'EAP' วิธีจัดการอารมณ์ สร้างสมดุล ช่วยเหลือพนักงาน MUSLIMTHAIPOST

 

'EAP' วิธีจัดการอารมณ์ สร้างสมดุล ช่วยเหลือพนักงาน


728 ผู้ชม


'EAP' วิธีจัดการอารมณ์ สร้างสมดุล ช่วยเหลือพนักงาน




       *จากปัญหาเครียดสะสม สู่การช่วยเหลือสร้างความพอดีระหว่างงานกับคน
       
       *8 ปัญหายอดฮิตในที่ทำงาน เหตุผลของการมีทีมให้คำปรึกษา
       
       *กายพร้อม ใจพร้อม สังคม อารมณ์สมบูรณ์ ปัจจัยสร้างผลพนักงาน
       
       *''''EAP'''' เครื่องมือจัดการอารมณ์ ผสมน้ำใจผู้บริหาร สวัสดิการล้ำค่ายิ่งกว่าเงินทอง
       
        หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของแต่ละองค์กรไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม หลายคนคาดหวังถึงความสดใสที่รออยู่ แต่ในระหว่างนั้นจะทำอย่างไรให้กำลังใจคนไม่หดหาย การบริหารทรัพยากรบุคคล จึงจำเป็นจะต้องฟิตพร้อมอยู่เสมอกับการเปลี่ยนแปลงทุกระดับ
       
        การบริหารคน ต้องหาคำตอบสุดท้ายว่าองค์กรต้องการผลลัพธ์อะไร แล้วHR ก็ทำให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ แต่หากตั้งคำถามผิดกระบวนการก็จะเบี้ยวทั้งขบวน ในบางครั้งผู้บริหารมืออาชีพก็หลงลืม จนเมื่อกระทั่งเกิดเหตุจะต้องลดคน หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คำถามที่ตามมาก็คือ ในเหตุการณ์ที่ไม่ปกตินั้นอะไรจะทำให้คนในองค์กรอยู่รอด
       
       ''''คุณธรรม'''' หัวใจการเคลื่อนคน
       
        ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ อาจารย์สถาบันการบริหารและจิตวิทยา กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาจุดที่ต้องการและหัวใจของการบริหารให้พบ หากอยากอยู่รอดในภาวะวิกฤต ซึ่งผลส่วนใหญ่อยากให้องค์กรเดินได้ไปได้ด้วยดี
       
        เมื่อองค์กรมีเป้าว่าองค์กรต้องการเป็นอะไร? จะเป็นอะไร? และเดินอย่างไร? แล้ววิธีการ ต้องชัด จากนั้นมาวางเนื้อหาให้แน่นคือ หาCore Business ขององค์กร ว่าอะไรที่ควรส่งเสริม แล้วเสริมทัพเอาทรัพยากรบุคคลลงไป คนจะต้องทำอย่างไร และส่วนอื่นที่รองลงมาก็ต้องจัดทัพให้ละเอียด
       
        การจัดทัพคนข้างในจะต้องเป็นจริงและสอดคล้องกับกลยุทธ์ ซึ่งเป็นการบริหารคนให้ได้เรื่องหรือได้เป้านั่นเอง หลักยึดก็คือ ตั้งเป้าให้ชัด จับหลักให้แน่นว่าองค์กรจะทำอะไรอย่างไร แล้วจากนั้นก็ดำเนินการบริหารตามปกติ
       
        หลักสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือจริยธรรมซึ่งระยะหลังๆ มีการเรียกร้องมากขึ้น เพราะผู้บริหารบางคนเห็นองค์กรรุ่งเรืองสวยงาม ดูเหมือนจะเติบโตได้นาน แต่เมื่อพิจารณาตัวแก่นในแล้วพบว่าจริยธรรมหายไป เสมือนขาด 5 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเต็มร้อย แม้จะเป็นตัวเลขน้อยนิด แต่กระนั้นก็เป็นตัวชี้วัดว่าองค์กรจะอยู่ได้ยาวหรือสั้นได้เช่นกัน
       
        "บางแห่งก็เหมือนจะรุ่งเรืองแต่เฉพาะตัวเลข แต่คนเครียดเข้าโรงพยาบาลกันเป็นว่าเล่น เรียกว่าบางอย่างหายไป บางอย่างก็เกินไป ไม่พอดี เน้นการทำงาน จนละเลยคนทำงาน น้ำใจหายไป คุณธรรมลึกๆ ความอ่อนโยนของมนุษย์หายไป บางองค์กรจึงชนะระยะสั้นแต่พังระยะยาว"
       
