Executive Voice : ผู้นำไม่ใช่ข้ามาคนเดียว ทำงานต้องเป็นทีม
เนื่องจากว่าตัวเองต้องรับผิดชอบหลายเรื่อง สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือต้องพัฒนาคนซึ่งเราต้องแยกแยะให้ได้ว่าในบรรดาพนักงานที่เรามีหรือที่จะรับเข้ามาใหม่เขามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ส่วนที่เป็นจุดแข็งของเขา เราก็พยายามใช้งานให้ตรง ส่วนที่เป็นจุดอ่อนเราต้องมองว่าเราจะสร้างปรับปรุงเขาได้อย่างไร
เราจะต้องให้โอกาสเขาก่อน ต้องให้ความรู้ในการปฏิบัติงานในชีวิตจริง คนทำงานต้องการคอร์สต่างๆ เพื่อให้เขาได้เพิ่มพูนความรู้ และเมื่อเราใส่ความรู้อะไรต่างๆ เข้าไป เราต้องทดสอบดูอีกที่หนึ่งว่าเขาทำได้แค่ไหน พูดง่ายๆ คือการใช้คนให้เหมาะกับงาน ขณะเดียวกันอย่างปิดโอกาสเขา ต้องสร้างโอกาสของเขาเพื่อให้เขาสามารถเติบโตอันนั้นเป็นหลักที่ใช้มาทุกที่
เราต้องยอมรับว่าในชีวิตการทำงานเราไม่สามารถหาคนที่ถูกใจได้ทั้งหมด ในฝันของผู้บริหารทุกคนก็อยากเลือกพนักงานเองให้ถูกใจ แต่ในชีวิตจริงไม่ได้ บางครั้งงานที่ได้รับเป็นงานที่มีคนทำอยู่แล้ว เราก็ต้องลงไปดูเพื่อพัฒนาเขาให้เขาสามารถสร้างผลที่ดีที่สุดต่อองค์กร
แต่หากมีพนักงานใหม่เข้ามา เราจะพยายามหาโอกาสได้สัมภาษณ์เองเพื่อดูว่าเขาไปได้มั้ย มีศักยภาพแค่ไหน ข้อสำคัญคือทัศนะคติในการเรียนรู้ โดยทั่วไปถ้ามีโอกาสได้ลงไปดูจะลงไปดูถึงระดับเจ้าหน้าที่พีอาร์ เจ้าหน้าที่สินเชื่อ ก็อยากมีโอกาสได้พูดคุยกับเขาเองด้วย ไม่ใช่ว่าเราไม่เชื่อใจผู้บริหารที่เรามอบหมาย แต่ว่าบางครั้งเราอยากได้ความรู้สึกที่ว่าพนักงานที่เรารับเข้ามาเขาเป็นอย่างไร เราจะดูว่าเขาจะเติบโตและพัฒนาอยู่ในองค์กรได้มากน้อยแค่ไหน
อย่างถ้าเป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อเขาก็อาจจะมองแต่ว่าคนที่เหมาะกับงานตรงนั้น แต่ถ้าเป็นเรา เราจะมองกว้างกว่านั้นว่าถ้าเขาอยู่ในองค์กรเขาจะมีโอกาสพัฒนาหรือว่าเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตรงไหนได้บ้าง คาแรคเตอร์เขาเป็นอย่างไร บางครั้งเราก็อาจจะใส่แนวคิดอะไรให้เขาบ้าง ดังนั้นทุกครั้งที่มีโอกาส มีเวลา จะพยายามสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็คิดว่าเขาเองก็จะรู้สึกดีที่เขาได้มีโอกาสพบพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูง
โดยส่วนตัวจะไม่มองเด็กที่เรียนเก่งอย่างเดียว แต่จะมองคนที่เรียนระดับปานกลางหรือว่าค่อนข้างดี แต่มีการทำกิจกรรมบ้าง คือเวลาทั้งหมดไม่ใช่อยู่ที่การเรียนอย่างเดียว เพราะงานวิเคราะห์หรืองานวิจัยเราต้องดูทั้งอีคิว และไอคิวของพนักงานประกอบกัน
เพราะเรามีความเชื่อว่าเด็กหรือเจ้าหน้าที่ที่มีการตื่นตัวตลอดเวลาหรือมีการทำกิจกรรมเยอะจะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี คือในชีวิตการทำงานไม่มีอะไรที่เป็นเส้นตรงเขาต้องรู้จักที่จะแก้ปัญหาและทำงานได้ด้วยตัวเอง
ข้อคิดในการทำงานอย่างแรก คือ ต้องมีทัศนะคติที่ดีต่อองค์กร ถ้าคุณอยู่ในองค์กรและคุณว่าองค์กรคุณทุกวัน อันนี้ไม่ไหว คุณไม่มีใจแล้ว
อย่างที่สองต้องพร้อมเรียนรู้ แม้ว่างานจะไม่ใช่งานเราโดยตรง แต่ถ้ามีโอกาสก็น่าจะขวนขวายหาความรู้ได้
ส่วนข้อสามคือไม่เกี่ยงงาน เพราะการเกี่ยงงานคือการปิดโอกาส เราไม่รู้หรอกว่าวันใดวันหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้บริหารที่ต้องมารับผิดชอบงานอีกส่วนหนึ่งเลยก็ได้ เพราะองค์กรสมัยใหม่ไม่ใช่องค์กรปิดที่ใครมาสายไหนก็จะต้องเติบโตในสายนั้นแต่สามารถหมุนเวียนเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยงงานจะเป็นเรื่องที่ทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้ได้ดีที่สุด
บทบาทผู้นำก็ไม่ใช่ว่าข้ามาคนเดียว การทำงานต้องทำเป็นทีม คำว่าทีมคือมีทั้งในองค์กรและนอกองค์กร ในองค์กรคือทำงานกับเพื่อนร่วมงานได้ นอกองค์กรคือการหาพันธมิตรในการทำธุรกิจร่วมกัน และต้องไม่หยุดนิ่งเราต้องคิดตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะว่าธนาคารไม่ใช่ภาพของสถาบันที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ผู้บริหารจะต้องลงมาคลุกคลีมาเป็นผู้ชี้นำ ชี้แนะ ดังนั้นจะต้องเข้าใจตลาดต้องรู้ว่าคู่แข่งทำอะไร ตลาดมีความต้องการอย่างไร มีตรงไหนที่เราจะไปเจาะกลุ่มใหม่ๆ ได้หรือว่าขยายตลาดได้ อันนี้เราต้องเป็นคนชี้แนะจากนั้นทีมงานเราจะต้องเข้าไปลุย ถ้าเทียบกับกีฬา เราไม่ได้เป็นแค่เจ้าของทีมฟุตบอลและบอกว่าให้ไปเล่นกันโดยที่ไม่มีโค้ชมาบอกเขาว่าควรจะเล่นทีมระบบไหนอย่างไร
การแข่งขันมีสูงในทุกวงการ โดยเฉพาะวงการธนาคารจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่คือจะมีธนาคารใหม่เกิดขึ้น และจะมีธนาคารที่เป็นนิชมาร์เก็ตอย่างธนาคารรายย่อย เพราะฉะนั้นการเป็นธนาคารขนาดใหญ่เราจึงต้องมีหลายส่วนงาน คือมีทั้งฝ่ายรายใหญ่และรายย่อย โดยฝ่ายรายย่อยจะต้องมีการปรับกระบวนทัพเพื่อแข่งขันในตลาดได้ และจะต้องรู้ว่าองค์กรของเรามีจุดแข็งอะไร เช่น เครือข่าย สาขา พนักงานที่มีความรู้ความสามารถต้องเอามาใช้อย่างเต็มที่ และสิ่งที่สำคัญต่อไปคือเรื่องของแบรนด์เพราะว่ายิ่งแบรนด์แข็งเท่าไหร่ก็ทำให้คนเจาะเข้ามายากขึ้น
แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