วัฒนธรรมองค์การกับการจัดการเชิงกลยุทธ์


2,605 ผู้ชม


วัฒนธรรมองค์การกับการจัดการเชิงกลยุทธ์




    

เนื่องจากการแข่งขันในปัจจุบันมีสูงมาก องค์การส่วนใหญ่จึงพยายามทุกวิถีทางในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่งขัน โดยเฉพาะคู่แข่งขันที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เดิมองค์การส่วนใหญ่มักเลือกที่จะพัฒนาและปรับปรุงในส่วนของเทคโนโลยี การพัฒนาด้วยการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ทันสมัยที่สามารถสร้างให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ในหลายกรณีการลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือใหม่ไม่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ตามที่คาดหวังไว้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการพัฒนาความได้เปรียบในการแข่งขันควรมุ่งเน้นทั้งการลงทุนพัฒนาในทรัพยากรที่จับต้องได้และทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้พร้อมๆกัน เพราะในการปฏิบัติงานจริงการดำเนินงานมีหลายขบวนการที่ไม่ได้กระทำผ่านเครื่องจักรหรือเครื่องมือ เช่น การติดต่อสื่อสารระหว่างกัน การพบปะพูดคุย บรรยากาศของการทำงาน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติที่มีต่องานและองค์การ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวแปรที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการมีเครื่องจักรเครื่องมือที่ทันสมัย

ดังนั้นองค์การที่ต้องการมุ่งสร้างให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันแบบยั่งยืน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้ด้วย แนวคิดการจัดการเชิงกลยุทธ์ในปัจจุบันจึงหันมาให้ความสนใจในเรื่องการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ ส่งเสริมและสนับสนุนวิสัยทัศน์ที่เป็นแก่นหลักขององค์การ ซึ่งมีผลทำให้การนำแผนไปสู่การปฏิบัติขององค์การเกิดประสิทธิผลสูงสุด เพราะเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า วัฒนธรรมองค์การมีอิทธิพลสำคัญในการสร้างให้เกิดค่านิยม ความเชื่อ แนวคิด และบรรทัดฐานในการทำงานที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน และการตัดสินใจอย่างมาก

การบูรณาการวัฒนธรรมองค์การเข้ากับการจัดการเชิงกลยุทธ์เท่ากับเป็นการผนวกรวมทรัพยากรที่จับต้องได้ และทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งหากมีขบวนการจัดการที่ดี และมีประสิทธิภาพ จะทำให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อองค์การในระดับสูงสุด โดยเฉพาะในการดำเนินงานประจำวันของพนักงานที่มีค่านิยมแบบเดียวกันตลอดทั้งองค์การ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จากร้านกาแฟธรรมดาที่ได้สร้างขึ้นเป็นวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของร้านสตาร์บัคส์ (Starbucks) ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปนางเงือกสองหาง ผู้บริหารได้พยายามปลูกฝังให้พนักงานทุกคนมีค่านิยม และมีความเชื่อในการให้บริการที่ประทับใจแก่ลูกค้าทั้งในด้านการให้บริการ และการให้ความรู้ในเรื่องกาแฟแก่ลูกค้า โดยเชื่อว่ายุทธวิธีในการดำเนินการจัดการดังกล่าวนอกจากจะสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าแล้วยังเป็นการสร้างให้เกิดคุณค่าให้กับองค์การอีกด้วย ผลคือความสำเร็จของ Starbucks ทั่วโลกที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดจากทรัพยากรทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ของ Starbucks

จากวัฒนธรรมองค์การที่แข็งแกร่งในเรื่อง การให้บริการที่มีคุณค่าส่งผลให้พนักงานในร้านสาขาของ Starbucks มีค่านิยม แนวคิด ความเชื่อในทิศทางเดียวกันหมด โดยมีการสร้างให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานที่สำคัญคือ พนักงานทุกคนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของหุ้น เพื่อให้พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจ การดำเนิน กลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้ ร้านกาแฟของ Starbucks ได้รับความนิยมทั่วโลก จึงสามารถกล่าวสรุปได้ว่า องค์การที่ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้ โดยเฉพาะมีการบูรณาการวัฒนธรรมองค์การเข้าไว้กับการนำแผนและกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติจะมีผลประกอบการและมีการเติบโตที่มั่นคงมากกว่า เมื่อเปรียบกับองค์การที่ละเลยความสำคัญเรื่องวัฒนธรรมองค์การ

ที่มา : การจัดการธุรกิจร่วมสมัย โดย รศ.ดร.ผลิน ภู่เจริญ


อัพเดทล่าสุด