        การสร้างจริยธรรมคุณธรรม ผู้บริหารมีส่วนมาก จริงๆ แล้วควรเรียกว่าตระหนักรู้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะเชื่อว่าคนพอรู้อยู่บ้างว่าคนมี แต่จะตระหนักและให้น้ำหนักกับมันมากหรือน้อย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผู้บริหารระดับสูงหรือผู้นำองค์กรเห็นว่าคุณธรรมนี้มีผลต่อการอยู่รอดระยะยาว ก็จะทำให้ตระหนัก และระวังจากตัวเองว่าเอาเปรียบคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้นส่วนผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจมากไปหรือไม่?
       
        แล้วผู้บริหารได้มองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปหรือไม่?...
       
       มองและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
       
        งานที่ได้ประสิทธิภาพเกิดจากใคร? พนักงานเครียดเกินไปหรือไม่? บริษัทควรดูแลสวัสดิการให้เขาเหล่านั้นอย่างไร? เพราะต้องยอมรับว่า “คน” มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้องค์กรเติบโต
       
        วราพร เรืองพีระกุล ผู้จัดการภาค บริษัท ฮิวแมน ไดนามิคส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด (HDAP) กล่าวว่า การบริหารจัดการบุคลากรสมัยใหม่ มิได้เป็นเพียงแค่การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการให้รางวัลแก่พนักงานเท่านั้น แต่การดูแลห่วงใยในคุณภาพชีวิตของพนักงานและการจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ รวมถึงการจูงใจพนักงาน เป็นข้อที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งยวด เพราะทั้งหมดจะส่งผลกระทบโดยรวม
       
        เมื่อผู้บริหารสนใจเพียงตัวเลขการเติบโต หรือผลกำไรเพียงอย่างเดียวโดยละเลยกำลังคนที่มีอยู่ ทำให้พนักงานมีความเครียดสะสม ซึ่งเหตุเดียวนี้เอง นำมาสู่ปัญหาด้านการสื่อสารในองค์กร ทีมเวิร์คแย่ลง ขวัญกำลังใจของพนักงานตกต่ำ กระทั่งท้ายที่สุด คือ ผลประกอบการตกต่ำ
       
        หากพนักงานมีความเครียดในระดับที่เหมาะสม จะทำงานได้ดี แต่ถ้าเครียดมากเกินไป ผลงานจะตกทันที หรือหากไม่มีความเครียดเลย พนักงานจะกลายเป็นคนเฉื่อยชา เพราะฉะนั้นหัวหน้าคือคนที่สามารถจัดระเบียบความเครียดให้ลูกน้อง มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดในระดับที่พอดี จะทำให้พนักงานรู้สึกสนุก ท้าทาย ผลงานจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ
       
        "ถ้าพนักงานมีความเครียดมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อบริษัทด้านใดบ้าง เช่น เกิดการขาดงาน เจ็บป่วย เคลมประกันสุขภาพเยอะขึ้น การลาออกมากขึ้น งานก็หนัก ขวัญกำลังใจก็แย่ เมื่อ โหลดงานมากขึ้น ประสิทธิภาพงานก็ลดลง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งผลเหล่านี้กระทบกับบริษัทแทบทั้งสิ้น"
       
        การจัดการกับความเครียดใช้เครื่องมือ EAP (Employee Assistance Program) ซึ่งเป็นเครื่องมือให้ความช่วยเหลือพนักงาน ซึ่งใช้อย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกามานานกว่า 50 ปีแล้ว สาเหตุเกิดมาจากบริษัทมีพนักงานติดเหล้า ติดยาเสพติด ฝ่ายบุคคลเป็นผู้จัดเครื่องมือนี้เพื่อช่วยเหลือพนักงาน
       
        "แล้ว EAP ช่วยเหลือพนักงานได้อย่างไร ในสถานการณ์ใดบ้าง?"
       
