เค้าสัมภาษณ์ไปทำไม


799 ผู้ชม


เค้าสัมภาษณ์ไปทำไม




คอลัมน์ สอนลูกอย่างไร ให้ทำงานเป็น
โดย สุจินต์ จันทร์นวล
"มันขึ้นอยู่กับใครเป็นคนที่สัมภาษณ์เราลูกว่าเค้าจะถามอะไรเรายังไง คือหากคนสัมภาษณ์เป็นฝ่ายบุคคลหรือเอชอาร์ยังหนุ่มยังสาวอายุไม่มากเท่าไร ส่วนใหญ่ก็จะถามตามตำรา พ่อแนะนำให้ไปหาซื้อหนังสือพ็อกเกตบุ๊กเกี่ยวกับเทคนิคในการสอบสัมภาษณ์เมื่อสมัครงาน มีขายเยอะแยะลูก ส่วนใหญ่ก็จะถามแนวนั่นแหละ
แต่ถ้าคนสัมภาษณ์เป็นระดับสูงกว่านั้น อายุมากกว่านั้น ส่วนใหญ่เค้าก็จะไม่ถามตามตำราเท่าไร เค้าจะมีวิธีถามตามสไตล์เค้า เพราะเค้ารู้ว่าคำถามธรรมดาๆ เด็กที่มาให้สัมภาษณ์ก็จะอ่านหนังสือพวกนี้มาตอบ มันจะออกมาดูดีทั้งนั้น
ลูกต้องเข้าใจว่า ในใบสมัครที่เรากรอกไปนั้นมันก็บอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราไว้พอสมควร เช่น ระดับการศึกษา เราจบอะไร แขนงไหน ตรงหรือไม่ตรงกับงานที่เขารับสมัคร พ่อแม่เป็นใคร มีอาชีพอะไร บ้านช่องอยู่ที่ไหน มีพี่น้องกี่คน มีความรู้ความสามารถพิเศษอะไรบ้าง อะไรประมาณนี้ เขาอ่านเขาก็รู้แล้ว
แต่สิ่งที่เขาไม่รู้และอยากรู้ก็คือ ตัวตนเราที่แท้จริงเป็นยังไง เป็นคนแบบไหน นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ภูมิหลัง ทัศนคติ และอยากรู้ว่าในตัวเรามีจุดเด่นอะไรบ้าง ดังนั้นคำถามจึงไม่ได้ถามแบบตรงๆ หรอก อย่างเช่น เขาจะเอาบางเรื่องราวหรือบางปัญหามาถามเราว่าเราคิดยังไง แล้วเขาก็อ่านเราเอาจากคำตอบที่ว่าเราคิดอย่างไรนี่แหละ
หยั่งเวลาพ่อสัมภาษณ์คนที่จะมาเป็น ลูกน้องพ่อเนี่ย พ่อจะพยายามค้นหาและมองลึกลงไปในตัวตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การถามของพ่อจะธรรมดาๆ มากจนคนถูกสัมภาษณ์ไม่รู้หรอกว่านั่นมันคือการสัมภาษณ์ มันเหมือนกับการคุยกันธรรมดาๆ มากกว่า
อย่างเรื่องบ้านอยู่ที่ไหนเนี่ย ในใบสมัครมันก็เขียนบอกอยู่แล้ว แต่พ่อจะถามมากกว่านั้น คือ เป็นบ้านแบบไหน บ้านเช่า บ้านของตนเอง มีเนื้อที่
เป็นทาวน์เฮาส์ เป็นคอนโดฯ มีกี่ห้อง เดินทางอย่างไร ที่บ้านมีรถยนต์ไหม ถ้ามียี่ห้ออะไร ใช้ดีไหม ส่วนใหญ่ในบ้านใครใช้รถ ฯลฯ
ที่จริงแล้วเค้าไม่ถามกันหรอก แต่พ่อถาม เพราะแต่ละคำตอบนั้น มันทำให้พ่อเห็นสภาพและสิ่งแวดล้อมของเขาที่บ้าน ระดับความเป็นอยู่และครอบครัวเขา สถานะทางการเงิน เขาขับรถเป็นหรือไม่เป็น ถ้าเป็นในระดับไหน ซึ่งเขาไม่คิดหรอกว่าจากคำถามที่ดูเหมือนถามไปเรื่อยเปื่อยนั้น คำตอบมันจะบอกอะไรพ่อได้บ้างขนาดไหน
และไอ้วิธีที่พ่อสัมภาษณ์ ที่ทำให้บรรยากาศและความรู้สึกมันออกมาสบายๆ ให้ความเป็นกันเองเหมือนผู้ใหญ่กำลังคุยกับเด็ก ทำเป็นคุยออกนอกเรื่องไปเรื่อยนั้น ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผ่อนคลายไม่เกร็ง การตอบหรือพูดคุยนั้นมันก็จะออกมาเป็นธรรมชาติ เป็นตัวตนที่แท้จริงของเขา มันจะไม่ใช่การพยายามจะให้คำตอบมันออกมาดีที่สุดพอเห็นว่าอีกฝ่ายรู้สึกรีแลกซ์ พ่อก็ยิงคำถามแบบซีเรียสๆ สักที อย่างเช่นว่า สมมติเขาได้งานนี้ เขาจะมีวิธีเริ่มต้นการทำงานที่นี่ยังไง ? สมมติว่าพอเข้ามาแล้วเกิดมีคนไม่ชอบหน้าขึ้นมาเขาจะทำอย่างไร ? หรืออาจเจอหัวหน้าห่วยๆ หรือโหดๆ เข้าจะทำอย่างไร ? เสร็จแล้วพ่อก็จะดึงออกไปจากความเครียด ไปคุยอะไรสนุกๆ อีกเพื่อผ่อนคลาย หยั่งเรื่องหนัง เรื่องทีวี เรื่องเพลง เรื่องงานอดิเรก เรื่องการอ่าน เรื่องความชอบส่วนตัวอะไรพวกนี้รู้ไหมว่าไม่ว่าจะเป็นคำตอบของปัญหาหรือเรื่องราวที่พ่อถาม มันสามารถทำให้พ่อรู้แนวคิดและนิสัยของเขาได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะเมื่อเขาตอบว่าเขาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ พ่อก็จะถามต่อว่า เพราะอะไร มีเหตุผลอย่างไร ทำไมถึงคิดว่ามันถูกต้องล่ะ ฯลฯ
การคุยถึงเรื่องสัพเพเหระ มันก็ทำให้พ่ออ่านออกว่า รสนิยม ความชอบไม่ชอบของเขาเกี่ยวกับเรื่องรอบๆ ตัวเป็นอย่างไร อย่างเรื่องการอ่านนี่พ่อก็จะถามว่าชอบอ่านหรือเปล่า ถ้าชอบ อ่านหนังสืออะไรบ้าง หนังสือพิมพ์ อ่านของฉบับไหน อ่านหน้าไหน คอลัมน์ไหน ทำไม เพราะอะไร คำตอบก็จะบอกได้ว่าคนคนนี้มีความสนใจไม่สนใจอย่างไรบ้างอยู่ในหัว
โอ้ย พ่อถามไปหมดแหละ แม้กระทั่งเรื่องเที่ยว เรื่องกินเรื่องดื่ม เรื่องแฟน เรื่องการเมือง เรื่องความหวังความฝัน แต่ถามแบบคุยกันไปคุยกันมานะ พ่อจะใช้เวลามากพอสมควรในการสัมภาษณ์ ถ้าพ่อรู้สึกว่าคนนั้นเข้าท่า 2-3 ชั่วโมงยังมีเลย คนอื่นเขาไม่ทำกันหรอก แต่พ่อทำเพราะพ่อคิดคนละอย่างกับพวกเขา
คือพ่อรู้ว่าการคัดเลือกคนมาเป็นลูกน้องเรานั้น เราอยากได้ลูกน้องที่นิสัยดีๆ ชอบลูกน้องที่เก่ง ชอบลูกน้องที่มีความมานะอดทน ลูกน้องที่มีพื้นฐานจิตใจที่ดี ว่านอนสอนง่ายและอีกสารพัดคุณสมบัติ การสัมภาษณ์ ประเดี๋ยวประด๋าวนั้นมันจะไปอ่านเขาออกได้ยังไง ใช้แค่ความรู้สึกของคนสัมภาษณ์เท่านั้นที่เอามาวัดว่าคนนั้นน่าจะรับเข้ามาไหม
พอเข้ามาแล้วไม่เป็นไปอย่างที่หวัง ก็โทษลูกน้องว่าไม่ดี ไม่มีคุณภาพ พ่อถามว่า แล้วใครล่ะที่เป็นคนตัดสินใจรับเค้าเข้ามา มันต้องไปโทษไอ้คนคนนั้นต่างหาก เสือกเลือกคนผิดเข้ามาเอง ก็ไอ้เพราะขี้เกียจเสียเวลาสัมภาษณ์ไง เสร็จแล้วหารู้ไม่ว่าจะต้องมาเสียเวลา เสียเงิน เสียงาน หาทางแก้ไขแก้ปัญหากับลูกน้องที่ไม่เข้าท่านี้มากมายกว่าไม่รู้กี่เท่า
อยากถามว่าไอ้คนที่สัมภาษณ์นั้นมันมีประสบการณ์เรื่องเกี่ยวกับคน จนสามารถจะอ่านคนออกได้มากน้อยแค่ไหน อย่างลูกเนี่ยกว่าจะรู้ว่าเพื่อนๆ ลูกเป็นยังไง มีนิสัยใจคออย่างไร ลูกต้องใช้เวลาเรียนรู้พวกเค้านานแค่ไหน เพื่อนใหม่ๆ แค่คุยกันไม่ถึงชั่วโมง ลูกคิดว่าลูกจะสรุปเค้าได้ไหมว่าเค้าเป็นคนยังไง ไม่มีทางใช่ไหมลูก
นี่คือเหตุผลที่พ่อจะยอมเสียเวลาที่จะค้นหาว่าคนที่จะมาเป็นลูกน้องพ่อนั้นเป็นคนยังไงให้ได้มากที่สุด ถึงแม้พ่อจะไม่สามารถอ่านเค้าออกทั้งหมด เพราะยังไงมันก็เป็นไปไม่ได้ แต่ยังไงๆ พ่อก็คิดว่ามันออกมาในทิศทางที่ถูกต้อง ใกล้เคียง ไม่น่าจะผิดความจริงเท่าไร เอาไว้ต้องพิสูจน์กันให้แน่ชัดเมื่อได้เข้ามาทำงานร่วมกันแล้ว เวลาที่ผ่านไปมันจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าที่พ่อคิดไว้ คาดคะเนไว้ ผิดหรือถูก ใกล้เคียงหรือไม่แค่ไหนอย่างไร
ซึ่งตามประสบการณ์ของพ่อมันพิสูจน์มาเรียบร้อยแล้วว่า วิธีและแนวคิดของพ่อถูกต้องมากกว่า 8-9-10 เปอร์เซ็นต์ พ่อจะได้ลูกน้องที่เข้าท่าเสียส่วนใหญ่ ถ้าพ่อได้ลงมือสัมภาษณ์เอง พ่อมองไม่ค่อยผิด และนั่นแหละที่ทำให้พ่อมาถึงจุดนี้ได้ เพราะพ่อมี ลูกน้องดีๆ แทบทั้งนั้น พวกเขาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้พ่อประสบความสำเร็จในวันนี้
ดังนั้น สิ่งแรกที่สำคัญสำหรับการถูกสัมภาษณ์ของลูก คือต้องรู้หรือคาดคะเนให้ได้ว่า ใครคือคนที่จะสัมภาษณ์ลูก ระดับไหน ตำแหน่งอะไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรจะตอบคำถามอย่างไร และจำไว้ว่าหากเจอคนสัมภาษณ์ที่อยู่ในระดับสูง มีอายุพอสมควร สิ่งที่เขาต้องการรู้จากลูก คือ นิสัยใจคอ แนวคิด ทัศนคติ สติปัญญา ไหวพริบ หรือตัวตนที่แท้จริงของลูก
แปลว่า ลูกจงเป็นตัวของตัวเอง เป็นอย่างไร คิดอย่างไร ก็แสดงออกไปอย่างนั้น อย่าไปพยายามพูดในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราความคิดเรา"
"โอเค...ผมจะไปหาหนังสือมาอ่าน แต่ไอ้เรื่องแล้วจะรู้ได้ไงว่าใครจะสัมภาษณ์เรานี่สิพ่อ ทำไง"
หน้า 29

ที่มา : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด