจ้านาย แล้วใช้วิธีการกล่าวว่าให้เสียความรู้สึก “นายหลายๆ คนชอบใช้เพราะคิดว่าเราเป็นนาย แต่จริงๆ ผมว่ามันมีวิธีการพูด จะว่าเขาก็จริงแต่ทำให้เขามีความรู้สึกว่าต้องสู้ ต้องทำ มันมีวิธีการพูด ผมว่านายที่ดีเขาจะมีวิธีว่ากล่าวตักเตือนลูกน้อง ทำให้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความฮึกเหิม”

กลยุทธ์สู่การเป็นผู้จัดการระดับโลกที่กล่าวมา ไม่เพียงแต่ระดับผู้บริหารเท่านั้นที่จะนำไปใช้ พนักงานทุกระดับหรือใครก็สามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้ทั้งนั้น เพราะมันจะทำให้คุณก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง

 

ที่มา : Bangkokpost.co.th

การก้าวสู่ผู้จัดการระดับโลกได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเปิดโลกทัศน์ของตนเองให้กว้าง การเดินทางต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศอื่นก็สามารถช่วยได้ นอกจากนี้คือ การออกจากสิ่งอำนวยความสะดวกสบายที่เคยอยู่ เช่น เคยรับประทานอาหารร้านนี้ เคยขับรถไปทางนี้ หรือเคยช็อปปิ้งที่ร้านร้านนี้ ก็ให้เปลี่ยนพฤติกรรม เพราะถ้าเปลี่ยนปุ๊บคุณก็จะเจอคนไม่คุ้นเคยแล้วก็จะได้มีการปรับตัว ทำให้มีความสามารถในการปรับตัวตลอดเวลา เพราะการเป็นผู้จัดการระดับโลกจะต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์
การดูแลเอาใจใส่พนักงานเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องไม่มองข้าม ทั้งนี้ผู้บริหารดีแทคเผยว่าจะต้องทำให้พนักงานสามารถคุยกับผู้บริหารได้ทุกเรื่อง โดยการขจัดความกลัวออกไป นั่นหมายถึงทำให้พนักงานสามารถมาคุยกับผู้บริหารได้โดยที่ผู้บริหารต้องเปิดใจรับฟัง พร้อมทั้งสามารถชี้แนะแนวทางให้กับพนักงานได้ ซึ่งในสายตาของซิคเว่ มองว่า “ไม่มีลูกน้องที่แย่ (Bad Staff) มีแต่เจ้านายที่ไม่ดี (Bad Manager)”

อัพเดทล่าสุด