Empowerment ภารกิจ "ผู้นำ"
ดร.เกศรา รักชาติ
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้รับเกียรติจากสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ อายุกว่าร้อยปี ให้ไปแบ่งปันความรู้เรื่อง Communication through Empowerment หรือการสื่อสารเพื่อสร้างพลังอำนาจในองค์กร ในงานแสดงมุทิตาจิตให้กับอาจารย์ ผู้บริหารที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ และผู้บริหารรุ่นใหม่ที่จะดูแลองค์กรต่อไป
งานนี้ จึงมีพลังอำนาจมากมายทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งได้ผสมผสานความต่างกันเอาไว้ ดิฉันบอกกับตัวเองว่า การที่ดิฉันได้มีโอกาสได้ไปแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในวันนั้น ดิฉันถือว่าโชคดีมากๆ ค่ะ
เราเริ่มต้นด้วยการเช็คความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าวันเวลาที่ผ่านมา แต่ละท่านใช้เวลาหมดไปในเรื่องใดบ้าง ระหว่างการใช้เวลาบริหารจัดการหรือ Management และภาวะผู้นำ หรือ Leadership
หากแต่ละท่านใช้เวลาที่ผ่านมาในการทำงานส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการ (Management) ท่านมักจะ
๐ กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของผลการปฏิบัติงาน
๐ กำหนดแบ่งงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชา/พนักงาน
๐ แจกแจงและจ่ายงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชา/พนักงาน
๐ กำหนดและขีดเส้นตายของงานและติดตามงาน
๐ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ทำงานตามหน้าที่ แต่หากท่านใช้เวลาที่ผ่านมาในการทำงานมุ่งเน้นเรื่องภาวะผู้นำ (Leadership) ท่านมักจะ
๐ มีการพูดคุย สื่อสารเรื่องวิสัยทัศน์กับพนักงาน ให้มองเห็นและเกิดความเข้าใจภาพอนาคตร่วมกัน
๐ ให้ข้อแนะนำ เสนอแนะ วิธีการในการทำงาน
๐ ทำงานกับพนักงานด้วยสัมพันธภาพที่ดี มีความเข้าใจพนักงาน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน พนักงานมีส่วนร่วมในการทำงาน
๐ มีเวลาในการให้คำปรึกษาพนักงานทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ อย่างแท้จริง
๐ มีความตระหนักอยู่เสมอว่า มีอนาคตใครบ้างที่ขึ้นอยู่กับฉัน
ท่านผู้อ่านลองไปในตัวนะคะว่า หากท่านเป็นผู้บริหารก็ให้ประเมินตนเอง แต่หากท่านเป็นลูกน้องก็ลองประเมินนายตนเองดู ส่วนใหญ่ดิฉันมักจะได้คำตอบว่า ถ้าผู้บริหารประเมินตนเอง ก็จะบอกว่าส่วนใหญ่ใช้เวลาในการเป็นภาวะผู้นำมากกว่าการบริหารจัดการ แต่ในทางกลับกัน ลูกน้องก็จะบอกว่านายใช้เวลาในการบริหารจัดการมากกว่าการใช้ภาวะผู้นำ ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูกค่ะ เพราะต่างฝ่ายต่างมุมมอง
ทีนี้เรามาดูความหมายของ Empowerment กันก่อนค่ะ
ถ้าเราถามผู้บริหารว่า Empowerment หมายถึงอะไร ในมุมมองของเขา เราอาจจะได้ยินคำตอบว่า เขาต้องการให้ลูกน้องของเขา
๐ เป็นคนโปรแอคทีฟ กระตือรือร้น มีการคิดการวางแผนงานล่วงหน้า
๐ เป็นผู้ที่สามารถรับผิดชอบในงานได้มากขึ้นและสูงขึ้น
๐ เป็นผู้ที่ทุ่มเทในการทำงานเพื่อให้ได้ผลงานที่เป็นเลิศ
๐ เป็นผู้ที่สามารถมองเห็นปัญหาและคิดวิธีการแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่เป็นผู้สร้างปัญหา หากเราถามลูกน้องว่า Empowerment หมายถึงอะไร ในมุมมองของเขา เราอาจจะได้ยินคำตอบว่า เขาต้องการ
๐ ได้รับการมอบหมายอำนาจ หน้าที่ให้มากขึ้นและสูงขึ้น
๐ เปิดโอกาสให้ได้ลองทำงานด้วยตนเอง ไม่ถูกนายไล่บี้ ไล่จิก
๐ เปิดโอกาสให้เขาได้ตัดสินใจเอง
หากเรามองผิวเผิน จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายให้ความหมายของ Empowerment ได้คล้ายคลึงกัน แต่ลึกๆ แล้วทั้งสองฝ่ายมองไม่ตรงกันหรอกค่ะ ดังนั้นหากมองไม่ตรงกันจะอันตรายมากค่ะ
มาตกลงกันค่ะว่าทั้งผู้บริหารและลูกน้องจะมองได้ตรงกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องมองร่วมกันง่ายๆ ว่า Empowerment หมายถึงการที่ผู้บริหารได้ดึงเอาศักยภาพความรู้ ความสามารถพรสวรรค์ของลูกน้อง ดึงเอาพลังในตัวลูกน้องออกมา โดยให้เขารู้สึกที่จะมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับงานที่ทำหรือที่ได้รับมอบหมาย
วันนั้นที่ดิฉันไปแบ่งปันความรู้ในงานข้างต้น เราก็ได้คุยกันว่า หากต่อไปนี้เวลาที่ผู้บริหารจะ EMPOWER ก็ให้นึกถึงสิ่งต่อไปนี้ค่ะ
Establish Desired Results: ทั้งผู้บริหารและลูกน้องต้องตกลงร่วมกันว่าอยากได้ผลลัพธ์อะไรร่วมกัน เพราะบ่อยครั้งสิ่งที่ผู้บริหารต้องการอาจไม่ใช่สิ่งที่ลูกน้องต้องการค่ะ ดังนั้นจึงควรตกลงผลที่ต้องการจะได้ร่วมกันก่อน
Motivation: การสร้างแรงจูงใจ ผู้บริหารต้องสร้างแรงจูงใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะลูกน้องต้องการแรงจูงใจแตกต่างกัน บางเรื่องเป็นสิ่งที่กระตุ้นจูงใจผู้บริหารซึ่งอาจไม่กระตุ้นจูงใจลูกน้องค่ะ ดังนั้นผู้บริหารต้องรู้จักลูกน้องตนเองดีด้วย
Power: อำนาจที่จะมอบหมายให้ ต้องระบุขอบเขตให้ชัดเจน จะได้ไม่ล้ำเส้นในบางเรื่อง
Open Environment: ผู้บริหารต้องสร้างบรรยากาศให้เปิดกว้าง และต้องสร้างบรรยากาศของการไว้วางใจในซึ่งกันและกัน
Willingness to Contribute and Commit: การตกลงร่วมกันแบบชนะ+ชนะ จะทำให้ลูกน้องมีความเต็มอกเต็มใจที่จะมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายสัมฤทธิผลค่ะ
Expectations on Accountability: ความคาดหวังที่ชัดเจนต่อกัน จะต้องตกลงเรื่องความรับผิดชอบที่ชัดเจนและมีการวัดผลที่ชัดเจน
Resources: ทรัพยากรต้องจัดให้ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ เช่น เวลา งบประมาณ จำนวนคน เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เป็นต้น
ท่านผู้อ่านเห็นแล้วนะคะ ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอควรค่ะในการ Empowerment ดังนั้นผู้บริหารต้องทำตัวเหมือนคนปลูกต้นไม้ ที่จะคอยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์พืชให้เติบโต งอกงาม ให้ชีวิตที่อยู่ข้างในได้ออกมาได้อย่างสวยงามค่ะ งานนี้ต้องเป็นงานของผู้นำค่ะ
--------------------------------------
ผู้บริหารต้องทำตัวเหมือนคนปลูกต้นไม้ ที่จะคอยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์พืชให้เติบโต งอกงาม ให้ชีวิตที่อยู่ข้างในได้ออกมาได้อย่างสวยงาม
-------------------------------------
โดย ดร.เกศรา รักชาติ: Ph.D. Leadership and Human Behavior ผู้มีประสบการณ์ตรงจากการสร้าง Learning Organization วิทยากรและที่ปรึกษาทางด้าน Learning Organization, Leadership, Coaching, Communication & Interpersonal Skills, ทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์กร
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ BizWeek