องค์กรที่ดี ควรมีคุณลักษณะแบบใด


703 ผู้ชม


องค์กรที่ดี ควรมีคุณลักษณะแบบใด




    วงจรชีวิตของคนเรา คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้นองค์กรก็เหมือนกัน มีทั้งเจริญขึ้นและตกต่ำจนกระทั่งตายไปที่สุด สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องคิด และต้องลงมือทำเมื่อดูตัวอย่างขององค์กรที่ดีและมีอายุยืนยาวนั้น เขาจะมีคุณลักษณะ 9 ประการ คือ

1.เป้าหมายขององค์กรชัดเจน (Clear organization goals)

คนในองค์กรรู้เป้าหมายเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงขององค์กรที่เราทำงานอยู่อย่างชัดเจน โปร่งใสทุกระดับ ไม่มีวาระซ่อนเร้น และต้องแสดงให้เห็นตลอดเวลาทั้งคำพูดและการกระทำ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเป้าหมายต้องแจ้งให้บุคคลทุกระดับ ให้เข้าใจ ไม่ใช่แจ้งเพื่อรับทราบ

2.สายงานบังคับบัญชาสั้นพร้อมงานบังคับบัญชาที่หลากหลาย (Flat organization with increased span of supervision)

พนักงานทุกระดับชั้นจะต้องพัฒนาความสามารถของตนเองให้สูงขึ้น และต้องรับผิดชอบในองค์กรนั้นๆ พร้อมทั้งลดสายงานการบังคับบัญชา และขั้นตอนการทำงาน ผู้บังคับบัญชาต้องทำงานอย่างเต็มที่ และมุ่งมั่นอยู่กับงานที่ทำอยู่ตลอดเวลา

3.มีฐานข้อมูลที่สนับสนุนการบริหารงาน (Data-based self management system)

มีระบบการจัดการในการทำงานด้วยความเชื่อมั่นและตัดสินใจด้วยตนเองให้ถูกต้องในระดับหนึ่ง มีประวัติเก่าที่ใช้เป็นพื้นฐานข้อมูล เพราะจะใช้เป็นข้ออ้างอิงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีการนำเอาอุปกรณ์สมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ตัวฐานข้อมูลควรจะต้องเป็นข้อมูลปัจจุบัน

4.มีระบบการจัดการที่ดีด้วยคนที่ไม่มาก (Good management system with small management staff)

มีระบบการจัดการทำงานที่มีระบบ โดยใช้จำนวนคนไม่มากนัก ทั้งนี้ ต้องมีการเตรียมงานที่ดี ไม่มีการสับสนวุ่นวายในการทำงาน ทุกคนรู้หน้าที่ ไม่พยายามใช้ระบบกรรมการ จนเกินขอบเขต การทำงานทุกอย่างจะมีตัวชี้วัดอยู่ตลอดเวลา

5.เน้นการปฏิบัติงานที่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ (Emphasis on improved operation reliability)

เน้นหนักเรื่องการปรับปรุงการทำงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ความเชื่อถือและถูกต้องที่สุด ผู้บังคับบัญชา สามารถที่จะพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย และคำพูดนั้นเกิดประโยชน์กับองค์กร ให้ข้อคิดกับคนรุ่นหลังอย่างถูกต้อง ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานด้วยความตั้งใจ คำนึงถึงผลประโยชน์ขององค์กร และส่วนรวม

6.มีการตลาดและประชาสัมพันธ์ (Marketing and advertising)

การตลาดและการประชาสัมพันธ์มีหน่วยงานดูแลชัดเจนแต่บุคคลในองค์กรทุกระดับควรช่วยแนะนำให้ลูกค้า หรือผู้ที่ใช้บริการทุกคนทราบถึงเรื่องราวต่างๆ ขององค์กร และต้องแนะนำอย่างมีข้อมูลและถูกต้อง มีการชักชวนให้ซื้อสินค้า และใช้บริการอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรพูดถึงองค์กร ในด้านลบ

7.ร่วมมือร่วมใจ และทำงานเป็นทีมอย่างดียิ่ง (More collaboration and teamwork)

เพิ่มบทบาทของการทำงานร่วมกันให้มากขึ้น พร้อมทั้งประสานงานกันเพื่อเผชิญกับการแก้ปัญหาต่างๆ ที่องค์กรด้วยกัน ไม่ควรเกี่ยงงาน ให้นึกอยู่ในใจเสมอว่า องค์กรนี้เป็นสิ่งที่ให้กำเนิดทุกสิ่งกับตัวเรา สร้างทัศนคติกับตัวเองและผู้ร่วมงานอยู่เสมอ การทำงานเป็นทีมนั้นทุกคนต้องออกแรง ออกความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ดีที่สุด พร้อมทั้งให้ความร่วมมือ กับองค์กรอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะขอความร่วมมืออะไร เช่น การประหยัดพลังงาน, การประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น ทุกคนต้องตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำงาน

8.เน้นมูลค่าในการทำงานในแต่ละตำแหน่งและดำเนินตามนโยบายอย่างแน่วแน่ (Emphasis upon value added aspects of each position or policy)

ตอกย้ำพร้อมทั้งเพิ่มคุณค่าของการทำงานในแต่ละตำแหน่ง อีกทั้งต้องปฏิบัติตามนโยบายหลัก มีการกำกับ ตรวจสอบการทำงานอย่างสม่ำเสมอไม่มีการควบคุมมากจนเกินไป ควรใช้การประสานงานที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลพร้อมทั้งมีการให้ค่าตอบแทนอย่างยุติธรรม

9.เพื่อองค์กร (For my organization)

ต้องการเห็นองค์กรของเราเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการเสียสละเล็กๆ น้อยๆ อย่าคิดมาก การทำงานจะไม่เอาเปรียบองค์กร มีการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับองค์กรอยู่ตลอดเวลา คนในองค์กร จะคิดถึงส่วนรวม แต่รับผิดชอบงานของตัวเองอย่างดียิ่ง

จากแนวทางทั้ง 9 ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเป็นสิ่งที่องค์กรแทบทุกองค์กรได้ดำเนินการอยู่แล้วบางองค์กรมีการนำระบบต่างๆ มาใช้ เช่น ISO9000-2000 TQM Six-sigma และระบบอื่นๆ เป็นต้นแต่ระบบก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งใช้เป็นแนวทางที่ดีได้ ถ้าเลือกระบบที่เหมาะสมและถูกต้อง แต่ บุคคลที่ปฏิบัติงานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดกับบุคคล โดยเฉพาะผู้บริหารระดับกลางบางคนไม่อยู่กับหน้างานอย่างจริงจัง และไม่ค่อยสนใจหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งด้านเทคนิคและบริหาร

 

หน้าต่างความคิด : ผศ.ชาลี โกมลสุทธิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2549

อัพเดทล่าสุด