QS-9000: อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต


3,030 ผู้ชม


QS-9000: อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต




โดย [email protected]

Quality System Requirement 9000 เป็นชื่อเต็มๆชองระบบบริหารคุณภาพ QS-9000 ซึ่งเป็นระบบคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วไป แต่จะมีการยอมรับที่มากที่สุดในอเมริกา และ ในประเทศต่างๆที่มีผู้ประกอบรถยนต์ค่ายอเมริกันไป ตั้งฐานการผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วนอยู่

- อดีต -

QS-9000 ถือกำเนิดที่อเมริกา นับเป็นข้อกำหนดที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก 3 รายซึ่งถูกเรียกกันจนติดปากว่า Big Three อันมี Ford, General Motor, Daimler Chrysler ได้ร่วมกันอยู่ในคณะทำงานที่รับผิดชอบในการจัดทำข้อกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นมาตรฐานในการควบคุมระบบการจัดการคุณภาพของบรรดาผู้ส่งมอบทั้งหลาย ทั้งนี้มีผลมาจาก ก่อนหน้านั้น ต่างค่ายรถ ต่างก็มีมาตรฐานที่บังคับให้บรรดาผู้ส่งมอบทั้งหลายใช้ในการควบคุมระบบคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ข้อกำหนดของ Ford ที่เรียกว่า Q-101 หรือ ของ GM ที่เรียกว่า Target for Excellent หรือ ของ Daimler Chrysler ที่เรียกว่า Supplier Quality Assurance Manaul ทำให้เกิดปัญหา และ เกิดต้นทุนในการทำระบบที่แตกต่างกัน จึงมีการหารือกัน เพื่อสร้างข้อกำหนดอันหนึ่งขึ้นมาใช้ร่วมกัน และมีวัตถุประสงค์รากฐานก็คือ

  • เพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)
  • เพื่อป้องกันการเกิดของเสีย (Defect Prevention)
  • และ เพื่อลดความผันแปรในกระบวนการ และ ลดของเสีย (Reduction of Variation and Waste)

ดังนั้น ในเดือน กันยายน ปี 1994 QS-9000 1st edition จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยมีพื้นฐานของโครงสร้างมาจากระบบ ISO 9000:1994 บวกกับ ข้อกำหนดเพิ่มเติมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ Big Three เห็นชอบร่วมกัน และ ยังรวมกับ ข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละราย ที่มีความแตกต่างกัน นั่นหมายถึง หากผู้ส่งมอบรายใด ส่งผลิตภัณฑ์ของตนเองให้กับ Ford ก็ต้องทำระบบคุณภาพ QS-9000 ที่เป็นส่วน ของ ISO 9000+ข้อกำหนดร่วม+ข้อกำหนดเฉพาะของ Ford เป็นต้น
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1995 QS-9000 ถูกปรับปรุงอีกเล็กน้อย เป็นฉบับที่ 2 (2nd edition) และ สุดท้ายถูกปรับปรุงไปเมื่อเดือน เมษายน ปี 1998 เป็น 3rd edition

- ปัจจุบัน -

มีบริษัทที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนมากทั่วโลก ที่ได้รับการรับรอง QS-9000 ฉบับปัจจุบันคือ 3rd edition ปี 1998 แต่ก็ยังมีอีกหลายบริษัท ที่กำลังขอรับการรับรองอยู่ อาจมีคำถามว่า บริษัทที่สามารถขอการรับรอง QS-9000 ได้ต้องเป็นบริษัทแบบใด คำตอบก็คือ บริษัทที่มีการส่งชิ้นส่วนให้กับทาง ผู้ประกอบรถยนต์ ที่เรียกกันทั่วไปว่า OEM (Original Equipment Manufacturer) ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท

  • ผู้ผลิตวัตถุดิบในการผลิต
  • ชิ้นส่วนในการผลิต หรือ ชิ้นส่วนสำหรับให้บริการ
  • ผู้ให้บริการ ด้าน Heat Treatment, Painting, Plating หรือ Finishing ต่างๆ

QS-9000 3rd edition ประกอบไปด้วยข้อกำหนดในส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นข้อกำหนดของ ISO 9000:1994 ที่รวมกับข้อกำหนดทางอุตสาหกรรมยานยนต์ และ ส่วนที่ 2 ที่เป็นข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละลูกค้า
ในส่วนที่ 1 ประกอบไปด้วยข้อกำหนดหลักๆ 20 ข้อ คือ
4.1 ความรับผิดชอบของผู้บริหาร (Management Responsibility)
4.2 ระบบคุณภาพ (Quality System)
4.3 การทบทวนสัญญา (Contract Review)
4.4 การควบคุมการออกแบบ (Design Control)
4.5 การควบคุมเอกสารและข้อมูล (Document and Data Control)
4.6 การจัดซื้อ (Purchasing)
4.7 การควบคุมผลิตภัณฑ์ที่เป็นของลูกค้า (Control of Customer-Supplied Product)
4.8 การบ่งชี้และการสอบกลับ (Product Identification and Traceability)
4.9 การควบคุมกระบวนการ (Process Control0
4.10 การตรวจวัด และ การทดสอบ (Inspection and Testing)
4.11 การควบคุมเครื่องมือในการตรวจวัด และ การทดสอบ (Control of Inspection, Measuring and Test Equipment)
4.12 สถานของการตรวจวัดและการทดสอบ (Inspection and Testing Status)
4.13 การควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด (Control of Nonconforming Product)
4.14 การแก้ไขและป้องกันปัญหา (Corrective and Preventive Action)
4.15 การเคลื่อนย้าย การจัดเก็บ การบรรจุ การถนอมรักษา และ การส่งมอบ (Handling, Storage, Packaging, Preservation and Delivery)
4.16 การควบคุมบันทึกคุณภาพ (Control of Quality Record)
4.17 การตรวจติดตามภายใน (Internal Audit)
4.18 การฝึกอบรม (Training)
4.19 การให้บริการ (Servicing)
4.20 เทคนิคทาง สถิติ (Statistic Technique)
นอกจากนี้ ในการดำเนินระบบคุณภาพ QS-9000 ยังมีคู่มือประกอบอยู่อีก 6 เล่มด้วยกัน บางครั้งก็เรียกว่า Core Tools บางครั้งก็เรียกว่า 6 Packs อันประกอบไปด้วย

  • APQP: Advanced Product Quality Planning
    คู่มือ การวางแผนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ล่วงหน้า เป็นแนวทางในการดำเนินการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ไปจนถึง การผลิตจริงว่าจะต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง มีเอกสารประเภทไหน แต่ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับ ธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ว่าจะต้องมีการดำเนินการในขั้นตอนใดบ้าง และ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละลูกค้า
  • FMEA: Failure Mode and Effect Analysis
    คู่มือวิเคราะห์ภาวะล้มเหลว และ ผลกระทบ ที่มีต่อการออกแบบ และ กระบวนการ ทำให้มีการศึกษาและวิเคราะห์ โอกาสที่จะเกิดความล้มเหลว หรือ ข้อผิดพลาดขึ้น ความรุนแรงของผลกระทบ และ สภาพการตรวจวัด หรือ การควบคุมในปัจจุบัน ว่าเพียงพอหรือไม่ จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร
  • PPAP: Production Part Approval Process
    คู่มือกระบวนการอนุมัติการผลิตชิ้นส่วน เป็นคู่มืออ้างอิงที่บังคับให้ดำเนินการตาม เพื่อเตรียมเอกสา หลักฐานต่างๆ ให้กับทางลูกค้า เพื่อแสดงความพร้อมในการเริ่มผลิตจริง เมื่อลูกค้าอนุมัติแล้ว จึงจะเริ่มผลิตจริง และ ส่งมอบได้
  • MSA: Measurement System Analysis
    คู่มือที่เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ระบบการวัด เพื่อแสดงถึงผลของความเชื่อมั่น ในเครื่องมือวัด คนวัด และ ระบบการวัดที่มีใช้อยู่
  • SPC: Statistical Process Control
    คู่มือในเรื่องการใช้สถิติในการควบคุมกระบวนการ เพื่อลดความผันแปร มีรูปแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของข้อมูลและ กระบวนการ
  • QSA: Quality System Assessment
    คู่มือการตรวจประเมินระบบคุณภาพ หรือ เป็น check list ที่เรียงตามข้อกำหนด ให้ใช้เพื่อตรวจประเมิน นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายถึง ข้อบกพร่องของระบบในระดับต่างๆ

ในปัจจุบัน QS-9000 3rd edition ยังมีการออก เอกสารแจ้งเพื่อปรับเปลี่ยน ชี้แจงคำถามต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นระยะๆ เรียกว่า IASG Sanctioned QS-9000 เพราะมีทั้งคำถามที่เกิดจากการตีความ รวมทั้งข้อกำหนดใหม่ๆบางข้อ ที่อาจจะยังไม่มากจนต้องปรับเปลี่ยน QS-9000 แต่ก็ถือว่า มีผลบังคับใช้เลยนับแต่วันทีประกาศ จุดนี้เอง เป็นอีกจุดหนึ่งที่บรรดาผู้ส่งมอบจะต้องมีการ update ข้อมูลหรือข้อกำหนดให้ทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งทางผู้เขียนก็แนะนำให้หาข้อมูลจากทาง Certification Body ที่เราใช้บริการอยู่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

- อนาคต -

จากการที่โลกธุรกิจในปัจจุบัน มีการแข่งขันเสรีมากขึ้น ลักษณะของการค้าเป็นแบบ Supply Chain มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก นอกจากนี้ยังเกิดการควบรวมกิจการในหลายๆธุรกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่ง อุตสาหกรรมยานยนต์เอง เช่น Daimler กับ Chrysler หรือ Renault กับ Nissan ทำให้ปัญหาเดิมๆ ที่เกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพ ของค่ายรถยนต์ต่างๆ เกิดขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้ขยายขอบเขตไปทั่วโลก เพราะค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็ยังมีมาตรฐานของตัวเองเช่น

  • ค่ายรถยนต์ อิตาลี ใช้มาตรฐาน AVSQ
  • ค่ายรถยนต์ฝรั่งเศสใช้มาตรฐาน EAQF
  • ค่ายรถยนต์เยอรมันใช้มาตรฐาน VDA 6.1
  • ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ยังไม่มีมาตรฐานคุณภาพรวมกัน แต่จะแยกกันไปแต่ละราย

จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มทำงานขึ้นมาเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก และ ลดปัญหาความซ้ำซ้อนของการดำเนินระบบ จึงเกิดมาตรฐาน ISO/TS 16949 ขึ้นมาในปี 1999 ผ่านการทำงานร่วมกันของ Technical Committee TC 176 จาก ISO (International Organization for Standardization) และ กลุ่มตัวแทนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ IATF (International Automotive Task Force) ซึ่งมาตรฐาน TS 16949:1999 เองในตอนนั้น ก็อิงกับ ISO 9000:1994
ต่อมาเมื่อมีการปรับเปลี่ยน ISO 9000 เป็นฉบับ ปี 2000 ส่งผลให้ ISO/TS 16949 ต้องปรับเปลี่ยนตามเพื่อให้เกิดการนำเอาหลักการของการมุ่งเน้นกระบวนการ (Process Approach) มาใช้ให้มากที่สุด จนปัจจุบันนี้ก็คือ ISO/TS 16949:2002

มาถึงตรงนี้ หลายๆท่านอาจสงสัยว่า อ้าวแล้ว QS-9000 ที่เรามีอยู่จะเป็นอย่างไร จะดำเนินการต่อเนื่องไปดีหรือไม่ หรือต้องขอรับการรับรองระบบใหม่ คำตอบก็คงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละลูกค้าของเราครับ แต่ที่แน่ๆ ข้อมูลล่าสุดก็คือ
QS-9000 จะมีผลบังคับใช้ถึงแค่ปี 2006 ที่จะถึงนี้ จากนั้นก็จะหมดอายุไป หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า สำหรับบริษัทที่ได้รับการรับรอง QS-9000 เมื่อถึงวันที่ 15 ธันวาถม 2006 ก็จะถือว่าใบรับรองดังกล่าวหมดอายุ หมดความหมาย และ ก่อนที่จะถึงเวลานั้นลูกค้าแต่ละราย จะมีการบังคับให้บรรดาผู้ส่งมอบทั้งหลาย ให้ได้รับการรับรองใหม่ ตามระบบ TS 16949 นั่นเอง

ครับ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังมี แหล่งข้อมูลไปหาความรู้เพิ่มเติมจาก
www.aiag.org
www.iaob.org


โดย นายฉัตรชัย จริยะอังสนากุล
[email protected]

 

แหล่งข้อมูล : www.isothai.com


อัพเดทล่าสุด