แก่นความสามารถหลักกับการจัดการเชิงกลยุทธ์


727 ผู้ชม


แก่นความสามารถหลักกับการจัดการเชิงกลยุทธ์




    

การจัดการเชิงกลยุทธ์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแก่นความสามารถหลักมาก เพราะในการจัดการเชิงกลยุทธ์องค์การจะต้องทำการศึกษาสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอก และภายใน เพื่อสามารถกำหนดภารกิจในการดำเนินงาน โดยจะต้องนำข้อมูลที่ศึกษาได้ทั้งหมดมาประกอบใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ กลยุทธ์ที่เหมาะสมดังกล่าวนั้นในทางทฤษฎีแนะนำว่าควรเป็นกลยุทธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสามารถหลัก เพราะมิฉะนั้นแล้วการดำเนินงานจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นการเลือกกลยุทธ์ในการปฏิบัติงานจะต้องคำนึงถึงแก่นความสามารถหลักขององค์การนั้นเป็นสำคัญ โดยต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าความสามารถหลักที่มีอยู่นั้นต้องมีการพัฒนาตลอดเวลาด้วย เนื่องจากการแข่งขันมีสูงมากขึ้น

แนวทางการพัฒนาแก่นความสามารถหลักเพื่อสร้างให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ในการจัดการเชิงกลยุทธ์ขององค์การมีดังนี้คือ

1. องค์การจะต้องมีการพัฒนาปรับตัวตลอดเวลาเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาดและลูกค้า ที่สำคัญจะต้องสร้างและส่งเสริมให้เกิดความยืดหยุ่นทางการจัดการ การผลิต และการให้บริการ ตัวอย่างเช่น การที่บริษัท แอร์บัส (Airbus) ผลิตเครื่องบินที่อยู่ภายใต้ซีรีส์ A310 A320 A330 A340 และ A380 ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงถึงแก่นความสามารถหลักของ Airbus ในการสร้างเครื่องบินที่มีความน่าเชื่อถือในเรื่องความปลอดภัยแล้ว ยังมีความชาญฉลาดในการออกแบบทางเทคโนโลยีที่ทำให้การบำรุงรักษามีความยืดหยุ่นมาก เพราะชิ้นส่วนอุปกรณ์สามารถแลกเปลี่ยนใช้ระหว่างกันได้ ทำให้เกิดความสะดวกในการบำรุงรักษาเครื่องบินที่ส่งผลให้มีต้นทุนในการบริหารคลังอะไหล่ของสายการบินต่ำ แอร์บัสทำได้เพราะมีพื้นฐานความรู้และทักษะในการผลิตเครื่องบินที่สะสมมายาวนาน ทำให้รู้ถึงความต้องการและปัญหาที่แท้จริงของบริษัทสายการบิน

2. ใช้แก่นความสามารถหลักในการสร้างให้เกิดคุณค่าเพิ่มแก่องค์การ ทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ ที่เป็นการนำเอาแก่นความสามารถหลักเข้ามาประกอบพัฒนาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว ตัวอย่างเช่น สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์นำเอาแก่นความสามารถหลักที่ตัวเองมีอยู่ในเรื่องความเป็นเลิศในการให้บริการมาผนวกรวมกับการใช้ประโยชน์จากสนามบิน ที่ได้รับการยอมรับว่าทันสมัยที่สุดในเอเชีย โดยใช้การพัฒนาในลักษณะของการบูรณาการที่รวมทั้งการประยุกต์นำเอาความรู้ทางการตลาดที่สร้างให้สนามบินไม่ใช่สนามบิน แต่ทำให้สนามบินคือ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวจะใช้เงินในการซื้อของด้วยเงินสิงคโปร์ดอลล่าร์จนหมด โดยไม่ต้องแลกเป็นเงินสกุลตัวเองกลับบ้าน ซึ่งเป็นการใช้ทักษะในการให้บริการแก่ลูกค้าจนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก จากความสามารถดังกล่าวได้ผลักดันให้ประเทศสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงในอันดับต้นๆของโลก โดยมีองค์การธุรกิจที่สำคัญเช่น บริษัทสิงคโปร์แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินที่ได้รับการโหวตให้เป็นสายการบินที่ลูกค้ามีความชื่นชมสูงสุดในอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมการบิน ในการจัดอันดับของนิตยสารธุรกิจ Fortune ปี ค.ศ. 2002

3. มีการปรับปรุงโครงสร้าง แนวคิด ระเบียบวิธีการดำเนินการและเครื่องมือที่ช่วยเอื้อประโยชน์ในการรักษาความเข้มแข็งของแก่นความสามารถหลักนั้นให้คงอยู่ตลอดไป เพราะเป็นแก่นสำคัญขององค์การที่จะต้องผูกโยงรวมเข้าไว้ด้วยกันกับปัจจัยอื่น ดังนั้นการมองเห็นภาพโดยรวมที่ชัดเจนทำให้การพัฒนาองค์การมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

การจัดการธุรกิจร่วมสมัย โดย รศ.ดร.ผลิน ภู่เจริญ


อัพเดทล่าสุด