ความเชื่อที่หนักแน่นภายในองค์การ


766 ผู้ชม


ความเชื่อที่หนักแน่นภายในองค์การ




    การสื่อสารให้เกิดความเชื่อที่หนักแน่นภายในองค์การ การที่องค์การนั้นสามารถสร้างให้เกิดทั้งพลังและศรัทธาในความเชื่อแล้วอาจจะไม่เพียงพอ การสื่อสารความเชื่อนั้นให้รู้ทั่วกันทั้งองค์การเป็นสิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อไป การสื่อสารระหว่างกันในเรื่องความเชื่อที่ช่วยสร้างให้เกิดความสามารถพิเศษขึ้นได้ด้วยศรัทธา และพลังของความเชื่อ ที่สำคัญคือถ้าทุกคนมีความเข้าใจในความเชื่อนั้นอย่างชัดเจน จะสร้างให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันที่ดีมากขึ้น ส่งผลให้มีทิศทางการบริหารจัดการ และการพัฒนาเป็นไปในรูปแบบ และทิศทางเดียวกัน  ต้องให้ความสำคัญกับความเชื่อดังกล่าวและใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การที่องค์การมีความเชื่อว่าในการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพที่ต้องการ และมีต้นทุนต่ำที่สุด ต้องมีความเชื่อก่อนว่า ในการผลิตนั้นสามารถลดของเสียจากการผลิตให้เป็นศูนย์ได้ (Zero-defect) ซึ่งการให้ความสำคัญอย่างมีเหตุมีผลดังกล่าวจะทำให้พนักงานทุกคนในองค์การ พร้อมในกันพัฒนาเข้าสู่ระบบคุณภาพที่ต้องการลดของเสียให้เป็นศูนย์ การที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแสดงความสามารถพิเศษในการลดต้นทุนจากการลดอัตราของเสียที่เกิดขึ้น สมควรที่จะได้รับการยกย่องเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน และแรงจูงใจให้หน่วยงานอื่นเร่งพัฒนาตัวเองมากขึ้น

จะพบว่าการสร้างค่านิยม ความเชื่อมีด้วยกันหลายวิธี ที่สำคัญคือ ความตั้งใจจริงและการมองเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมองค์การที่มีต่อการปฏิบัติงานของพนักงานในองค์การนั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้พบว่า ในทุกองค์การจะมีวัฒนธรรมองค์การแฝงอยู่ด้วยกันทุกองค์การ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน หรือรัฐบาล ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารได้มองเห็นหรือไม่ว่าค่านิยมและความเชื่อที่พบใน องค์การนั้นเป็นค่านิยมแบบใด เป็นวัฒนธรรมของผู้ชนะหรือของผู้แพ้ เช่น หากองค์การใดที่มีพนักงานที่มีความเชื่อว่า "ทำงานมากก็ได้หนึ่งขั้น ไม่ทำก็ได้หนึ่งขั้น" องค์การนั้นก็จะไม่มีใครเสนอตัวทำงานใดๆ หรือนำเสนอความคิดเห็นใหม่ๆ โดยเฉพาะความเชื่อจากสุภาษิตไทยโบราณที่ยังเป็นสัจธรรมในบางองค์การ เช่น "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" ที่พบว่าในการประชุมจะไม่มีใครพูดแสดงความคิดเห็นมากนัก เพราะมีความเชื่อว่าพูดมากไม่ดี การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับผู้บริหารจะนำผลเสียมาสู่ตนเอง จากค่านิยม และความเชื่อดังกล่าวมีผลอย่างมากในการจัดการ พบว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้องค์การธุรกิจของไทยมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก เพราะในบรรยากาศของการประชุมที่ไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็ไม่แตกต่างอะไรจากการสั่งงานทางอ้อมโดยมีที่ประชุมรับรองเท่านั้น

 

ที่มา : การจัดการธุรกิจร่วมสมัย โดย รศ.ดร.ผลิน ภู่เจริญ

อัพเดทล่าสุด