        วราพร บอกว่า EAP สามารถใช้กับทุกสภาวการณ์ขององค์กร ทั้งเรื่องความขัดแย้ง การควบรวมกิจการ การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร หรือแม้กระทั่งเกิดเหตุการณ์วิฤตในองค์กร โดยการให้ความช่วยเหลือมิได้จำกัดอยู่เพียงตัวพนักงานเท่านั้น แต่รวมถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย หากผู้บริหารเชื่อว่าประสิทธิภาพงานที่ดี เกิดจากความสมดุลระหว่างงาน และชีวิต
       
        เมื่อพนักงานเกิดความเครียด EAP สามารถเข้าไปจัดการให้คำปรึกษา ในรูปแบบการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ หรือสายด่วน 24 ชั่วโมงเพื่อรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา
       
        การให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาแบบนี้เป็นสวัสดิการที่มีคุณค่ามากกว่าเงินทอง วราพร แนะนำว่า ควรให้คนนอกที่ไว้ใจได้มาจัดการเพราะการรับฟังปัญหาและแนะนำอย่างเป็นกลางที่สุด โดยประสานงานกับ HR ของบริษัท
       
        "ความเครียดมีผลต่อการทำงาน แต่ถ้าเมื่อมีคนที่ไว้วางใจได้ในเรื่องบางเรื่องที่ไม่สามารถคุยให้กับใครได้ ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพจะมีทักษะในการทำให้พนักงานผ่อนคลายได้ เน้นการพูดคุยให้คำปรึกษาและค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง แทนที่จะเน้นการใช้ยานอนหลับ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในการแก้ปัญหา และเพิ่มความมั่นใจให้กับพนักงานด้วยว่าความลับของพวกเขาจะไม่รั่วไหล"
       
        การที่บริษัทให้พนักงานมีทั้งร่างกายและจิตใจสมบูรณ์พร้อมในการทำงาน ถ้าเกิดว่าคนเราทำงานแต่ว่าใช้ร่างกายตลอด ไม่มีการหยุดพักผ่อน หัวหน้าไม่ได้ดูแล บริษัทเมินเฉยไม่รู้ถึงจิตใจของพนักงาน ซึ่งการมีพนักงาน 500-1,000 คน เป็นจำนวนที่มากบางทีการที่จะให้บริษัทดูแลอย่างทั่วถึงก็เป็นไปได้ยาก
       
        จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีมืออาชีพที่เข้ามาช่วยเหลือ เหมือนกับการมีสุขภาพกาย เมื่อเจ็บป่วยต้องไปหาหมอ ซึ่งแต่ละคนไม่ใช่ว่าจะต้องทำงานอย่างเดียว และดูแลบริษัทอย่างเดียว พวกเขาก็ต้องดูแลครอบครัวด้วย แม้บางคนจะไม่ได้แต่งงาน แต่ก็ต้องดูแลตัวเอง เมื่อแต่งงานแล้วก็ต้องหาวิธีที่จะดูแลครอบครัวให้ราบรื่น
       
        องค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลง คนในองค์กรมีการเปลี่ยนบทบาท เช่น ความจำเป็นที่จะต้องปลดพนักงาน การยุบรวมบริษัท เกิดเหตุการณ์วิกฤต เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใน สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องทำคือ การสื่อสารกับพนักงาน ปรับพฤติกรรมที่แตกต่างให้หลอมรวมให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ในการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเหตุการณ์จะต้องมีการจัดการที่เหมาะสมและแตกต่าง
       
        บุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงองค์กรก็คือ ผู้บริหาร ที่จะต้องมีการคิดแบบก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดแนวคิดที่นำไปสู่การปฏิบัติ สามารถนำการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ นำองค์กรไปในทิศทางที่ดี และสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงาน
       
        วราพร ทิ้งท้ายว่า ความคาดหวังคือ คนไทยหรือผู้บริหารไทย จะให้ความสำคัญกับพนักงาน แคร์พนักงานถึงเรื่องส่วนตัวไปจนกระทั่งถึงครอบครัว เพื่อให้สามารถมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ สังคม และอารมณ์สมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างผลงานให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่าผู้บริหารระดับสูงยุคใหม่ คงเห็นว่าการให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กร เป็นจุดสำคัญที่จะสร้างความสำเร็จให้องค์กรเป็นอย่างดี
       
       ปัญหายอดฮิตในที่ทำงาน
       
       1. ปัญหาครอบครัวของพนักงาน
       
       2. ปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในที่ทำงาน
       
       3. การทำงานและอาชีพ
       
       4. ปัญหาสุขภาพจิต อันเนื่องจากการทำงาน
       
       5. ปัญหาการจัดการบุคคลากรของฝ่ายบุคคล
       
       6. การพัฒนาตนเองและความก้าวหน้าในชีวิต
       
       7. ขาดความรู้เรื่องกฎหมายของพนักงาน
       
       8. ปัญหาด้านการเงินที่กลายเป็นหนี้สิน

ที่มา :หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด