ความจำเป็นในการปรับกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ
จากปรากฏการณ์ของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ นักบริหารทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา โดยต้องนำมาใช้เป็นโจทย์และข้อจำกัดในการจัดการและการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจประจำวันมากขึ้น สาเหตุที่ต้องปลูกฝังให้ทุกฝ่ายตระหนักในเรื่องดังกล่าวเพราะมนุษย์โดยส่วนใหญ่มักจะมีกรอบความคิด ความเชื่อในสิ่งที่ตนรับรู้ รวมทั้งเหตุและผลที่ตนได้กระทำมาแล้วในอดีต ยิ่งถ้าเป็นอดีตที่ประสบความสำเร็จอย่างมากก็มักจะจดจำได้เป็นอย่างดี และมักจะกระทำและตัดสินใจตามแบบที่ตนเคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต นักวิชาการเรียกกรอบแนวคิดนี้ว่า กระบวนทัศน์ (Paradigm)
เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นมีความแตกต่างจากปัจจุบันมาก ซึ่งทุกคนคงปฏิเสธได้ยาก ในอดีตจังหวัดที่ไกลจากกรุงเทพฯ อาจมีโทรศัพท์ใช้ทั้งจังหวัดเพียง 300 เลขหมาย การติดต่อสื่อสารจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก อุปกรณ์ในการสื่อสารอื่น เช่น โทรทัศน์และวิทยุมีผู้ใช้ในจำนวนจำกัด เพราะประชาชนที่มีกำลังซื้อมีจำนวนน้อย ทำให้ข้อมูลต่างๆส่วนใหญ่ยังไปได้ไม่ทั่วถึง การค้าขายแบบซื้อถูกขายแพงในหัวเมืองต่างๆได้สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ที่มีโอกาสมากกว่า เพราะเกิดมาในตระกูลพ่อค้าใหญ่ หากถามว่า "ทำธุรกิจเก่งไหม?" คำถามต่อมาที่ท้าทายมากคือ "การค้าขายที่มีการผูกขาดเพียงร้านเดียวในจังหวัด ที่คนต้องรอเข้าคิวซื้อต้องเก่งไหม?" ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอดีตได้นำมาซึ่งกรอบความคิดแบบปิดที่ละเลย และไม่ สนใจกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่ากรอบแนวคิดดังกล่าวได้นำพาองค์การเหล่านั้นหลายองค์การเข้าสู่ความเสื่อมของธุรกิจ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น ทำให้ลูกค้าที่เคยซื้อของในตลาดต่างจังหวัดที่มีราคาสูงอย่างไม่มีเหตุผล สามารถโทรเช็คราคาสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือระบบ GSM ที่สามารถส่งข้อมูลเข้า e-mail และสามารถบอกจำนวนสต๊อกและราคาของสินค้าได้ในเวลาเพียงสองสามนาที การเปลี่ยนแปลงนี้เองทำให้นักธุรกิจรุ่นเก่าในตลาดหัวเมืองกลายเป็นร้านค้าในอดีต ร้านค้าที่เคยรุ่งเรืองในอดีตปัจจุบันมีเหลืออยู่จำนวนไม่มากนักหลายร้านค้าต้องปิดกิจการลง
หากลองนึกภาพในอดีตเทียบกับปัจจุบันพบว่ามีธุรกิจเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่น้อยรายมาก จากการค้าขายแบบเดิมที่ได้ลดหายไปจากอดีตถึงปัจจุบันทำให้พอสรุปได้ว่าหากนักธุรกิจยังไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจะเป็นการยากที่จะแข่งขันได้ในปัจจุบัน การปรับกรอบแนวคิดจึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาเป็นสิ่งแรก เริ่มจากการเปิดใจ เปิดตา เปิดหูให้กว้าง ปรับลดทิฐิตัวเองในการยอมรับและตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง และมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองให้มีความเหมาะสมลงตัวกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ จากนั้นค่อยพัฒนาในระดับที่สูงมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น บริษัท Marks & Spencer (M&S) ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของประเทศอังกฤษเปิดดำเนินธุรกิจมานานกว่า 117 ปีมีประวัติความรุ่งเรืองสูงมากในอดีต มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศที่เคยอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ เช่น ประเทศฮ่องกง ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันกลับประสบปัญหาอย่างหนักมีสาเหตุมาจากการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น การเข้ามาแข่งขันของห้างสรรพสินค้าใหม่ๆ เช่น GAP, Next และ Wal-Mart ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นประกอบกับการจัดการของ M&S ที่เป็นการจัดการตามกรอบกระบวนทัศน์เดิมในเชิงอนุรักษ์นิยม กล่าวคือ ยึดติดกับแนวคิดแบบเดิมในลักษณะของการจัดวางสินค้า รูปแบบการให้บริการ การตกแต่งห้างร้าน การอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ลักษณะของสินค้ามีความเฉพาะตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยประสบความสำเร็จอย่างมากมาแล้วในอดีต จากกรอบความคิดในการดำเนินธุรกิจแบบเก่านี้เองทำให้ M&S วันนี้กลายเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ในสายตาของผู้บริโภครุ่นใหม่ จากบทเรียนทางธุรกิจที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแล้วเป็นอุทาหรณ์ที่ดี ช่วยเตือนใจให้ นักธุรกิจทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจก่อน เพราะการทำธุรกิจโดยละเลยการศึกษาสิ่งแวดล้อมก็เหมือนกับการเดินเข้าป่าโดยไม่มีแผนที่และเข็มทิศเลย ในกรณีของประเทศไทย มีบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่เคยประสบความสำเร็จอย่างมากในอดีต แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นบริษัทที่ต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการหลายบริษัท ซึ่งสาเหตุความล้มเหลวส่วนใหญ่มาจากสาเหตุหลักสำคัญคือ ละเลย และขาดการปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง
กระบวนทัศน์ใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างและพัฒนาให้เกิดขึ้น เพื่อเข้าสู่การแข่งขันที่มีพลวัตสูงกว่าในอดีต และนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ข้อสำคัญที่ต้องตระหนักอยู่เสมอคือ ในการพัฒนาการจัดการนั้นควรเป็นการนำเอาแบบอย่างมาประยุกต์ใช้ ไม่ใช่ลอกเลียนแบบหรือก็อปปี้มาทั้งหมด เพราะจะทำให้การพัฒนาขาดประสิทธิภาพ การลอกเลียนแบบที่ขาดการสังเคราะห์ความคิดขึ้นใหม่เป็นการดำเนินงานที่มีโอกาสประสบความสำเร็จต่ำมาก เพราะสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจของ องค์การที่ใช้ศึกษาวิเคราะห์และยกตัวอย่างย่อมมีความแตกต่างจากสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ดังนั้นผู้ฟังทุกท่านจะต้องใช้วิจารณญาณในการศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างให้เกิดปัญญาที่แจ่มชัดในการเข้าใจแนวคิดนั้นอย่างถ่องแท้ เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้ และสามารถสังเคราะห์ความรู้ทางการจัดการให้เกิดขึ้นใหม่ได้เองตลอดเวลา
การเปลี่ยนแปลงปรัชญาการจัดการธุรกิจ
ปรัชญาการดำเนินธุรกิจในอดีตที่ผ่านมาทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ องค์การธุรกิจส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการสร้างให้เกิดกำไรสูงสุดโดยคำนึงถึงการคืนกำไรกลับสู่สังคมน้อยมาก ปัจจุบันสภาพทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น มีกลุ่มชนชั้นกลางมากขึ้น ประชาชนทั่วไปได้รับการศึกษาสูง สังคม และชุมชนเริ่มมีบทบาทที่เด่นชัด ฯลฯ การทำธุรกิจโดยมุ่งหาประโยชน์จากกำไรเพียงแต่อย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ซึ่งในบางชุมชนอาจจะไม่ยอมรับองค์การในลักษณะ ดังกล่าว มีผลทำให้องค์การธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม และชุมชนมากขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดให้ชัดเจนในวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจ ในเรื่องความรับผิดชอบดังกล่าว ส่งผลให้ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นการปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ ในประเด็นต่อไปนี้ คือ
1. องค์การธุรกิจต้องให้ความสนใจกับพนักงานมากขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ริเริ่มให้มีนโยบายแบ่งกำไรให้กับพนักงาน การแบ่งความเป็นเจ้าของกิจการให้ อาทิเช่น การให้สิทธิในการถือครองหุ้นของบริษัทแก่ผู้บริหาร และพนักงาน มีนโยบายการทำงานโดยใช้เวลาแบบยืดหยุ่น เพื่อให้พนักงานมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้พนักงานมีการพัฒนาตัวเองมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้มีความรู้และการศึกษาที่สูงขึ้นในลักษณะของการให้ทุนการศึกษาและการอบรมสัมมนา
2. องค์การต้องสร้างความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการพัฒนาให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ปัจจุบันภาคเอกชนมีส่วนสำคัญมากในการช่วยพัฒนาประเทศ ความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคเอกชนนำไปสู่ความมีอำนาจในการต่อรองของประเทศในเวทีการค้า และการเมืองระหว่างประเทศ ผลจากความสำเร็จในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจในประเทศจีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลทำให้องค์การการค้าโลกยอมรับจีนเข้าเป็นสมาชิกและเป็นประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคอีกด้วย
3. เน้นปรัชญาของการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย มีนโยบายส่งเสริมการตลาดสีเขียว (Green Marketing) โดยเฉพาะในเวทีการค้าระดับโลก เทคโนโลยีสีเขียวได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายว่ามีความสำคัญมาก เช่น การกำหนดมาตรฐาน ISO 14000 ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ องค์การได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น
4. การให้ความสำคัญกับการเป็น Corporate Citizen ในชุมชนและในประเทศที่ องค์การเข้าไปดำเนินธุรกิจ องค์กรจึงควรให้ความสนใจต่อการเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาสังคม และช่วยเหลือดับความทุกข์ร้อนเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ องค์การธุรกิจควรให้ความสนใจกับบทบาทในการพัฒนาสังคมและชุมชน เพื่อให้องค์การมีความผูกพันกับชุมชนในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน มีปรัชญาการทำงานที่เน้นการสร้างงานให้กับท้องถิ่น เช่น มีนโยบายการจ้างแรงงานจากคนท้องถิ่นมากขึ้น (Localization)
สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงของปรัชญาทางการจัดการ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสภาวะแวดล้อมภายนอก ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ซึ่งอาจมีความแตกต่างในรายละเอียดแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้องค์การต้องมีการปรับรูปแบบการจัดการภายในให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เช่น การพัฒนาปรับโครงสร้าง ระบบ กลยุทธ์ และการอบรมความรู้ใหม่ๆให้กับพนักงาน การให้ความสำคัญกับปรัชญาการดำเนินธุรกิจแบบมืออาชีพที่มีความเป็นสากลมากขึ้น
การปรับองค์การในลักษณะดังกล่าวมีความจำเป็นมาก เพราะปัจจุบันการศึกษาของประชากรมีมากกว่าเดิม ทำให้ทุกคนต้องการมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลทำให้มีความต้องการที่สูงมากขึ้นในทุกด้านไม่จำกัดเฉพาะแต่การบริโภคเท่านั้น โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลสามารถทำได้สะดวกมากขึ้น ทำให้ลูกค้าในปัจจุบันมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปและมีความคาดหวังสูงมากขึ้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันสำคัญทำให้องค์การต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ซึ่งหากองค์การขาดความพร้อมในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวจะทำได้ยาก ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้
ที่มา : รศ.ดร.ผลิน ภูจรูญ