Organizational Self-Assessment คือ ??


749 ผู้ชม


Organizational Self-Assessment คือ ??




    Organizational Self-Assessment คือ
       
       เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการวิเคราะห์และประเมินสภาวะด้านการบริหารจัดการองค์กรอย่างเป็นระบบช่วยให้องค์กรทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสในการปรับปรุง ด้วยการนำผลประเมินที่ได้รับไปวางแผนปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อความอยู่รอดขององค์กรในโลกธุรกิจปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
       
       
ขั้นตอน
       
        1.กำหนดวัตถุประสงค์
กำหนดว่าต้องการประเมินเพื่อประโยชน์ในด้านใดเป็นสำคัญ อาทิ เพื่อตรวจหาจุดแข็งและจุดที่สามารถปรับปรุงได้ เพื่อนำผลการประเมินไปสู่การจัดทำแผนกลยุทธ์ เพื่อการศึกษาเกณฑ์รางวัลคุณภาพ เป็นต้น
       
        2.เลือกกรอบการประเมิน สามารถเลือกจากเกณฑ์ระบบสากลที่มีอยู่ เช่น MBNQA,Deming Prize,TQA,EFQM หรือจากกรอบการประเมินของตนเองที่ประยุกต์ขึ้นมาใหม่
       
        3.เลือกรูปแบบการเก็บข้อมูล วิธีการเก็บข้อมูลของการประเมินนั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้รูปแบบสอบถาม การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง การจัดกลุ่มระดมสมองเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น
       
        4.ตั้งทีมและวางแผน การจัดตั้งคณะทำงานการประเมินนั้นมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสม อาจเป็นคณะกรรมการในทุกระดับจากหลายหน่วยงานหรืออาจมีที่ปรึกษาภายนอกมาร่วมงานด้วย แต่บุคคลนั้นๆ ควรเป็นผู้ที่กระตือรือร้นและเข้าใจกระบวนการต่างๆ ภายในองค์กรอย่างดีหลังจากนั้นต้องทำการวางแผนปฏิบัติการแสดงถึงทุกขั้นตอนการดำเนินการโครงการ
       
        5.เก็บข้อมูล โดยคำนึงถึงเป้าหมายของการเก็บรวบรวมข้อมูลและทรัพยากรที่ต้องใช้
       
        6.ประเมินและให้คะแนน เป็นการนำข้อมูลมาประมวลผลและให้คะแนนตามมาตรฐานของกรอบการประเมินที่วางไว้
       
        7.สรุปฉันทามติในผลประเมิน คณะทำงานร่วมกันพิจารณาจุดแข็งละจุดที่สามารถปรับปรุงได้ทั้งในระดับหน่วยงานและองค์กร เพื่อสรุปเป็นฉันทามติในภาพรวมองค์กร
       
        8.ทวนสอบผลและเยี่ยมชม เป็นการพิจารณาความสอดคล้องของหลักฐานและผลประเมินต่างๆ รวมทั้งการเยี่ยมชมสัมภาษณ์หน่วยงานบางหน่วยเพื่อให้มั่นใจว่าผลการประเมินนั้นถูกต้อง เชื่อถือได้
       
        9.สรุปรายงานข้อแก้ไข เป็นการสรุปผลประเมินเป็นรายงาน พร้อมสรุปประเด็นตามกรอบการประเมินที่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง
       
        10.แผนปฏิบัติการเพื่อการปรับปรุง เป็นการนำประเด็นที่ต้องปรับปรุงมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไป
       
       ประโยชน์ของการประเมินองค์กร
       
       1. ทำให้องค์กรรู้ถึงจุดแข็งและจุดที่สามารถปรับปรุงได้อย่างเป็นระบบ
       
       2. กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร
       
       3. ช่วยกำหนดตัววัดหลักๆ ที่เป็นระบบให้องค์กร
       
       4. สร้างระบบการวัดและประเมินที่ดีให้แก่องค์กร
       
       5. เกิดการสื่อสารสองทางระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน
       
       6. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
       
       7. สร้างวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม
       
       8. เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบบริหารจัดการ
       
       9. ส่งเสริมให้องค์กรมีการจัดการที่มุ่งเน้นที่กระบวนการและผลลัพธ์
       
       ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
       
       1. ผู้บริหารระดับสูงให้ความสนใจและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
       
       2. การให้คะแนนในการประเมินองค์กร ต้องเกิดจากการศึกษาหลักฐานข้อเท็จจริงขององค์กร
       
       3. คณะทำงานที่ได้รับมอบหมายในการประเมินองค์กรต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม
       
       4. มีความมุ่งมั่นที่จะนำผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน
       
       5. ต้องมีการประเมินองค์กรอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้รู้สถานภาพขององค์กรที่เปลี่ยนไป
       
       ข้อเสนอแนะและข้อควรระวัง
       
       1. เป็นการประเมินเพื่อดู “จุดอ่อน จุดแข็งของการทำงาน” ไม่ใช่ “การจับผิดบุคคล”
       
       2. การประเมินควรพิจารณาตามขอบเขตของงานในหน่วยงานนั้นๆ เป็นหลัก
       
       3. ควรรับฟังความเห็นและมุมมองที่แตกต่างของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
       
       4. ไม่ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของผลที่ได้จากการประเมิน(กระทำภายหลังสิ้นสุดการประเมินแล้ว)
       
       5. ไม่ต้องหาแนวทางแก้ไขผลที่ได้จากการประเมิน(กระทำภายหลังที่สุดการประเมินแล้ว)
       
       6. เน้นกระบวนการประเมินที่ใช้ “หลักฐานข้อมูลจริง” เป็นสำคัญ
       
       7. เน้นการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ เพราะจะได้ประโยชน์มากกว่า
       
       8. ควรมีการแสดงความเห็นในทุกๆ ด้าน ก่อนการลงมติผลคะแนนการประเมิน
       
       9. ควรตีความประเมินตามประเด็นพิจารณาหลักการของกรอบการประเมินอย่างถูกต้องชัดเจน

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด