ก.พ.ร.ปั้นข้าราชการพันธุ์ใหม่ สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง


999 ผู้ชม


ก.พ.ร.ปั้นข้าราชการพันธุ์ใหม่ สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง




       - ผ่าแผน "ก.พ.ร." กับภารกิจสร้างข้าราชการพันธุ์ใหม่ที่ยังคงหมุนล้ออย่างต่อเนื่อง
        - ล่าสุดเตรียมผุดตำแหน่ง " นักพัฒนาระบบราชการ" กระจายทั่วหน่วยงานต่างๆ
        - มุ่ง 3 ศักยภาพหลักคือ 1. เป็นนักคิด 2. เป็นนักพัฒนา และ 3. เป็นนักปฏิบัติ
        - ตั้งเป้ารับทั้งเลือดใหม่ ผสมเลือดเก่า มาช่วยกันปฏิวัติระบบบริหารเดิมๆ
       
        แผนงานล่าสุดจากสถาบันส่งเสริมกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ IGP ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ในขณะนี้ คือ การเตรียมเปิด "หลักสูตรพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงภาครัฐ" เพื่อพัฒนาข้าราชการสายพันธุ์ใหม่ เข้ารับตำแหน่ง ''นักพัฒนาระบบราชการ'' ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ ที่จัดตั้งขึ้นโดย ก.พ.ร. คาดว่าโครงการจะเปิดตัวราวกลางเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
       
        "เป็นการเปิดรับสมัครคัดเลือกข้าราชการ รับมาแต่ไม่ได้มาทำงานนะ มาเรียนก่อนประมาณ 2 ปี 2 เดือน" ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ให้รายละเอียดเบื้องต้นของโครงการกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"
       
        วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ต้องการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ที่มีสมรรถนะ และศักยภาพสูงใน 3 ด้าน ได้แก่ เป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ เป็นนักพัฒนาและวางแผน และเป็นนักปฏิบัติ เพื่อไปเป็นผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยจะไปทำงานอยู่ในหน่วยงานภาครัฐที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ แล้วสามารถนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
       
        โดยที่เมื่อเรียนจบ ทาง ก.พ.ร. จะประสานไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อทราบถึงจำนวนความต้องการบุคลากรเหล่านี้ ก่อนที่จะจัดสรรให้ตามโควตาที่เสนอเข้ามา
       
       ติวเข้มสู่บทบาท
       นักพัฒนาระบบราชการ

        ศ.ดร.ชาติชาย เล่าว่าหลักสูตรพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลง ภาครัฐ จะมีวิธีการสอนไม่เหมือนการเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะไม่ได้เรียนแบบเล็คเชอร์ แต่เรียนจากปัญหาจริง ประสบการณ์จริง และบางบทเรียนอาจต้องลงพื้นที่เพื่อไปศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหา อีกทั้งเนื้อหาที่เรียนจะไม่ได้กำหนดเป็นวิชา แต่จะเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
       
        "แต่ละเคสจะมีโจทย์ที่จะต้องเขียนรายงานนำเสนอ นักศึกษาต้องอ่านหนังสือมาก่อน แล้วมาคุยกับผู้ที่จะมาเป็นวิทยากรซึ่งจะเป็นผู้รู้ปัญหานั้นๆ เช่น เคสถูกแบนเรื่องกุ้งส่งออก ก็เชิญพ่อค้ากุ้งมาเล่าให้เด็กฟัง เชิญกรมการค้าระหว่างประเทศ เชิญทูตมา หรืออาจเป็นนักข่าว มาเพื่อปรึกษา พูดคุย แล้วให้เด็กไปหาคำตอบว่าน่าจะแก้ปัญหาอย่างไร"
       
        ศ.ดร.ชาติชาย กล่าวต่อว่า วิธีการเรียนที่กำหนดไว้ ประมาณ 2 เดือนแรกจะเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาปัญหาบ้านเมือง แล้วสรุปปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นต้องไปฝึกงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด อาจเป็นการช่วยงานแก้ปัญหา หรืองานวางยุทธศาสตร์ แล้วกลับมาเขียนรายงานนำเสนอต่อ
       
        จากนั้นจะไปเรียนรู้งานที่หน่วยงานกลาง เช่น กระทรวง กรม หรือกลุ่มภารกิจต่างๆ โดยมี รองปลัดกระทรวงหรืออธิบดี เป็นผู้สอนหรือมอบหมายงานให้ แล้วก็กลับมาเขียนรายงานสรุปเช่นเดิม ก่อนจะไปอยู่กับหน่วยงานกลาง เช่น สภาพัฒน์ ศาลปกครอง สำนักงบประมาณ ตามด้วยองค์กรเอกชน เพื่อเรียนรู้ระบบการบริหารแบบเอกชน กับซีอีโอ และจบด้วยการไปอยู่กับเอกอัครราชทูต
       
        แต่ละช่วงของการเรียนจะมีการกำหนดระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ไปอยู่ต่างจังหวัดกับผู้ว่าราชการจังหวัด ประมาณ 5 เดือน หรือเมื่อกลับมาทำงานในหน่วยงานกลาง อาจใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ตลอดระยะเวลาที่เรียนจะต้องนำเสนอรายงานส่วนบุคคล และผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนจบ คือ งานวิจัยส่วนบุคคล ที่สะท้อนความเชี่ยวชาญของตนออกมา เช่น การค้าระหว่างประเทศ การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การจัดการการเงินการคลังของประเทศ การจัดการความยุติธรรม ซึ่งจะมีผลต่อการบรรจุตำแหน่งเข้าไปยังหน่วยราชการต่างๆ ต่อไป
       
       เฟ้นเลือดใหม่
       ผสมเลือดเก่า

        สำหรับการคัดเลือกบุคลากรเข้าตำแหน่งนี้ จะรับสมัครคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโทที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี หรือคนที่จบระดับปริญญาเอก ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี ทั้งที่เคยรับราชการมาแล้วและที่ยังไม่เคยรับราชการมาก่อน มาสอบคัดเลือก
       
        โดยการสอบมี 5 ส่วน คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ทักษะในการวิเคราะห์เชิงตรรกศาสตร์ จากนั้นจึงสอบความพร้อมทางจิตวิทยา และจบด้วยการทดสอบความสนใจ ว่าอยากเป็นข้าราชการจริงหรือไม่ มีวิธีคิดอย่างไร มีจริยธรรม จิตวิญญาณที่จะทำเพื่อสาธารณะหรือไม่ อย่างไร ถ้าสอบผ่านทั้ง 5 ส่วนนี้ จึงมาสอบสัมภาษณ์
       
        ศ.ดร.ชาติชาย บอกว่า ความเก่งถูกสกรีนในระดับหนึ่งอยู่แล้ว จากการวัดความสามารถทางภาษา และปฏิภาณไหวพริบ แต่หลักในการคัดเลือกคน จะพิจารณาที่อุปนิสัยและทัศนคติเป็นหลัก ไม่ใช่ความเก่งทางวิชาการ เพราะการเรียนของหลักสูตรนี้ต้องการสร้างคนที่รู้จักวิเคราะห์ ประเมินนโยบาย บริหารโครงการ สามารถนำเสนอในที่สาธารณะ ทั้งอภิปราย และเจรจาต่อรองอย่างมีศิลปะเป็น นอกจากนี้ยังต้องรู้จักบริหารตนเอง บริหารบุคลิกภาพ เวลา อารมณ์ ซึ่งโรงเรียนจะฝึกให้ทุกอย่าง
       
        "ผมว่ามันคือความท้าทาย และชี้ให้เห็นว่าชีวิตมีความท้าทายขึ้นทุกวันๆ เรียนยากอยู่แล้ว แต่ออกไปทำงานจริงจะยากกว่าหลายเท่า แก่นสำคัญของหลักสูตรนี้ จึงฝึกให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง จบไปแล้ว เรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต"
       
        คาดว่าจะเริ่มรับสมัครช่วงวันที่ 15 เมษายนจนถึง 15 พฤษภาคม แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก โดยมีระยะเวลาเรียนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 จนถึงกันยายน 2550
       
        ศ.ดร.ชาติชาย กล่าวว่าหลักสูตรนี้เป็นเหมือนการให้ทุนเรียน และยังมีเงินเดือน พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนต่างๆ ในขณะเดียวกันเมื่อเรียนจบจะมีการสอบประเมินความสามารถ ซึ่งอาจได้เลื่อนระดับขั้น เช่น โดยทั่วไปผู้จบระดับปริญญาตรี รับราชการจะได้ C3 แต่เมื่อผ่านโรงเรียนนี้แล้ว และมีความสามารถโดดเด่น อาจได้เลื่อนเป็น C4-C5 ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน
       
        กำหนดรับรุ่นแรกประมาณ 60 คน อย่างไรก็ตามทางหลักสูตรจะกำหนดเกณฑ์ในการสอบผ่าน ดังนั้นถ้าจำนวนผู้ที่สอบผ่านคัดเลือกไม่ถึง 60 คน ก็จะเปิดสอนในจำนวนที่สอบผ่านเกณฑ์เท่านั้น ทั้งนี้ผู้ที่มาเรียนจะถือเป็นข้าราชการตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา และต้องทำสัญญากับ สำนักงาน ก.พ.ร. ว่าจะทำงานราชการ หลังจากเรียนจบตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในเงื่อนไขการรับทุน
       
       เตรียมเพิ่มผลตอบแทน
       ปักหลักสู้ภาคเอกชน

        ศ.ดร.ชาติชาย วิเคราะห์ความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อโครงการไว้ว่า ถ้าเขาได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าลักษณะงานจะเป็นความท้าทาย และให้ประโยชน์แก่บ้านเมือง ก็จะเข้าใจได้ว่าค่านิยมของการทำงานในระบบราชการได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว กำลังเข้าสู่มิติใหม่ของการบริหารระบบราชการ ซึ่งน่าจะดึงดูดความสนใจได้
       
        "สิ่งที่เป็นความเข้าใจดั้งเดิมว่างานราชการเป็นงานที่ทำง่าย มีกฎระเบียบข้อบังคับอยู่แล้ว แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้ว ตั้งแต่มีการปฏิรูประบบราชการในปี 2546 ที่ผ่านมา ราชการไม่ใช่งานที่ง่าย และทำตามกฎระเบียบอีกแล้ว แต่ต้องจัดการบริการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ดังนั้นงานราชการจะไม่ง่ายอีกแล้ว คนทำงานต้องกลับ 1-2 ทุ่มเหมือนเอกชน"
       
        ศ.ดร.ชาติชาย บอกว่า ในส่วนของผลตอบแทนก็จะมีการปรับเพิ่มทั้งระบบ เพื่อจะแข่งขันกับองค์กรเอกชน สามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถมาทำงานราชการได้
       
        ผลิตผลที่ผ่านจากหลักสูตรนี้ นับเป็นข้าราชการรุ่นใหม่ที่ถูกฝึกให้มีปัญญาหลายมิติ มีกระบวนการคิดที่มีเหตุผล มองปัญหาอย่างเข้าใจสังคม เข้าใจโลก นอกจากนี้บุคลิกภาพต้องเป็นคนอ่อนน้อม สุภาพ ถ่อมตน ฟังมากกว่าพูด แต่เมื่อลงมือก็ทำได้สำเร็จ รู้จักการจัดการ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีน้ำใจ และเมื่อก้าวไปเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าส่วนราชการในวันข้างหน้า ก็จะเป็นหัวหน้าที่ดีที่ทำให้ราชการมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
       
        อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญ คือ การเรียนรู้ที่ไม่เหมือนมหาวิทยาลัย จึงจัดสอนยาก ต้องอาศัยความร่วมมือ และผู้เชี่ยวชาญในระดับต่างๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการหาผู้สอน หรือ ที่เรียกว่า Mentor เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะเป็นท่านไหน ซึ่ง Mentor ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดที่ดีด้วย ทั้งนี้ 1 ท่านจะดูแลผู้เรียนไม่เกิน 2 คน ขณะเดียวกันผู้เรียนเองก็ต้องเอาใจใส่ เพราะถ้าไม่ช่วยตนเอง รอแต่ให้ผู้สอนป้อนให้ สุดท้ายวิธีการสอนของโรงเรียนก็จะไม่ได้ผล
       
        นอกจากนี้การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับนักพัฒนาระบบราชการ ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของข้าราชการเก่าในระบบ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดทัศนคติไม่ดีต่อคนกลุ่มนี้ได้
       

แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด