'Buddha Way of Management' ศาสตร์การจัดการผู้นำ


836 ผู้ชม


'Buddha Way of Management' ศาสตร์การจัดการผู้นำ




   - ถอดแนวคิดเชิงพุทธมาเป็นภาษาบริหารจัดการ
        - "ศาสตร์ผู้นำ" สร้างได้และเรียบง่ายกว่าที่หลายคนคิด
        - กะเทาะแก่นตำราดังระดับโลก ล้วนต่างโฟกัสเป้าหมายเดียวกันคือ "EQ" หรือ "สติ"
        - ขึ้นหิ้งเครื่องมืออินเทรนด์ วิถีแห่งพุทธคือที่สุดแห่งการจัดการ
       
        เปิดมุมมองเชิงพุทธด้วยวิธีการบอกเล่าแบบภาษาบริหารจัดการ ศาสตร์แห่งผู้นำยุคอินเทรนด์ อาจจะไม่ต้องเสียเวลามาพลิกตำรา management เล่มล่าสุด ถ้าหากรู้จักหยิบยกโนว์ฮาวใกล้ตัวมาประยุกต์ใช้ให้เป็น
       
        ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ วิทยากรอิสระ ที่ปรึกษาองค์กรภาครัฐและเอกชน นักปฏิบัติธรรม และเจ้าของบริษัท พรีม่า แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงการนำวิถีคิดเชิงพุทธมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการองค์กรว่า การนำองค์กร ผู้บริหารต้องนำตัวเองให้ได้ก่อน ถ้านำไม่ได้จะไปนำการบริหารคน จำนวนพันคนสองพันคนไม่ได้ เพราะสุดท้ายของการจัดการองค์กรจะเลวหรือดีสุดท้ายมาจบลงที่คน
       
        "ตำราทุกเล่มเลยคนที่สำคัญที่สุดคือผู้บริหาร พบจบลงที่คนก็ต้องศึกษาต่อว่าอะไรของคน? ไล่ไปไล่มาอยู่ที่ EQ : Emotional Quotient ความฉลาดทางอารมณ์ หนังสือฝรั่ง EQ จะเขียนไม่ค่อยชัดว่าต้องแก้อย่างไร? บอกแต่ว่า EQ ถ้าทำไม่ดีจะเสียหายอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าไม่มี EQ จะเป็นแบบโน้นแบบนี้ โดยที่ how to improve EQ ฝรั่งพูดไม่ชัด
       
        แต่ถ้าเรามาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า หรือศาสนาไหน?ก็ได้ จะพบว่าเรื่องของ EQ พระพุทธเจ้าสอนไว้เยอะเลย เรื่องใจ ใจตัวเดียวเลย เราสังเกตว่าฝรั่งกับคนไทยเวลาบริหารอะไรก็แล้วแต่ ฟุตบอลก็ได้ อยู่ที่ใจทั้งนั้น เราไม่ค่อยฝึกเรื่องใจกันเท่าไหร่? เด็กไทยพอแข่งที่สนามราชมังคลาจะชนะเรื่อยๆ แต่พอไปแข่งที่สนามเสนาจันทร์ อินโดนีเซีย ใจแป้วแพ้ทุกที เพราะเราไม่ได้ฝึกเรื่องใจ พอใจทรุด EQ เสีย สติขาด ปัญญาก็หาย ก็เลยแพ้"
       
       
โลธ-โกรธ-หลง
       หลุมพรางความคิดผู้นำ

       
        เขามองว่า ทุกวันนี้หลายองค์กรของไทยเราไม่ค่อยพัฒนา มาจากความบกพร่องในเรื่องของ "โลธ โกรธ หลง" ของผู้บริหาร เช่น "ตัวโลภ" เห็นใครเขาลงทุนธุรกิจ ก็ลงทุนตามเป็นแมงเม่า อย่างเช่นแห่กันทำธุรกิจน้ำชาเขียว ถึงเวลาก็ตายหมู่ เวลาธุรกิจไหนบูมก็บูมเหมือนกันหมด ไม่ได้ดูเหตุการณ์ เพราะไม่มีสติไปกุมใจ
       
        ขณะที่ "โกรธ" ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่องค์กรไทยๆ มีปัญหากันมาก จากการที่ชอบสร้างบาปสร้างกรรมกันในห้องประชุม ประชุมทีไรก็โกรธกันทุกที โมโหโทโส ประชดกระแทกกันทุกที การประชุมก็เลยไม่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารไปต่อว่าลูกน้องในที่ประชุม ก็โกรธโมโหกันจนจิตขาด
       
        "จริงๆ ทฤษฎีไทยแนวทางบริหารกับฝรั่งก็เรียนมาเหมือนๆ กันทั้งนั้น ผู้บริหารไทยเรียนจบมหาวิทยาลัยดังๆ จากเมืองนอกมาก็มีเยอะแยะไปหมด แต่มาตายกันที่สติ สติขาด"
       
        ในส่วนของ "หลง" เกิดอัตตาตัวตนหลง พอไปนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร ตัวใหญ่คับฟ้าขึ้นมาทันที พออัตตาตัวตนเข้ามาก็ส่งผลทำให้ไอคิวตก เกิดปัญญาทราม คิดอะไรไม่ออก เต็มไปด้วยอคติ เต็มไปด้วยความลำเอียง การตัดสินใจอะไรต่างๆ พังหมด
       
        "ทุกอย่างเป็นเรื่องของสติ การทำธุรกิจคนไทยก็เลยเสียเปรียบเกือบหมดเลย ฝรั่งเขานับถือศาสนาอื่นก็จริง แต่พื้นฐานการคุมสติเขาแน่นกว่า ระบบการศึกษาฝรั่งสอนให้คิดเป็น รู้จักหาเหตุผล รู้จักใช้สถิติ รู้จักใช้ข้อเท็จจริง
       
        วิธีคิดจะดีกว่าเยอะ เขากล้าสอน ผู้บริหารเราหลายคนไม่กล้าตัดสินใจแก้ปัญหาเพราะเกิดความคับข้องใจ เช่น ไม่อยากฟังลูกน้องเล่าเรื่องร้ายๆ ให้ฟัง พยายามหนีเรื่องร้ายๆ อยากจะฟังแต่เรื่องดีๆ เกิดตัวอยาก ไม่อยาก เรียบร้อย ก็เจ๊ง ก็พัง ที่อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะกินบุญเก่า"
       
        ดร.วรภัทร์กล่าวต่อว่า ในแง่ของ leadership เมืองไทยเราไม่ต้องไปอ่านหนังสือ leadership ที่ไหน? แต่ให้ดูตัวอย่างจากในหลวงหลายรัชการที่สามารถครองสติ มีทศพิธราชธรรม หลายพระองค์ เช่น รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 9 หรือพระนเรศวรมหาราช มีสติ ไม่โลภไม่โกรธไม่หลง
       
        ขณะที่ตัวผู้บริหารหลายคนมักจะกลัวธรรมะ พอพูดภาษาบาลีก็หนีกันหมด และก็มีน้อยคนที่ผู้บริหารจะไปบวชทางพระ และก็ยากอีกเช่นกันที่จะให้พระท่านมาสอนเรื่องบริหารธุรกิจตรงๆ แต่ถ้าไปดูผู้บริหารฝรั่งจะพบว่าหลายคนเคร่งศาสนา หรือกูรูการจัดการชื่อดัง อย่าง สตีเว่น โควี่ ที่ออกหนังสือดังๆ หลายเล่ม ก็สามารถสรุปได้คำเดียวเลยคือการสอนเรื่องสติ ตัวของฟิลิป คอตเลอร์ หรือทอม ปีเตอร์ ก็สอนเรื่องสติเป็นหลักด้วยเช่นกัน
       
        "ของเสียในโรงงาน การลดต้นทุนการผลิต สาเหตุที่มาที่ไปก็มาจากสติตัวเดียว องค์กรไทยๆ คอร์รัปชั่นกันเยอะ พวกนี้สุดท้ายรวยไม่นาน ไม่ถึงลูกหลาน ชาวบ้านเราจะเท่มากถ้าได้เป็นคนสนิทสส. ได้โกงกินถนนเข้าหมู่บ้าน โกงกินการขุดบ่อน้ำ เป็นพื้นฐานของความโลภทั้งหมดเลย การโฆษณาก็เป็นส่วนหนึ่งของการยั่วยุเกินความจำเป็น ขาดสติกันหมด อย่างมือถือ 90% เป็นการคุยกันเรื่องไร้สาระ เราจ่ายค่ามือถือโดยไม่จำเป็น ซื้อของที่ไม่จำเป็น
       
        วัฒนธรรมวัตถุนิยมเป็นแผนหนึ่งของบริษัทข้ามชาติ เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต สิ่งที่เขาทำคือต้องโยนกิเลสเข้าไปก่อน โยนสิ่งไร้สาระเข้าไป โยนกาม โยนกอล์ฟ บ้าเรื่องกิน บ้าเรื่องเพศ ประเทศไทยเราจึงไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน"
       
        เขามองว่าจุดอ่อนด้อยในการใช้เครื่องมือการจัดการ "โลธ โกรธ หลง" แง่ฝรั่งจะมีตัวโลภมาก แต่ตัวโกรธไม่ค่อยมี การบริหารลูกน้องก็เลยแน่นกว่า สังเกตุคนไทยกับฝรั่งเวลาเข้าประชุม ฝรั่งด่ากันในที่ประชุม ออกไปสนิทกัน และก็ปรับปรุงทำงานเป็นทีม แต่ถ้าเป็นคนไทยด่ากันในที่ประชุม จะจำกันหลายปีไม่มีเลิก
       
        คนไทยเล่นกีฬาฉายเดี่ยวได้ เป็นทีมไม่ค่อยได้ เพราะทุกคนไม่เคยไว้ใจกัน และทุกคนจิตใจไม่เข้มแข็งพอที่จะฟังอีกฝ่ายหนึ่ง "คุณเชื่อผมสิ" "เอ็งเชื่อข้าสิ" ส่วนฝรั่งบอก โอเคว่าไงว่าตามกัน คนไทยจะบอก "คุณเด็กกว่าจะมาเถียงทำไม?" "ฉันประสบการณ์มากกว่า" "ฉันเรียนสูงกว่า" มีอัตตาตัวตนเข้ามาตลอดเวลา ทำให้วิธีบริหารไม่ได้บริหารตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าบอกว่า จะทำอะไรก็แล้วแต่ให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ให้ตัด emotional ออก ผู้บริหารส่วนมากชอบใช้ emotional management เข้าไปบริหาร
       
        "อัตตาสูงทำให้มองคนอื่นต่ำหมด พระพุทธเจ้าสอนอยู่คำหนึ่งดีมากเลยว่า อย่าเห็นคนอื่นต่ำกว่าเรา อย่าเห็นคนอื่นสูงกว่าเรา และก็อย่าเห็นคนอื่นเสมอด้วยเรา คนไทยเวลาเข้าประชุม ถ้าใครพูดอะไรไม่ตรงใจเรา ก็บอกว่าแหกคอก ลูกน้องก็แนะเจ้านายไม่ได้ เจ้านายแนะลูกน้องกลายเป็นด่า ลูกน้องแนะเจ้านายกลายเป็นละเมิดเบื้องสูง คนไทยเราไม่ได้โง่กว่าฝรั่ง ตัวต่อตัว เราฉลาดกว่านะ แต่พอเข้าทีมกับปั๊ป ไม่ได้แล้วฉันไม่เชื่อแก แกไม่เชื่อฉัน"
       
       
บ่มเพาะ EQ
       สร้างสติสะสมโนว์ฮาว

       
        ดร.วรภัทร์กล่าวอีกว่า ความแตกต่างระหว่างสไตล์การบริหารจัดการของไทยกับฝรั่ง ทำให้เริ่มมีผู้บริหารหลายคนจับทางแล้วว่า ที่ฝรั่งฉลาดทุกวันนี้เป็นเพราะตัว EQ หรือตัวสตินั่นเอง และมีแนวโน้มว่าฝรั่งจะหันมาศึกษาศาสนาพุทธมากขึ้นเรื่อยๆ และใช้หลักทางพุทธมาบริหารจัดการเกือบทั้งหมดเลย ขณะที่คนไทยเราก็กลายเป็นมนุษย์กินเงินเดือนต่อไป
       
        "เรามีศาสนาพุทธของดีอยู่กับเรา แต่เรากลับชอบขวนขวายขยะที่ฝรั่งโยนมาให้ เขาแอบเรียนของเราอยู่แต่เขาไม่พูด เราเอาขยะ 10-20 ปีของเขามา และเขาก็ฉลาดพอที่จะไม่บอกเรื่องใหม่ๆ กับเราทั้งหมด ญี่ปุ่นเองก็ยังไม่เคยให้ความรู้ที่ทันสมัยกับคนไทยเลย เขาจะบอกเราเมื่อเวลาผ่านไป 20-30 ปีแล้ว"
       
        จุดหนึ่งที่เขาวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจคือ ต่อไปมีความเป็นไปได้ว่าไทยจะเล็กเหมือนสิงคโปร์ เพราะโลกเล็กลง และก็อาจจะเหมือนอังกฤษคือเล็กลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้หลายธุรกิจในอังกฤษกลายเป็นของต่างชาติ คนอังกฤษเป็นแค่พนักงานกินเงินเดือนเท่านั้นเอง
       
        "ดูทีมฟุตบอลสิ แมนยูเป็นของอเมริกา เชลซีเป็นของรัสเซีย ฟูแลมเป็นของอาหรับ ประเทศไทยก็เหมือนกัน อีกหน่อยธุรกิจมือถือเป็นของฝรั่งเสียกี่อัน เรามองแต่ว่าต้องกีดกันไม่ให้ฝรั่งเข้ามาทำธุรกิจในไทย แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะสร้างธุรกิจให้ไปใหญ่ข้างนอก
       
        นายกฯ ทักษิณฉลาดที่คิดจะไปซื้อทีมฟุตบอลอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คนไทย มองอะไรให้มันข้ามโลกแบบนี้ก็ได้ ทักษิณเขามองอีกแบบให้ดู think globalize ไปสิ กลัวอะไรกันเล่า? บุกไปอัฟริกาใต้เลยแล้วลงทุนทำธุรกิจ จ้างคนในพื้นที่แถวนั้น เห็นคนทั่วโลกเป็นกรรมกรของเรา เป็นทรัพยากรของเรา
       
        เรามัวแต่พูดว่าไม่ได้ไม่ได้ คิดอยู่แค่นั้นเหมือนกบในกะลา เพราะเรามัวแต่ไปนึกเรื่องชาติไง? ทั้งที่จริงจะฝรั่งหรือคนไทย ก็เป็นเพื่อนผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายทั้งนั้น พรมแดนเป็นแค่อะไรก็ไม่รู้ นกบินผ่านยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นสัญชาติไหน? เราไปยึดมั่นถือมั่นเอา รังเกียจเอา" ดร.วรภัทร์กล่าว
       
        จุดอ่อนอีกข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศไทยขาดการเรียนรู้เรื่องยุทธศาสตร์ strategic management ซึ่งต้องปรับตัวและเร่งสอนกันตั้งแต่อยู่ป.4 แต่ที่ผ่านมาคนที่ทำธุรกิจเก่งๆ ไม่เคยไปนั่งในกระทรวงศึกษาธิการ มีแต่ครูอาจารย์ไปนั่งกระทรวงศึกษาธิการ และครูแต่ละคนก็ไม่ได้มีความกล้าในการทำธุรกิจ
       
        "เราไม่ดูแลเรื่องการศึกษา ทั้งธุรกิจก็พัง ธรรมะก็เลยพังไปด้วย สุดท้ายการบริหารองค์กรพัง เพราะคนไม่มีคุณภาพ ต้องดิ้นหนีตายด้วยการทำ learning organization ทำ KM : Knowledge Management องค์กรใดก็ตามเชื่อระบบการศึกษาไทย เตรียมตัวเจ๊งได้ หลายคนตกม้าตายจากการเรียนระบบการศึกษาไทย บ้านเราจบโทกันทั้งเมือง เอาก้อนหินไปขว้างแถวสีลม รับรองจบโทกันทั้งนั้น แต่ไม่มี output ดีๆ ออกมาเลย
       
        การศึกษาพังทำให้เราไม่ได้นักธุรกิจดีๆ ออกมา ไม่ได้นักธรรมะดีๆ ออกมา ไม่ได้นักคิดดีๆ ออกมา พอมาอยู่องค์กร ทุกคนก็จะคุยกันเรื่องเงินเดือน บริษัทไหนจ่ายดีๆ ก็หนีๆ กันไป ขาดความอดทนซึ่งเป็นธรรมะเบื้องต้น ทีวีหนังสือพิมพ์ ก็ไม่ได้สอนให้คนดูฉลาดขึ้น ดูถูกคนดูตลอดเลย"
       
        ที่ปรึกษาองค์กรกล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาไทยเราไม่เคยสอนวิธีคิดให้กับเด็กๆ ขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วฉับพลัน ศีลธรรมของคนต้องคิดกันวินาทีต่อวินาที เพราะวันนี้ดี พรุ่งนี้อาจจะไม่ดีก็ได้ ทุกอย่างเป็นแมทริกซ์ สามารถดีและชั่วได้ทันตาเห็น ตราบใดที่เราไม่สร้างคนของเราให้สามารถทนต่อสิ่งเร้าได้ และสุดท้ายคำตอบอยู่ที่สติ ซึ่งเปรียบเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างคอยเตือนใจ
       
        "สติ พอสติมา ปัญญาก็เกิด เป็นโนว์ฮาวระดับจักรวาล กลางตัวคนเรามีแผ่นซีดีรอม ซึ่งจะสะสมข้ามภพข้ามชาติทุกสิ่งทุกอย่าง ตราบใดที่จิตเราเกิดอาการก็จะบันทึกลงแผ่นซีดีนี้ วันหนึ่งถ้าจิตเราว่างไม่มีการบันทึกทั้งกุศลและอกุศล เมื่อจิตเราว่างความรู้ต่างๆ หรือ Knowledge Management ของเรา ชาติก่อนเราเคยเป็นอะไรมาสามารถกลับดึงเข้ามาใช้ได้หมดเลย เป็นโนว์ฮาวที่คนไม่เคยปฏิบัติก็จะไม่รู้ ดูหลวงพ่อบางองค์ยังบริหารจัดการเก่งกว่าผู้นำองค์กรหลายคนอีก
       
        เราชอบมองทุกอย่างเป็นเรื่องลี้ลับ แต่หารู้ไม่เราเรียนวิทยาศาสตร์ไปไม่ถึงวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงไม่เคยศึกษาธรรมะ และชอบมั่วว่าธรรมะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์เพียวๆ เป็น matrix science สายพุทธคือการขึ้นเขาพระวิหารทางด้านชัน คนจะศึกษาทางพุทธต้องขยัน เชื่อมั่นในตัวเอง และต้องปฏิบัติเยอะๆ ส่วนศาสนาอื่น อย่างคริสต์ต้องใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ แต่ศาสนาพุทธสอนให้นิพพาน เราออกจากแมทริกซ์"
       
       
ศาสนาพุทธ
       เครื่องมือการจัดการอินเทรนด์

       
        ดร.วรภัทร์เล่าว่า หลักคิดทางศาสนาพุทธถ้าเอามาเปรียบเทียบกับเครื่องมือการจัดการปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดเจนอย่างเช่น motivation technique ได้แก่ อิทธิบาท 4 ถ้าเป็นเรื่องของ problem solving ก็คือการใช้อริยสัจ 4 ถ้าเป็นเรื่อง innovation ก็คือ โภชชงค์ 7 แต่ถ้าเป็นเรื่องการบริหารองค์กร ก็เป็นเรื่องของทศพิธราชธรรม อัปปริหาริยธรรม 7 คือการทำให้คนในองค์กรรักกัน หรือหลักของการบริหารเล่นหุ้นก็คือ กาลามสูตร อย่างไรก็ดี 8 หมื่นพระธรรมขันธ์ จะลงอยู่ที่ตัวเดียวคือ สติ เพราะตำราบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ที่ "สติ" ตัวเดียวหมดเลย การมีสติทำให้ใจว่างได้ หรือวิธีคิดแบบ positive thinking ก็คือ กุศลจิต ซึ่งเป็นเครื่องมือง่ายๆ ในการดำรงชีวิตประจำวัน
       
        ตัวอย่างของการบริหารจัดการที่น่าสนใจเช่น รามเกียรติ์อินเดียจะสอนเรื่องธรรมะเยอะมาก ทศกัณฑ์เป็นบิดาแห่ง management ด้านการปกครอง แต่พาองค์กรไปทางที่ไม่ดี ก่อนตาย พระรามบอกพระลักษณ์ว่าให้ไปฟัง management ของทศกัณฑ์ ทศกัณฑ์เทศน์ให้ฟังเรื่องการบริหารคน คำแรกที่พระลักษณ์ถามว่าทำไมถึงได้แพ้รบกับพระราม ทศกัณฑ์ตอบว่า เราแพ้เพราะเราพลาดครั้งเดียว แพ้ความอหังการ์ในตัวเรา เราเก่งทุกอย่างแต่เราแพ้ความอหังการ์ของตัวเรา
       
        "คนจีน คนเกาหลี คนฮ่องกง เป็นนักวางยุทธศาสตร์ ทำไมเขาเก่ง เพราะหนังจีนกำลังภายใน ถัดมาคือสามก๊กเรียนกันมาตั้งแต่เล็กๆ ไทยเราเป็นประเทศไม่ management ประวัติศาสตร์บ้านเราบอกแต่ว่าใครทำอะไร? แต่ไม่สอนวิธี management
       
       เราไม่สอนว่าพระนเรศวรคิดอะไร? พระไชยราชาคิดอะไร? พระเจ้าตากสินคิดอะไร? นักวิจัยทางประวัติศาสตร์ของเราค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เพื่อให้ได้ประวัติศาสตร์ แต่เราไม่เคยเจอนักประวัติศาสตร์ที่ประยุกต์เอาประวัติศาสตร์มาใช้กับงาน management เราไม่เคยมีหลักสูตรแนว business history คนเรียนประวัติศาสตร์จะสอนให้รู้จักยุทธศาสตร์เพราะสอนให้รู้จักวิธีคิด วิธีการทำใจภายใต้สถานการณ์แบบนี้ควรทำอย่างไร?
       
        คนจีน คนฮ่องกง เรียนประวัติศาสตร์กันเพื่อวิเคราะห์แหลกลาญให้เข้ากับธุรกิจ ทำให้คนของเขาคิดอะไรที่หลากหลาย มองหาความเป็นไปได้หลายๆ ทาง สมองเกิดความคิดแตกกระจายออกไป ไอคิวก็เพิ่ม แต่ถ้าเป็นของไทยจะหาตัวว่าคนนี้ถูก คนนี้ผิด หรือยึดตามประวัติศาสตร์เป็นหลัก"
       
        ทั้งหมดนี้ถ้าสามารถประยุกต์แนวคิดทางพุทธให้เข้ากับศาสตร์การจัดการได้ เมืองไทยก็จะมีผู้นำที่สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ อย่างไม่มีขีดจำกัด
       
       อิทธิบาท 4 กับผู้บริหาร
       
        ตามหลักการบริหารในทางโลกนั้น จะบอกตรงกันว่า ตัวการหรือตัวแปรที่ทำให้องค์กร ล้มเหลว รุ่งเรือง หรือวุ่นวาย อันดับแรก คือ ผู้บริหารนั่นเอง
       
        1. บ่อยครั้งที่ผู้บริหารไม่ได้ชอบ (ฉันทะ) ในงานที่ตนเองทำจริง เช่น จำใจมาทำ เพราะเป็นทายาททางธุรกิจ เคยชอบ แต่ตอนนี้เบื่อแล้ว ชอบอย่างอื่นมากกว่าแต่เผอิญระบบสอบ entrance ทำให้ต้องมีอาชีพนี้ หางานอื่นที่ชอบยังไม่ได้ ฯลฯ
       
        บ่อยครั้งที่ในการจัดวางระบบไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน ISO อะไร กิจกรรมอะไร ฯลฯ สิ่งแรกที่ฝ่ายบริหารต้องทำให้ได้ คือ ให้พนักงานชอบเรื่อง ชอบกิจกรรม ชอบระบบ ที่เราจะทำให้ได้ บ่อยครั้งที่ต้องทั้งยั่ว ทั้งยกแม่น้ำทั้ง 500 สาย ฯลฯ บ่อยครั้งที่จะสอนใคร ต้องทำให้เขาชอบซะก่อน ครูที่จะเก่ง inspire ให้ผู้เรียน "อยากๆๆ" เรียนก่อนสนุกกับเรื่องที่จะเรียนและคอยให้กำลังใจ ในการสอนธรรมะ ฝึกธรรมะก็เช่นกัน ควรคบคนที่คอยดึงเราไปในทางธรรมะ มีปิยวาจาปลอบใจให้กำลังใจ
       
        2. เมื่อชอบแล้วก็ต้องทำให้ "ติดใจ" ให้ได้คิดถึงตลอดเวลา แค่ชอบเฉยๆ อาจจะเลิกชอบได้ ชอบแบบฝังจิตฝังใจ ผู้บริหารก็ต้องสนับสนุน แก้ข้อสงสัย แก้ข้อกังวลให้พนักงานบ่อยๆ
       
        3. เมื่อติดใจแล้วบ่อยครั้งจะขี้เกียจ จะท้อถอย เพราะเจออุปสรรค ดังนั้นต้องมีความเพียร มีวิริยะ อุตสาหะ ทั้งทางโลก และทางธรรมจะต้องผ่านด่าน ขี้เกียจ เบื่อ ท้อแท้
       
        4. วิมังสา คือ การพิจารณาใช้สมอง ใช้สติ ใช้ปัญญาฝึกมาตั้งนานก็ต้องมีจิตใจสงบลง ไม่ใช่ "ขยันแต่โง่" ยิ่งฝึก ยิ่งโมโห ดูถูกคนในทางโลก คือ การประชุม ทบทวน เข้ากลุ่มระดมสมอง วงจร PDCA ในทางธรรม เช่น เรียนธรรมะ มาตั้งนาน หากยังไม่สงบ ยังตัดโลภ โกรธ หลง ไม่ได้ แสดงว่าปฏิบัติมาผิดทาง หรือเจอครูที่ยังไม่รู้หนทางดับทุกข์ที่แท้จริง ในทางปฏิบัติพบครูแบบปริยัติเข้าให้แล้ว ก็ต้องปฏิบัติใหม่ "อย่าเป็นน้ำ เต็มถ้วย"

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด